Skip to main content
sharethis
6 เม.ย. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) กล่าวถึงการประชุมสนช.ในวันที่ 7 เม.ย.มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอนม เป็นประธานกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งยังคงให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เป็นผู้ทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน ขณะที่กกต.จะทำหน้าที่แค่เผยแพร่ขั้นตอนวิธีการลงประชามติเท่านั้น ขณะเดียวกันจะกำหนดบทลงโทษทั้งจำคุกและโทษปรับตามมาตรา 62 แก่ผู้ทำให้เกิดความวุ่นวาย หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ตลอดจนผู้กระทำการเผยแพร่ข้อความ ภาพและเสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเลคทรอนิคส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่า ผู้นั้นก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ หรือถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
 

ครูหยุย จอชงคำถามพ่วง ส.ว.โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ-รัฐมนตรีได้

ขณะที่ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 7 เม.ย. เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเรื่องประเด็นคำถามพ่วงประชามตินั้น ตนจะขอเสนอประเด็นคำถามพ่วงประชามติเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคือ ควรให้รัฐสภามีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในกรณีการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ โดยจะเสนอเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นให้ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ส.ว.มีอำนาจร่วมลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ แต่ต้องเป็นเฉพาะกรณีทุจริตเท่านั้น โดยส.ว.ไม่มีอำนาจขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มีอำนาจรับฟังการอภิปราย และร่วมลงมติ เพราะที่ผ่านมามักมีการใช้เสียงข้างมากช่วยเหลือกันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงควรให้ส.ว.มาร่วมถ่วงดุลด้วย ส่วนกระแสข่าวที่สนช.บางส่วนอยากให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติว่า ควรให้รัฐสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและลงมติอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า การตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอาจขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไข ที่ให้สนช.สามารถสนช.เสนอประเด็นคำถามพ่วงประชามติได้เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น
 

แม่ทัพภาคที่ 2 คนใหม่ ไม่หวั่นกระแสต้านร่าง รธน. ชี้มี ก.ม.คุมเข้มอีสาน 

ขณะที่เมื่อวันที่  4 เม.ย.ที่ผ่านมา PPTV รายงานด้วยว่า ที่สโมสรค่ายสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพิธีสวนสนามส่งมอบตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 อย่างเป็นทางการให้กับ พล.ท.วิชัย แชจอหอ หลังเสร็จพิธีแม่ทัพภาคที่ 2 คนใหม่ เปิดใจว่าไม่กังวลกับกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมการทำกิจกรรมทางการเมือง ที่เข้มงวดใช้บังคับอยู่แล้วและอยากทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าเวลานี้ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. ที่มีเจตนาแก้ปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยดี ทุกคนจึงควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานเต็มที่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net