#PanamaPapers: อนุสรณ์ ชี้แก้ทุจริต ต้องมีปชต.แท้จริง เสรีภาพสื่อ-วิชาการและการวิพากษ์วิจารณ์

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ขบวนการฟอกเงิน-เลี่ยงภาษี เอี่ยวผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย แนะทุจริต ต้องมีประชาธิปไตยแท้จริง เสรีภาพสื่อ-วิชาการและการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์
 
 
7 เม.ย.2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็วๆนี้ ขบวนการฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย 

กรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเผยเอกสารลับ ปานามาเปเปอร์ (Panama Papers) เปิดเผยว่า มีบุคคลในหลากหลายวงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินและซุกซ่อนทรัพย์สินในบริษัทต่างชาตินอมินีนั้น ผศ. ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลต้องทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้กระทำความผิดเพียงแต่มีชื่อไปเกี่ยวพันและดำเนินการตามกฎหมายสำหรับผู้กระทำความผิดจริง สิ่งนี้จะพิสูจน์ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการฟอกเงินและการทุจริตคอร์รัปชันจริงหรือไม่ การจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศเป็น Offshore Company เป็นเรื่องปรกติในการทำธุรกิจ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากจัดตั้งเพื่อทำธุรกิจตามปรกติ ส่วนการจัดตั้งบริษัท Offshore Company เพื่อเป้าหมายในการฟอกเงินหรือการซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ  วิธีการและเทคนิคการฟอกเงินมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการโต้ตอบของทางการ ในระยะที่ผ่านมา คณะทำงานเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF)1 ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้เทคนิคผสมที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น เช่น มีการใช้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นเพื่ออำพรางการถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและการถือครองทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย และการใช้ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการฟอกเงินที่ได้จากการประกอบอาชญากรรม ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกับประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการดำเนินการกับประเทศและเขตดินแดนที่ไม่ให้ความร่วมมือตามแนวทางของ FATF และความริเริ่มในระดับประเทศและระหว่างประเทศทำให้ FATF ได้ทบทวนและปรับปรุงข้อแนะนำสี่สิบข้อสำหรับใช้เป็นแนวทางที่มีความสมบูรณ์สำหรับป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย บัดนี้ FATF จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อนำระบบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศตนมาปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อแนะนำใหม่ของ FATF และเพื่อนำมาตรการเหล่านี้มาปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิผล จึงเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามมาตรฐานของ FATF ความโปร่งใสและการจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะดีขึ้นหากเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเสรีภาพของสื่อมวลชน วิชาการและการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์

ผศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การคอร์รัปชันในไทยนั้นมีหลายรูปแบบและมีนวัตกรรมพัฒนาขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและการตรวจสอบ เช่น อยู่ในรูปเหมือนภาษี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีคอร์รัปชัน ซึ่งรวมทั้งการเรียกสินบน/ส่วย/สินน้ำใจ ฯลฯ ตอบแทนการคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ หรือ กฎเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ การดึงเงินงบประมาณมาเป็นของตน ผ่านค่าคอมมิชชันโครงการ  การรับสินบนการจัดซื้อ จัดจ้าง รวมทั้งการเสนอโครงการเพื่อให้ได้เงินคอร์รัปชันโดยโครงการดังกล่าวอาจไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ การรับสินบนในขบวนการหลีกเลี่ยงภาษี  การโกงภาษีการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งการผูกขาดธุรกิจ หรือการผูกขาดหรือฮั้วกันในการประมูลโครงการ การเล่นพรรคเล่นพวก การซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ การคอยรับใช้ส่วนตัวในแทบทุกเรื่องของผู้มีอำนาจโดยนักธุรกิจ การจัดสรรสัมปทานอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มธุรกิจที่จ่ายเงินโดยรัฐเสียผลประโยชน์เสียค่าโง่และนำไปสู่การผูกขาดในกิจการต่างๆ ผู้นำหรือรัฐบาลคอร์รัปชันมากจะส่งเสริมให้คอร์รัปชันแพร่หลายในหมู่ข้าราชการ การคอร์รัปชันทางนโยบายที่ทำให้ทิศทางและพัฒนาการทางเศรษฐกิจเบี่ยงเบนไปจากที่ควรเป็น ปิดกั้นการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟอกเงินและการนำเงินจากการทุจริตไปซุกซ่อนในต่างประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศซึ่งต้องการอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา การดำเนินการอย่างกล้าหาญของ สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) และเจ้าหน้าที่ของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกาที่นำเอาเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับออกมาเผยแพร่ถือเป็นความกล้าหาญที่น่ายกย่อง ข้อมูลชุดนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกสีเทาไปสู่โลกที่โปร่งใสขึ้นบ้าง และ อาจทำให้ผู้อำนาจทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่ฉ้อโกงหรือมีพฤติกรรมฟอกเงินและเลี่ยงภาษีต้องหมดอำนาจไป และ ขณะนี้ได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงแล้วในบางประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อังกฤษ และรัสเซีย เป็นต้น 

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ สรุปอีกว่า จากงานวิจัยของ Axel Dreher และ Thomas Herzfeld นักเศรษฐศาสตร์ชาวยุโรป พบว่า ดัชนีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น 1 ขั้นทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณ 0.13% และทำให้ผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติต่อหัวลดลงประมาณ 425 ดอลลาร์หรือทำให้ประชาชนโดยเฉลี่ยจนลงประมาณ 13,600 บาทต่อคน (An Increase of corruption by about one index point reduces GDP growth by 0.13% points and GDP per capita by 425 US$)  นอกจากนี้ งานวิจัยต่างๆโดยเฉพาะจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ บ่งชี้ว่า ความรุนแรงของผลกระทบของคอร์รัปชันต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นอีกเมื่อประเทศนั้นไม่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมและมีรัฐบาลอ่อนแอหรือใช้ระบอบอำนาจนิยมปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และไม่ส่งผลบวกระยะยาวต่อสาธารณชน ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศที่มีความโปร่งใสกว่าเสียเปรียบทางการค้า การส่งออก การลงทุนระหว่างประเทศต่อประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยกว่าเมื่อมีธุรกรรมกับประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันสูง คอร์รัปชันยังส่งผลต่อฐานะทางการคลังย่ำแย่ลง กระตุ้นในเกิดตลาดมืด ตลาดการเงินและเศรษฐกิจเงา รวมทั้งเศรษฐกิจและการเงินนอกระบบ ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านระบบการศึกษาและการสาธารณสุขที่อ่อนแอและไม่มีคุณภาพ รวมทั้งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ  

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสนอแนะว่า แม้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ร่างเรียกว่าเป็นฉบับปราบโกงแต่ไม่อาจปราบโกงได้จริงหากเนื้อหารัฐธรรมนูญหรือผู้อำนาจรัฐในปัจจุบันและอนาคตหลังการเลือกตั้งไม่ได้สนับสนุนประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้ 1. ต้องเปิดเสรี เพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมือง  2. ผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ 3. เพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและนักลงทุน เพิ่มเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพทางวิชาการ 4. เพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ 5. เพิ่มการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณการคลังไปยังภูมิภาคและชุมชนต่างๆพร้อมพัฒนากลไกตรวจสอบและควบคุมในพื้นที่ 6. บังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด การกระทำผิดจากการทุจริตคอร์รัปชันไม่มีอายุความ 7. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและไม่ใช่การบริการพื้นฐานที่รัฐต้องดูแล 8. ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 9. ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงและระบอบธนาธิปไตย 10. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ยึดถือคุณธรรมจริยธรรม มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยแทนที่ ค่านิยมวัฒนธรรมในระบอบอุปถัมภ์เส้นสาย  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท