Skip to main content
sharethis
รายงานพิเศษจาก TCIJ นโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่หวังให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านขายให้แก่ กฟผ. เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินในธุรกิจโซลาร์เซลล์ กลับต้องฝันค้าง เมื่อกระทรวงพลังงานหักเหลี่ยมห้ามจ่ายไฟเข้าระบบ เหลือแค่ติดตั้งเพื่อประหยัดไฟเองในบ้าน คาดไม่จูงใจคนให้ติดตั้ง หากไม่มีมาตรการอื่น ๆ มาช่วยหนุน

 

 
18 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ TCIJ รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย โดยมีการยืนยันโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ จะเห็นผลภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่ให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ ระบุว่ารัฐต้องรักษาสมดุล ระหว่างการส่งเสริมพลังงานทดแทน กับภาระอัตราค่าไฟฟ้าของประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ จะเป็นการนำร่องเพื่อทดสอบระบบ จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ (และยังแบ่งเป็นภาคธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ / ที่อยู่อาศัย 10 เมกะวัตต์) โดยจะให้เป็นการใช้เพื่อประหยัดไฟในส่วนของตัวเองก่อน ยังไม่อนุญาตให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง  ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ น่าจะดำเนินการให้เห็นผลได้ หลังจากนั้นจึงจะมีการพิจารณาว่าควรจะให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบหรือไม่

ทั้งนี้ในเดือน ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวต่อสาธารณะไว้ว่า แนวโน้มสำหรับโครงการโซลาร์รู้ฟท็อปเสรีนี้น่าจะมีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2559 และกำหนดเงื่อนไขการผลิตไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 2559 และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560

หักข้อเสนอ สปช. ให้ประชาชนขายไฟ กฟผ.อย่างเสรี

จากการแถลงต่อสาธารณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงา  พบว่า การดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีนี้กลับไม่เป็นไปตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เคยเสนอไว้  โดยหลักการสำคัญที่ สปช. เสนอคือประชาชนทั่วไปสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าบนหลังคาและขายให้กับการไฟฟ้าได้โดยเสรี  (อ่านรายงานย้อนหลังของ TCIJ เพิ่มเติม : สปช. ดัน ‘โซลาร์รูฟ' หวัง 20 ปี ล้านหลังคาเรือน พลิกประเทศหรือขายฝัน? และ การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟของรัฐ)

ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในคณะทำงานพิจารณาโครงการนี้ และทำให้การดำเนินการโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีในช่วงแรกยังไม่ให้มีการขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบนั้น คือเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ และเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ให้กับกระทรวงการคลังด้วย ทำให้มีขั้นตอนเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในภาพรวมของโครงการดังกล่าวหากมีการเปิดให้มีการขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบอย่างเสรี ได้นั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ในขณะที่ผู้รับภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นคือประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการที่มีจำนวนมากกว่า

รวมทั้งข้อวิจารณ์ของโครงการนี้ในช่วงที่ สปช. ได้ผลักดันโครงการ คือค่าไฟฟ้าโดยภาพรวมจะแพงขึ้น เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้านนี้จะต้องบวกรวมไปในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายทุกเดือน  และหากมีการติดตั้งตามเป้า 100,000 - 1,000,000 ชุด นั้นก็จะมีผลกระทบต่อค่า FT ในอัตราที่สูงขึ้น  รวมทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และเมื่อครบอายุสิ้นสุดโครงการโซลาร์รูฟ 25 ปีแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะกลายเป็นขยะอันตรายหรือไม่ และผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควร เนื่องจากใช้เงินลงทุนหลักแสนบาทขึ้นไป  ซึ่งกลุ่มคนที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้อาจจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ไม่กระจายไปตามชนบท อาจจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานมากขึ้นไปอีก เพราะกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟได้นั้น จะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงแถมยังมีรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ขายไฟฟ้าอีก ส่วนประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ติดตั้งโซลาร์รูฟจะต้องมาเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้รัฐนำเงินไปซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ

 

อ่านเพิ่มเติม: หักเหลี่ยมธุรกิจโซลาร์เซลล์ ยุค คสช. เมื่อ'โซลาร์รูฟท็อป'แค่ใช้เอง-ห้ามขาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net