ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ต่างกันอย่างไร? อะไรคือวิทยาศาสตร์?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพ: Luigi Catani, In the presence of the Grand Duke,
Galileo Galilei performs the experiment of falling bodies from the Tower of Pisa

โดยที่มาแล้ว ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ ก็เริ่มมาจากสิ่งเดียวกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในยุคแรกๆ เมื่อทั่งสองสิ่งต่างก็เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา แล้วตั้งทฤษฎีที่อธิบายความเชื่อมโยมนั้น และนำทฤษฎีนั้นไปพยายามทำนายเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

ในอดีต คนอียิปต์โบราณอาจจะสังเกตเห็นว่าดาวซิริอุสจะขึ้นทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทุกๆ 365 วัน และหลังจากนั้นไม่นานแม่น้ำไนล์จะเอ่อนอง เป็นเวลาที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แล้วเราอาจจะสร้างการเชื่อมโยงกันว่าการขึ้นตกของดาวซิริอุสและดวงอาทิตย์ ส่งผลทำให้น้ำเอ่อนองและดอกไม้ผลิบาน นำมาซึ่งฤดูกาล เหมาะสมแก่การเพาะปลูก การสร้างความเชื่อมโยงนี้ทำให้อารยธรรมอียิปต์โบราณสามารถก้าวเข้าไปสู่การปฏิวัติทางกสิกรรม และสามารถผลิตอาหารได้มากเกินกว่าที่จะสามารถบริโภคเองได้เป็นครั้งแรก นำไปสู่การพัฒนาอื่นๆ อีกมาก ต่อมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรที่ชาวบาบิโลเนียนจะมีการพยายามเชื่อมโยงตำแหน่งของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงอาทิตย์ และพยายามจะนำความเชื่อมโยงนั้นมาอธิบายการเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของชะตาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้

ที่ผ่านๆ มา องค์ความรู้ของมนุษยชาติ ก็ได้มาด้วยวิธีนี้ทั้งสิ้น แน่นอนว่ามันก็ทำให้เราได้องค์ความรู้ที่ผิดๆ ไม่เป็นจริงมาด้วยก็เยอะ (เช่น เราอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าการไม่บูชายันมนุษย์ลงไปในปากปล่องภูเขาไฟ จะนำไปซึ่งการพิโรธของพระเจ้าและทำให้ภูเขาไฟระเบิด) แต่มันก็ทำให้เราได้มาซึ่งความจริงทางวิทยาศาสตร์ก็เยอะ เช่นการสร้างปฏิทินที่ทำให้นำไปสู่การกสิกรรมที่ประสบผลสำเร็จ

แต่ถามว่าการนำตำแหน่งของดวงดาวไปทำนายฤดูกาล กับทำนายชะตาชีวิตมนุษย์นั้น แตกต่างกันอย่างไร? สำหรับพวกเราอาจจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าแตกต่างกัน สำหรับมนุษย์ยุคโบราณนั้น ก็คงไม่แตกต่างอะไรกันสักเท่าไหร่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามนุษย์โบราณก่อนหน้านี้เราไม่ได้เข้าใจองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง

ซึ่งความแตกต่างระหว่างการทำนายทั้งสองนี้ไม่เคยชัดเจนเลยในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จนกระทั่งยุคของกาลิเลโอจึงเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ขึ้น (scientific revolution)

สิ่งที่ศาสนจักรและองค์ความรู้ทั่วๆ ไปสอนกัน ก็คือว่าวัตถุที่หนักกว่าจะต้องตกถึงพื้นก่อนเสมอ แต่กาลิเลโอนั้นกลับไม่เชื่อ และได้ทำการพิสูจน์ให้เห็นที่หอเอนเมืองปิซา

การที่กาลิเลโอ "ไม่เชื่อ" ว่าลูกเหล็กที่หนักกว่าจะต้องตกถึงพื้นก่อน และต้องทำการ "ทดลอง" จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีของหนักตกถึงพื้นนั้น "ไม่เป็นจริง" เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์

เพราะว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้น "ต้องสามารถพิสูจน์ให้เป็นเท็จได้"

นั่นก็คือ หากเราตั้งทฤษฎีว่า "ลูกเหล็กที่หนักกว่าต้องตกถึงพื้นเสมอ" เราอาจจะไม่มีวันพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นทุกกรณี (เพราะต่อให้เราทดลองไปสามร้อยครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าครั้งที่สามร้อยหนึ่งจะยังเป็นจริงต่อไป) แต่เพียงเราสามารถพิสูจน์ได้แม้แต่หนึ่งครั้งว่านั่นไม่เป็นจริง ก็เท่ากับว่าทฤษฎีที่ว่าลูกเหล็กที่หนักกว่าจะตกก่อนเสมอนั้นไม่เป็นจริงอีกต่อไป

และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์ก็คือ เราไม่มีวันที่จะพิสูจน์ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นจริงได้ แต่เราสามารถพิสูจน์ให้เป็นเท็จได้ (criteria of falsifiability)

อาจจะฟังดูน่าหงุดหงิด ที่เราไม่มีวันพิสูจน์ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ให้เป็นจริงได้ เช่น ถึงแม้ว่าเราจะทราบแล้วว่าลูกเหล็กที่หนักไม่เท่ากัน เคยตกถึงพื้นพร้อมกันมาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าครั้งถัดไปที่เราทดลอง มันจะยังคงเป็นเช่นเดิม และเราได้แต่เพียงทดลองซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอการทดลองที่ขัดแย้งกับมัน

ส่วนตัวแล้ว ผมกลับคิดว่าการที่มันสามารถที่จะผิดได้ แต่ทดสอบมากี่ครั้งๆ มันก็ยังไม่ผิด มันกลับเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง และน่าเชื่อถือยิ่งกว่าด้วยซ้ำ แม้กระทั่งการทดลองของกาลิเลโอ ก็ยังสามารถที่จะ "ไม่เชื่อ" และนำมา "ทดสอบ" ซ้ำอีกครั้งในยุคปัจจุบัน เพื่อดูว่ามันจะ "เป็นเท็จ" หรือไม่ ดังเช่นการทดลองทิ้งลูกโบว์ลิ่งกับขนนกในห้องสูญญากาศ ดังในรายการ Human Universe ของ BBC Two[1] ซึ่งเป็นที่น่าทึ่งว่าทั้งขนนกและลูกโบว์ลิ่งก็ยังคงตกถึงพื้นพร้อมกันอยู่ดี

แต่ในขณะเดียวกันนั้น ทฤษฎีที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ กลับไม่มีวันพิสูจน์ให้เป็นเท็จได้ เช่น การที่ไม่ได้จับคนไปบูชายันแล้วภูเขาไฟไม่ระเบิด ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าทฤษฎีของการว่าด้วยอาการพิโรธของเทพเจ้าทำให้ภูเขาไฟระเบิดนั้นเป็นเท็จแต่อย่างใด เพราะพระเจ้าอาจจะยังสามารถทำให้ภูเขาไฟระเบิดได้เสมอ พระเจ้าเพียงแค่ไม่พิโรธที่ลืมบูชายันไปครั้งนี้

เช่นเดียวกัน ทฤษฎีที่ว่าด้วยตำแหน่งดวงดาวสัมพันธ์กับความเป็นมาของมนุษย์ที่ถือกำเนิดบนดาวเคราะห์ที่ห่างออกไปหลายร้อยปีแสงนั้น ไม่เพียงแต่ไม่สอดคล้องกับหลักตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผล แต่ยังไม่มีทางที่จะพิสูจน์ให้เป็นเท็จได้อีกด้วย เพราะการที่คนราศีกรกฎหนึ่งคนนั้นสมหวังในความรักในช่วงเดือนกรกฎา ไม่สามารถล้มล้างทฤษฎีทางโหราศาสตร์ได้แต่อย่างใด

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ เราจะเลือกเชื่ออะไร ระหว่างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่พร้อมจะถูกล้มล้างได้เสมอทันทีที่มีการทดสอบที่ยืนยันว่าทฤษฎีนั้นไม่เป็นจริงอีกต่อไป กับทฤษฎีทางโหราศาสตร์ที่จะไม่มีทางถูกล้มล้างได้ ไม่ว่าจะทำนายผิดกี่ครั้งก็ตาม

 

อ้างอิง:
[1] Brian Cox visits the world's biggest vacuum chamber - Human Universe: Episode 4 Preview - BBC Two

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ มติพล ตั้งมติธรรม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท