เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังไม่ฟื้น-ซึมต่อเนื่อง

15 เม.ย. 2559 เมื่อวันที ่14 เม.ย. ที่ผ่านมา  สำนักข่าวไทย รายงานว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ผ่านพ้นไปด้วยอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 บรรยากาศโดยรวมยังซึมต่อเนื่อง เนื่องจากภาคครัวเรือนยังมีความกังวลเศรษฐกิจโดยรวม และการหารายได้ในอนาคตที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น และการส่งออกที่ยังอ่อนแอ ทำให้ไตรมาส 1 ผ่านไปแบบประคองตัว

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวยังกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ให้ฟื้นตัวได้ลำบาก แม้จะมีความหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 ของรัฐบาล ด้วยการเติมเงินให้ประชาชนในระดับฐานราก และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล แต่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า สัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้สำนักวิจัยทั้งรัฐและเอกชนต่างปรับลดจีดีพีปีนี้ลง จากที่เคยมองโตร้อยละ 3-3.5 ปรับลงมาเหลือต่ำกว่าร้อยละ 3 และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงแรง อาจฉุดจีดีพีปีนี้โตต่ำต่อเนื่อง

นักวิชาการประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังไม่ฟื้น

เช่นเดียวกับ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2  คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 2.7 -2.8  ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 2.7   โดยคาดหวังว่าจะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาครัฐ เพราะการบริโภคยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น เแต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตราการออกมาเพื่อประคับประคองการบริโภคไม่ให้ชะลอตัวและดูแลค่าครองชีพของประชาชนฐานราก
 
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้ จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจหดตัวมากกว่าที่ร้อยละ 4  หากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนรุนแรงกว่าที่คาด ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลเสถียรภาพให้สามารถประคับประคองเศรษฐกิจ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยนโบาย ที่จะเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น  และเห็นว่าค่าเงินบาทยังมีความผันผวน จากสงครามค่าเงิน ซึ่งสิ่งที่ธปท.จะดำเนินการได้ คือการผ่อนคลายการลงทุนในต่างประเทศ และธปท.ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อสนับสนุนการส่งออก เพราะการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกระตุ้นการส่งออกได้ในภาวะการค้าโลกตกต่ำ  ผู้ผลิตสินค้าส่งออกต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้า และเพิ่มนวัตกรรมให้สินค้ามีความทันสมัยตรงตามอุปสงค์ของตลาดโลก
 

ศุลกากรหนุนเอกชนตั้งเขตปลอดอากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขณะที่วันนี้ (15 เม.ย.59) กุลิศ  สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศกรมศุลกากรช่วงปลายเดือนมีนาคมาที่ผ่านมา  ในการขอใบอนุญาติเขตปลอดอากร ได้แก้ไขข้อกำหนดให้ต่างจากเดิมในปี 46 เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนรายใดมาขอใบอนุญาติ จะพิจารณาให้ตามคำขออนุญาติ จึงทำให้กระจายไปทั่วไม่เป็นหมวดหมู่  จึงร่างประกาศใหม่ กำหนดให้เขตปลอดอากร ต้องตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และต้องประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น นวัตกรรม อิเล็กทรอนิกส์  รวมถึงอุตสาหกรรมซุบเปอร์คลัสเตอร์ในกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น อุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ สุขภาพ ไบโอชีวภาพ เพื่อต้องการส่งเสริมให้เอกชน และหากนิติบุคคลมาจดทะเบียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะลดขนาดมูลค่าการจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาทลดเหลือ 10 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เดินหน้าไปหลายพื้นที้ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ด่านศุลกากร สำนักงาน รองรับพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ด่านสะเดา เร่งพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับผู้ประกอบการเข้าไปตั้งโรงงานในเขตอุตสาหกรรม ขณะนี้เตรียมเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ได้เริ่มเจรจากับประชาชน เพื่อจ่ายชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่ และสร้างอาการสำนักงานศุลกากรแม่สอด  ส่วนภาคตะวันออกทั้ง อ.อรัญประเทศและคลองใหญ่ ยอมรับว่าต้องหาข้อยุติร่วมกับกัมพูชา เพื่อต้องกัมพูชามีความพร้อมในการพัฒนาร่วมกัน  เมื่อภาคเอกชนเข้าไปตั้งอุตสหากรรมในเขตพื้นที่ดังกล่าว จะต้องใช้ระบบไร้เอกสาร การเชื่อมโยงข้อมูลการผลิต การส่งออก นำเข้าสินค้า กับกรมศุลกากรอย่างเป็นระบบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท