นัยแห่งความไม่ชอบมาพากลของคำว่า “Deliberation” ภายในแนวคิด Deliberative Democracy

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 
 

 
ในตอนบ่ายของเมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนนั่งพูดคุยกับเพื่อนที่ร้านกาแฟ ในหัวข้อยอดนิยม คือ เรื่อง ประชาธิปไตยภายในสังคมตะวันตกได้สักพัก แล้วหัวข้อก็ค่อยๆไหลไปถึงเรื่อง ปรัชญาประชาธิปไตยแบบตะวันตก และแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือ ประชาธิปไตยแบบเจรจาหารือ (deliberative democracy) ก็ได้ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดเป็นคำถามข้อหนึ่งขึ้นมาในส่วนของคำว่า การเจรจาหารือ (deliberation) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักรัฐศาสตร์ในวงวิชาการสากลของโลกตะวันตกนำมาพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยแบบเจรจาหารือ และประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา (parliamentary system) ที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อและมีทัศนคติต่อระบบการเมืองลักษณะนี้ว่าเป็นรูปแบบการเมืองประชาธิปไตยที่ดี และเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายภายในปริมณฑลทางการเมืองแบบทวีคูณ โดยระบบการเมืองชนิดนี้ได้แพร่หลายและเป็นที่อบอวลชวนประสงค์มากที่สุดในสังคมระหว่างประเทศ ภายหลังยุคสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ในฐานะที่เป็นกลไกของการเปิดกว้าง การให้เสรีภาพต่อความแตกต่าง พหุนิยมทางความคิด สามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายในพื้นที่ หรือ สนามหนึ่งๆ ได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ พร้อมกับปฏิบัติต่อความหลากหลาย ข้อโต้แย้งที่ไม่ลงตัวระหว่างกันอย่างเป็นกลาง ด้วยการพยายามเสนอวิธีหาข้อยุติ และแนววิธีการเจรจาสรรหาผลประโยชน์ของคู่ภาคีที่แตกต่างกันให้ลงตัวให้ได้ ด้วยวิธีการแบบเจรจาหารือ (deliberative model) ซึ่งมีระบบการสร้างฉันทามติร่วมกัน (consensus) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจาต่อรองให้ผลประโยชน์ หรือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละภาคีสามารถจะประนีประนอมกันได้

แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อมองให้ลึกลงไปอีกด้านหนึ่งแล้ว ก็จะสามารถเห็นได้ว่า วิธีการที่หลายๆคนเชื่อว่าสามารถจะเปิดพื้นที่ให้แก่ความหลากหลาย พหุนิยมของความแตกต่างได้ ในลักษณะนี้ก็ยังสามารถที่จะกลายเป็นกลไกในการทำลาย ฆ่าล้าง ลดทอน การมีอยู่ของ “ความหลากหลาย” ได้ในเวลาเดียวกัน ง่ายๆ และแยบยลได้เช่นกัน ด้วยระบบฉันทามติ และการ “เจรจาหารือ” กัน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุป ข้อยุติ หรือผลเฉลี่ยมวลรวมที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปอันทุกๆภาคีจะสามารถยอมรับเป็นมาตรฐานกลางร่วมกันได้ พฤติการณ์เหล่านี้นั้นแสดงออกถึงความพยายามในการจะมัดรวมความต้องการของทุกๆภาคีเข้าด้วยกัน แล้วหาค่าเฉลี่ยมวลรวมของทุกคนให้ออกมา หากความต้องการ หรือผลประโยชน์ของภาคีใดๆ ไม่สามารถที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับผลเฉลี่ยมวลรวมนั้นๆได้ ภาคีนั้นๆก็จะต้องสละซึ่งความต้องการ หรือ ประนีประนอมผ่านการลดทอนความแข็งแกร่งในการยืนยันจุดยืนทัศนคติของตนเองลง แล้วยอมรับผลของฉันทามติ หรือ ค่าเฉลี่ยนั้นๆไปโดยปริยาย

ลักษณาการดังกล่าวนี้ แม้หลายๆคนจะเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตย แต่หากพิจารณาให้ถึงที่สุดไปยังต้นราก หรือแบบแก่นโคน (radical) ในข้อเขียนดังข้างต้น (ซึ่งเป็นแนวคิดที่ Chantal Mouffe เคยเสนอไว้) แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มันยังมีความขัดกับหลักการของทฤษฎีประชาธิปไตยในตัวของมันเองอยู่เบื้องลึก จากที่ระบบ หรือโครงสร้างเหล่านี้ได้มีความพยายามในการเข้าไปจับทุกอย่างมัดรวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยมวลรวมออกมา โดยสิ่งใดที่ไม่สามารถถูกหลอมรวมเข้ากับมวลใหญ่ได้อย่างลงตัว ก็จะถูกกีดกัน (exclusion) ออกไป อย่างไม่ใยดี ภายใต้ฉลากของคำว่า “มติของคนส่วนมาก”

และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเลยหันมาลองพินิจเปรียบเทียบกันที่คำในภาษาอังกฤษของคำว่า “เจรจาหารือ” คือ “Deliberation” เราก็จะเห็นได้ว่า คำแปลมันอาจมีนัยแฝงมากกว่าแค่การ “เจรจาหารือ” หรือ “ปรึกษาหารือ” เพียงอย่างเดียว คำว่า Deliberation มันยังอาจแสดงถึงนัยของการกดขี่ ควบคุม ครอบงำ อยู่ภายในคำคำนี้ด้วย ดังจะสังเกตจากคำว่า “De-” ที่ทำหน้าที่เป็นตัว Prefix ซึ่งมีความหมายว่า ทำลาย ถอนทิ้ง ลบล้าง ถอด รื้อ เป็นต้น อยู่นำหน้าคำว่า “Liberation” ที่หมายถึง การปลดแอก หรือ ปลดปล่อยไปสู่ความเสรี เมื่อลองถอดและแทนค่าสมการของคำนั้นๆ (De+Liberation) ด้วยการตีความดังที่กล่าวแล้ว ก็จะสามารถเห็นอีกแง่มุมของคำว่า “Deliberation” หรือ “การเจรจาหารือ” ในมิติที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ มันจะทำให้สมการใหม่ออกมาได้ว่า คำว่า “Deliberation”  ภายในทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่นัยทางด้านของการปรึกษาหารือ หรือเจรจาหารืออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีนัยของการลิดรอน เพิกถอน และรื้อซึ่ง “เสรีภาพ” อีกด้วย ดังจะพิจารณาได้จากพฤติการณ์การ “De-” (การทำลาย เพิกถอน ลบล้าง) ที่เข้าไปประกอบกับการ “Liberation” (การเจรจาหารือ) มันจึงเกิดเป็นภาวะ Deliberate ที่หากตีความตามสมการที่เสนอไว้แล้ว ก็จะเห็นอีกมิติหนึ่งของการทำลายล้างซึ่งความหลากหลาย และพหุนิยมของความแตกต่าง ผ่านกระบวนการของการเจรจาหารือ (de-liberationalization through deliberation) ภายในขั้นตอนกระบวนการของประชาธิปไตย

เช่นนี้แล้ว เมื่อย้อนกลับไปที่คอนเซ็ปต์ Deliberative Democracy ก็จะทำให้สามารถเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีการเจรจาหารือระหว่างภาคีกันได้แล้ว มันยังเป็นประชาธิปไตยที่มีนัยของการควบคุม ครอบงำ เบียดขับ กีดกันอิสรภาพได้อีกด้วย นี่จึงเป็นความไม่ชอบมาพากลอย่างหนึ่งใน Deliberative Democracy ที่ไม่ได้เพียงแค่การแอบซ่อนอยู่ภายในตัวทฤษฎีของตัวมันเองเท่านั้น หากแต่ยังมีซ่อนอยู่ภายในตัวรูปของคำอีกด้วย…

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท