ปัญหาของการลงประชามติครั้งนี้คือการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในการลงประชามติ รับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะจัดทำขึ้นโดยใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่[i] ที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจาณา ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะทำให้การลงประชามตินี้มีความแตกต่างจากการลงประชามติทั่วไปโดยปรกติก็คือ การกำหนดให้เกิดข้อยุติขึ้นด้วยการลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิ์เพียงลำพัง กล่าวคือ นับเฉพาะเสียงของคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ว่า รับ หรือ ไม่รับ เพียงเท่านั้น แต่ไม่นับการแสดงออกด้วยการไม่มาใช้สิทธิ์ หรือ no vote จึงทำให้การลงประชามติครั้งนี้ นอกจากไม่เกิดขึ้นภายใต้สภาพ free และ fair แล้ว ยังเป็นการลงประชามติที่ไม่อาจนับเป็น legitimacy ของเสียงส่วนใหญ่ (ไม่ใช่การลงประชามติโดยชอบด้วยกฎหมาย)

Legitimacy ของเสียงส่วนใหญ่คืออะไร?

ในการลงประชามติ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “ประชา” มติ หรือ มติของประชาชน นั่นจึงหมายความว่า การจัดให้มีการออกเสียงนั้นๆ จะสามารถ “นับ” เป็นการลงประชามติได้ จะต้องเป็น การลงคะแนนของคนส่วนใหญ่ กล่าวคือ อย่างน้อยจำนวนของผู้มาลงคะแนนจะต้อง “มากกว่า” จำนวนของผู้มีสิทธิ์แต่ไม่มาลงคะแนน

กฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมี legitimacy จึงจะต้องบรรจุสาระสำคัญของ “สัดส่วนของผู้ลงคะแนน” ว่ามีแค่ไหนของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ยิ่งจำนวนของผู้มาลงคะแนนใกล้เคียงกับจำนวนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเท่าใด ก็ถือว่าการลงประชามติครั้งนั้น ๆ มี legitimacy มากขึ้นตามสัดส่วน และหากสัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเท่าใดจึงย่อมหมายความว่าการลงประชามติครั้งนั้น ๆ มี legitimacy น้อยลงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่จะทำให้การลงประชามตินั้นๆ มี legitimacy หรือสามารถนับเป็นการลงประชามติได้ จำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน จะต้อง “มากกว่า” ผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์  และเกณฑ์เช่นนี้จะ “ต้อง” ปรากฏอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการลงประชามติ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552[ii] ก็มีระบุอยู่ในมาตรา 9 ว่า:

มาตรา 9 การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกิดกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

มาตราดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่า การออกเสียงที่จะถือว่าได้ “ข้อยุติ” นั้น ผู้มาออกเสียงจะต้องเป็นสัดส่วน “ข้างมาก” ของผู้มีสิทธิออกเสียง กล่าวคือ อย่างน้อยต้องมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งมากกว่า 50% นี้ถือเป็นเกณฑ์ “ขั้นต่ำ” ที่จะนับการออกเสียงครั้งนั้น ๆ ว่าเป็น “ประชามติ” ได้

ทว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะใช้กับการลงประชามติที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่มีมาตราใดระบุเช่นเดียวกับมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ 2552 เลย มีแต่ข้อความที่ระบุให้นับเอาเฉพาะเสียงของผู้มาออกเสียง และถือเอาผลการลงคะแนนเป็นข้อยุติ

การลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงเป็นการลงประชามติที่ขาด legitimacy ในประเด็นสำคัญที่สุด ไม่อาจนับเป็นการลงประชามติโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ใช้กำกับควบคุมการลงประชามตินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การลงประชามติครั้งนี้ หากเกิดขึ้นในสภาพนี้ ก็คือ “ประชามติของปลอม” ไม่ใช่ “มติ” ของ “ประชา” อย่างแท้จริง

 

เชิงอรรถ

[i] ดู http://ilaw.or.th/sites/default/files/%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4.PDF

[ii] ดู http://www.senate.go.th/mobile/eppo/9.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท