อองซานซูจีออกประกาศให้ปล่อยนักโทษการเมือง-ยุติดำเนินคดีเป็นวาระเร่งด่วน

ประกาศฉบับแรกของ 'มนตรีแห่งรัฐ' ให้การปล่อยตัวนักโทษการเมือง-นักกิจกรรม-นักศึกษา เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล เล็งถอนฟ้องคดีระหว่างรัฐกับประชาชน - นับเป็นประกาศแรกหลังอองซานซูจีดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านสภา ขณะที่ ส.ส.จากกองทัพวิจารณ์ว่าเป็นการผ่านกฎหมายแบบใช้ประชาธิปไตยรังแก

ประกาศของสำนักงานมนตรีแห่งรัฐ ลงนามโดย อองซานซูจี เรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษาเป็นวาระเร่งด่วน (ที่มา: president-office.gov.mm)

อองซานซูจี และถิ่นจ่อ ประธานาธิบดีพม่า พบกับเปาโล เจนติโลนี รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเนปิดอว์ เมื่อ 6 เม.ย. 2559 (ที่มา: president-office.gov.mm)

 

7 เม.ย. 2559 - ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งอองซานซูจี เป็นมนตรีแห่งรัฐ ในวันนี้ (7 เม.ย.) อองซานซูจี ออกคำประกาศว่าจะมีแผนปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักกิจกรรมที่ถูกจองจำ "เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

โดยช่วงเย็นวันนี้ สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดีพม่าได้เผยแพร่ประกาศฉบับแรกของสำนักงานมนตรีแห่งรัฐ ลงนามโดย ออง ซาน ซูจี กำหนดให้ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษา เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลประชาชน

ทั้งนี้ในประกาศระบุว่ามียุทธศาสตร์ 3 ด้านที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้ประกอบด้วย กลไกแรก ภายใต้มาตรา 204(a) รัฐธรรมนูญ 2008 และ ภายใต้มาตรา 401(a) ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจ "อภัยโทษ" แก่ผู้ถูกจองจำ

กลไกที่สอง ในมาตรา 204(b) ของรัฐธรรมนูญพม่า กำหนดให้ประธานาธิบดีออกคำสั่งนิรโทษกรรมตามที่สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ให้คำเสนอแนะ ทั้งนี้สภากลาโหมและความมั่นคงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ

กลไกที่สาม ที่ระบุคือ มาตรา 494 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ด้วยความเห็นชอบของศาล รัฐบาลสามารถถอนข้อกล่าวหาในคดีที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง โดยการถอนข้อกล่าวหาทำโดยผ่านเจ้าหน้านิติกรในระดับอำเภอ

"ในวาระปีใหม่ของชาวพม่า พวกเราจะปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษา ที่เผชิญกับการดำเนินคดีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยใช้กลไกแรกและกลไกที่สาม" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ระบุว่าขณะนี้มีนักโทษการเมืองเหลืออยู่ 100 คน และมีอีกกว่า 400 คนที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งนักศึกษาพม่ากลุ่มใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีเมื่อปีที่แล้ว หลังเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา

 

ประกาศแรกของอองซานซูจีหลังรับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ
ส.ส.กองทัพมองว่าเป็นการผ่านกฎหมายแบบใช้ประชาธิปไตยรังแก

ทั้งนี้นับเป็นประกาศฉบับแรก ภายหลังจากที่อองซานซูจีได้รับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านชั้นสภาชนชาติเมื่อ 1 เม.ย. และผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 5 เม.ย. ก่อนที่รัฐสภาแห่งสหภาพจะส่งกลับมาให้ประธานาธิบดีถิ่นจ่อลงนามเมื่อ 6 เม.ย. และมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการอภิปรายทั้งในชั้นสภาชนชาติ และสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาโควตาแต่งตั้งจากกองทัพได้อภิปรายคัดค้านโดยให้เหตุผลว่ากฎหมายตั้งมนตรีแห่งรัฐจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ เข้าไปมีส่วนทั้งนิติบัญญัติและบริหาร ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยในหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า เมื่อ 7 เม.ย. ได้ลงคำสัมภาษณ์ของ พลจัตวา หม่องหม่อง ส.ส. โควตากองทัพพม่า ที่ให้สัมภาษณ์หลังร่างกฎหมายมนตรีแห่งรัฐผ่านสภาว่าเป็นการ "รังแกด้วยประชาธิปไตย" ของเสียงข้างมาก

ขณะที่ ทุนทุนเฮง ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์แย้งว่า ร่างกฎหมายมนตรีแห่งรัฐนั้นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรคการเมือง สหภาพที่เป็นสหพันธรัฐ และเพื่อสันติภาพและการพัฒนาของสหภาพพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท