Skip to main content
sharethis

(ที่มาภาพ Facebook  Srisompob Jitpiromsri)

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรง ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา มีคนเข้าฟังเต็มห้อง ทั้งนักศึกษา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงและสื่อมวลชน

จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ศูนย์ศึกษาสื่อสารเพื่อสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และวิทยาลัยประชาชน

แม้อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ก็ไม่ได้แปลว่ารู้หรือเข้าใจ

ชัยวัฒน์ขอที่จะบรรยายหัวข้อ “สันติวิธี/ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมกับเดินถือไมโครโฟนไปซุ่มถามนักศึกษาแต่ละคน ถามไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบและค้นพบข้อคิดอย่างหนึ่งว่า แม้ท่านจะอยู่ในเหตุการณ์หรืออยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะรู้หรือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะนักศึกษาบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เขากำลังถาม-ตอบกันเรื่องอะไร

ชัยวัฒน์ บอกว่า การบรรยายครั้งนี้จะไม่กล่าวถึงเหตุไม่สงบหรือความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะผู้เข้าร่วมฟังบรรยายเป็นคนในพื้นที่และหลายท่านก็อาจเข้าใจปัญหาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตนจะบรรยายหรือร่วมพูดคุยก็คือทฤษฎีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

(ที่มาภาพ Facebook  Srisompob Jitpiromsri)

ในการสร้างสันติภาพไม่ได้มีความคาดหวังเดียว

ชัยวัฒน์ อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจความขัดแย้งมีอยู่ 3 ประการ คือ การรับรู้ (Perceptions) ความคาดหวัง (Expections) และอำนาจ (Power)

ในประเด็นการรับรู้ ชัยวัฒน์ ให้ผู้เข้าร่วมดูภาพบนจอแล้วถามว่าเห็นอะไร สิ่งที่ได้ก็คือ หลายคนอธิบายสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกัน และในหนึ่งภาพไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว หรือมุมเดียวอย่างที่เกือบทุกคนในห้องประชุมนี้คิดมาตลอด ก่อนจะเฉลยคำตอบ

อธิบายต่อไปว่า การทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ประกอบไปด้วย การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส สิ่งที่อธิบายยากที่สุดคือ การมองเห็น เพราะเราไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราเห็นกับสิ่งที่เราเข้าใจเป็นเรื่องจริงหรือถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นอาชีพที่ยากอาชีพหนึ่ง นั่นก็คือ นักข่าว เพราะจะต้องใช้สายตาในการมองปรากฏการณ์และรายงานหรือสื่อสารออกไป

ในส่วนประเด็นความคาดหวัง ชัยวัฒน์ อธิบายว่า ในกระบวนการจัดการความขัดแย้ง มันไม่ได้มีความคาดหวังเดียว ตัวอย่างเช่น ในกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ นอกจากจะมีความคาดหวังของรัฐบาลแล้ว ยังมีความคาดหวังของฝ่ายขบวนการ ความคาดหวังของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ความคาดหวังของคนพุทธในพื้นที่ และความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่ในพื้นที่  เป็นต้น

(ที่มาภาพ Facebook  Srisompob Jitpiromsri)

“คุณจะหมดอำนาจทันทีเมื่อใช้ความรุนแรง”

เมื่อเข้าสู่ประเด็นอำนาจ ชัยวัฒน์ก็ถามนักศึกษาว่า หากแฟนขอหรืออ้อนให้เปลี่ยนเสื้อหรือรองเท้าเป็นแบบอื่นจะยอมเปลี่ยนหรือไม่ คำตอบคือยอมเปลี่ยน แต่เมื่อถามว่า ถ้าแฟนหรือมีคนมาด่าแรงๆ หรือเอามีดมาขู่ให้เปลี่ยนจะเปลี่ยนหรือไม่ คำตอบคือไม่เปลี่ยน ชัยวัฒน์จึงถามนักศึกษาว่า แล้วตกลงอำนาจที่ว่านั้นมีตอนไหน?

“หากเปรียบความรักคืออำนาจ การใช้ความรุนแรงก็เหมือนการข่มขืน เพราะคุณจะหมดอำนาจทันทีเมื่อคุณใช้ความรุนแรง”  ชัยวัฒน์ อธิบาย

ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างกรณีมุสลิมที่จ่ายซากาต(ทานบังคับ)หรือทำการซอดาเกาะห์ (การบริจาค) โดยไม่มีการบังคับใดๆ ชัยวัฒน์ เดินถามนักศึกษาอีกครั้งว่า เพราะเหตุใดถึงเต็มใจบริจาค นักศึกษาหลายคนตอบคล้ายๆ กันว่า เพราะเชื่อว่าเป็นความดี และจะได้ผลตอบแทนจากพระเจ้า หรือเพราะรักพระเจ้า

“บางครั้งการที่บางขบวนการติดอาวุธออกมาต่อสู้ก็อาจเกิดจากการรักต่อพระเจ้าก็เป็นได้ ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจึงต้องทำความเข้าใจประเด็นอำนาจด้วย” ชัยวัฒน์กล่าวเสริม

จากนั้น ชัยวัฒน์ก็อธิบายต่อไปว่า การจะทำความเข้าใจอำนาจ จะต้องทำความเข้าใจ 3 ประการ คือ ทิศทาง (Direction) ฐาน (Base) และ ความเข้ม (Magnitube) กล่าวคือ หากเปรียบเทียบกับการชกมวย สมมุติชกดี ฟุตเวิร์คดี  มีความเร็ว(ฐาน) ชกหนัก(ความเข้ม) แต่หากชกไปโดนกรรมการ(ทิศทาง)ก็โดนจับแพ้ฟาล์วได้ ดังนั้น 3 ประการข้างต้นจะต้องสัมพันธ์กัน

(ที่มาภาพ Facebook  Srisompob Jitpiromsri)

ทฤษฎีTrigger /ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลังลาหัก

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ ชัยวัฒน์พูดถึงก็คือ Trigger ซึ่ง ชัยวัฒน์ แปลว่า ลั่นไก หรือในสุภาษิตอาหรับจะเรียกว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลังลาหัก

มาถึงตอนนี้ ชัยวัฒน์ทดลองให้นักศึกษาขึ้นไปยืนบนเก้าอี้หลายๆคน และสมมุติว่าคนสุดท้ายที่ขึ้นไปทำให้เก้าอี้หัก ดังนั้นสาเหตุที่เก้าอี้หักไม่ใช่เพราะคนสุดท้ายที่ขึ้นไปยืน (ที่เป็นเสมือน Trigger) แต่เป็นเพราะมีคนขึ้นไปยืนหลายคนแล้วก่อนหน้านั้น

“ในทางทฤษฎี เราจะหยุด Trigger ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเป็น Trigger” ชัยวัฒน์ กล่าว

คานธีร่วมสมัย 4 คน 3 คนเป็นมุสลิม

ชัยวัฒน์ บอกว่า เมื่อพูดถึงสันติวิธีก็ต้องพูดถึงมหาตมะ คานธี ผู้นำการปลดปล่อยอินเดียจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนมาถามว่าทำไมทหารอังกฤษแสนนายถึงปกครองคนอินเดียสามร้อยล้านคนได้ คำตอบของคานธีก็คือ เพราะคนอินเดียยอม

“เมื่อเรายอม อำนาจก็ทำงานทันที ดังนั้นวิธีการต่อสู้ก็คือการไม่ยอม แต่ใช้สันติวิธีในการต่อสู้จนประสบความสำเร็จ” ชัยวัฒน์ อธิบาย

ชัยวัฒน์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นคานธีร่วมสมัย 4 ท่านที่ ชัยวัฒน์ ได้ยกตัวอย่าง คือ Jose Bove, Fatima Meer, Aminatou Haidar และ Abdul Ghafar Khan ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า 3 ใน 4 คนที่ถูกขนานนามว่าเป็นคานธีร่วมสมัยนั้นเป็นมุสลิม

หากความรุนแรงกว้างมาก สันติวิธีก็จะแคบมาก?

ก่อนจะหมดเวลาบรรยาย ชัยวัฒน์ พูดถึงสันติวิธีว่า ในมุมมองของตนมี 2 แบบ คือ สันติวีแบบแคบ (Contracted Version) และสันติวิธีแบบกว้าง (Expanded Version) กล่าวคือ หากความรุนแรงกว้างมาก สันติวิธีก็จะแคบมาก และหากความรุนแรงแคบลง สันติวิธีก็จะมากขึ้น

น่าเสียดายที่ ชัยวัฒน์ ไม่มีเวลาพอที่จะอธิบายประเด็นนี้มากนัก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net