Skip to main content
sharethis

7 เม.ย.2559  ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 งดออกเสียง  3 เสียง ให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณา 5 ชั่วโมงเศษ 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีทั้งหมด 65 มาตรา มีสาระสำคัญคือการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้รอบด้าน ไม่มีการปิดกั้น แต่การแสดงความเห็นต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ขัดกฎหมาย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเป็นผู้ทำหน้าที่เผยแพร่อธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ กกต. ต้องวางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่

ขณะที่สมาชิกหลายรายได้อภิปรายท้วงติงเนื้อหาในมาตร 7 หลัง กมธ.แก้ไขร่างเดิมโดยตัดคำว่า “รณรงค์” ออก  ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเพราะจะทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ทั้งที่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต

(มาตรา 7 ร่างแรก บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย - อ่านที่นี่

พล.อ.สมเจตน์ ชี้แจงว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีการปิดกั้นผู้ใด แต่การรณรงค์ถือเป็นการชักจูงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ คนที่จะรณรงค์ได้มีแค่ กกต.เท่านั้น แม้แต่ กรธ.ก็ทำได้แค่ชี้แจงข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทำได้แค่พูดข้อเสียเช่นกัน  การพูดว่าให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าชี้นำจะสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายประชามติ 

อย่างไรก็ตามสมาชิก สนช.หลายคนยืนยันไม่เห็นด้วยกับเนื้อหามาตรานี้ทำให้ต้องแขวนมาตรา 7 ไว้เพื่อพิจารณามาตราอื่นก่อน ท้ายที่สุด กมธ.แจ้งต่อที่ประชุมว่ายินยอมแก้ไขข้อความในมาตรา 7 จากเดิมที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” เป็น “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” เพื่อให้บุคคลสามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและไม่ขัดกฎหมาย

(อ่านร่างฉบับผ่าน กมธ. วาระสอง ที่นี่

สมาชิก สนช.ยังทวงติงประเด็นที่กำหนดว่า เมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติเห็นว่าการออกเสียงประชามติในหน่วยนั้น ๆ ไม่สุจริตเที่ยงธรรม สามารถรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10 คน เพื่อคัดค้านโดยแสดงหลักฐานต่อ กกต.ได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากร่างแรกที่ต้องอาศัยเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในหน่วยใดๆ ซึ่งสมาชิกสนช.หลายมองว่า การที่กมธ.แก้ไขให้มีการรวมตัวกันเพียง 10 คนในแต่ละหน่วยถือเป็นเรื่องง่ายเกินไป กังวลว่าจะทำให้เกิดการล้มประชามติขึ้น  ท้ายที่สุดกรรมาธิการจึงยอมปรับแก้เรื่องการรวมตัวเพื่อคัดค้านการออกเสียงประชามติ จาก 10 คน เป็น 50 คน เพื่อไม่ให้เกิดการล้มประชามติได้ง่าย

ส่วนการลงคะแนนประชามติจะไม่มีการลงคะแนนด้วยวิธีใช้เครื่องลงคะแนนเนื่องจากเห็นว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความสำคัญ

นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดบทลงโทษ กรณีมีบุคคลทำให้เกิดความวุ่นวาย หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ตลอดจนผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพและเสียงในสื่อต่างที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง โดยมุ่งหวังให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  หากพบว่า มีความรุนแรง ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี หรือหากเป็นกรณีการกระทำผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

ทั้งนี้ ทางกกต.ระบุว่า หลังพ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ในวันนี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ 13 เม.ย.นี้ จากนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทำร่างฉบับย่อ แบบสรุปเนื้อหาเข้าใจง่าย ส่งให้ กกต.จัดพิมพ์ ระหว่างนี้ กกต.จะเปิดให้กลุ่มที่ต้องการดีเบตแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ มาลงทะเบียนในวันที่ 22 เมษายน

เดือนพฤษภาคม กกต.จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเริ่มทยอยส่งร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเต็ม และฉบับย่อไปตามบ้านเรือนประชาชน และทำการการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ
เดือนมิถุนายน จะเริ่มออกอากาศการดีเบต แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์
เดือนกรกฎาคม ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 50 ล้านคน 
เดือนสิงหาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ Big Day พร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด ก่อนทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

สำหรับการทำประชามติครั้งนี้ กกต.ตั้งเป้าให้คนออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 80 ใช้งบประมาณราว 64.5 ล้านบาท ในตั้งศูนย์ประสานงานประชารัฐร่วมใจทุกจังหวัด จัดกิจกรรมเดิน และปั่นจักรยานรณรงค์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามสถานศึกษา นิคมอุตสาหกรรม และ หน่วยงานราชการ 

 

 

ที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์ เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายการครอบครัวข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net