Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สังคมไทยภายใต้การรัฐประหารที่สูญสิ้นเสรีภาพ ประชาธิปไตย การยึดอำนาจ การยุบทิ้งรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่าบ้านเมืองไม่สงบและเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทั่วทุกฝ่าย  ผ่านไป 2 ปีไม่มีอะไรที่เป็นการปฏิรูป แม้แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติก็โดนยุบทิ้งไปแล้วพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มาวันนี้ ร่าง รธน.2559 ก็ยิ่งตอกย้ำแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มผู้ยึดอำนาจ กลุ่มร่าง รธน. ต่างก็ต้องการรวมศูนย์อำนาจกลับไปให้ข้าราชการ และชนชั้นที่จะได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้กลายเป็นคุณพ่อรู้ดีชี้นำประเทศ

สังคมไทยกลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจและการไม่เคารพประชาชน ร่าง รธน.ไม่ได้มุ่งมั่นที่จะรับรองสิทธิพลเมืองเฉกเช่นสิทธิมนุษยชน ยังถอยหลังไปยึดอยู่กับเรื่องบทบาทหน้าที่รัฐที่ทำเพียงแค่สงเคราะห์ประชาชนที่ยากไร้ ยากลำบาก ไม่มีรายได้เพียงพอ ทั้งที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ได้เกิดการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ในระบบสาธารณสุขของไทย นั่นคือการเกิดขึ้นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นการปฏิรูปแนวคิดเรื่องการได้รับการรักษาเป็นสิทธิของประชาชน การปฏิรูประบบการเงินการคลังของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า และการปฏิรูปการบริหารกระทรวงสาธารณะสุข ผลของการปฏิรูปนี้ลดทอนอำนาจของข้าราชการในกระทรวง เพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการดูแลคุ้มครองสิทธิของตนเองผ่าน การจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีประชาชนเจ้าของสิทธิเข้าไปเป็นบอร์ดบริหารกองทุนและระบบหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันก็มีผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเข้าไปเป็นบอร์ดด้วยเช่นกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ นักวิชาชีพการแพทย์การพยาบาลการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นองค์ประกอบของบอร์ดที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดของกฎหมายที่ต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ  นี่คือการถอยหลังเข้าคลองสองเรื่องใหญ่คือ 1) สร้างความเชื่อว่าคนไทยไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า การให้สวัสดิการถ้วนหน้าทำให้รัฐล่มจมทางงบประมาณ 2) กฎหมายที่ให้อำนาจบอร์ดในการบริหารจัดการเป็นกฎหมายที่ไม่ดีต้องปรับปรุง เงินภาษีเป็นของรัฐไม่ใช่ของประชาชนให้กระทรวงการคลังเป็นคุณพ่อรู้ดีจัดการเพียงฝ่ายเดียว

ตลอดสองสามปีที่ผ่านมาจึงมีการสร้างวาทกรรมว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพใช้เงินมากจะทำให้ประเทศล่มจม บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้เงินกองทุนผิดวัตถุประสงค์ การที่บอร์ดแบ่งแยกกองทุนย่อยๆทำให้โรงพยาบาลขาดทุน อันนี้มีแต่โรงพยาบาลรัฐที่ออกมาโวยวายว่าขาดทุน โรงพยาบาลเอกชนที่ดูแลคนในบัตรทองไม่มีใครออกมาโวย แถมบางโรงพยาบาลยังประกาศว่าจะรับดูแลประชาชนบัตรทองและยกเลิกดูแลประชาชนในระบบอื่นด้วยซ้ำ ประเด็นคือโรงพยาบาลรัฐขาดทุนได้ด้วยหรือในเมื่อไม่ใช่ธุรกิจและกองทุนหลักประกันสุขภาพ กรมบัญชีกลาง ก็จัดการเรื่องเงินเดือนให้ข้าราชการในโรงพยาบาลทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น อะไรคือสาเหตุ หากไม่ใช่ความพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจกลับไปอย่างเดิม ทั้งอำนาจในความเป็นหมอดูแลคนไข้ อำนาจในการบริหารงบประมาณของกระทรวง อำนาจในการจะชี้ว่าประชาชนคนไหนควรได้รับสิทธิ คนไหนต้องร่วมจ่าย คือให้ฉันเป็นคนจัดการสงเคราะห์ให้คนที่ยากจนเอง และบอร์ดที่มีองค์ประกอบหลายภาคส่วนรวมถึงมีตัวแทนประชาชนที่มาจากการให้ประชาชนเลือกกันเองก็ต้องถูกลิดรอนอำนาจลงบ้าง จึงเป็นเหตุให้ควรต้องมีการปรับแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ

ปรากฏการณ์ ร่าง รธน.ที่ไม่เห็นหัวประชาชน การมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้กฎหมายโดยไม่ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิสุขภาพมีส่วนร่วม จึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ให้อำนาจข้าราชการเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศและการใช้จ่ายงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน

ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะพึงคำนึงถึงสิ่งที่ตนเองกล่าวอ้างในการรัฐประหารมาปกครองประเทศ เอาแค่การให้ประชาชนผู้เสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพเมื่อปี 2544 ได้มีส่วนร่วมในการปรับแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้การแก้กฎหมายไม่ละทิ้งเจตนารมณ์ของกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน และการทบทวน หรือยกเลิก ร่าง รธน.ที่ยังพูดเรื่องการสงเคราะห์มาเป็นการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ สร้างความชอบธรรมให้กับประชาชนทุกคนโดยทันที  ปีใหม่ไทยปีนี้ รัฐสามารถปฏิรูปสังคมได้ทันทีด้วยการปรับเปลี่ยนให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า หากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคการเมืองต่างๆจะได้นำเสนอนโยบายหลักประกันรายได้เมื่อสูงวัยที่ก้าวหน้ายิ่งกว่าให้นโยบายว่าพรรคตนเองจะให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเท่าไร มันไม่ก้าวหน้า ยอมรับและปรับให้สวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้าคุ้มครองเด็กตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี ที่สุดต้องยกเลิกการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ไม่ปฏิรูปแถมยังสร้างช่องห่างระหว่างคนรวยคนจน เช่น การลดหย่อนภาษีการลงทุน การให้สิทธินักลงทุนแบบล้นเกินในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ การไม่มุ่งหน้าปฏิรูประบบภาษีทรัพย์สิน ที่ดิน อันนี้ต่างหากที่ไม่เป็นการปฏิรูป และยังปล่อยให้ร่าง รธน.ตอกย้ำให้ทำแบบเดิมๆนี้ด้วยนับว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคมืดแน่แท้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net