Skip to main content
sharethis
 
กรมสุขภาพจิตจับมือองค์กรใหญ่ให้โอกาสออทิสติกพิสูจน์ฝีมือ/ก.แรงงานแจงไม่ห้ามเด็กช่วยพ่อแม่ทำงาน/'นิด้าโพล'เผย ปชช.หนุนนายจ้าง หักเงินคืนหนี้ กยศ./กอช.เผยยอดสมาชิกยังต่ำกว่าเป้าผนึก 4 ธ.พาณิชย์เพิ่มหน่วยบริการ/ย้ำนายจ้างนำแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตหมดอายุไปรายงานตัวตามกำหนด
 
ก.แรงงาน เผย 6 เดือน บรรจุงานกว่า 1.8 แสนคน
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากนโยบายของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล โดยให้คนไทยทุกคนมีงานทำที่มั่นคง และเหมาะสมกับทักษะของตนเอง ซึ่งกองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานผลการบรรจุงานผ่านการให้บริการของ Smart Job Center และสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 มี.ค. 59 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ระหว่างเดือน ต.ค. 58 – มี.ค. 59 พบว่า มีผู้สมัครงานได้รับการบรรจุงานแล้วจำนวน 189,030 คน เฉลี่ยสามารถบรรจุงานได้กว่าเดือนละ 31,000 คน สร้างรายได้แก้ผู้ที่ได้รับการบรรจุงานและครอบครัว เฉลี่ยแล้วกว่าเดือนละ 283 ล้านบาท โดยตำแหน่งงานที่มีการบรรจุผู้สมัครงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ช่างประกอบท่อ, ช่างปรับท่อ 2) ผู้ปฏิบัติงานในกรรมวิธีทำน้ำตาลและผู้ทำน้ำตาลบริสุทธิ์ 3) แรงงานในด้านการผลิตอื่นๆ 4) เจ้าหน้าที่สำนักงานอื่นๆ และ 5) พนักงานให้ข่าวสารด้านการท่องเที่ยว
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการในช่วงเดือน ต.ค. 58 – ก.พ. 59 มีตำแหน่งงานว่างสำหรับคนพิการจำนวน 936 คน มีผู้ได้รับการบรรจุงานผ่านการให้บริการของกระทรวงแรงงานแล้ว จำนวน 918 คน คิดเป็นร้อยละ 98 ของตำแหน่งงานว่าง แยกเป็น ชาย 556 คน หญิง 362 คน โดยบรรจุงานในช่วงเดือน ก.พ. 59 มากทีสุดมีจำนวน 227 คน ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ว่างงาน ต้องการหางานทำหรือต้องการแนะแนวอาชีพ สามารถติดต่อไปที่ Smart Job Center สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ทั้ง 10 เขตใน กทม. หรือโทร. 1694
 
 
กรมสุขภาพจิตจับมือองค์กรใหญ่ให้โอกาสออทิสติกพิสูจน์ฝีมือ
 
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมด้วย นายกิติพัฒก์ เนื่องจำนงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทโมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะ เชิญสื่อมวลชนร่วมสะท้อนศักยภาพเด็กออทิสติกทำงานหารายได้ช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ณ บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็น 1 ใน หลายองค์กรใหญ่ ที่ขานรับออทิสติกเข้าร่วมทำงาน ย้ำ ออทิสติก พัฒนาได้ กลับสู่สังคมได้ ขอเพียงเข้าให้ถึงบริการและได้รับโอกาสที่ดีจากสังคม
 
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก โดยปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิดออทิสติกกับเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้า ปี ค.ศ.2030 มุ่งสู่คุณภาพทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งเสริมการทำงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้ได้รับการจ้างงาน ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งนี้ ออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบได้ 6 ต่อ1,000 ราย ล่าสุด พบ ทั่วประเทศ มีออทิสติกกว่า 3 หมื่นราย อาการหรือสัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ออทิสติก สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ พัฒนาได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีคุณค่า ทำงาน ตลอดจนพึ่งพิงตนเองได้ โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในการจัดบริการเข้าถึง เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี ให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจาก หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้และเข้าโรงเรียนได้ตามวัย
 
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้น โดยการผสมผสานวิธีการต่างๆ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ ตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติและบำบัดรักษา กระตุ้นพัฒนาการ ตลอดจนปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ตั้งแต่การจัดระบบคัดกรองพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสม และที่สำคัญ การเข้าใจและให้โอกาสกับบุคคลกลุ่มนี้ ไม่มองพวกเขาเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ย่อมช่วยให้พวกเขามีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไปได้
 
การคืนบุคคลออทิสติกสู่สังคม จึงจำเป็นต้องมี "พันธมิตร" ในภาคสังคมที่สำคัญ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายองค์กรภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 10 องค์กรได้ให้โอกาสพวกเขาพิสูจน์ศักยภาพ รับเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 30 ราย และ 1 ในนั้น คือ บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมา รับบุคคลออทิสติกเข้าทำงาน จำนวน 6 รายด้วยกัน ตลอดจน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลบางนา 2 และ 5 โรงพยาบาลมนารมย์ บริษัท เอส เทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สำนักงานจัดหางาน เขตพื้นที่ 1 และ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทปิติห้องเย็น จ.สมุทรปราการ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
 
ด้าน นายกิติพัฒก์ เนื่องจำนงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทโมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทได้ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของผู้พิการและผู้ป่วยออทิสติกที่มีสิทธิเท่าเทียมในการประกอบอาชีพและได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งปัจจุบัน ได้รับจ้างงานเป็นพนักงานของบริษัททั้งสิ้น 6 ราย ปฏิบัติงานตามแผนกต่างๆ ตามความถนัดและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน ทั้งนี้ บริษัทจะประสานงานกับ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ผ่านทางหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน ของ รพ. เพื่อคัดเลือกน้องๆที่มีความพร้อมและมีความสามารถที่จะทำงานได้ส่งมาให้บริษัทฯทำการคัดเลือกเข้าทำงานตามความถนัดของแต่ละคนต่อไป โดยได้กำหนดให้เด็ก 1 คนมีพี่เลี้ยง 1 คน ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ ซึ่งระหว่างที่น้องๆทำงานอยู่ที่บริษัทฯ เรายังต้องดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด โดยใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมร่วมกับพี่เลี้ยง ตลอดจนปรึกษาถึงวิธีการดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับจิตแพทย์และหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน รพ.ยุวประสาทฯ มาโดยตลอด
 
พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผอ.โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษาหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพและเป็นภาระในครอบครัว จากการสำรวจของ The National Autistic Society (NAS) ของประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียง 15% ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานที่ไม่ความชำนาญจึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน และจากข้อมูลของมูลนิธิบุคคลออทิสติกไทย พบว่า มีบุคคลออทิสติกจำนวนไม่ถึงร้อยคนที่มีงานทำหรือสามารถประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว สามารถช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆน้อยๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเปิดโอกาสให้พวกเขามีที่ยืนในสังคมต่อไปได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว มอบหมายให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ พัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง โดยได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับบุคคลออทิสติกที่มีประสิทธิภาพเพื่อการส่งเสริมโอกาสได้ใช้ความสามารถ มีงานทำ มีรายได้และพึ่งพาตนเอง ลดภาระและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดย ในวันที่ 1 เมษายน 2559 จะมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ การนำเสนอแนวคิดและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ และวันที่ 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันออทิสติกโลก จะมีกิจกรรมAutism Awareness Run & Walk 2016 เพื่อสร้างความตระหนัก รับรู้เข้าใจเกี่ยวกับโรคออทิสติก จึงขอฝากสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข้อมูลและเชิญชวนให้ติดตามกิจกรรมดังกล่าวเพื่อแพร่แก่สาธารณชนต่อไปด้วย
 
 
ก.แรงงาน แจง ไม่ห้ามเด็กช่วยพ่อแม่ทำงาน
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ของสื่อมวลชนทางสื่อออนไลน์ในลักษณะที่ระบุว่า กระทรวงแรงงานเร่งประชาสัมพันธ์ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากต่างชาติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่หัวหน้าส่วนราชการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานทั่วประเทศได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องตรวจและคุ้มครองดูแลแรงงานในทุกมิติ โดยได้กำชับให้ข้าราชการของกระทรวงแรงงานต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบถึงเรื่องที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน
 
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า เรื่องเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ในสังคมมากขึ้น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการให้มีการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย ซึ่งการที่เด็กปิดเทอมและช่วยพ่อแม่ทำงานในกิจการของครอบครัวนั้นถือเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสังคมไทย กรณีนี้ไม่ถือว่าเด็กมีความต้องการทำงานเพื่อแลกค่าจ้าง และพ่อแม่ก็ไม่มีเจตนาที่จะจ้างเด็กทำงาน เป็นเพียงการฝึกทักษะในการดำเนินชีวิตปกติตามวิถีชีวิตในสังคมไทยเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันการที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพ เช่น การขายของ กิจการส่วนตัวอื่นๆ เป็นต้น สังคมภายนอกอาจมองว่า เป็นการกระทำในลักษณะเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก กระทรวงแรงงานจึงขอทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ต่อสังคมว่า เด็กสามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้ตามปกติ แต่การช่วยงานดังกล่าวต้องไม่เป็นไปในลักษณะการใช้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน เนื่องจากจะสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการใช้แรงงานเด็ก
 
ทั้งนี้ความผิดตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เกี่ยวกับโทษในความผิดต่อแรงงานเด็ก จำนวน 3 ฐานความผิดในเรื่องของงานอันตรายสำหรับเด็ก สถานที่ห้ามทำงานสำหรับเด็ก และอายุขั้นต่ำ โดยมีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีการเพิ่มโทษในกรณีที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงานหรือให้ทำงานในสถานที่ต้องห้าม จากเดิมจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงานหรือให้ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มโทษในกรณีนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป หรือกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 22 ที่เกี่ยวกับอายุของเด็กในงานเกษตรกรรมและงานประมงทะเล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในต้นเดือนเมษายนนี้
 
 
'นิด้าโพล'เผย ปชช.หนุนนายจ้าง หักเงินคืนหนี้ กยศ.
 
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แนวทางการตามหนี้ กยศ.จากผู้ที่ยังคงค้างชำระอยู่ทั่วประเทศ 2 ล้านคน วงเงิน 52,000 ล้านบาท” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.24 ไม่เห็นด้วยเลยกับกรณีที่ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอให้ไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน กยศ.แต่ไม่ชำระคืน ขณะที่ร้อยละ 30.32 ระบุเห็นด้วยมาก และร้อยละ 14.56 ไม่ค่อยเห็นด้วย โดยในจำนวนผู้ที่ค่อนข้างเห็นด้วย-เห็นด้วยมาก ให้เหตุผลว่า ควรออกกฎข้อบังคับเพื่อให้ผู้ที่ยังคงค้างชำระมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง และจะได้มีกองทุนไว้สำหรับรุ่นต่อ ๆ ไป
 
ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตุผลว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป หากไม่ต่ออายุบัตรประชาชน ก็จะไม่สามารถติดต่อธุระต่าง ๆ ได้ และอาจเป็นช่องโหว่ของการก่ออาชญากรรม บางคนที่ยังค้างชำระอาจมีรายได้น้อย เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ควรแก้ไข ด้วยวิธีอื่น เช่น การเสียค่าปรับ หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
 
ทั้งนี้ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.26 ระบุเห็นด้วยมากกับข้อเสนอการตามหนี้ กยศ. คล้าย ๆ กับการหักภาษี ด้วยการออกกฎหมาย กำหนดให้เจ้าของบริษัท หรือหัวหน้าส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่าย ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. รองลงมา ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะถือว่ามีการทำงานและมีรายได้ที่แน่นอนแล้ว เป็นการบังคับจ่ายไปในตัว เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องคืน จะได้ยุติธรรมทั้งผู้ให้ยืม ผู้ยืม และจะได้นำเงินที่ได้คืนมาให้ผู้อื่นได้กู้ยืมต่อไป เป็นการสร้างมาตรฐาน และแนวทางในการคืนที่ดีที่สุด ง่าย และสะดวกต่อการคืนชำระเงิน มีเพียงร้อยละ 6.72 ไม่เห็นด้วยเลย โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากบางคนยังมีรายได้น้อย หรือมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ หากหักไปแล้วจะไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นในแต่ละเดือน และยังเป็นการเพิ่มภาระการจัดการของหน่วยงาน/องค์กรอีกด้วย
 
สำหรับสาเหตุของปัญหาการค้างชำระหนี้ กยศ. นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.04 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินไม่มีจิตสำนึก ร้อยละ 6.32 ระบุว่า บทลงโทษผู้ไม่ชำระหนี้ กยศ. ไม่รุนแรงจึงไม่มีใครกลัว
 
ส่วนประเด็นการกำหนดบทลงโทษสถาบันการศึกษาที่มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ. จำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.44 ระบุไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 16.64 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นความรับผิดชอบและจิตสำนึกของผู้กู้ยืมเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษามีหน้าที่เพียงแค่ติดต่อและยื่นเรื่องประสานงานไปยัง กยศ. เท่านั้น ไม่ควรมีบทลงโทษแต่อย่างใด ขณะที่ร้อยละ 15.52 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะสถาบันการศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพิจารณา หรือกำหนดเกณฑ์ผู้ขอกู้ยืม ก็ควรที่จะมีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบหรือติดตามผู้ที่ยังค้างชำระ บางส่วนมองว่าสถาบันการศึกษายังขาดการประชาสัมพันธ์ในการชี้แจงถึงช่องทางการชำระเงิน
 
 
ก.แรงงาน ย้ำนายจ้างดูแลการใช้แรงงานเด็ก
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารที่ยังคลาดเคลื่อนกรณีนายจ้างจ้างแรงงานเด็ก ซึ่งอาจสร้างความสับสนแก่สังคมได้ อาทิมีสื่อออนไลน์บางสำนักนำเสนอว่ากระทรวงแรงงานห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านนั้น กระทรวงฯขอเรียนชี้แจงว่ากรณีข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีนี้มีเพียง ให้เจ้าหน้าที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ห้ามนายจ้างจ้างงานแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานในทุกประเภทกิจการเท่านั้น เนื่องจากจะมีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนกรณีเด็กจะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตามก็สามารถที่ทำได้ตามปกติเนื่องจากเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน และกระทรวงแรงงานส่งเสริมและสนับสนุนอย่างยิ่งเพราะเห็นว่าไม่ว่าเด็กวัยใดก็ตามเมื่อช่วยงานบ้าน ก็จะสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังได้เรียนรู้ การทำงานตั้งแต่วัยเด็กก่อนเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งนอกจากทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจแล้ว ยังทำให้เด็กไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย
 
สำหรับการจ้างงานแรงงานเด็กของนายจ้างกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้มีการเพิ่ม บทลงโทษความผิดตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่…) พ.ศ.. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541ซึ่งจะ เพิ่มโทษในกรณีนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป หรือกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 22 ที่เกี่ยวกับอายุของเด็กในงานเกษตรกรรม และงานประมงทะเลต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเร็ว ๆ นี้
 
 
กอช.เผยยอดสมาชิกยังต่ำกว่าเป้าผนึก 4 ธ.พาณิชย์เพิ่มหน่วยบริการ
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช.ได้เจรจากับสถาบันการเงินเอกชน 3-4 แห่ง เพื่อเพิ่มหน่วยเปิดรับสมาชิกจากปัจจุบัน จากปัจจุบันที่รับสมาชิกผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยจะมีความชัดเจนช่วงกลางปีนี้ และจะขยายเวลาเปิดรับสมาชิกในสาขาธนาคารที่เปิดบริการในห้าง สรรพสินค้า จากเดิมที่จะรับเฉพาะเวลา 08.30-15.00 น. เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559 รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยบริการของ กอช. เปิดรับสมาชิกได้ทันทีให้ครอบคลุมมากขึ้น
 
ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีประชาชนมาสนใจสมัครสมาชิกกองทุนน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยปัจจุบันมีจำนวน 417,460 แสนราย เพิ่มขึ้น จากปลายปี 2558 ที่มีประมาณ 4 แสนราย เพียงเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ประชาชนมี รายได้ลดลง ขณะเดียวกันหน่วยบริการรับสมาชิกยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้นการเพิ่มหน่วยบริการเชื่อว่าในภาพรวมจะทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่ง กอช.ยังคงเป้าหมายเปิดรับสมาชิกในปี 2559 ไว้ที่ 1.5 ล้านคน
 
สำหรับสถานะกองทุนปัจจุบัน มีจำนวนเงินกองทุนรวม 958 ล้านบาท เป็นเงินสะสมรวม 641 ล้านบาท และเงินสมทบ 316 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิก 4.17 แสนราย เป็นการสมัครของ ธ.ก.ส. 2.24 แสนราย ออมสิน 1.56 แสนราย ธนาคารกรุงไทย 2.7 หมื่นราย และโอนจากสำนักงานประกันสังคม 1 หมื่นราย มีสัดส่วนอายุสมาชิก 15-30 ปี 5.43% อายุ 30-50 ปี 46.40% และมากกว่า 50 ปีขึ้นไป 48.17% โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี รีบมาสมัคร เป็นสมาชิกกองทุนมากขึ้น เนื่องจากจะเปิด รับได้ถึงช่วง ก.ย.2559 เท่านั้น
 
นายสมพรกล่าวว่า ในปี 2559 กอช. จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการจากสมาชิก ที่ในอัตรา 1% ของจำนวนเงินสมทบเข้ากองทุน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีกรอบอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2.5% นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กอช.เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการคัดเลือกสมาชิก กอช. 7 ราย จากสมาชิกทั้งหมด 4 แสนราย ให้ทำหน้าที่กรรมการผู้แทนสมาชิกในคณะกรรมการ กอช. ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้แทนสมาชิก กอช.ในช่วง ก.ค.2559 นี้
 
 
สธ.ประชุมป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุก รพ.ช่วงสงกรานต์
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้แทน 3 กองทุน และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารือนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” แนวทางการดำเนินงานเพื่อปรับระบบให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” เป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยและเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการมาเกือบ 5 ปีแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายได้มีความพยายามปรับในสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ ขณะนี้ 3 กองทุนทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม มีความเห็นตรงกันเรื่องระบบเบิกจ่ายที่เหมาะสม ตามราคากลางค่ารักษาพยาบาล และอยู่ระหว่างหารือกับโรงพยาบาลเอกชน ในเรื่องราคากลางค่ารักษาพยาบาลที่พอจะเป็นไปได้ ซึ่ง 3 กองทุนยอมรับค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นมา และโรงพยาบาลเอกชนก็พร้อมจะร่วมมือดำเนินการในเรื่องการช่วยชีวิตในช่วงวิกฤติของชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางของประชารัฐ ที่รัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันทำเพื่อสิ่งที่ดีให้ประชาชน
 
สำหรับในช่วงเทศกาลที่จะมาถึงนี้ ประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตรายถึงแก่ชีวิต ตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่วงหน้าในโรงพยาบาลเอกชน และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำงานเชิงรุกในการเป็นผู้ประเมินเพื่อวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ประสานระหว่างโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ให้การรับผู้ป่วย การส่งตัวผู้ป่วย การจัดหาเตียงหลัง 72 ชั่วโมง เป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนเรื่องระบบเบิกจ่ายที่เหมาะสมตามราคากลางค่ารักษาพยาบาลนั้น จะได้นัดหารือกันอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนสงสัยโทรถามสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
 
กพร.ผนึกปูนซีเมนต์ผลิตช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การขยายตัว อย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ใน ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน หรือที่พักอาศัย ต่างส่งผลให้ช่างก่อสร้างเป็นที่ต้องการอย่างมากใน ตลาดแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ในการยกระดับศักยภาพช่างสาขานี้ให้ตอบสนองความต้องการดังกล่าว และที่สำคัญต้องพัฒนาให้แข่งขันได้ในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการฝึกอบรมในสาขาช่างก่อสร้างนั้น กพร.ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากบริษัทมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้ (2559) ก็เช่นกัน กพร. ได้รับมอบวัสดุการฝึกอบรมจากทางบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ จำนวน 500 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,200,000 บาท
 
 
ก.แรงงาน ย้ำนายจ้างนำแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตหมดอายุไปรายงานตัวตามกำหนด
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่เคยมีใบอนุญาตทำงานแล้ว (คนเดิมเท่านั้น) มารายงานตัวทำบัตรใหม่ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 29 ก.ค. 2559 (120 วัน) โดยแบ่งเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่จดทะเบียนมีบัตรสีชมพู และ 2.กลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้จากการตรวจสัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติทุกกลุ่มรวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปีที่มีเอกสารหนังสือเดินทาง โดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้ 1) นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 2) ชำระค่าธรรมเนียม ณ จุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ และ 3) นำแรงงานต่างด้าวไปศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ตามแต่ละพื้นที่กำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับรายงานตัวและจัดทำบัตรใหม่ให้ต่อไป โดยบัตรใหม่นี้จะปรากฏใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังและระบุวันที่อนุญาตทำงาน ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2559 ถึง 31 มี.ค. 2561 เท่ากันทุกคน
              
สำหรับผลการจดทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 - 4 เมษายน 2559 ปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 20,208 คน (แรงงาน 19,730 คน ผู้ติดตาม 478 คน) แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา จำนวน 8,933 คน สัญชาติลาว จำนวน 2,960 คน และสัญชาติกัมพูชา จำนวน 8,315 คน จำนวนนายจ้างรวม 6,403 ราย
             
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปใช้บริการตามวันที่กำหนดนัดด้วยเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และรักษาสิทธิของลูกจ้างให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net