Skip to main content
sharethis

รายงานสิทธิมนุษยชนสหรัฐฯ ชี้ไทยยังจำกัดเสรีภาพพลเมือง ละเมิดสิทธิฯในบริบทของการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องชายแดนภาคใต้ ด้าน โฆษก คสช. สวนเราใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่เท่านั้นเอง ที่ต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐ ยังไม่เข้าใจ

15 เม.ย.2559 บีบีซีไทย รายงานถึงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่ง จอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น อ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรเอกชนทั่วโลก ระหว่างเดือน ต.ค.2557-ก.ย.2558 โดยในส่วนของไทยบ่งชี้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ขณะที่ คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จผ่านมาตรา 44 ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งยังพบเจ้าหน้าที่มีส่วนในการสังหารและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกควบคุมตัว และนักโทษ

รายงานชี้ว่าปัญหาที่เรื้อรังที่สุดคือการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของกองกำลังความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และกองกำลังอาสาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง การซ้อมและทรมานผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องโทษ รวมถึงการคุกคามข่มขู่ครอบครัวของผู้ต้องสงสัย ขณะที่กลุ่มก่อเหตุในจังหวัดชายแดนใต้มีส่วนใช้กำลังทำร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือนในพื้นที่เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ สภาพของเรือนจำที่ย่ำแย่และแออัด รัฐไม่สามารถปกป้องกลุ่มบุคคลที่มีความอ่อนแอ มีการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อสตรี การค้าบริการทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ค้ามนุษย์ เลือกปฏิบัติต่อบุคคลพิการ ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า แรงงานข้ามชาติ แรงงานเด็ก รวมถึงการจำกัดสิทธิแรงงานทั่วไป ทั้งยังพบเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องและตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อพยชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศด้วย

แม้บางครั้งจะมีการจับกุมและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ มีการลงโทษหรือไล่ออก แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการละเว้นไม่ดำเนินคดียังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขณะที่การประกาศใช้ มาตรา 44 ตามคำสั่งของ คสช. ช่วยคุ้มครองแกนนำรัฐประหารและผู้ใต้บังคับบัญชาจากการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร โดยไม่คำถึงความชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐมีปัญหาการทุจริตและไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ แม้จะมีการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในคดีจำนำข้าว แต่สมาชิก คสช.กลับได้รับการยกเว้น ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน

โฆษก คสช. ยันใช้ ก.ม.เพื่อรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่

ขณะที่สำนักข่าวไทย รายงานวานนี้ (14 เม.ย.59) ถึงปฏิกิริยาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีความกังวลจาก ต่างประเทศจากรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า อาจเป็นเพียงความกังวลในเชิงความรู้สึกไม่ต่างจากในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของภาพการปฏิบัติจริงของเจ้าหน้าที่นั้นยังไม่พบมีเสียงสะท้อนในเชิงลบใดๆ จากประชาชน และตั้งแต่ที่ คสช.ได้เสริมมาตราพิเศษเพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพนั้น ด้วยเพราะสถานการณ์อยู่ในช่วงเวลาพิเศษหรือบ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ และเพื่อให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน มั่นใจว่าแม้เจ้าหน้าที่จะมีกฎหมายพิเศษไว้เสริมประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน แต่ก็จะใช้ตามความจำเป็นอย่างระมัดระวังตามความจำเป็น และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยพยายามใช้กฎหมายปกติก่อนเป็นหลักเสมอมา ทั้งนี้เห็นจะมีก็แต่ความกังวลของกลุ่มที่เห็นต่าง พยายามนำจุดนี้มาเป็นประเด็นข้ออ้างในการทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. เพราะในทางพฤตินัย หรือในทางการปฏิบัติจริงๆ ยังไม่พบมีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งประชาชนเองก็ไม่มีสัญญาณในเรื่องความกังวล กลับมีความมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต และก็ไม่ได้ไปทำร้ายก้าวล่วงคนธรรมดาทั่วไปในสังคมแต่อย่างใด นอกจากคนที่ชอบทำผิดกฎหมาย หรือบางคนที่เสียผลประโยชน์เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบจึงพยายามที่จะปฏิเสธ

สำหรับการเรียกบรรดานักการเมืองเข้าปรับทัศนคติ เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ให้ความร่วมมือ และทำในสิ่งที่สวนทางกับความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศ อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ คสช.ทำ หรือการมองในมุมที่แตกต่างกันจึงมีการเรียกเชิญมาปรับความเข้าใจ และขอความร่วมมือกันคงไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อยู่ที่มุมในการตีความ เพราะการบังคับใช้กฎหมายในมุมหนึ่งคือการดูแลไม่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยทางวาจา จิตใจ หรือร่างกาย ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยละเลยไม่ทำหน้าที่ ก็จะเกิดการละเมิดสิทธิของกันและกัน

“เราใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่เท่านั้นเอง ที่ต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐ ยังไม่เข้าใจ ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ โดยใช้ช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ แม้ว่าจะมีความกังวลของต่างชาติเข้ามาเป็นช่วงๆ ก็ตาม มั่นใจสามารถชี้แจงได้ ทุกอย่างดำเนินการไปตามแนวทางที่สร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการรับฟังข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรืออาจรับฟังข้อมูลมาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงนำไปสู่การความกังวลเกินกว่าสภาพของความเป็นจริง” พ.อ.วินธัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net