เต็งเส่งบวชเป็นพระ-หลังหมดวาระประธานาธิบดีพม่า

หลังจากหมดวาระในตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ อดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งริเริ่มการปฏิรูปประเทศในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปยินอูละหวิ่น เมืองภูเขาสูงในภาคมัณฑะเลย์ติดกับรัฐฉาน ซึ่งเมืองดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพม่า DSA อีกด้วย

ที่มาของภาพ: เพจอิระวดีภาคภาษาพม่า

4 เม.ย. 2559 หลังจากหมดวาระในตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อเวลา 8.00 น. วันนี้ (4 เม.ย.) อดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งริเริ่มการปฏิรูปประเทศในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปยินอูละหวิ่น เมืองภูเขาสูงในภาคมัณฑะเลย์ติดต่อกับรัฐฉานของพม่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการทหาร DSA และ วิทยากรเทคโนโลยีการทหาร DSTA ของกองทัพพม่าอีกด้วย

ทั้งนี้มีภาพพิธีอุปสมบทของเต็งเส่ง เผยแพร่ในเพจของสำนักข่าวอิระวดีภาคภาษาพม่าด้วย โดยอ้างถึงเฟซบุคของ Muang Muang Aung ซึ่งเป็นเฟซบุคบัญชีของนักธุรกิจ อดีตนายทหารในกองทัพพม่า และต่อมาในเพจของสำนักข่าวอิระวดีภาคภาษาอังกฤษได้ยืนยันข่าวนี้อีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 5 เม.ย.

ก่อนหน้านี้มีรายงานโดยสำนักข่าวอิระวดีด้วยว่า ในงานเลี้ยงรับตำแหน่งประธานาธิบดีถิ่นจ่อ ปรากฏว่าอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่งและคณะรัฐมนตรีสมัยของเขาไม่ได้ไปร่วมในงานเลี้ยง มีเพียงผู้บัญชาการกองทัพพม่าและภริยาคือ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มาร่วมงานเท่านั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ทั้งนี้ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 7 พฤศจิกายน 2553 เต็งเส่ง ซึ่งเป็นอดีตนายพลในกองทัพพม่า และอดีตนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทหารหรือ SPDC ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 โดยเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

ในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองขนานใหญ่ และประกาศเชิญกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อร่วมการเจรจาสันติภาพ มีการเจรจากับอองซานซูจีหลังได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน

โดยในวันที่ 1 เมษายน 2555 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ที่นำโดยอองซานซูจี ลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อม และชนะได้ที่นั่งในสภาระดับต่างๆ 43 จาก 44 ที่นั่ง รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า โดย อองซานซูจี กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปในช่วงรัฐบาลเต็งเส่ง ก็ไม่ประสบผลหลายด้าน เช่น มีการจลาจลในรัฐยะไข่ และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนับถือศาสนาพุทธต่อชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในหลายพื้นที่ทั่วพม่า การเกิดขึ้นของกลุ่ม “มะบ๊ะต๊ะ” ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมชาวพุทธ ที่เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายปกป้อง “เชื้อชาติและศาสนา” และมีการผ่านกฎหมายดังกล่าวในช่วงของรัฐบาลเต็งเส่ง ขณะเดียวกันยังคงมีการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในรัฐคะฉิ่น และรัฐฉาน

โดยผลงานสุดท้ายของรัฐบาลเต็งเส่งได้แก่ เมื่อ 15 ตุลาคม 2558 มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA), สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ฯลฯ อย่างไรก็ตามข้อตกลงหยุดยิงนี้ ยังไม่รวมถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังขนาดใหญ่ อย่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพสหรัฐว้า (UWSA)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท