EnLAW-ประชาชน 8 จังหวัดฟ้องเพิกถอนคำสั่งคสช.‘ยกเว้นผังเมือง’

18 เม.ย.2559 เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 กรณียกเว้นผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นการเปิดทางให้มีกิจการอันตรายตั้งในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้

สุรชัย ตรงงาม ทนายสิ่งแวดล้อมและผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่า การใช้อำนาจของ คสช. หากว่ามีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้ ดังนั้นคำสั่งที่ 4/2559 ที่ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจาก หัวหน้าคสช. ตาม ม.44 ที่กำหนดให้คำสั่งใดๆ ที่ออกมามีผลทั้งทางนิติบัญญัติ ตุลาการและฝ่ายบริหาร ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเขียนแบบนี้หากเราตีความว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ก็เท่ากับตัดอำนาจในการตรวจสอบของประชาชน ดังนั้นประชาชนที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้จะต้องนำคำสั่งนี้มาฟ้องต่อศาลให้ศาลชี้ให้เห็นชัดเจน ไม่ใช่ชัดเจนแค่ผู้ฟ้องคดีอย่างเดียว แต่ให้ชัดเจนต่อสังคมด้วยว่าการใช้อำนาจแบบนี้ต้องมีขอบเขตจำกัดและไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้มากไปกว่านี้

สำหรับกระบวนการทางคดีที่ยื่นฟ้องศาลปกครองนั้น สุรชัยอธิบายว่า หลังจากยื่นเรื่องแล้วศาลปกครองก็จะพิจารณาว่าอยู่ในเขตอำนาจที่จะรับฟ้องหรือไม่ หากศาลเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจและรับฟ้องก็จะส่งคำฟ้องให้กับหัวหน้า คสช.แล้วเริ่มกระบวนการการต่อสู้คดี ยกเว้นศาลเห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอก็อาจจะมีการเรียกมาไต่สวนถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากนั้นเมื่อมีคำพิพากษาแล้วคดีก็จะสิ้นสุด การฟ้องศาลเป็นแค่กลไกหนึ่งในการต่อสู้ป้องกันสิทธิของประชาชน สิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนต้องเข้ามาตรวจสอบสิทธิในพื้นที่


สุรชัย ตรงงาม

ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ฟ้องคดีและตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ผลกระทบในพื้นที่ในภาคใต้เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ 1. มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่จะสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน ซึ่งอยู่ในแผนพีดีพีแล้ว ทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว ถือว่าก้าวหน้ามากที่สุด หากชาวบ้านไม่ไปประท้วงรัฐบาลให้หยุดอีไอเอไว้ ตอนนี้อีไอเออาจจะผ่านแล้วก็ได้ 2.โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ ต.ทุ่งสัง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช บริเวณนั้นเดิมเป็นผังเมืองส่วนที่ห้ามสร้างโรงไฟฟ้า แต่หลังจากมีคำสั่งฉบับนี้ออกมาก็ทำให้ภาครัฐสร้างได้เลยทั้งที่เป็นพื้นที่ชุมชน 

“ปัญหาเรื่องนี้คือว่าพอคำสั่ง 4/2559 ออกมามันจะมีโครงการตามมาอีกเยอะ ซึ่งมีอันตรายมาก ก่อนหน้านี้ได้มีกระบวนการเรียกร้อง ประท้วงมาตลอด และวันนี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่งโดยขอพึ่งอำนาจการตัดสินของศาล” ประสิทธิชัยกล่าว

จร เนาวโอภาส ผู้สนับสนุนฟ้องคดีและชาวบ้าน ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม อ.ฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า เดิมทีพื้นที่ชุมชนนั้นกฎหมายผังเมืองระบุให้เป็นพื้นที่สีเขียว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากกิจการประเภท 101, 105, 106 ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการกากของเสีย การจัดการบ่อขยะ การฝังกลบ ซึ่งกิจการเหล่านี้ดำเนินการหรือจัดการไม่ถูกวิธีโดยมีการลักลอบทิ้งขยะฝังกลบไม่ถูกวิธีและเอาขยะทิ้งไว้บริเวณพื้นที่โรงงาน ซึ่งสร้างผลกระทบกับชุมชนอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องกลิ่นและน้ำเสียใต้พื้นดิน ดังนั้น คำสั่ง 4/2559 จึงเป็นเหมือนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่สร้างผลกระทบให้ชุมชน เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไปขออนุญาตกรมโรงงานก็ได้ใบอนุญาตไม่ต้องใช้กฎหมายผังเมืองพิจารณา และบริษัทที่มาลงทุนนั้นก็เป็นบุคคลภายนอกชุมชนที่มาซื้อพื้นที่ประกอบกิจการ เมื่อรัฐเปิดโอกาสให้กิจการประเภทนี้เปิดขยายได้ก็สร้างผลกระทบเพิ่มเติมขึ้นมาอีกซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา

ทวีศักดิ์ อินกว่าง ผู้ฟ้องคดีและตัวแทนชาวบ้านเชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า พื้นที่เชียงรากใหญ่เป็นพื้นที่แก้ไขผังเมืองรวมปทุมธานีแล้ว และประกาศแนบท้ายกฎกระทรวงว่าพื้นที่เชียงรากใหญ่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้ นี่เป็นคำสั่งแรกที่ชุมชนโดน ต่อมาคำสั่ง 4/2559 เหมือนการตอกย้ำและเราบอกว่าพื้นที่สีเขียวนี้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะตรงไหนก็ได้ จริงๆ แล้วแค่ประกาศฉบับแรกฉบับเดียวเราก็ต้องต่อสู้ผ่านการฟ้องร้องเรื่องกระบวนการขั้นตอนของการคุ้มครองพื้นที่หรือกรณีการประกาศโดยมิชอบโดยการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ปรากฏว่าคำสั่ง 4/2559 ออกมาทำให้เห็นชัดว่าเราไม่สามารถฟ้องได้เพราะคำสั่ง 4/2559 เป็นคำสั่งสูงสุด ทำให้เชียงรากใหญ่เป็นลักษณะการล็อค 2 ชั้น ฉะนั้นเราต้องปลดล็อคคำสั่ง 4/2559 ก่อนเพื่อที่จะปลดล็อคคำสั่งกฎกระทรวง

เรื่องผลกระทบในพื้นที่ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งหมดมีราว 2,000 ครัวเรือน ประชากรร่วมๆหมื่นคน ไม่รวมพื้นที่ผลกระทบในตำบลข้างเคียง ผลกระทบต่อมาคือพื้นที่เชียงรากใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำดิบของการประปานครหลวง พื้นที่เชียงรากใหญ่เป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 1.44 เมตร ฉะนั้นปี 2554 มีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร  ดังนั้นถ้าเกิดการทุจริตหรือปัญหาอะไรขึ้นมาขยะจะลอยเต็มพื้นที่ นอกจากนี้เชียงรากใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรถึง 70%

รายละเอียด คำแถลง เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 กรณียกเว้นผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นการเปิดทางให้มีกิจการอันตรายตั้งในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้

“อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้”

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ที่มีผลเป็นการยกเว้นผังเมืองทั่วประเทศอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเชิงพื้นที่ของประชาชน และเป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละบริเวณให้มีความยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีกิจการที่ได้รับการยกเว้นผังเมืองตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 นี้ประกอบด้วยกิจการโรงไฟฟ้า กิจการด้านพลังงาน และกิจการกำจัดและจัดการขยะจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วประเทศตามแผนงานที่หน่วยงานรัฐวางไว้

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในระยะยาวอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล่อยให้โครงการด้านพลังงานและขยะสามารถเปิดดำเนินการในพื้นที่ใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์และควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ กล่าวคือ
 
1) เป็นการออกคำสั่งโดยปราศจากฐานอำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ขัดต่อหลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
 
2) การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 มิได้เป็นไปตามกรอบเงื่อนไขการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 และนอกจากจะไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่อ้างไว้ในคำสั่งแล้ว ยังเป็นมาตรการที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประชาชนเกินความจำเป็นด้วย
 
3) เป็นการละเมิดต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมือง และกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่มีบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
 
และด้วยเหตุที่ว่าหลักการวางและจัดทำผังเมืองเป็นการตรากฎกระทรวงซึ่งเกิดจากข้อตกลงร่วมกันของหลายฝ่ายในสังคมเกี่ยวกับประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกันบนพื้นที่และการยอมรับถึงการจำกัดสิทธิของตนเองในแต่ละกลุ่มที่ได้กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพต่อข้อตกลงของสังคมดังกล่าวและต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นเพื่อยังให้เกิดความสมดุลของสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในธรรมชาติ สิทธิในการพัฒนา สิทธิในทรัพย์สินดังนั้นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อวัตถุประสงค์และหัวใจของการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม และเป็นการละเมิดข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมไทยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกันบนพื้นที่ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยในปัจจุบันพบว่ามีผังเมืองรวมที่มีกฎกระทรวงประกาศใช้บังคับจำนวน 176 ผัง จำแนกเป็นผังเมืองรวมจังหวัด 33 ผัง และผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน จำนวน 143 ผัง
 
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและทบทวนการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44ออกคำสั่งที่ 4/2559 ของ คสช. อันมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองออกกฎที่มีสถานะเทียบเท่ากฎกระทรวงและย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดในการทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ตามหลักนิติรัฐ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 จึงมอบอำนาจให้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ประโยชน์สาธารณะ และแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทุกคน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการยืนหยัดธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อไป ดังวิสัยทัศน์ของศาลปกครองที่ว่า “ศาลปกครองเป็นสถาบันหลักที่ใช้อำนาจตุลาการในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองตามหลักนิติธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานในระดับสากล ก่อให้เกิดบรรทัดฐานการบริหารราชการแผ่นดินและสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับประโยชน์สาธารณะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท