Skip to main content
sharethis

 

7 เม.ย.2559 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาหัวข้อ “ข่มขืน = ประหาร?” ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อตั้งคำถามว่า การรณรงค์ให้ประหารคนร้ายคดีข่มขืนนั้นจะช่วยให้ปัญหาการข่มขืนในสังคมไทยน้อยลงจริงหรือ?

ปัจจุบันโทษข่มขืนในประเทศไทยได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ให้มีโทษจำคุก 4-20 ปี หรือประหารชีวิตในกรณี ‘ข่มขืนฆ่า’

มาตรา 276 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท”

มาตรา 277 ทวิ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำผิดตามมาตรา 276 วรรค 1 หรือมาตรา 277 วรรค 1 หรือวรรค 3 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ (2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือการเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษเพื่อให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัวต่อโทษ และไม่กล้ากระทำความผิดนั้นได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะทำให้การฆ่าผู้เสียหายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนปี 2550 การกระทำชำเราไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 276 หลังจากนั้นจึงได้นิยามการกระทำชำเราว่าถือเป็นความผิดฐานข่มขืนด้วย รวมทั้งเพิ่มโทษเป็นจำคุก 4-20 ปี และไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง ชาย หรืออื่นๆ อีกทั้งคู่สมรสก็สามารถเป็นผู้เสียหายได้ และหากในกรณีที่ข่มขืนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะไม่มีการพิจารณาว่าเหยื่อนั้นมีความยินยอมหรือไม่ เพราะถือเป็นความผิดในทุกกรณี ในบางเคสที่เหยื่อเสียชีวิต ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้กระทำความผิดก็ตาม จะเข้าข่ายความผิดในมาตรา 277 ทวิทันที ทั้งนี้ก็ยังต้องดูบทลงโทษตามพฤติการณ์ประกอบ ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดนั้นต้องจำคุกตลอดชีวิต หรือต้องโทษประหารในที่สุด

สาวตรีกล่าวว่า ในต่างประเทศโทษจำคุกของคดีข่มขืนจะกำหนดตามพฤติการณ์ที่มีความหลากหลาย เช่น อายุของเหยื่อ, ความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและผู้กระทำความผิด, จำนวนของผู้กระทำความผิด หรือผลกระทบที่เหยื่อได้รับ เช่น บาดแผล ตั้งครรภ์หรือเสียชีวิต หรือในบางประเทศบทลงโทษอาจรุนแรงถึงขั้นตัดอัณฑะ (การใช้ยาเคมีเพื่อทำให้หมดฮอร์โมนและความรู้สึกทางเพศ)

ในบางประเทศเช่น จีน อัฟกานิสถาน อาหรับ อิหร่าน อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีเหนือ ฯลฯ ยังมีการใช้โทษประหารอยู่ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น อินเดียจะประหารผู้กระทำความผิดก็ต่อเมื่อทำให้เหยื่อเสียชีวิต หรือตกอยู่ในสภาพ ‘ผัก’ ไร้การรับรู้ หรือกระทำการข่มขืนซ้ำซากหลายครั้ง ส่วนในอิหร่านผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยุติการประหารผู้กระทำความผิดได้เพื่อเปลี่ยนเป็นการจำคุกหรือเฆี่ยนตีแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐอเมริกา หลังจากการตัดสินคดีข่มขืนหลายต่อหลายครั้งในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงก็ได้มีคำวินิจฉันคำพิพากษาตรงกันว่า การประหารเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป

สาวตรีสะท้อนว่า บทลงโทษที่เกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน คือต้องมีความเหมาะสมกับเหตุที่เกิดขึ้นจริง ตามกระบวนการอาชญาวิทยา อีกทั้งนอกจากจะเยียวยาผู้เสียหายแล้ว ยังต้องบำบัดผู้ที่กระทำผิดด้วย เพราะบางคนต้นเหตุของการกระทำนั้นเกิดจากปัญหาทางจิต การลงโทษประหารในทุกกรณีจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก ซ้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าข่มขืนให้กับเหยื่อ หรือหากในกรณีข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ทุกกรณีถือเป็นการข่มขืนนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างมากหากเด็กก็เป็นผู้ยินยอมเพราะต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบัน วัยรุ่นมีแฟนกันเร็วขึ้น แต่ผู้ปกครองกลับเอาความว่านี่คือการข่มขืน หรือในกรณีของคู่สมรส การไม่ยินยอมที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ แต่โทษของมันควรจะต้องถึงขั้นการประหารเลยหรือไม่

สาวตรีเสนอว่า การตัดสินโทษต่างๆ จะต้องดูในทุกมิติเพราะแค่โทษที่รุนแรงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้การข่มขืนนั้นหมดไปได้ อีกทั้งเรื่องการจับกุมที่ต้องกระทำการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดการจับแพะ รวมทั้งต้องบังคับให้มีการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น อาจต้องมีการกำหนดโทษพิเศษสำหรับการทำผิดซ้ำซาก หรืออาจต้องพิจารณาโทษจากปัจจัยที่หลากหลายมากขึ้น เช่น หากการกระทำนั้นทำให้เหยื่อเสียสุขภาพ เป็นโรคจิต ติดโรค หรือท้อง พร้อมยกตัวอย่างประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งลดและยกเลิกโทษประหาร แต่กลับพบว่า จำนวนอาชญากรรมในประเทศนั้นลดลง

บัณฑิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ปัญหาการข่มขืนเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังซึ่งทุกรัฐบาลควรให้ความสำคัญ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการแต่งตัวล่อแหลม หรือพฤติกรรมที่สุ่มเสียงแต่อย่างใด คนทุกวัยตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ก็ล้วนตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนได้ทั้งสิ้น

เขากล่าวว่า ด้วยกระแสสังคมในปัจจุบันทำให้คนอินกับเหยื่อมาก คำพูดที่รุนแรงอย่าง ‘ข่มขืน = ประหาร’ จึงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดส่วนมากมักยอมจำนนด้วยหลักฐาน ไม่ได้จำนนด้วยจิตสำนึก การประหารจึงไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเบาบางลง

ในฐานะเอ็นจีโอคนหนึ่งเขามองว่า การให้โอกาสคนเป็นสิ่งสำคัญ เขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีด้านดีและไม่ดีอยู่ในตัว ผู้ที่กระทำผิดเขาอาจจะมีด้านที่ไม่ดีเยอะกว่าจึงอาจไขว้เขวได้ การตัดสินโทษจึงควรทำอย่างยุติธรรม เจ้าหน้าที่ควรทำงานแบบ ‘ป่าล้อมเมือง’ คือการเข้าให้ความรู้แก่คนในชุมชน ทั้งแกนนำสตรี และบุคคลอื่นๆด้วย

เขาเสนอแนะว่า ควรมุ่งเน้นกระบวนการติดตามหลังจากผู้ต้องหาออกมาจากสถานที่คุมขังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในหลายๆ กรณีผู้ต้องหาเหล่านั้นมักกลับมาทำผิดซ้ำ และมักจะรุนแรงกว่าเดิม

ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีน้องแก้ม ตนเองในฐานะแม่ที่มีลูกสาวคนหนึ่ง รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม จึงเสนอให้มีการลงรายชื่อ 100,000 รายชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีโทษประหารในคดีข่มขืน  โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ เพื่อให้เรื่องถูกรับรู้ในวงกว้าง, เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญ และเพื่อให้คนที่ไม่เคยมีความรู้ด้านนี้มาก่อน สนใจ และเกิดการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

เธอกล่าวถึงปัญหาของตำรวจและโรงพักว่า ในแต่ละโรงพักจะมีเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 6 คน ร้อยเวรที่ประจำการไม่มีลูกน้อง และต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง ห้องที่ปิดมิดชิดก็ไม่มี ไม่มีการแยกสัดส่วนให้เป็นที่เป็นทาง หากโดนข่มขืน เหยื่อจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเดินเข้าไปเพื่อเล่าเรื่องของตนเองให้กับตำรวจฟัง

เธอชี้เพิ่มว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเยียวยาเหยื่ออย่างแท้จริง เพราะไม่มีกองทุนเพื่อสนับสนุนงานตรงส่วนนี้ อย่างกรณีคู่สามี-ภรรยาที่เกิดขึ้นที่พัทลุง ฝ่ายชายเสียชีวิตและได้รับเงินเยียวยา 150,000บาท กลับกันจนปัจจุบันฝ่ายหญิงยังไม่ได้เงินเยียวยา เนื่องจากต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง และยังต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เพราะหวาดระแวงที่โดนขู่ฆ่า

สาวตรีเสริมว่า ตนเองเห็นด้วยกับการรณรงค์ต่างๆ แต่จะต้องมองให้รอบด้านด้วยว่า การกระทำนี้ ‘เผ็ดร้อน’ เกินกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ เพราะมักนำพาให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบอื่นต่อไปเสมอ เช่น มีการบอกให้ช่วยกันรุมยำถ้าหากพบเจอนักโทษข่มขืน  ซึ่งเธอกล่าวว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง สังคมควรมีเหตุผลและต้องไม่ขับเคลื่อนด้วยดราม่า

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net