นิธิ เอียวศรีวงศ์: คติความชอบธรรมทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อ คสช.เข้ายึดอำนาจแรกๆ คสช.อ้างความชอบธรรมสองอย่าง หนึ่งคือเหตุผลความจำเป็น เพราะความแตกแยกร้าวลึกอย่างหนักในสังคม เป็นอันตรายต่อสถาบันหลัก คือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อระงับเหตุแห่งความแตกแยกนั้น คสช.ระมัดระวังให้การอ้างความชอบธรรมนี้ฟังขึ้นแก่คนในสังคม เช่นไม่ได้ยึดอำนาจทันที แต่เชิญให้แกนนำของคู่ขัดแย้งมาเจรจาพูดคุยกันภายใต้กฎอัยการศึกที่กองทัพประกาศใช้ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ จึงประกาศยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน

ความชอบธรรมอย่างที่สองคือความชอบธรรมตามประเพณี นับตั้งแต่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำ คสช.ในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้การปกครองของ คสช.วางอยู่บนหลักกฎหมาย และตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา

ความชอบธรรมอย่างที่สองนี้ ซึ่งขอเรียกว่าความชอบธรรมตามหลักการ มีความสำคัญสูงสุด เหตุผลความจำเป็นทางการเมืองที่อ้างขึ้นมาเพื่อทำอะไรก็ตาม จะฟังขึ้นหรือไม่ก็อยู่ที่ว่า มันตรงกับความชอบธรรมตามหลักการที่ผู้ฟังยึดถือเหมือนกันหรือไม่ แต่ความชอบธรรมตามหลักการไม่จำเป็นต้องมาจากประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานเพียงอย่างเดียว อาจมาจากหลักการใหม่ซึ่งเกิดจากพัฒนาการทางการเมืองของสังคมอื่น หรือคติความคิดเห็นอย่างใหม่ที่ผู้คนได้สัมผัสก็ได้

และนี่คือปัญหาของ คสช.นับตั้งแต่วันแรกที่ได้อำนาจสืบมาจนวันนี้ คนกลุ่มหนึ่งยอมรับอำนาจของ คสช.ด้วยความจริงใจ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย (ไม่นับพวกที่ยอมรับเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง) แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ปฏิเสธความชอบธรรมของ คสช.ที่จะเข้าสู่อำนาจเด็ดขาดและสูงสุดเช่นนี้ แม้มีคนสองกลุ่มที่คิดเห็นเกี่ยวกับคติความชอบธรรมทางการเมืองต่างกัน คสช.ก็สามารถปราบปรามผู้ประท้วงด้วยวิธีที่เกินกว่ากฎหมายอนุญาตได้ตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ โดยไม่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้าน แต่เวลาผ่านไปถึง 2 ปีแล้ว การประท้วงก็ยังไม่เคยยุติลง ซ้ำยังกระจายในทางภูมิศาสตร์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีการประท้วงครั้งใดที่ใหญ่พอจะทำให้ คสช.ชะงักงันไม่อาจปราบปรามตอบโต้ได้

กำลังที่ตรึงกันอยู่ทั้งสองฝ่ายนั้น ไม่ใช่กำลังทัพหรือกำลังคน สิ่งที่เผชิญหน้ากันอยู่คือคติความชอบธรรมทางการเมือง นั่นคือความชอบธรรมตามประเพณี และความชอบธรรมที่เกิดจากความเห็นชอบของเสียงข้างมากของพลเมือง ที่ผ่านมาในอดีต การเผชิญหน้ากันของคติความชอบธรรมทางการเมืองสองอย่างนี้ เคยถูก “ประนีประนอม” มาในสังคมไทย โดยนักคิดที่ยืนอยู่ฝ่ายคติความชอบธรรมตามประเพณี ทำให้ความชอบธรรมจากความเห็นชอบของเสียงข้างมากไม่ใช่ความชอบธรรมหลัก มีได้ก็ดี แต่สำคัญกว่าคือความเจริญรุ่งเรืองของชาติ หรือความอยู่ดีกินดีของประชาชน

แต่ในสองทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิด “ประนีประนอม” ดังกล่าวนี้ถูกท้าทายโดยนักวิชาการและปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างได้ผลมากขึ้น และในทศวรรษที่ผ่านมาความขัดแย้งก็ขยายจากมิติด้านความคิดไปสู่มิติด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า สังคมไทยได้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างผู้ที่ยึดถือคติความชอบธรรมทางการเมืองที่ต่างกัน

แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญสุดในประเทศไทยเวลานี้ก็คือคติความชอบธรรมทางการเมือง คนพวกหนึ่งไม่ยอมรับความชอบธรรมตามประเพณีเสียแล้ว อย่างน้อยก็ลดสถานะของความชอบธรรมประเภทนี้ให้เป็นรองความชอบธรรมอย่างใหม่ คือความเห็นชอบของพลเมืองเสียงข้างมาก ในขณะที่คนอีกพวกหนึ่ง ไม่อาจยอมรับความชอบธรรมอย่างใหม่ให้เป็นความชอบธรรมสูงสุด และด้วยเหตุดังนั้นจึงหันกลับไปยึดมั่นกับความชอบธรรมตามประเพณี แน่นแฟ้นเสียยิ่งกว่าที่เคยยึดมาก่อนด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะลดพลังของความชอบธรรมอย่างใหม่ลงได้

เรากำลังอยู่ในความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง อย่างที่ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อน

ความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง แตกต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองธรรมดา ใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ ตัดสินกันได้หลายวิธี นับตั้งแต่ใครได้รับการสนับสนุนจากการเลือกตั้งมาก ก็เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หรือใครมีกำปั้นใหญ่ ล้มกระดานได้โดยไม่มีใครกล้าต้านทาน คนนั้นก็เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไป หรือขัดแย้งกันเชิงนโยบาย ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว การเลือกตั้งอาจตัดสินได้ หรือการรัฐประหารอาจตัดสินได้ แต่ความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ไม่มีวิธีตัดสิน ดังจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ คสช.ได้ปราบและปรามมาสองปี ไม่ช่วยให้ความขัดแย้งลดลงแต่อย่างไร

ความขัดแย้งนี้อยู่พ้นออกไปจากตัวบุคคล สมมุติว่าคุณทักษิณ ชินวัตร หรือคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นอะไรไปในวันนี้ และสมมุติต่อไปว่า คสช.ล่มสลายลง ผมก็เชื่อว่าความขัดแย้งในสังคมไทยก็ไม่สิ้นสุดอยู่นั่นเอง เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าความขัดแย้งครั้งนี้อยู่พ้นตัวบุคคลออกไป แม้ยังอ้างตัวบุคคลกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ก็อ้างเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนมากกว่า เพราะตัวบุคคลนั้นๆ เป็นแกนหลักของคติความชอบธรรมทางการเมืองอันใดอันหนึ่ง

ที่น่าประหวั่นไปกว่านั้นก็คือ เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของหลายสังคม ความขัดแย้งในเรื่องคติความชอบธรรมทางการเมือง มักนำไปสู่การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ทำไมความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ไทยจึงมักไม่ค่อยรุนแรงนัก เหตุผลก็เพราะเป็นความขัดแย้งของตัวบุคคลหรือกลุ่ม มากกว่าความขัดแย้งเรื่องคติความชอบธรรมทางการเมือง

ตรงกันข้ามกับการต่อสู้ที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติ” ในการเมืองยุคใหม่ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ล้วนเป็นความขัดแย้งกันด้วยเรื่องคติความชอบธรรมทางการเมืองเกือบทั้งสิ้น และมักมีลักษณะนองเลือดหรือใกล้นองเลือด

ผมไม่แน่ใจว่า คสช.และผู้สนับสนุน คสช.ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเข้าใจความเสี่ยงที่สังคมไทยต้องเผชิญข้างหน้ามากน้อยเพียงไร แต่สถานการณ์หลังครองอำนาจมาสองปี และไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวได้ ดูเหมือนจะส่อว่า คสช.และผู้สนับสนุนเลือกที่จะใช้อำนาจซึ่งถูกคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรม บังคับให้ทุกคนต้องยอมรับคติความชอบธรรมตามประเพณี แม้แต่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมเพียงไร แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมแก่อำนาจ ก็ยังมีทีท่าว่าจะถูกกะเกณฑ์บังคับด้วยอำนาจดิบ เช่นทำให้การแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นความผิดทางอาญา หากแสดงความเห็นในเชิงคัดค้านต่อต้าน สอดคล้องกับสิ่งที่หัวหน้า คสช.กล่าวว่า วิธีลงจากหลังเสือให้ปลอดภัย คือฆ่าเสือทิ้งเสีย

ประชามติอาจผ่านหรือไม่ผ่าน หรือไม่มีการลงประชามติเลย เพราะร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไปก่อน จน คสช.ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (แก้ไขปรับปรุงจากฉบับร่างของบวรศักดิ์และมีชัย) ก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งเรื่องคติความชอบธรรมทางการเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาลง ซ้ำยังเป็นทางนำมาซึ่งการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

เราจะหาทางออกที่ช่วยให้สังคมไทยไม่ต้องผ่านการปะทะกันอย่างนองเลือดได้อย่างไร ผมยอมรับว่าเกินสติปัญญาของผมจะทำได้ ซ้ำผมก็ได้เลือกข้างอยู่ฝ่ายคติความชอบธรรมใหม่ไปอย่างชัดเจนแล้ว แต่ก็อดคิดถึงปัญญาชนสายอนุรักษ์อย่างคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์, คุณอานันท์ ปันยารชุน, นพ.ประเวศ วะสี ไม่ได้ แทนที่คนเหล่านี้จะออกมาสนับสนุนคติความชอบธรรมตามประเพณี (จนหมดตัว แทบไม่ต่างจากคุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา) สิ่งที่น่าจะทำมากกว่าก็คือเสนอจุดประนีประนอมระหว่างคติความชอบธรรมตามประเพณี และคติความชอบธรรมใหม่ ที่ไม่เดินตามจุดประนีประนอมแบบของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือกรมหมื่นพิทยลาภฯ แต่เป็นจุดที่ฝ่ายซึ่งยึดถือคติความชอบธรรมทางการเมืองแบบใหม่พอยอมรับได้ โดยไม่ทำลายอำนาจต่อรองของฝ่ายที่ยึดถือคติความชอบธรรมตามประเพณีไปโดยสิ้นเชิง

เพราะสิ่งที่สังคมไทยต้องการที่สุดในเวลานี้ คือบรรยากาศซึ่งอาจเป็นกติกา เป็นแนวคิดใหม่ เป็นจุดพัก ที่คนไทยจะต่อสู้ขัดแย้งกันไป โดยไม่ต้องทำร้ายกันอีก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 11 เมษายน 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท