ชนบทที่เคลื่อนไหว: ความหมายและความหลากหลายของผู้ประกอบการในชนบท

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ข้อถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวนาสู่สังคมของผู้ประกอบการในชนบท (อรรถจักร์, 2558) ได้กลายเป็นข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับในสังคมไทย อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจในข้อถกเถียงดังกล่าวก็คือ อะไรคือคำนิยามของการเป็น “ผู้ประกอบการในชนบท” และการเป็นผู้ประกอบการในสังคมชนบท ต่างจากการเป็นชาวนาในสังคมชนบทอย่างไร เพื่อหาคำตอบดังกล่าวบทความชิ้นนี้จะทดลองนำการจัดลำดับและประเภทของเกษตรกรผู้ประกอบการ (taxonomy of entrepreneurial farmers) ของ Gerad McElwee (2008) มาเป็นต้นแบบในการคลี่คลายนิยามของผู้ประกอบการในสังคมชนบท

ใครคือผู้ประกอบการ

นิยามของคำว่าผู้ประกอบการถูกกล่าวถึงครั้งแรกโดย Richard Cantillon (1755) ในความหมายที่ว่า ผู้ประกอบการ คือ ผู้ที่สามารถรับความเสี่ยง (uncertainty-bearing) ทางเศรษฐกิจ หรือ ผู้ที่ทำสัญญาช่วง หรือ รับจ้างช่วง (subcontractor) ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายใต้สัญญาในอนาคต นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังหมายถึง ผู้ที่มีทักษะในการสร้างการร่วมมือ (coordination) เพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันกับปัจเจกคนอื่นๆ ที่ทำให้เป้าหมายของการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยปัจเจกเพียงรายเดียว (Say, 1964) ในขณะที่ Joseph Schumpeter (1934) กล่าวว่า ผู้ประกอบการคือผู้ที่มีความสามารถในการสร้างและใช้นวัตกรรมใหม่ๆ (innovation) ในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในอีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการยังอาจหมายรวมไปถึง ผู้ที่มีความสามารถในการทำกำไรจากการซื้อมาและขายไป (arbitrage) บนตลาดที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ตลาดเดียว แต่หมายถึงตลาดจำนวนมากที่มีความหลากหลายและกว้างขวาง (Kirzner, 1979)

อย่างไรก็ตามคำถามที่น่าสนใจต่อนิยามของการเป็นผู้ประกอบการก็ คือ เราสามารถใช้คำนิยามของผู้ประกอบการที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น มาใช้ในการอธิบายผู้ประกอบการในชนบทได้หรือไม่ ซึ่งสำหรับ McElwee (2008) แล้วเขาเสนอว่า ลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการตามทฤษฎีคลาสสิคข้างต้นที่มองผู้ประกอบการในลักษณะของบริษัท (firm) นั้นไม่สามารถใช้ในการอธิบายผู้ประกอบการในชนบทอย่างตรงไปตรงมาได้ เนื่องจากว่า ผู้ประกอบการในชนบทไม่ได้มีลักษณะของการระดมทุนผ่านผู้ถือหุ้นหลายราย (Capital raised by share ownership) หรือการแบ่งสัดส่วนของผู้ถือหุ้นกับการอำนาจในการบริหารจัดการ (Seperation of ownership and management control) ในลักษณะเดียวกับผู้ประกอบการในฐานะบริษัท นอกจากนั้นความสัมพันธ์ของเกษตรกรบนสังคมผู้ประกอบการก็ยังมีความสลับซับซ้อน ที่แตกต่างจากผู้ประกอบการในฐานะบริษัท และ ผู้ประกอบการในเมือง (urban entrepreneur) เช่น ความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการในชนบทนั้นไม่ได้อยู่ในรูปของผู้ถือหุ้นกับผู้ถือหุ้น แต่สามารถเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ในแบบของเกษตรกรกับเจ้าของธุรกิจเกษตร (owner) เกษตรในฐานะผู้เช่า (tenant) เกษตรกรในฐานะผู้จัดการนา (manager) เกษตรกรในฐานะผู้รับช่วงสัญญา (subcontractor) และยังรวมไปถึงว่าเกษตรกรผู้ประกอบการยังสามารถที่จะมีบทบาทมากกว่าหนึ่งบทบาท (combination)ในทุกๆความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เช่น เกษตรกรรายหนึ่งอาจเป็นทั้งผู้ให้เช่า และ เป็นผู้รับช่วงสัญญา ในเวลาเดียวกัน

จากความสลับซ้อนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว McElwee (2008) จึงเสนอการจัดลำดับและประเภท (taxonomy) ของเกษตรกรในสังคมชนบทเพื่อขีดเส้นแบ่งให้เห็นว่าใครคือ ชาวนา ใครคือ ผู้ประกอบการ และรัฐควรที่จะจัดสรรนโยบายให้เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่มในชนบทอย่างไร

การจัดประเภทของเกษตรกรและผู้ประกอบการในชนบท

ประเภทที่ 1 เกษตรกรในฐานะชาวนา (farmer as farmer)

เกษตรกรในฐานะชาวนา คือ เกษตรกรที่มีพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Pluriactivity) หรือ การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (diversification) ที่จำกัด ทำให้พวกเขายังติดอยู่กับการผลิตเชิงเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม อนึ่งพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ หมายถึง การที่เกษตรกรประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากไปกว่ากิจกรรมทางการเกษตร (non-agricultural activities) เช่น การเปิดที่นาให้เป็นโฮมสเตย์ หรือ การให้เช่าเครื่องมือทางการเกษตรแก่เกษตรกรรายอื่น (Knickel et al., 2003) จนกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว กลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ (sources of Income) อีกทางหนึ่ง (Durand and Huylenbroeck, 2003) ซึ่งลักษณะของการมีพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรากฎอยู่ในผู้ประกอบการในชนบท ไม่ใช่กับชาวนา

นอกจากนั้นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างชาวนากับผู้ประกอบการในชนบทก็คือ ชาวนาจะถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยเชิงผลักดัน (push factor) เช่น ราคาของสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงเพราะความต้องการในตลาดโลกลดลง หรือราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นเพราะได้รับการประกันราคาจากรัฐ จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดการตัดสินใจของชาวนา ในการที่จะเลือกปลูกหรือไม่ปลูกสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งๆ ในขณะที่การตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในชนบทจะมองไกลไปกว่าเรื่องของการขึ้นลงของราคาและการช่วยเหลือเฉพาะหน้าของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการในชนบทนั้นจะมองไปที่โอกาสซึ่งซ่อนอยู่ในอนาคต (potential) และโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ (market opportunities) ดังนั้นผู้ประกอบการในชนบท จึงไม่ใช่ชาวนา เพราะพวกเขาถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยเชิงรุก (pull factor) ที่ดึงพวกเขาเข้าสู่โอกาสและช่องทางใหม่ๆในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางไปกว่า การทำเกษตรกรรมบนที่นาของตนเอง

นอกจากนั้นข้อแตกต่างอีกข้อหนึ่งระหว่างการเป็นชาวนากับการเป็นผู้ประกอบการในชนบท ก็คือ ชาวนาจะมีลักษณะของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Collaboration) ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น ลงแขกช่วยกันทำนา ซึ่งแตกต่างไปจากผู้ประกอบการในชนบทที่การร่วมมือกันมักก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นในงานของ Silva and Kodithuwakku (2011) มีการกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่มีที่ดินที่สามารถทำเหมืองได้ แต่ไม่มีความสามารถในการทำเหมือง ได้อาศัยชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีที่ดินและทุนเพียงพอในการทำเหมือง แต่มีทักษะในการทำเหมืองให้มาช่วยในการผลิต จนเกิดอุตสาหกรรมการทำเหมืองขนาดเล็กขึ้นมา ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจชนิดใหม่ขึ้นมาในชนบท

ประเภทที่ 2 เกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ (Farmer as entrepreneur)

เกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการจะมีลักษณะที่แตกต่างจากเกษตรกร คือ พวกเขาอาจมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ (geographical region) เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว หรือ การเคลื่อนย้ายสินค้า ทำให้สามารถหาประโยชน์จากโอกาสที่นอกเหนือไปจากเรื่องการเกษตรโดยพื้นฐานได้ เช่น การท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมความบันเทิงเชิงวัฒนธรรม หรือโอกาสในการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยอาศัยเครือข่ายทางการคมนาคมที่กว้างขวาง ซึ่งอนุญาติให้เกษตรกรผู้ประกอบการ สามารถโยกย้ายสินค้าไปแปรรูปและส่งออกขายสู่ตลาดได้ง่ายกว่าชาวนา

นอกจากนั้นเกษตรในฐานะผู้ประกอบการ ยังมีลักษณะสำคัญคือ พวกเขามีฐานของเครือข่ายเชิงเครือญาติ (family farm) ที่ช่วยให้สามารถหมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างยืดหยุ่น และสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างหลากหลายในวงเครือญาติของตนนำมาปรับใช้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา และจากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น เกษตรกรในฐานะของผู้ประกอบการ จะถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยเชิงรุก (pull factor) ทำให้พวกเขามีความต้องการที่จะเป็นอิสระ (freedom) จากการพึ่งพาการสนับสนุนด้านราคาและต้นทุนจากรัฐ ซึ่งแตกต่างจากชาวนาที่ต้องการให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนในด้านราคาอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุข้างต้นเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายเครือข่าย (network) และสร้างพันธะมิตร (alliances) เพื่อเป็นฐานในการเดินหน้าสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับการผลิตของพวกเขา เช่น ตัวอย่างของเกษตรกรในนอร์เวย์ ที่ต้องการจะแปรรูปเบอร์รี่ในสวนของพวกเขาให้เป็นเจลลี่ เกษตรกรกลุ่มนี้ต้องเรียนรู้การเทคโนโลยีการผลิตจากหน่วยงานของรัฐ และก็ต้องหาตลาดที่กว้างขวางกว่าพื้นที่ในชนบทของตัวเองเพื่อขายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้จากการแปรรูปทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิม (Grande, 2011)

นอกจากนั้นการเกิดขึ้นของเกษตรกรผู้ประกอบการ จะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจชนบทเติบโต ผ่านการสร้างงานที่สอดรับไปการใช้นวัตกรรมใหม่ๆทางการผลิตและการขยายตัวของเครือข่ายของเกษตรกรผู้ประกอบการ

ประเภทที่ 3 เกษตรกรในฐานะผู้รับช่วงสัญญา (contractor)

เกษตรกรในประเภทที่สามนี้จะแตกต่างกับชาวนากับเกษตรกรผู้ประกอบการตรงที่ พวกเขาอาจไม่มีนาหรือสวนเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีก็อาจจะไม่มากพอที่จะทำการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ แต่พวกเขากลับมีทักษะเฉพาะด้านขั้นสูง (specialist skills) หรือ เป็นเจ้าของทรัพย์สินเชิงกายภาพ (physical assets) เช่น เครื่องจักรในการทำการเกษตร (machinery) หรือ เมล็ดพันธุ์ราคาแพง (plant) ทำให้พวกเขาสามารถที่จะรับสัญญางานมาทำ ในฐานะของผู้จัดการนา (farm manager) หรือ เป็นแรงงานรับจ้าง เช่น กลุ่มเจ้าของรถเกี่ยวข้าวที่รับจ้างเกี่ยวข้าวในเขตภาคอีสานของประเทศไทย (มานะ และคณะ, 2558)

การเป็นเกษตรกรในฐานะผู้รับช่วงสัญญา จึงมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์บนข้อตกลงระหว่างเจ้าของนา (landowner) และ ผู้รับช่วงสัญญา ซึ่งอาจมีมากกว่าสองกลุ่ม เช่น บนที่ดินห้าสิบไร่เจ้าของที่ดินอาจจะจ้างผู้จัดการนาเพื่อรับช่วงสัญญาในการทำนาหนึ่งกลุ่ม และก็อาจจะจ้างกลุ่มเจ้าของรถเกี่ยวข้าวให้เข้ามาเกี่ยวข้าวบนที่นา ดังนั้นการเป็นเกษตรกรในฐานะผู้รับช่วงสัญญา จึงมีความสลับซับซ้อนของเครือข่ายที่มากกว่าการเป็นชาวนาที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิม  และยังรวมไปถึงว่าการเป็นเกษตรในฐานะผู้รับช่วงสัญญาจำเป็นที่จะต้องอาศัยการบริหารจัดการความเสี่ยง (เช่น การใช้สัญญาที่กำหนดราคาของสินค้าเกษตรที่ตายตัว) ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรในฐานะผู้รับช่วงสัญญามีลักษณะร่วมกับเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ ในแง่ของความสามารถที่จะบริหารจัดการความเสี่ยง

ประเภทที่ 4 ผู้ประกอบการในชนบท (rural entrepreneur, not farmer)

McElwee (2008) ได้แบ่งประเภทผู้ประกอบการในชนบท กับ เกษตรในฐานะผู้ประกอบการออกจากกัน โดยเส้นแบ่งสำคัญระหว่างสองกลุ่มก็คือ ผู้ประกอบการในชนบท จะเริ่มต้นจากการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย (farm-diversified bussiness) จนสามารถสร้างแหล่งรายได้ที่สอง (secondary income) นอกภาคการเกษตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร (food production) จนในที่สุดแหล่งรายได้นอกภาคการเกษตรจะเข้ามาเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัก (core bussiness) แทนที่ภาคการเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วภาคการเกษตรก็จะค่อยๆหมดความหมายลงไป ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ ซึ่งภาคการเกษตรยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่จะอยู่ในรูปของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (pluriactivity) คือ มีรายได้จากการทำการเกษตร ควบคู่ไปกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ

ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการในชนบท ก็คือ พวกเขาจะทักษะในการบริหารจัดการ (management skills) ที่สูงกว่าเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาการร่วมมือ (cooperation) อย่างเข้มข้น ซึ่งนั่นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในชนบทมีความกว้างขวางและหลากหลายมากกว่าเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการเช่น การจัดจำหน่ายสินค้าอย่างครบวงจร (merchandising) ที่ดูแลตั้งแต่การผลิต การทำการตลาด และการจัดจำหน่ายสินค้า เช่น ตัวอย่างของเครือข่าย Pal*System ในญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ทำการตลาดในระบบ e-commerce และส่งขายผ่านเครือข่ายการขนส่งที่มีอยู่ทั่วประเทศของตนเอง (pal-system, 2016)

เรียนรู้จาก taxonomy of entrepreneurial farmers

การจัดลำดับแบ่งประเภทเกษตรกรของ McElwee (2008) มีข้อดีในแง่ที่ช่วยให้เห็นความหลากหลายและสลับซับซ้อนของผู้คนในชนบท การที่มองเห็นว่าผู้คนในชนบทไม่ได้มีแค่ชาวนา แต่มีทั้งเกษตรกรผู้รับช่วงสัญญาและผู้ประกอบการในชนบท จะช่วยให้สังคมและรัฐเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลโดยตรงกับชนบท ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐเข้าใจว่าเกษตรกรในชนบทได้เปลี่ยนจากชาวนาไปเป็นผู้ประกอบการแล้ว รัฐก็จะสามารถมองหานโยบายที่เหมาะกับสังคมของผู้ประกอบการในชนบท ที่ไม่ได้ติดอยู่แค่การประกันราคา อาทิเช่น การสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการในชนบท, การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตสินค้าเกษตรกับผู้แปรรูป, การสนับสนุนเรื่องการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการในชนบท, การจัดการอบรมเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและ และการจัดอบรมเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร

อย่างไรก็ตามกรอบการนำเสนอของ McElwee ยังมีปัญหาในแง่ของการจัดแบ่งลักษณะของเกษตรกรที่ไม่ยืดหยุ่นมากนัก หากจะนำมาปรับใช้กับสังคมของผู้ประกอบการชนบทในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การขีดเส้นแบ่งระหว่างเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ (farmer as entrepreneur) กับ ผู้ประกอบการในชนบท (rural entrepreneur) ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ และยังรวมไปถึงว่าเกษตรกรในบริบทของสังคมอื่นๆเช่นสังคมไทย อาจมีลักษณะที่เลื่อมกันระหว่างการเป็นเกษตรกรผู้รับช่วงสัญญาและการเป็นผู้ประกอบการในสังคมชนบท เช่น พวกเขาอาจมีนาขนาดใหญ่ให้ชาวนารายอื่นๆเช่า แต่กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจของพวกเขากลับเป็นการรับจ้างเกี่ยวข้าวในจังหวัดค้างเคียง เป็นต้น

สุดท้ายมีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจมากในงานของ McElwee ก็คือ “ชาวนาควรที่จะรู้ว่าพวกเขาคือ กลุ่มคนที่มิอาจหลีกหนีจากความเปลี่ยนแปลง” (Farmers need to recognise that they themselves are agents of change) และบางทีอาจจะไม่ใช่แค่ชาวนาเท่านั้นที่ควรจะรู้ว่าพวกเขาไม่อาจหลีกหนีจากความเปลี่ยนแปลง รัฐ สังคม และผู้คนในเมือง ก็ควรที่จะรู้ว่าชาวนากับชนบทนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นกัน เพราะในขณะนี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนมาถึงจุดที่ว่า ชนบทแบบเก่าที่สังคมไทยเชื่อว่าเคยมีอยู่ได้พลังทลายลงไปเรียบร้อยแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำได้สร้างภาพสังคมชนบทใหม่ขึ้นมาแทนที่ และนั่นก็คือสังคมชนบทในฐานะสังคมของผู้ประกอบการ

อ้างอิง

CANTILLON, R. 1755. Essai sur la nature du commerce en ge\0301ne\0301ral. Traduit de l'anglois. [By R. Cantillon.], Londres [Paris].

DURAND, G. & HUYLENBROECK, G. V. 2003. Multifunctionality and Ru- 165
ral Development: A General Framework. In: GUIDO VAN HUYLENBROECK & DURAND, G. (eds.) Multifunctional Agriculture. A new paradigm for European Agriculture and Rural Development. USA: Ashgate Publishing Company.

GRANDE, J. 2011. Entrepreneurial efforts and change in rural firms: three case studies of farms engaged in on-farm diversification. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

KIRZNER, I. M. 1979. Perception, opportunity and profit : studies in the theory of entrepreneurship, Chicago ; London, University of Chicago Press.

KNICKEL, K., VAN DER PLOEG, J. D. & RENTING, H. 2003. Multifunktionalitat der Landwirtschaft und des landlichen Raumes: Welche

Funktionen sind eigentlich gemeint und wie sind deren Einkommens – und

Beschaftigungspotenziale einzuschatzen? GEWISOLA – Tagung 2003. Universitata Hohenheim.

MCELWEE, G. 2008. A taxonomy of entrepreneurial farmers. International Journal of Entrepreneurship and Small Business, 6, 465-478.

PALSYSTEM. 2016. About Pal System [Online]. Available: http://www.pal-system.co.jp/about/ [Accessed].

SAY, J. B. 1964. A treatise on political economy : or the production, distribution and consumption of wealth, New York, Augustus M Kelley, Bookseller.

SCHUMPETER, J. A. 1934. The theory of economic development : an inquiry into profits, capital, credit, interest, and the business cycle, Cambridge, Mass., Harvard U.P.

SILVA, L. R. D. & KODITHUWAKKU, S. S. 2011. Pluriactivity, entrepreneurship and socio-economic success of farming households. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

มานะ นาคำ, มันต์ชัย ผ่องศิริ, ณัฐพล มีแก้ว. ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบทอีสาน. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. "ชนบท": ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท