Skip to main content
sharethis
'อลงกรณ์ พลบุตร' รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศระบุไม่เห็นด้วยข้อเสนอให้ คสช.ประกาศล่วงหน้า จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดแทนร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ชี้เป็นการตีกรอบความคิดของประชาชน และสร้างความสับสนในการออกเสียงประชามติ ด้าน 'ไพบูลย์' วอนประชาชนรับร่าง รธน. หากเชื่อมั่น คสช.
 
17 เม.ย. 2559 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ให้ความเห็น กรณีที่มีข้อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม ไม่ผ่าน จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทน ว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2550 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระ ที่มีถึง279มาตรา เพื่อประกอบการตัดสินใจ
 
“การศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ แม้เพียงฉบับเดียว ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ฉะนั้นแต่ละฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงควรเสนอประเด็นข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะรับหรือไม่รับ ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะช่วยให้ประชาชนเห็นมุมคิดหลายๆ ด้านที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” นายอลงกรณ์ กล่าว
 
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จะต้องเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด ที่มีความสลับซับซ้อนสัมพันธ์โยงใยในแต่ละหมวด แต่ละมาตรา และมีความยากในตัวเองอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ การออกเสียงประชามติ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงกำหนดให้พิจารณาเพียงฉบับเดียว  ดังนั้น การจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาเป็นทางเลือก เปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย  จะทำให้เกิดความสับสนและเพิ่มความยากในการทำความเข้าใจมากขึ้น และยังไม่สอดคล้องต่อข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
 
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในช่วงการไตร่ตรองว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนจะคิดเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ตัวเองชื่นชอบ   ดังนั้น  การตีกรอบเพียงรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นคู่เทียบ หรือแทนร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย หรือข้อเสนอจะให้ผสมผสานรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เป็นทางเลือกที่ยังไม่ตกผลึก ว่าจะมีรูปโฉมเป็นอย่างไรยิ่งเ ป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอย ยากจะเป็นไปได้ภายในเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนการออกเสียงประชามติ
 
“ผมคิดว่า เรากำลังเดินทางสู่การมีรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ภายในปีหน้าตามโรดแมป ก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนและกรอบเวลาดังกล่าว โดยโฟกัสการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย และคำถามพ่วงประชามติ ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่ามีจุดดีจุดด้อยอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร ล้วนมีทางเดิน ทางออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน” นายอลงกรณ์ กล่าว
 

พล.อ.ไพบูลย์ วอนประชาชนรับร่าง รธน. หากเชื่อมั่น คสช.

 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง การดูแลความเรียบร้อยในช่วงก่อนการทำประชามติ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้กำชับฝ่ายความมั่นคงและกองทัพให้ช่วยดูแลความเรียบร้อยแล้ว จึงไม่รู้สึกกังวล และต้องการจะย้ำว่า รัฐธรรมนูญที่คนบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญทีดี ทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 แต่เมื่อใช้ไปแล้ว จะเห็นว่าบ้านเมืองยังมีปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกกัน
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า  เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมือง  ได้ย้ำว่าจะต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย จึงคิดว่าหากออกไปในทันที ที่รัฐธรรมนูญร่างเสร็จ ก็เกรงว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนในอดีตที่เกิดปัญหา จึงพยายามหามาตรการในการรองรับ ดังนั้น ต้องการให้ประชาชนที่เชื่อมั่นในการทำงานของ คสช. ช่วยรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า เป็นไปตามระบบที่สร้างขึ้นมา เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง ส่วนตัวมั่นใจว่า สิ่งที่วางรากฐานไว้ในรัฐธรรมนูญ จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้
 
“อยากเรียนพี่น้องประชาชนว่า หากไว้ใจพวกเราในการทำงานมา 2-3ปี เห็นเราตั้งใจหรือไม่ มีความเชื่อมั่นใน คสช.หรือไม่ หากเชื่อมั่น ขอให้เราได้สร้างระบบขึ้นมา เพื่อสร้างกรอบในการปฏิรูปอีกระยะหนึ่ง เรามั่นใจอย่างนั้น ท่านมั่นใจพวกผมไหม ถ้ามั่นใจก็ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน  หลายอย่างไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ภาวะแต่ละประเทศชาติไม่เหมือนกัน  นายกฯ ขอ 4-5 ปีในการเปลี่ยนผ่านให้เกิดความเรียบร้อย ขอไม่ได้หรือ เพราะปัญหาเกิดขึ้นมากมาย” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
 
สำหรับกรณีที่ประชาชนกังวลว่า จะเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องการจะย้อนถามว่า การที่เราจัดกลุ่มคณะหนึ่งไปดูแลระบบ ให้การปฏิรูปเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง เป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน เพราะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว และ ส.ว.ที่แต่งตั้งเข้าไป ก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะไปครอบงำทั้งหมดได้ เพียงแต่ไปควบคุมกำกับให้การปฏิรูปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น ขออย่าจินตนาการในแง่ร้าย และขออย่าอ้างประชาชน
 
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net