Skip to main content
sharethis

ในระหว่างคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพที่ย่างกุ้ง นักเขียนและศิลปินพม่ากลุ่ม 'พหุวัฒนธรรมนิยม' ได้ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ที่พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ปี 1977 ของเชโกสโลวาเกีย เรียกร้องต่อประชาชนพม่าทั้งปวง ประสานมือกันขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่แท้จริง ยุติการควบคุมทางการเมือง-ปราบปราม ปชช.-ยึดที่ดิน และการแทรกแซงจากกองทัพ

ประชาไท/7 เม.ย. 2559 'Multiculturalism' หรือ กลุ่มพหุวัฒนธรรมนิยม เป็นเครือข่ายแนวร่วมแห่งชาติต่อต้านกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อประชาชนพม่า ในระหว่างการจัดคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพที่จัตุรัสประชาชน ถนนแปร ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 7 เมษายนนี้

กลุ่มพหุวัฒนธรรมนิยมประกอบไปด้วยพระสงฆ์ ผู้นำคริสเตียน นักกิจกรรมมุสลิมและฮินดู จากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า รวมทั้งนักเขียนและศิลปิน โดยพวกเขาได้แรงบันดาลใจมากจาก Charter 77 หรือ กฎบัตร 77 ที่นำโดยวาคลัฟ ฮาเวล ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชนและศิลปินในเดือนมกราคม ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) เรียกร้องให้ระบอบคอมมิวนิสต์ของอดีตประเทศเชโกสโลวาเกีย เคารพและยกย่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในประเทศ ก่อนที่ต่อมาจะเกิดการล่มสลายของกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) และสหภาพโซเวียต

กฎบัตร 77 ของพม่ามีข้อเสนอหลากหลาย เป็นวิสัยทัศน์แห่งชาติซึ่งประชาชนทุกคน ทุกชาติพันธุ์ ทุกกลุ่มศาสนาของประเทศซึ่งเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางวัฒนธรรม โดยเป็นสิ่งย้ำเตือนประชาชนพม่าถึงสาระสำคัญของประชาธิปไตยที่ว่า พวกเราคือประชาชนที่มีอำนาจอธิปไตย และสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ถูกทำให้เป็นอื่น ไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นหลักการพื้นฐานและสากล โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ความศรัทธา เพศ ชนชั้น ความเชื่อใดๆ

"กฎบัตร 77 ของพม่ามุ่งหมายต่อพลเมืองรากหญ้า เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและสันติภาพในพม่า ประเทศของเราตกอยู่ในสงครามกลางเมืองที่นองเลือด มานับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ปกครองด้วยรัฐบาลอำนาจนิยมของทหารหลายขณะ และในรอบไม่กี่ปีมานี้ ก็ได้รับผลกระทบมาจากการก่อตัวขึ้นของกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ เราต้องการยุติความขัดแย้งทั้งหมด และร่างบทใหม่ของสันติภาพ ความกลมเกลียว ความปรองดอง สำหรับทุกชนชั้น ทุกชุมชน รวมทั้งกับกองทัพพม่า" ซอโปควา หนึ่งในผู้จัดงาน ซึ่งเป็นนักร้องเรกเก้ที่มีชื่อเสียงในพม่า

 

ทั้งนี้คำแถลงดังกล่าวเรียกร้องไปยังประชาชนทุกวิถีชีวิต รวมไปถึงผู้มีตำแหน่งในกองทัพพม่า ซึ่งยังคงรักษาอำนาจการปกครองพม่า ในขณะที่มีการตั้งรัฐบาลพลเรือนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย โดยออง ซาน ซูจี เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยคำแถลงนี้ก็เพื่อร่วมในการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นจริงสำหรับทุกคน ทั้งนี้กองทัพยินยอมอย่างไม่เต็มใจนักที่จะเปลี่ยนแปลงในประเด็นหลักในด้านการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชน โดยทางกลุ่มพหุวัฒนธรรมนิยมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเพื่อยุติการควบคุมทางการเมือง การปราบปรามนักศึกษาและนักต่อสู้ การยึดไร่นาและทรัพยากรของชาวนา กรรมกร และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และยุติการแทรกแซงของกองทัพในกิจการต่างๆ รวมทั้งด้านการบริหาร

โดยในการแสดงคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 7 เมษายน ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ไปยังประชาชนของพม่า มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าและภาษาต่างประเทศกว่า 20 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย นับเป็นครั้งแรกหลังจากการลุกฮือ 8888 เมื่อ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ที่เครือข่ายปัญญาชนและศิลปินพม่าทั่วประเทศได้มาร่วมกันเพื่อเสนอวิสัยทัศน์สำหรับทุกคนในประเทศพม่า

เนวิน เลขาธิการของสมาคมเยาวชนคริสเตียน YMCA แห่งเมืองมัณฑะเลย์กล่าวว่า "ประชาชนของพม่าสามารถที่จะหยุดหาข้อแตกต่างของเรา และมาแสวงหาพื้นฐานร่วมกันในฐานะประชาชนที่ห่วงใยอนาคตของประเทศของเรา เราจะร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม และสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนจะต้องได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยไม่จำแนกความเชื่อความศรัทธา เชื้อชาติ และพื้นฐานทางการเมือง ขอให้พม่าเกิดสันติภาพ การมองเห็นหัวทุกคน และความกลมเกลียวในหมู่ชุมชนของพวกเราทั้งหมด"

โดยผู้ร่วมลงชื่อใน "แถลงการณ์เรียกร้องต่อประชาชนชาวเมียนมา" ซึ่งมีทั้งนักเขียน ศิลปิน พระสงฆ์ และผู้นำศาสนา ประกอบด้วย 1. U Thein Than Oo 2. Saw Hpoe Khwa 3. Mun Awng (Singer) 4. Reverend Zaw Win Aung (Vice-Chair, Myanmar Council of Churches) 5. Saw Kapi 6. U Tin Aye Kyu (Poet) 7. Daw Phyu Phyu Win (Writer) 8. U Nay Win, General Secretary, YMCA Mandalay 9. Myawaddi Sayadaw (Mandalay) U A Ri Ya Bi Wun Tha 10. U Pazin Pein (Meikhila)

11. Nyi Pu Lay (Writer) 12. Asia Light / Sayadaw U Sein Di Ta 13. Sithu Aung Myint (Journalist) 14. U Khin Maung Myint (President, YMCA Mandalay) 15. Ko Tar (Chin Dwin) 16. U Kyaw Thu (Free Funeral Service Society) 17. Dr Kyaw Thu (Paung Ku) 18. Harry Myo Lin (Mandalay) 19. Ma Wai Wai Nu (Arakan Woman's Network) 20. U Ye Lwin (Mizzima Waves/ Flowers' Path)

21. Sai Ye Kyaw Zwa Myint 22. U Tun Lin Oo (Sa Bae Phyu) 23. Phyo Win Latt (National University of Singapore/ Myanmar Cultural Research Journal) 24. Daw Khin Ohnmar (Burma Partnership)

สำหรับรายละเอียดของ แถลงการณ์ ตามที่เผยแพร่ในเพจของเครือข่าย มีดังนี้

"แถลงการณ์เรียกร้องต่อประชาชนชาวเมียนมา (เสียงเพรียกหาประชาธิปไตยรากหญ้าด้วยแรงบันดาลใจจาก Charter 77)

พวกเราผู้เขียนแถลงการณ์ฉบับนี้คือปัจเจกชนชาวเมียนมาที่ต้องการเห็นอิสรภาพ ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเบ่งบานในสหภาพเมียนมาของเรา สหภาพที่หลากหลายด้วยเชื้อชาติและความเชื่อความศรัทธา วันนี้ประเทศของเรากำลังเริ่มก้าวย่างไปบนหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย สันติภาพและความกลมเกลียว

1. กระนั้นก็ตาม เกษตรกรทั่วประเทศเราถูกเบียดขับจากที่ดินทำกินและถูกจับกุมคุมขังเนื่องจากประท้วงต่อการแย่งชิงที่ดิน เกษตรกรจำต้องดำรงชีวิตในสภาพคล้ายกับเมื่อปู่ย่าตาทวดต้องกระเสือกกระสนภายใต้การปกครองระบอบอาณานิคมของอังกฤษ ในสมัยที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก

2. เช่นเดียวกัน พี่น้องกรรมกรส่วนใหญ่ต้องทำงานในสภาพเลวร้ายไม่ได้รับค่าจ้างเพียงพอแก่การยังชีพ ไม่มีสิทธิแรงงานหรือประกันสังคม พวกเขาต้องมีชีวิตในสภาพไม่ต่างจากพี่น้องกรรมกรที่เคยจับมือกันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศในยุคอาณานิคมเมื่อ ค.ศ. 1936

3. ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่เชื้อสายพม่าหรือที่เรียกว่า "ชนกลุ่มน้อย" ก็มิได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแต่อย่างใด ผู้คนในเขตที่ยังมีการทำสงครามต้องดิ้นรนในแต่ละวันโดยปราศจากความปลอดภัยส่วนบุคคลและชุมชน บ่อยครั้งที่ต้องซอกซอนหลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอด สงครามระหว่างชาติพันธุ์ในระดับความเข้มข้นต่างกันยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับกองทัพตั๊ดมะดอ (กองทัพพม่า) ที่คอยเหยียบย่ำหลักการความเท่าเทียมของชาติพันธุ์และการกำหนดชะตากรรมตัวเองตามความตกลงเวียงปางหลวง ที่กองทัพพม่าไม่เคยปฏิบัติตาม

4. ทุกวันนี้ การข่มเหงรังควานและตั้งข้อหาต่อกลุ่มนักศึกษาซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องการศึกษาที่เหมาะควรกับระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 2015 ยังเต็มไปด้วยความไร้มนุษยธรรมกดขี่และรุนแรงยิ่งกว่าที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษเคยกระทำต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งในเหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษาขบวนการชาตินิยมเมื่อ ค.ศ. 1936

5. พระและอุบาสกอุบาสิกาที่นับถือพุทธศาสนาในประเทศของเราก็อยู่ภายใต้การปลุกปั่น ควบคุม และข่มเหง ผ่านทางองค์กรสงฆ์ที่รัฐบาลอุปถัมภ์ ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาของเราต้องเผชิญการแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติด้วยกฎหมาย การคุกคามด้วยความรุนแรง การไม่ยินยอมให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่แท้จริง รวมทั้งสิทธิในการบูรณะหรือสร้างสถานบูชาของศาสนาอื่น

6. ด้วยความท้อแท้และขุ่นข้องหมองใจจากการไร้อนาคตทางวิชาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพกลับไม่มีอิสระในการทำงาน ได้รับเงินเดือนไม่เพียงพอและไม่มีโอกาสก้าวหน้า ในขณะที่ทหารทั้งที่เกษียณแล้วและยังอยู่ในตำแหน่งกลับได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่ทหารเหล่านี้ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เลยแม้แต่น้อย

7. แม้กระทั่งพลทหารของกองทัพอันทรงอำนาจในประเทศนี้ก็ต้องดำรงชีวิตโดยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงน้อยนิดและมีโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมรอรับน้อยมาก ทั้งนี้รวมถึงพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บและพิการเนื่องจากต่อสู้ในสงครามที่เหล่านายพลกระทำต่อประชาชนของตนเอง

8. นักธุรกิจทั้งชายหญิงของเราต้องประกอบการในบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน ทั้งๆ ที่้ต้องแบกรับภาระของระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารบริหารผิดพลาดและล้มเหลวอย่างร้ายแรง

9. ประการสุดท้าย ชุมชนของความคิดสร้างสรรค์ในประเทศของเรา นับตั้งแต่ศิลปะด้านวรรณกรรมและการละครจนถึงนักดนตรีและศิลปินด้านการแสดงอื่นๆ ต้องสูญเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ ถูกพันธนาการด้วยกฎหมายที่เข้มงวด การกำกับดูแลอย่างเป็นทางการและวิธีการควบคุมอย่างไม่เป็นทางการ

เราขอเรียกร้องต่อ ประชาชนชาวเมียนมาทั้งปวง ให้ประสานมือกันในห้วงยามแห่งการเกิดยุคสมัยที่เต็มเปี่ยมด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริงสำหรับประชาชนและชุมชนทุกชาติพันธุ์ เราเชื่อมั่นศรัทธาว่า มีแต่เราเหล่าประชาชนเท่านั้นที่กำหนดชะตาชีวิตของเรา เราเป็นและต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเราต้องลงมือกระทำอย่างสามัคคีกัน ณ บัดนี้ เราขอให้ทุกคนจับมือกันและบุกเบิกหนทางสู่สิทธิมนุษยชน เสรีภาพและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสหพันธรัฐอย่างแท้จริงที่เป็นไปเพื่อประชาชนทุกคนโดยถ้วนหน้ากัน

(แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net