ผีปู่ย่า: ที่ทางความสัมพันธ์ในระบบมาตาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมขอเริ่มเล่าเรื่องผีปู่ย่าจากประสบการณ์ผมก็แล้วกัน โดยเป็นความเชื่อของคนภาคเหนือ หมายถึงผีประจำตระกูลของแต่ละคน ซึ่งการถือผีจะนับผีทางสายแม่ ส่วนผีปู่ย่าที่ผมจะเล่านี้เป็นผีสายพ่อผมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ โดยผีโคตรวงศ์นี้มีด้วยกัน 4 ตน ประกอบด้วยเจ้าราชวงศ์ เจ้าหงษ์ผาคำ พญาด้ง และเจ้าแจ่ง ซึ่งทั้ง 4 ตนไม่อาจบอกได้ว่ามีชีวิต ตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์หรือไม่

ผีโคตรวงศ์นี้เริ่มแรก อยู่ที่บ้านร้องแหย่ง ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านผม ต่อมาตระกูลผีสายนี้ได้อพยพเข้ามาในหมู่บ้านดอนแท่นพร้อมด้วยญาติในโคตรวงศ์จำนวนมาก และมีความลำบากที่ต้องกลับไปเลี้ยงผีที่บ้านเดิม จึงได้ย้ายผีมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ เพราะระหว่างบ้านผมกับบ้านร้องแหย่งมีแม่น้ำ "ฮ่องบ้า" กั้นกลางทำให้ไปมาไม่สะดวก เพราะตามคำบอกเล่าน้ำสายนี้มีขนาดใหญ่ จะข้ามได้ต้องเอาต้นมะพร้าวพาดถึงข้ามได้ ซึ่งแตกต่างจากที่เราเห็นในปัจจุบัน ที่แค่โดดข้ามก็ได้แล้ว แต่เรื่องเล่าการย้ายผี มีความสอดคล้องกับการย้ายวัดมาอยู่ในบริเวณปัจจุบันนี้เช่นกัน

รูปภาพของ ชัยพงษ์ สำเนียง


ภาพการลงทรงเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2559

กลับมาเรื่องผี ตอนย้ายผีมาเก๊า[2] ผีมาอยู่ที่บ้านหม่อนตุ๊ย สามีชื่อหม่อนจันทร์ ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพ่อแม่ของหม่อน(ทวด) ผมอีกที โดยเริ่มแรกมีหม่อนฟองลูกสาวคนโตของหม่อนตุ๊ยเป็น "ที่นั่ง" (ร่างทรง) พอหม่อนฟองตายลูกสาวหม่อนคำได้เป็นที่นั่งแทน หม่อนคำตายแม่ใหญ่แฮซึ่งเป็นลูกสาวหม่อนชื่น เป็นเครือญาติได้เป็นที่นั่งต่อมา การทรงในตอนนั้นที่นั่งมีคนเดียวทรงทั้ง 4 ตน ตอนหลังเจ้าพ่อทั้ง 4 ตนหง่อม จึงไปขอเจ้าพ่อบ้านดอนมูลมาทรงร่วม ซึ่งมีแม่ใหญ่เรียบเป็นที่นั่ง ในช่วงสัก 10 กว่าปีหลังนี้ ได้ร่างทรงใหม่เป็นลูกหลานแม่ใหญ่เงิน แม่ใหญ่เซ้าบ้านดอนมูลมาเป็นที่นั่ง. และต่อมาได้เเม่เอียดลูกแม่ใหญ่คำ หลานแม่ใหญ่ฟองมาเป็นที่นั่งอีกคนหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องเอาเจ้าพ่อบ้านดอนมูลมาทรงร่วมเพราะ "บ่หง่อมละ" (ไม่เหงาแล้ว) ปัจจุบันมีเพียงเจ้าแจ่งที่ยังไม่มีที่นั่ง แต่มักจะลงทรงที่นั่งคนใดคนหนึ่ง แล้วก็จะไปนั่งอยู่มุมห้อง สมชื่อเจ้าแจ่ง

ส่วนการเลี้ยงผีโคตรวงศ์นี้จะเลี้ยงในวัน 9 ค่ำเดือน 5 เหนือ (ประมาณเดือนมีนาคม) และวันสังขารล่อง (วันที่ 13 เมษายน เป็นวันกระด้าง(ไม่เปลี่ยนแปลง) เพราะบางปีเป็นเดือน 6 บางปีเป็นเดือน 7 เหมือนปีนี้) ทุกปีมีเลี้ยงไก่ หัวหมูแล้วแต่ใครมาบนแล้วมาแก้บน ซึ่งบางปีมากกว่า 10 หัว แต่ในอดีตสายผีจะมีการเก็บเงินคนที่นับถือผีสายนี้ผู้หญิง 20 บาท ผู้ชาย 10 บาท ซึ่งมีการแบ่งเก็บตามหมู่บ้านต่างๆทั้งดอนแท่น ร้องแหย่ง ดอนมูล เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงผี และส่วนหนึ่งคือ ยกให้ที่นั่งเพื่อไปทำบุญ

รูปภาพของ ชัยพงษ์ สำเนียง


เครื่องเซ่นสังเวย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2559

นอกจากนี้บ้านเก๊าผีจะมีหิ้งอยู่ในห้องนอน เพื่อเป็นที่บนบานบอกกล่าว เวลามีคนในสายผีทำกิจธุระต่างๆ เช่น เดินทาง แต่งงาน บนสิ่งต่างๆ เป็นต้น เมื่อก่อนก็อยู่ที่บ้านหม่อนตุ๊ย ต่อมาทางบ้านเราได้ซื้อไว้เพราะไม่มีคนอยู่ เลยย้ายไปอยู่บ้านแม่เอียดที่อยู่ถัดเข้าไป

ทั้งหมดที่เล่าอย่างยาว ๆ เพื่อเกริ่นให้เห็นพลวัตของผีปู่ย่าโคตรวงศ์นี้ ซึ่งถือว่าเป็นโคตรวงศ์ที่ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่บ้านรุ่นแรกก็อยู่ในโคตรวงศ์นี้

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ การที่ผู้นำ/ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ชายทำให้สายผีเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าการนับถือผีเขานับถือสายแม่ แม้พ่อจะเป็นผู้ใหญ่บ้านกำนัน ก็ต้องให้ลูกนับถือผีสายแม่ แสดงให้เห็นว่าอำนาจทางการที่เข้ามาสวมทับกับอำนาจตามความเชื่อที่ออกจะลักลั่นกัน เราจะเห็นว่าสายผีที่จะขยายวงให้กว้างขวางมิได้เกิดจากการมีลูกผู้ชายแล้วขยายนามสกุล แต่เกิดจากเครือข่ายลูกผู้หญิง ยกตัวอย่างผมได้เห็นการลงทรงทุกปี ไปกราบเจ้าพ่อก็บ่อย บ้านเก๊าผีก็อยู่หลังบ้านผม เขาก็ไม่ถือว่าผมเป็นผีสายนี้ ซึ่งในอดีตคงหมายถึงความพันธ์เชิงเครือญาติผ่านระบบมาตาลัยด้วย ส่วนตัวผมต้องนับถือ/ขึ้นกับผีสายแม่ผมซึ่งอยู่ในอีกตำบลหมู่บ้านหนึ่ง

รูปภาพของ ชัยพงษ์ สำเนียง


สมาชิกที่นับถือผีร่วมกันที่มา “ลงผี” (ร่วมพิธีเข้าทรง)

กระนั้นการนับถือผีก็มิใช่ทำให้เกิดสังคมสมานฉันท์ไร้ข้อขัดแย้ง อย่างที่เราคิด แต่สัมพันธ์กับอำนาจของ "เจ้าโคตร". ด้วยเช่นกัน เพราะบางทีเกิดความไม่ลงรอยระหว่างเจ้าโคตรกับคนในสายผีก็ทำให้เกิดการ "แบ่งผี" ยกตัวอย่างผีสายแม่ผมเกิดความไม่ลงรอยระหว่างเจ้าโคตร (ในที่นี้หมายถึงผู้สืบทอดการเป็นเจ้าทรง/กำลังผี ส่วนใหญ่ คือ เก๊าผีแต่เดิม) กับสายวงศ์ย่อย เพราะเจ้าพ่อสายแม่ชื่อเจ้าพ่อใจ๋ห่ม ดันไปเลือกที่นั่งที่เป็นวงศ์ย่อย ทำให้เจ้าโคตรไม่เชื่อว่านั่นคือ เจ้าพ่อใจ๋ห่มมาลงทรง และกล่าวหาว่าเป็นผีกะมาลงทรง ทำให้สายย่อยนั้นๆ แยกผีไปลงเอง และไม่ข้องแวะกับโคตรวงศ์สายใหญ่ แม้ปัจจุบันผีสายนี้กลับมาเลี้ยงและทรงร่วมกันแล้วก็ตาม (เพิ่มเติม ผีสายนี้อยู่บ้านเหล่าซึ่งอยู่เหนือบ้านผมขึ้นไป เก๊าผีเป็นพ่อของหม่อน(ทวด)ผม) ส่วนผีสายย่าผมก็เคยมีการแบ่งผีแต่สุดท้ายก็กลับมารวม เพราะเจ้าพ่อบอกว่าไม่อยากไปอยู่ที่อื่น แต่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเจ้าโคตรกับเครือข่าย ซึ่งสัมพันธ์กับการจัดการมรดกด้วย

ผีมิใช่นับกันเปล่าๆปลี้ๆ แต่สัมพันธ์กับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในโคตรวงศ์สายแม่ หนึ่งในนั้นที่การจัดการเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิต ซึ่งอดีตเราเชื่อว่าจะมีข้อห้ามในการเเต่งงานระหว่างผีโคตรวงศ์เดียวกัน ซึ่งนั้นอาจเป็นความคลาดเคลื่อน เพราะเท่าที่ผมรู้ การที่ผู้ชายถูกกันออกจากความสัมพันธ์ทางโคตรวงศ์แล้ว เพราะไม่ทำให้เครือข่ายของผีกว้างขวางขึ้น จึงไม่มีผลต่อวงผี ตามความเข้าใจผม ฉะนั้นจึงไม่นำมาสู่การห้ามแต่งงานในโคตรวงศ์แต่ประการใด แต่สิ่งที่ผมเห็นกลับตรงกันข้ามในโคตรวงศ์ผีสายแม่ผม กลับนิยมให้คนในผีเดียวกัน/ญาติห่างๆ บางทีก็ใกล้แต่งงานกัน เพราะเชื่อว่าที่นา/ทรัพย์สินจะได้ไม่กระจาย ตกไปเป็นของคนอื่น และอาจเพราะเห็นนิสัย รู้ "น้ำปื้น" (สันดาน) ของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย

ส่วนการแบ่งที่นาเขาในอดีตมีการแบ่งให้เฉพาะสายแม่ คือ ตามโคตรวงศ์อย่างที่เรารู้กัน คือ ผู้ชายแต่งเข้าบ้านผู้หญิง ก็จะมาอยู่ใต้โคตรวงศ์ ผู้ชายเหล่านั้นจึงมาแต่ตัว มาพึ่งพาโคตรวงศ์ของฝ่ายหญิง แต่กระนั้นผมคิดว่าตั้งแต่รุ่นย่าของผมมา การแบ่งมรดกตามสายผีเริ่มเสื่อมอิทธิพลไป แต่การเเบ่งมรดกที่เท่าๆ กัน หรือมีความแตกต่างระหว่างหญิงชายไม่มากนัก เพราะความคิดเรื่องนามสกุลสายพ่อเริ่มเข้ามามีบทบาท แม้ว่าฝ่ายชายยังได้น้อยกว่าและยังแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิงก็ตาม นั่นเป็นที่มาของการปรับตัวของโคตรวงศ์ฝ่ายแม่ผมที่นิยมให้แต่งงานในโคตรวงศ์ผีเดียวกัน

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในการแบ่งมรดก อย่างที่รู้กันทั่วไป คือ ลูกคนเล็ก. หรือลูกแตนเฮียน(เรือน) จะได้มรดกเยอะที่สุด เพราะได้ส่วนของพ่อแม่ด้วย โดยการแบ่งมรดกพ่อแม่จะกันที่หนึ่งที่แบ่งให้ลูกคนอื่นๆ แล้ว ไว้ส่วนหนึ่งหลังตายไป ที่ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นของคนที่เลี้ยงดู แต่ที่น่าสนใจ คือ ถ้าลูกคนนั้นเป็นโสดก็จะได้รับมรดก/ที่นาน้อยกว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะเชื่อว่าไม่สืบวงศ์ทั้งสายผีสายสกุล แต่มีการจัดการที่น่าสนใจ คือ คนโสดคนนั้นจะไปอยู่กับพ่อแม่และน้องแตนเฮียนจนตาย และได้รับการดูแลอย่างดี เพราะทรัพย์สิน/ที่นาของคนโสดนั้นจะกลับมาเป็นของโคตรตระกูล

ผมสังเกตว่าในอดีตโคตรวงศ์ใหญ่ ที่มีทรัพย์จำนวนมากจงใจทำให้ลูกสาวตนเองคนใดคนหนึ่งเป็นโสด โดยการกีดกันไม่ให้แต่งงานด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อการรักษาทรัพย์สมบัติของวงศ์ตระกูล

การลงผีปู่ย่า/การนับถือผี/พิธีกรรม(ศักดิ์สิทธิ์) ยังมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งไม่อาจกล่าวได้หมดในพื้นที่เเละเวลาที่จำกัดนี้ น่าสนใจว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้ที่ทางของผีปู่ย่า โคตรวงศ์แบบมาตาลัยจะคงอยู่/ปรับตัว/มีตำแหน่งแห่งที่แบบใด ซึ่งต้องทำการศึกษากันต่อไป. ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา เนื่องในวันดำหัวผีปู่ย่า

 

 

 

เชิงอรรถ

[1] ข้อมูลทั้งหมดผมได้จากย่าผมเป็นส่วนใหญ่ และผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ส่วนข้อมูลผีสายแม่ ผมก็อาศัยการสอบถามจากคุณแม่ผมและญาติ ๆ

[2] คือ บ้านที่เป็นที่ตั้งของผีบรรพบุรุษ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท