บทความแปล: ชีวิตและความตายของซูฮาร์โต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

        

ซูฮาร์โตปกครองประเทศอินโดนีเซียมานานกว่า 3  ทศวรรษก่อนที่จะถูกขับไล่จากตำแหน่งจากกระแสความไม่พอใจของประชาชนในปี 1998
   
ในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี การลงทุนจากตะวันตกหลั่งไหลกันเข้ามาทำให้อินโดนีเซียเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

แต่วิกฤตการณ์การเงินของเอเชียในปี 1997  ทำให้ประชาชนผู้ยากไร้ นักศึกษาและชนชั้นกลางซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วได้ก่อจลาจล อันนำไปสู่การโค่นล้มเขาในที่สุด
    
ซูฮาร์โตซึ่งมักจะใช้เพียงชื่อเดียวเหมือนกับชาวอินโดนีเซียทั่วไป เกิดที่เกาะชวาเมื่อปี 1921 เรื่องเกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์ของเขาค่อนข้างหลากหลาย แต่เป็นที่รู้กันว่าครอบครัวของเขานั้นมีขนาดใหญ่และฐานะยากจน
    
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  กองกำลังญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ซูฮาร์โตในวัยหนุ่มได้รับการฝึกโดยกองกำลังติดอาวุธพลเรือนที่จัดตั้งโดยญี่ปุ่น
   
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี 1945 ซูการ์โนประธานาธิบดีในขณะนั้นประกาศให้อินโดนีเซียเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ ก่อให้เกิดการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างนองเลือด ซึ่งซูฮาร์โตมีบทบาทสำคัญด้วย
     
ในที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ได้มอบเอกราชให้กับอินโดนีเซียใน 4 ปีหลังจากนั้น
      
ซูฮาร์โตสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 1966 เขาประสบความสำเร็จจนได้เลื่อนตำแหน่งในกองทัพ และในที่สุดได้เป็นนายพลอาวุโส
     
ในปี 1965 การทำรัฐประหารที่ล้มเหลวได้ทำให้เขาก้าวสู่อำนาจในที่สุด
      
รายละเอียดที่แท้จริงนั้นคลุมเครือ แต่ในเช้าวันที่ 1 ตุลาคม นายพลอาวุโสหัวเอียงขวาจำนวน 6  นายถูกจับกุมและถูกสังหาร ซูฮาร์โตเองไม่ได้อยู่ที่บ้านในเวลานั้นและไม่ได้ถูกจับกุมกับเขาด้วย (คณะผู้ก่อการเรียกตัวเองว่าขบวนการ 30 กันยายน แต่ซูฮาร์โตมักเรียกพวกเขาว่าพวกเกสตาปู ซึ่งเป็นคำพ้องกับคำว่าเกสตาโปหรือหน่วยตำรวจลับของเยอรมันนาซี สำหรับวงการประวัติศาสตร์บางทีเรียกการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่าเหตุการณ์เกสตาปู- ผู้แปล)
      
ในฐานะหนึ่งในนายพลระดับสูงสุดที่รอดชีวิตมาได้ ซูฮาร์โตมีบทบาทสำคัญต่อความวุ่นวายทางการเมืองที่ตามมา
      
ผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารครั้งนั้น (บางทฤษฏีก็บอกว่าพรรคคอมมิวนิสต์มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย หากเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพเอง แต่ไปโยนความผิดให้กับพวกคอมมิวนิสต์ –ผู้แปล)  ท่ามกลางกระแสของการล้างแค้นทั่วประเทศอินโดนีเซีย พวกคอมมิวนิสต์และพวกหัวเอียงซ้ายหลายแสนคนเช่นเดียวกับชุมชนชาวจีนที่ชาวอินโดนีเซียอิจฉาตลอดมาก็ถูกสังหารหมู่ (จำนวนผู้เสียชีวิตมีการประเมินว่าตั้งแต่ 500,000 คนจนไปถึง 1,000,000 คน -ผู้แปล)
    
การนองเลือดได้ทำให้อำนาจทางการเมืองของซูการ์โนจบสิ้นลง และซูฮาร์โตก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี 1967 ตำแหน่งซึ่งถูกยกให้ทางการในปีต่อมา โดยการเลือกของฝ่ายนิติบัญญัติ

กฎเกณฑ์และระเบียบ

ซูฮาร์โตได้รับเลือกอีกครั้งในทุก 5 ปีจนกระทั่งเสื่อมอำนาจ แต่ความสำเร็จเช่นนั้นหาได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจไม่ เพราะกฎหมายจำกัดจำนวนพรรคการเมืองและสกัดกั้นพรรคฝ่ายค้าน
    
ถึงแม้นายทหารในกองทัพอันทรงอำนาจจะถูกกีดกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ตำแหน่งจำนวน 100 ที่ถูกจัดไว้ให้พวกเขาสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College หรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนในการเลือกประธานาธิบดี นอกจากคะแนนเสียงของประชาชน-ผู้แปล)
    
ระบบดวิฟุงสี  (Dwifungsi)  หรือ "หน้าที่คู่" ได้รับรองการเกี่ยวข้องของกองทัพในทุกส่วนและทุกระดับของรัฐบาลรวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมของอินโดนีเซีย
    
ในขณะที่ซูการ์โนเรียกตัวเองว่า "บิดาแห่งอินโดนีเซียยุคใหม่" ซูฮาร์โตเรียกตัวเองว่า "บิดาแห่งการพัฒนา" โดยใช้ทรัพยากรอันมหาศาลของอินโดนีเซียในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่
      
กองทัพนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของซูฮาร์โตในการผสมผสานลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเข้ากับกฎที่เข้มงวด ไร้ความเมตตา ซูฮาร์โตได้นำประเทศของเขาจากความยากจนสู่ความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง
     
แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เรื่องที่ได้มาเปล่าๆ
      
การปกครองของซูฮาร์โตเต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหงประชาชน เขาไม่สนใจต่อการปฏิรูปการเมืองและถูกกล่าวหาเสมอว่าฉ้อโกงและมักละเมิดสิทธิมนุษยชน
    
ภายหลังจากการล่มสลายของระบบเมืองขึ้นของโปรตุเกสในปี 1975 ซูฮาร์โตส่งกองทัพไปผนวกติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสเข้ากับอินโดนีเซีย
    
มีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 200,000 คนหรือประมาณ 1 ใน 3  ของประชากรติมอร์ตะวันออกถูกสังหารหรือเสียชีวิตจากความอดอยากในช่วงการรุกรานของอินโดนีเซีย
     
ในที่สุดอินโดนีเซียก็ยอมให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระในปี 1999

ป้อมปราการต้านคอมมิวนิสต์

ในช่วงหลังจากนั้น ซูฮาร์โตยอมรับว่ามีความผิดพลาดขึ้น "ในการเปลี่ยนประเทศของเรา" เขากล่าว "เราอาจจะสะดุดบ้าง ซึ่งเราจะไม่พยายามซ่อนเร้นความจริงเช่นนี้"
     
จากการเป็นนักชาตินิยมแบบโบราณ ซูฮาร์โตพยายามให้อินโดนีเซียดำรงตนเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งของนานาชาติ ในฐานะเป็นสมาชิกของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งนำร่องโดยซูการ์โน
   
อย่างไรก็ตามซูฮาร์โตได้รับการมองจากคนจำนวนมาก ว่าฝักใฝ่ตะวันตกและตะวันตกมองเขาว่าเป็นป้อมปราการต้านคอมมิวนิสต์
     
พรรคของเขาคือพรรคโกลคาร์ได้สนับสนุนแนวคิดปัญจศีล ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของรัฐในฐานะเป็นองค์รวมของความเชื่อซึ่งก่อให้เกิดความสมานฉันท์ทางสังคม
   
ยกตัวอย่างเช่นถึงแม้กว่าร้อยละ 80  ของของชาวอินโดนีเซียเป็นมุสลิม ซูฮาร์โตไม่ต้องการให้ประเทศเป็นรัฐอิสลาม
      
ซึ่งความจริงแล้วอินโดนีเซียได้ประกาศให้มีวันสำคัญของศาสนาใหญ่ๆหลายศาสนา
     
แต่ระบบอันเข้มงวดที่ถูกบังคับใช้โดยซูฮาร์โตได้ถูกเปิดโปงอย่างรวดเร็วท่ามกลางการล่มสลายอย่างรุนแรงในเศรษฐกิจของประเทศปี 1997
     
ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินของเอเชีย ประชาชนต่างแห่กันไปเบิกเงินรูเปียห์ออกจากธนาคารก่อนที่ค่าเงินจะลดลงไปอีก
     
ร้านค้าต่างขาดแคลนสินค้า เพราะประชาชนตื่นตระหนกมาแห่ซื้อไว้กักตุนจนเดือดร้อนไปทั่วประเทศ

กรณีฉ้อราษฎร์บังหลวง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้เข้ามาช่วยเหลืออินโดนีเซียด้วยมาตรการการเงินอันเข้มงวด
    
แต่มันสายเกินไปสำหรับซูฮาร์โต ชาวอินโดนีเซียผู้ยากไร้จำนวนมากที่ตกงานได้แห่กันเข้ามาในท้องถนนแล้วก่อจลาจล รวมไปถึงปล้นสะดม (แน่นอนว่าเหยื่อคนสำคัญก็ยังเป็นคนจีนอยู่นั้นเอง นอกจากร้านค้าจะถูกปล้นหรือเผาแล้ว ผู้หญิงเชื้อสายจีนหลายร้อยคนถูกรุมข่มขืน- ผู้แปล) เช่นเดียวกับการประท้วงของนักศึกษาอันนำไปสู่การตกจากเก้าอี้ของเขาในที่สุด
    
หลังจากนั้น ซูฮาร์โตก็สามารถหลบหลีกการดำเนินคดีในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงและการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แม้ว่าผู้ประท้วงจะเรียกร้องอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม
      
ฝ่ายตรงกันข้ามกับซูฮาร์โตกล่าวหาว่าเขาสะสมความมั่งคั่งในช่วงมีอำนาจ อดีตประธานาธิบดีและครอบครัวได้รับการประเมินโดยนิตยสารไทม์ว่ามีเงินถึง 15,000,000,000เหรียญฯ  ในเวลา 32  ปีที่เขามีอำนาจ  (การโกงกินน่าจะอยู่ในระดับเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แม้ว่าฝ่ายหลังจะโกงน้อยกว่า แต่เพราะดำรงตำแหน่งไม่นาน หากสฤษดิ์เป็นผู้นำประเทศในเวลาเท่ากับซูฮาร์โต จำนวนเงินที่โกงคงจะน่าตกใจกว่าที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ไม่รู้กี่เท่าและอาจจะพอๆ กับซูฮาร์โตก็ได้-ผู้แปล)
      
ซูฮาร์โตปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นและฟ้องร้องนิตยสารไทม์ในข้อหาหมิ่นประมาท
     
ศาลอินโดนีเซียตัดสินให้ซูฮาร์โตได้รับชัยชนะโดยกล่าวว่าเขาควรได้ค่าชดเชยกว่า100,000,000 เหรียญ ฯ  นิตยสารไทม์ยังคงอุทธรณ์ต่อคำตัดสินจนถึงตอนที่เขาเสียชีวิต
    
อัยการยังต้องการจะแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อซูฮาร์โตในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง
    
แต่ในปี 2006 ภายหลังจากที่หมอวินิจฉัยว่าอาการหัวใจวายหลายครั้งทำให้สมองของซูฮาร์โตเสียหายไปกว่าครึ่งและไม่พร้อมที่จะพบการพิจารณาคดี ข้อกล่าวหาเหล่านั้นถูกถอนออกไป ทำให้บรรดาฝ่ายตรงกันข้ามของเขาเดือดดาลมาก
    
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ผู้ชายซึ่งองค์กรเฝ้าระวังความโปร่งใสและต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงระหว่างประเทศบอกว่าเป็นผู้นำประเทศที่ฉ้อฉลที่สุดในประวัติศาสตร์ และผู้ซึ่งเคยมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในประเทศของตนต้องมาจบชีวิตแบบคนป่วยที่โดดเดี่ยว ปราศจากการสัมผัสกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยใหม่

 

หมายเหตุผู้แปล: บทความนี้แปลและดัดแปลงจากเว็บไซต์บีบีซี เนื่องในโอกาสครอบรอบหลายวันที่ คสช.ประกาศเปิดค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติผู้ที่มีความเห็นต่าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท