'อภิสิทธิ์' แถลงไม่รับคำถามพ่วงประชามติ ส.ว. เลือกนายก

ระบุพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่รับคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว. เลือกนายก ชี้เป็นคำถามที่ประชาชนไม่สมควรรับในการลงประชามติมีแต่จะสร้างความขัดแย้งและผิดกับหลักการ 
 
 
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva
 
 
ที่มา: YouTube/Spokesman DP
 
10 เม.ย. 2559 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงแสดงจุดยืน ว่าพรรคฯ มีจุดยืน 3 กรณีคือ 1.กระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีการตรากฎหมายขึ้นโดยผ่านความเห็นชอบของสนช.สัปดาห์ที่แล้ว 2.จุดยืนของพรรคต่อคำถามพ่วง และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการทำประชามติ 
 
โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่าขอเริ่มจากกฎหมายประชามติก่อน เพราะเป็นคนที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติ เนื่องจากอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ประชาชนเจ้าของประเทศมีส่วนร่วม และผลพลอยได้ที่ตาม การที่จะให้รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้แล้ว มีความชอบธรรม หรือมีภูมิคุ้มกัน จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งผ่านการประชามติ จึงมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อมีความพยายามรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่า การจะไปรื้อรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ มีความจำเป็นต้องกลับไปถามประชาชนก่อน ฉะนั้นหัวใจของการจัดทำประชามติคือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องเป็นกระบวนการที่เสรี และ เป็นธรรม เหมือนกับการเลือกตั้งในสากล เหมือนกับการทำประชามติในระดับสากล หัวใจคือ เสรี และเป็นธรรม
 
การจัดทำกฎหมายประชามติที่ผ่านมามีความสับสนมาก ในการกำหนดบทบาทของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะที่มีการพูดว่า ห้ามมิให้ประชาชนทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ รวมทั้งยังมีคำถามว่าถ้ารับ หรือไม่รับ จะเป็นผิดหรือไม่ ถ้าไปชี้นำจะเป็นความผิดหรือไม่ ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และในการแสดงออก ข้อห้ามที่จะมีในกระบวนการประชามติ ต้องเขียนเอาไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งขณะนี้มีเพียงมาตราเดียว ที่เป็นข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องของการแสดงออก คือมาตรา 62 และเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้คือ เป็นการสื่อสารที่ผิดจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ เพื่อให้คนไปออกเสียง ไม่ไปออกเสียง 
 
นายอภิสิทธิ์ระบุว่าดังนั้นการแสดงความคิดเห็นที่สุจริต และไม่ผิดจากข้อเท็จจริง และไม่เข้าข่ายดังกล่าวต้องเป็นสิ่งที่กระทำได้ กกต. ในฐานะเป็นผู้รักษากฎหมายฉบับนี้ มีหน้าที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือออกมายืนยันว่าประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ ในกระบวนการตามประชามตินี้ได้จริงหรือ เพื่อขจัดความสับสน มิฉะนั้นแล้วกระบวนการนี้จะปราศจากความชอบธรรม และจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่สมควร เพราะถ้าขบวนการนี้ถูกมองว่าไม่เสรี และไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำประชามติ
 
ที่ต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับประชาชน เพรากฎหมายฉบับนี้ สนช. เขียนให้คุ้มครองกรรการร่างรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการชี้แจง ว่าการกระทำใดไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ ถ้า กกต. ไม่เร่งทำความชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต ไม่ว่าจะรับ หรือไม่รับ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจว่า การทำประชามติครั้งนี้มีเฉพาะกรรมการร่างฯ และเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ที่สามารถที่จะไปชี้แนะได้ อันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเรียกร้องต่อ กกต. ให้แสดงความชัดเจน เพื่อให้การทำประชามติเป็นไปอย่างเสรี และ เป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของประชามตินั้น และทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปอย่างราบรื่น 
 
ส่วนประเด็นที่สอง กรณีคำถามพ่วงของ สนช. นายอภิสิทธิ์ระบุว่าถือเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของ สนช. ที่สามารถมะมีคำถามพ่วง หรือถามคำถามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้ และหากประชาชนเห็นชอบกับคำถามนั้น และขัดกับรัฐธรรมนูญต้องมีการไปปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบด้วย ดังนั้นคำถามพ่วงจึงมีความจำเป็นมาก เพราะถ้าผ่านก็ต้องไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ประเด็นที่ถาม คือ ในระยะเวลาในบทเฉพาะการ 5 ปี สมควรจะให้วุฒิสภามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย และไม่รับคำถามนี้ สมควรจะไปลงมติไม่รับคำถามนี้ เพราะวุฒิสภาที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 5 ปีที่ว่า เป็นวุฒิสภาที่มาจากกระบวนการสรรหา ซึ่งสุดท้ายคือ คสช. เป็นผู้เลือกแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับจากการสรรหา
 
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังระบุว่าการเอาสมาชิกวุฒิสภามาลงคะแนนเสียงร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีสิทธิ์เสียงเท่ากัน ก็หมายความว่าจะสามารถลบล้างเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้ ซึ่งผิดกับหลักการ และเป็นสิ่งที่ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ เคยแสดงความเห็นไว้ การทำเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ และจะทำให้ความขัดแย้ง และปัญหาทางการเมืองรุนแรงขึ้น 
 
สมมุติว่าวุฒิสภาให้สิทธิตรงนี้ โดย 252 คนมาจากที่เดียวกัน จับมือกับพรรคที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือจับมือกับ ส.ส. เสียงข้างน้อยในสภา แล้วตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้น เพื่อให้เกิดรัฐบาลขึ้นมาในสภาพนั้น รัฐบาลก็จะทำงานยาก ถ้าเป็นเสียงข้องน้อยในสภาผู้แทนราษฎร เพราะตั้งนายกฯ ได้ ไม่ได้แปลว่าจบ รัฐบาลจะบริหารได้ต้องผ่านกฎหมาย ต้องผ่านงบประมาณ ต้องสามารถต้องผ่านญัตติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในขณะที่ คสช .ย้ำเสมอว่าไม่ต้องการให้บ้านเมืองกลับไปขัดแย้งกัน การเริ่มต้นด้วยการอนุญาตให้คนจำนวนหนึ่งมาลบล้างเจตจำนงของประชาชนได้ คือสูตรสำเร็จของการสร้างความขัดแย้งในสังคมทันที
 
นายอภิสิทธิ์ระบุว่าสมมุติว่าวุฒิสภาจับกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1 ก็ไม่ช่วยเรื่องเสถียรภาพใดๆ แต่เป็นการเพิ่มปัญหาคือการไปเพิ่มความชอบธรรมกับฝ่ายข้างมากโดยไม่จำเป็น และเป็นการลดอำนาจของเสียงข้างน้อยในการที่คลานอำนาจของเสียงข้างมาก ดังนั้นไม่ว่าวุฒิสภาจะไปจับกับพรรคเสียงข้างมาก หรือ เสียงข้างน้อย มีแต่ผลเสีย ถ้าสภาผู้แทนฯจะไม่ยอมให้วุฒิสภามาชี้ขาดเลยในการเลือกนายกฯ มีวิธีเดียวเลย คือพรรคใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ก็ต้องจับมือกัน ซึ่งเป็นความเสียหายหนักขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาขึ้นในสภาฯ และประเด็นนี้พรรคประชาธิปัตย์ จึงยืนยันว่าเป็นคำถามที่ประชาชนไม่สมควรรับในการลงประชามติ เพราะรับมีแต่จะสร้างความขัดแย้งและผิดกับหลักการ ซึ่งวันที่ 8 มีนาคม 2559 พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้วุฒิสภามาร่วมเลือกนายกฯ เพราะฉะนั้นก็หวังว่า หัวหน้า คสช. จะยืนยันความเห็นนี้ มิฉะนั้นจะถูกมองว่าผ่านมา สนช. สปท. มาริเริ่มคำถามนี้ เป็นวิธีการเพื่อนำบทบัญญัตินี้เข้ามาทั้งที่ นายกฯ หัวหน้า คสช. ประกาศไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย
 
ประเด็นที่ 3 ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำประชามติ นายอภิสิทธิ์ระบุว่าการทำงานของพรรคไม่สามารถจัดประชุมได้ สิ่งเราสมารถทำได้คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคฯ จะได้รวบรวม ความเห็นศึกษาวิเคราะห์ ในตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ ก็จะทำการประมวลความเห็นของสมาชิก จากการประมวลความเห็นของสมาชิก เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเรียนว่า เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และเราไม่เห็นด้วย ที่รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด ที่จะมากำหนดกติกา จัดสรรอำนาจ และบทบาท ขององค์กรต่าง ๆ ของรัฐ กับประชาชน ข้อดีหลักที่เราเห็น และสนับสนุน คือ มีมาตรการเข้มข้นในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เช่น เข้มงวดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ การลงโทษกรณีมีการทุจริตในการเลือกตั้ง นอกจากนั้นก็มีบทบัญญัติที่เข้มข้นในเรื่องนักการเมือง รวมถึงเรื่องที่นักการเมืองแทรกแซงกระบวนการจัดทำงบประมาณใช้ เหล่านี้คือจุดดี
 
นายอภิสิทธิ์ระบุว่าแต่ในประเด็นการปราบคอรัปชั่น ไม่ได้ดีขึ้นทั้งหมด ยังคงมีจุดอ่อน เช่น 1. ยกเลิกกระบวนการถอดถอนทำให้ความผิดที่จะไปจบที่ศาล ต้องใช้มาตรฐาน การพิสูจน์ความผิดคล้ายกับคดีอาญา ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิด จากประสบการณ์เห็นได้ชัดเจน 2. โทษลดลง เช่น ในอดีตคนที่เคยถูกถอดถอน จะเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต กลับลดลงมาเหลือ 5 ปี 3. สถานะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในอดีตหากปฏิบัติหน้าที่มิชอบจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน หรือฟ้องต่อศาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจะดำเนินการใดๆ ต่อ ป.ป.ช. จะต้องผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาก็คือ ส.ส. ที่สังกัดรัฐบาล หากประธานรัฐสภา ถ้าประธานรัฐสภาสภาเพียงเห็นว่าเรื่องที่ร้องเรียนไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็สามารถยุติเรื่องได้ จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ ป.ป.ช. กับรัฐบาลจะต่อรองกันและกันได้ ทำให้กระบวนการปราบปรามทุจริตอ่อนแอทันที 
 
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญคือ มีการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ และลดอำนาจประชาชน เมื่อเทียบอำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จุดประสงค์หลักคือการจัดวาง จัดสรรอำนาจตรงนี้ ทั้งนี้เราเคยมีความหวังว่าการปฏิรูป จะยืนยันหลักประชาธิปไตย และเพิ่มอำนาจประชาชน แต่โครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปในทิศทางตรงกันข้าม เริ่มตั้งแต่หมวดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ซึ่งถ้าดูประวัติของการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย และรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเกือบทุกฉบับที่ผ่านมา
 
นายอภิสิทธิ์ระบุว่าจะพบว่าหมวดสิทธิประชาชนมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สิทธิชุมชน ไม่เคยมีก็มี ในรัฐธรรมนูญ 2540 ปี 2550 มีความเข้มแข็งเป็นรูปธรรม เช่นสิทธิไม่รัฐมายุงอะไร ซึ่งเป็นสิทธิทางบวก จะได้รับสวัสดิการอะไร อย่างไร มีความก้าวหน้ามาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญที่มีการร่างใหม่ สิ่งต่างๆถดถอยจากรัฐธรรมนูญ 50 เกือบทั้งสิ้น อาทิ การศึกษา สาธารณสุข การช่วยเหลือ การบริการทางกฎหมาย สิทธิของผู้บริโภค สิทธิในการดูแล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
หากถดถอยเช่นนี้ เชื่อว่าจะมีความขัดแย้ง ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จนเกิดความรุนแรงขึ้น แม้เรื่องสวัสดิการจะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล แต่ความถดถอยของรัฐธรรมนูญจะสร้างความชอบธรรมในกรณีที่มีรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งตัดสินใจ ที่จะลดสวัสดิการ หรือ สิทธิของประชาชน รูปแบบในการเขียนเช่นนี้นอกจากจะเป็นการลดสิทธิเสรีภาพประชาชน เราเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการทิศทางของการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคตด้วย การเพิ่มอำนาจราชการมากเกินไป จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอ่อนแอลง ในแง่การตอบสนองความต้องการของประชาชน
 
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังระบุว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกลดลง และเจตจำนงของประชาชนถูกเบี่ยงเบน ยิ่งทำให้สภาพความเป็นประชาธิปไตย และความสามารถของรัฐบาลที่มาจากประชาชนจะแก้ปัญหาของประชาชนจะมีปัญหามากขึ้น ๆ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท