'มีชัย' โยน สนช.พิจารณาคำถามให้ ส.ว.โหวตนายกได้ในประชามติ รับอาจใส่ในบทเฉพาะกาล

'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธาน กรธ.ยังไม่ค่อยเข้าใจ สปท.ชงประชามติให้ ส.ว.โหวตนายกได้ จะให้ใส่ในไหน รอ สนช.พิจารณา ชี้อาจต้องแก้ในบทเฉพาะกาลทำให้ชัดเจน 'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ระบุไม่เห็นด้วย สปท. ตั้งคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกได้ ด้าน สปท. ยืนยันพร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์กรณีคำถามพ่วงประชามติ ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายก
 
3 เม.ย. 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องการให้แก้ไขในบทเฉพาะกาลหรือแก้ข้างในจึงตอบไม่ได้ อีกทั้งเมื่อ สปท.มีมติแล้วยังต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการตั้งคำถามหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ต้องกลับมาแก้เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เวลาไว้ 30 วัน หากแก้เฉพาะบทเฉพาะกาลก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าแก้เนื้อหาข้างในอาจเป็นปัญหาได้ว่าประชาชนลงประชามติร่างดังกล่าวแล้ว แต่จะเอาอันนี้ด้วยตกลงจะเอาอย่างไร จึงต้องทำให้ชัดเจนก่อนไปลงประชามติ ซึ่งคนตั้งคำถามต้องคิดให้ละเอียด
       
“หากผลสรุปประชามติออกมาอย่างไร กรธ.ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดขืนอะไรได้ แต่ขั้นตอนประชามติไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องใช้เสียงข้างมากไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศแบบไหนก็ไม่มีใครควบคุมได้เนื่องจากลงคะแนนโดยอิสระเสรีและเป็นความลับ จึงไม่มีใครควบคุมได้ ซึ่งขณะนี้ก็มีการรณรงค์ให้คว่ำรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนที่คนในรัฐบาลออกมาเตือนว่าอาจขัดกฎหมายก็คงเป็นแค่คำเตือนเฉยๆ แต่ต้องดูกฎหมายประชามติให้ดีๆ ว่าเป็นอย่างไร” นายมีชัยกล่าว
       
นายมีชัยกล่าวต่อว่า ยังไม่หนักใจว่าจะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักการที่วางไว้หรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิด โดยขั้นตอนต่อไปในการทำกฎหมายลูกจะไม่เกินกรอบที่กำหนดตามโรดแมป เพราะเขียนในรัฐธรรมนูญแล้วว่าดำเนินการเลือกตั้งได้เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องเสร็จ กรธ.ก็ต้องเริ่มต้นทำ 4 ฉบับนี้ก่อนค่อยไปทำอย่างอื่น จึงไม่น่าจะเลยเวลาที่กำหนด ซึ่งในขณะนี้กำลังหารือว่าจะมีหนังสือถึงองค์กรอิสระกับศาลรัฐธรรมนูญให้ร่างกฎหมายสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านประชามติจะได้ลงมือทำได้เลย เพราะจะมีเวลาอยู่ 3-4 เดือนเมื่อส่งให้ กรธ.ก็จะพิจารณาได้ง่ายขึ้นโดยเราจะเอาของเขามาเป็นฐาน จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กรธ.จะสรุปร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ กกต.ก่อนวันที่ 13 เมษายนนี้ ทั้งนี้ กรธ.จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญด้วยเพราะเป็นผู้ยกร่าง ซึ่งจากผลสำรวจความเห็นประชาชนพบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูบทสรุปของกฎหมายประชามติก่อนว่าออกมาอย่างไร โดยอยากให้ทุกฝ่ายบอกข้อมูลที่แท้จริงอย่าเอาข้อมูลไปผสมกับความเห็นเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสิน เพราะ กรธ.ก็ไม่ได้ให้โหวตรับบอกแค่ว่าประชาชนได้อะไรจากร่างรัฐธรรมนูญ
       
นายมีชัยยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้วุฒิสภาร่วมพิจารณากฎหมายทีเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่า ต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดำเนินการอยู่ต้องสะดุดลง ในส่วนของกฎหมายนิรโทษกรรมอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านิรโทษกรรมหรือล้างมลทินอะไร เช่น การล้างมลทินโดยกฎหมายล้างมลทินเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ในปีหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา อาจจะมีก็ได้ ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.แม้ว่าจะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย จึงไม่เข้าข่ายที่ ส.ว.จะร่วมพิจารณา แต่ถ้ามีความสงสัยว่าเรื่องไหนต้องให้ ส.ว.ร่วมพิจารณาก็ไปถามศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีใครคิดอะไรพิสดารหรือไม่
       
“การกำหนดเรื่องนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหมือนคราวที่แล้ว ไม่ใช่เปิดช่องอะไรโดยเจตนาคือไม่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนกับการดำเนินคดีของฝ่ายตุลาการ โดยคาดหวังว่าวุฒิสภาจะร่วมพิจารณาให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแต่ถ้าออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ส.ว.ก็ต้องรับผิดชอบ” นายมีชัยกล่าว
       
นายมีชัยยังกล่าวถึงเนื้อหาในมาตรา 279 ที่บัญญัติคุ้มครองการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้หมายความว่าคำสั่งเหล่านี้จะยกเลิกไม่ได้ โดยรัฐบาลใหม่สามารถออกกฎหมายยกเลิกได้ หรือหากพบว่ามีคำสั่งใดที่อาจมีปัญหาเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะหากขัดรัฐธรรมนูญก็บังคับใช้ไม่ได้
 
'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ระบุไม่เห็นด้วย สปท. ตั้งคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกได้
 
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าควรมีหลักการสำคัญ คือ 1.เนื้อหาต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือนำไปสู่การตีความเป็นคุณหรือเป็นโทษให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาได้ 2.มาตรการลงโทษจะต้องเสมอภาคทั้งผู้ที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเป็นกฎหมายของฝ่ายใด 3. จะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้
 
ส่วนกรณีที่มีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติระบุว่าหากไม่เห็นด้วยเพียงบางมาตราแล้วกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีทั้งฉบับ อาจเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ นายองอาจ กล่าวว่า อยากให้ สนช.ทบทวนเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะในมาตรา 62 ที่กำหนดการกระทำผิดและบทลงโทษ เพราะมุมมองเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาต่อการทำประชามติรัฐธรรมนูญได้ เพราะถ้าไม่เห็นด้วยแม้เพียง 2-3 มาตรา แต่หากเป็นหลักการที่สำคัญก็เป็นความบกพร่องที่ยอมรับไม่ได้ ประชาชนมีสิทธิที่จะเห็นชอบหรือไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงคำกล่าวที่ว่า คสช.เป็นคนเลือก ส.ว.ก็ไม่น่าจะผิด เพราะสุดท้ายคนที่เลือก ส.ว.สรรหาทั้งหมดก็คือ คสช.ซึ่งคนอาจมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยได้
 
“ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งคำถามพ่วงประชามติว่า ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ได้ เพราะคำถามเช่นนี้จะเกิดผลกระทบต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้  เพราะขณะนี้ประชาชนมีร่างรัฐธรรมนูญสมบรูณ์อยู่ในมือแล้ว ซึ่งหากมีคำถามนี้พ่วงเข้าไปอาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญที่เขาเห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นเมื่อถามพ่วงเข้าไปจึงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้นในลักษณะนี้อาจเกิดปัญหาได้ อาจถูกมองว่า คสช.พยายามจะสืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.สรรหา และผ่านการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงอยากเสนอหลักการสำคัญในการตั้งคำถาม คือ 1. ไม่ควรเป็นคำถามที่กระทบต่อการตัดสินของประชาชนในการออกเสียงประชามติ 2. ไม่ควรพ่วงประเด็นเชิงสอบถามความเห็นของประชาชน  3. เรื่องที่สำคัญต่อบ้านเมือง กระทบต่อคนทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจ และ 4. ควรเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คำถามที่ สปท.ถามไม่ควรเลยจะดีกว่า  จึงอยากฝาก สนช.พิจารณาอย่างถ่องแท้ อย่าให้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนทำให้เป็นปมปัญหาของประเทศอีก” นายองอาจ กล่าว
 
สปท.พร้อมรับคำวิจารณ์คำถามพ่วงประชามติ
 
นายอลงกรณ์ พลบุตร  รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเสนอคำถามพ่วงของสปท.ที่ส่งให้สภานิติบัญญัตืแห่งชาจติ (สนช.) ว่า สปท.ยินดีน้อมรับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ และขอให้เข้าใจว่าสปท.ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติคำถามของสปท.ที่ผ่านการลงมติเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนญัตติที่เสนอว่า ในระยะ 5 ปีแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภาก็ต้องถือเป็นมติของสปท. ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในความเห็นที่สนช.จะนำไปพิจารณาก่อนมีมติสุดท้ายในการประชุมสนช.วันที่ 7 เมษายนนี้ โดยยังไม่มั่นใจว่า สนช.จะตั้งคำถามพ่วงประชามติหรือไม่ หากเห็นว่า ควรตั้งคำถาม ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นตามสปท.อยู่แล้ว เพราะสิทธิขาดอยู่ที่สนช.
 
“จากที่ฟังเหตุผลของผู้เสนอและผู้สนับสนุนญัตตินั้น ไม่มีใครไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เพียงแต่ต้องการให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่ให้มีวุฒิสภาทำหน้าที่ประคับประคองให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ซ้ำรอยเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา  การที่ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีก็เป็นระยะเปลี่ยนผ่านชั่วคราว แต่ก็ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น อีกทั้งผู้เสนอญัตติ ไม่ได้มองผลประโยชน์ส่วนตน เพราะระบุเหตุผลของการเสนอญัตติว่า เมื่อพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำ เห็นว่ายังมีปัญหาการนำไปบังคับใช้ที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศได้ ซึ่งสะท้อนถึงความห่วงกังวลต่ออนาคตของประเทศ ที่ยังไม่แน่ใจว่า หลังการเลือกตั้งจะเกิดปัญหาทางการเมืองจนนำไปสู่วิกฤติของบ้านเมืองอีกหรือไม่ จึงขอให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล และเคารพการแสดงความเห็นที่แตกต่าง อย่าใช้วิธีกล่าวหาทำลายหรือใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นที่เห็นต่าง” นายอลงกรณ์ กล่าว
 
นายอลงกรณ์  กล่าวว่าคำถามของสปท.ที่ส่งให้สนช.ไปแล้ว สปท.จะส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อคณะกรรมการพิจารณาความเห็นของสนช. ในวันที่ 4 หรือ 5 เมษายนนี้ โดยถือปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้เสนอคนอื่นๆ
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์สำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท