Skip to main content
sharethis

มีชัย ฤชุพันธุ์ (ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา)

15 เม.ย. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคำถามพ่วงทำประชามติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยเฉพาะประเด็นอำนาจของวุฒิสภาในคำถามพ่วงและอำนาจเดิมในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นหน้าที่ของ กรธ. ที่จะต้องชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ส่วนคำถามพ่วงประชามติเป็นหน้าที่ของ สนช. ที่จะต้องชี้แจงเหตุผลให้กับประชาชนเข้าใจ โดยจะมีการประสานกับ สนช. ให้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจพร้อมกันกับ กรธ. ทั้งนี้หากคำถามพ่วงผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดกระบวนการให้มีการแก้ไขอย่างรัดกุม ซึ่ง กรธ. ไม่ได้มีอิสระในการนำคำถามพ่วงไปผนวกไว้รัฐธรรมนูญ แต่จะต้องแก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

มีชัย ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่อาจเกิดขึ้น หากใช้เสียง ส.ว.เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ต้องไว้วางใจ ส.ว.ว่าจะใช้วิจารณญาณในการออกเสียงให้การเมืองเดินหน้าได้ และเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ ซึ่ง กรธ.ได้วางกลไกการใช้เสียงข้างมากโดยต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อย ซึ่งสามารถป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ พร้อมปฏิเสธที่จะชี้แจงกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพราะแต่ละพรรคมีจุดยืนของตัวเอง กรธ.จะเข้าไปยุ่งไม่ได้ ยกเว้นกรณีเข้าใจผิดหรือบิดเบือนเนื้อหา ก็จะชี้แจงเป็นรายประเด็น

 

สนช.ยินดีลงพื้นที่แจงคำถามพ่วงประชามติร่วมกับ กรธ.

ขณะที่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวถึงแนวทางการชี้แจงคำถามพ่วงประชามติของ สนช. ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแบ่งหน้าที่กันของ สนช. ซึ่ง กรธ. มีหน้าที่ชี้แจงตัวร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สนช.มีหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติ ทั้งนี้หาก กรธ.ต้องการให้ สนช.ร่วมลงพื้นที่ชี้แจงไปพร้อมกันนั้น ก็ยินดี เพราะจะได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในทีเดียว และจะได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการตั้งคำถามพ่วงประชามติด้วย สำหรับการชี้แจงคำถามพ่วงประชามตินั้น พยายามเลี่ยงการชี้แจงในเวทีของโครงการ สนช.พบประชาชน เพราะโครงการนี้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า

รองประธาน สนช. ยืนยันอีกว่า คำถามพ่วงนี้ มาจากการเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งกรรมาธิการหลายคณะมีความเห็นสอดคล้องกัน สนช.จึงได้มีมติเห็นชอบคำถามดังกล่าว ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการตั้งคำถาม และในส่วนของ สนช.ก็ไม่ได้มีการล็อบบี้กัน
 
รองประธาน สนช. กล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดช่องให้ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามตินั้น เนื่องจากในขณะที่พิจารณารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้พิจารณาแล้วว่าคำถามจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่หากเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเปิดช่องไว้ เพื่อให้ปรับแก้ให้สอดคล้องกันได้ ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการหมกเม็ดอย่างแน่นอน
 

อลงกรณ์ ระบุต้องยอมรับหากปชช.โหวตโนคำถามพ่วง ชี้สูตรเลือกตั้งกรธ.ยังไม่ตอบโจทย์

ด้าน อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงคำถามพ่วงที่เปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ความเห็นของแม่น้ำ 4 สายที่ส่งถึง กรธ.ได้รับการตอบสนอง เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งสปท. สนช.ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สายก็มีความเห็นว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยยังมีความจำเป็นต้องมีกลไกป้องกันวิกฤตทางการเมืองที่อาจเกิดซ้ำรอยขึ้น เพราะขณะนี้แม่น้ำสายต่างๆยังไม่มั่นใจ เพราะท่าทีของพรรคการเมืองหลักๆ ยังไม่เป็นมิตรต่อกันเหมือนก่อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 อยู่ จึงเสนอคำถามพ่วง แต่ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญควรเขียนบนพื้นฐานประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับให้มากที่สุด ขณะที่กลไกและมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ควรเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนถึงระยะเวลาเพื่อป้องกันความสับสนจนอาจถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากประชาชนเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ว.ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯก็ต้องยอมรับความเห็นประชาชน
 
เมื่อถามถึง เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนทำประชามติ อลงกรณ์ กล่าวว่า จะให้ผ่านหรือไม่ ตนก็จะไปใช้สิทธิในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่โดยส่วนตัวมีประเด็นที่ถูกใจ กับที่ไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็นที่ไม่เห็นด้วย อาทิ ระบบเลือกตั้ง เพราะด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการเลือกตั้งในช่วง20 ปีที่ผ่านมา ตนคิดว่า ระบบเลือกตั้งที่กรธ.ออกแบบ ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอรัปชั่น เพราะระบบนี้จะทำให้อิทธิพลของทุนทางการเมืองมีสูงมากกว่าในอดีต ใครที่บอกว่าพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็กจะได้เปรียบนั้น เป็นลับลวงพราง เพราะนี่เป็นระบบที่เอื้อให้กับพรรคขนาดใหญ่ การเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว จะทำให้คนในภาคใต้หรือภาคอีสานตัดสินใจง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนที่อาจจะเลือก ส.ส.แบบเขต กับพรรคไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่จะทำให้มีทุจริตมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นจุดวิกฤตต่อไปด้วย
 
อลงกรณ์กล่าวด้วยว่า ตนคิดว่า วิธีการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนว่า ประเทศไม่ใช่หนู อย่านำไปเสี่ยงกับระบบที่ไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรมาทดลองในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะหากผ่านช่วงนี้ไปไม่ได้ อาจกลับมาเป็นวิกฤตซ้ำขึ้นอีกก็เป็นได้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net