Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความจริงตั้งใจจะไปเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องที่สกลนครตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่นายเก่ง มาตราช และ นายสาโรจน์ บังหอมถูกตำรวจบุกจับข้อหาบุกรุกป่า

แต่ก็ติดนู่นนี่นั่นจนถึงวันที่ 11 เม.ย. จึงมีโอกาสเดินทางไปสกลนคร ด้วยหวังว่าจะไปเห็นภาพนายเก่ง มาตราช เดินออกจากที่คุกขังกลับสู่อิสรภาพและเสรีภาพอีกครั้ง ส่วนนายสาโรจน์ บังหอม ได้รับประกันตัวไปก่อนหน้านั้นตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.


คนต้นเรื่องคนจนในกระบวนการยุติธรรมไทย

หลายท่านที่ติดตามข่าวสารการทวงคืนผืนป่าแต่กระทืบชีวิตคนจนของรัฐบาลนี้คงจำกรณียายจันทรา บังหอม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้พร้อมทหารอาวุธครบมือบุกเข้าไปตัดต้นยางที่ยายปลูกไว้ในเนื้อที่ 18 ไร่ รวมกว่าสองพันต้นเหี้ยนเหลือแต่ตอ ทำให้ยายแก่ๆ อายุ 82 ปีต้องไร้ซึ่งอาชีพต้องออกหาเก็บผักเก็บหน่อไม้ในที่ดินคนอื่นที่เค้าใจบุญเพื่อเก็บยังชีพ นายสาโรจน์ บังหอมเป็นบุตรชายของยายจันทรา

กรณีตำรวจบุกจับนายเก่ง มาตราชและนายสาโรจน์ บังหอมนี้ ศาลได้ตั้งวงเงินประกันไว้คนละ 1 แสนบาท

ยายจันทราและญาติของนายสาโรจน์ บังหอมต้องช่วยกันออกหาหลักทรัพย์เพื่อนำมาประกันตัวนายสาโรจน์ ที่สุดต้องไปเช่าโฉนดที่ดินของญาติด้วยราคากันเองคือ 3,000 บาท และในรุ่งขึ้นคือวันที่ 8 เม.ย.59 ประมาณ 17.00 น. ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้นายสาโรจน์ บังหอมถูกกักขังเสรีภาพนอนในคุกไป 1 คืน (ในธุรกิจหากินกับคนจนนี้ จะมีพวกนายหน้าประกันที่คอยวิ่งเต้นช่วยเหลือประกันตัว โดยเอาโฉนดที่ดินของตัวเองไปวางกับศาล โดยคิดเงินกับจำเลยที่ต้องการความช่วยเหลือในราคา 10% ของวงเงินประกันที่ศาลตั้งไว้ เช่น ศาลตั้งวงเงินประกัน 1 แสนบาท นายหน้าประกันเหล่านี่ก็จะคิดเงินจากญาติจำเลย 1 หมื่นบาทเป็นค่าเช่าโฉนด หากินกันญาติจำเลยที่ไม่ที่โฉนดที่ดินมาวางกับศาล โชคยังดีที่ญาตินายสาโรจน์สามารถหาโฉนดที่ดินได้)

แต่สำหรับนาย เก่ง มาตราช ... ชะตากรรมต่างออกไป

ตั้งแต่วันที่ถูกจับ ญาติพยายามดำเนินการเพื่อจะขอประกันตัวนายเก่ง โดยได้นำโฉนดที่ดินขนาด 3 ไร่ไปให้สำนักงานที่ดินประเมินราคา ตีราคาออกมาได้ 110,000 บาท ซึ่งมากกว่าวงเงินประกันที่ศาลตั้งไว้ แต่เมื่อนำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปยื่นขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ศาลได้ชี้แจงว่า เคยมีแนวคำสั่งศาล (ในคดีป่าไม้เช่นกันเมื่อต้นปี) ที่ศาลไม่อนุมัติหลักทรัพย์ที่นำมาประกันตัวในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นเป็น “ที่ดินตาบอด” (กฎหมายกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษา)

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวพยายามชี้แจงต่อว่า จริงอยู่แม้ที่ดินทุกแปลงจะมีราคาประเมิน แต่นั่นก็เป็นเพียงราคาประเมินไม่ได้เป็นราคาที่ซื้อขายจริงในท้องตลาด สมมติว่าศาลอนุมัติให้เอาที่ดินตาบอดหรือที่ดินที่อยู่ในป่าในเขาสามารถเอามาประกันตัวได้ แต่หากจำเลยหลบหนี ที่ดินดังกล่าวก็จะตกเป็นของรัฐ แต่เมื่อรัฐนำที่ดินดังกล่าวไปขายทอดตลาด ที่ดินดังกล่าวอาจจะไม่มีคนซื้อ (เพราะอยู่ในป่าในเขาหรือตาบอด หรือมีคนซื้อก็ขายในราคาที่ต่ำมากและต่ำกว่าราคาที่ศาลตั้งวงเงินประกัน – ผู้เขียน) ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์

นี่คือความทุกข์ยากที่ซ้ำเติมคนจนในกระบวนการยุติธรรมไทย เนื่องจากคุณค่าหรือมูลค่าของที่ดินระหว่างในมโนทัศน์ของศาลกับของชาวบ้านแตกต่างกัน ศาลมองมูลค่าที่ดินด้วยกลไกตลาด มูลค่าหรือคุณค่าของศาลเป็นเรื่องของการเอาที่ดินไปแลกเป็นเงิน

แต่มโนทัศน์ของชาวบ้านในการมองที่ดินนั้นแตกต่างออกไป ที่ดินของชาวบ้านนั้นคือชีวิต ที่ดินเป็นที่มาของอาชีพ ที่ดินเป็นที่มาข้าวปลาอาหาร ที่ดินเป็นที่มาของรายได้ในการเลี้ยงปากท้อง และไม่ใช่ปากท้องของคนๆ เดียว หากแต่เป็นปากท้องของคนทั้งครอบครัว ที่ดินเป็นอนาคตการศึกษาของลูกๆ ที่ดินเป็นมรดกที่บรรพบุรุษตกทอดมาให้ ที่ดินเป็นอะไรมากกว่าที่จะเอาไปแลกเป็นตัวเงินในกลไกการตลาดของระบบทุนนิยม ไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว (อันเกิดจากทิศทางการพัฒนาที่บิดเบี้ยวของรัฐเน้นการส่งออกส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่กำหนดราคาไม่ได้) ที่ดินของชาวบ้านไม่หลุดมือไปง่ายแต่อย่างใด ที่ดินของชาวบ้านไม่ได้จับมาแล้วขายไป ไม่มีความผูกพันอาลัยหากแต่มุ่งเน้นทำกำไรจากส่วนต่างอย่างนักเกร็งกำไรที่ดินหรือที่เรียกกันสวยหรูว่านักพัฒนาที่ดินหรือนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ที่ดินแม้จะตาบอดไม่มีติดถนน แต่ที่ดินส่วนใหญ่ของชาวบ้านชาวไร่ชาวนาก็เป็นแบบนั้น ที่นาส่วนใหญ่ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนา เดินลัดทุ่งผ่านที่นาของเพื่อนบ้าน แม้ไม่ติดถนนแต่ก็ปลูกข้าวปลูกมัน ปลูกผักปลูกยางสร้างรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเติบใหญ่มาหลายรุ่น

ดุลยพินิจของศาลที่มีมโนทัศน์แบบนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของระบบทุนนิยม นำมาซึ่งผลกระทบต่ออิสรภาพและเสรีภาพนายเก่ง มาตราช เมื่อศาลไม่อนุมัติหลักทรัพย์ในการประกันตัวซึ่งเป็นที่ดินตาบอด

นับแต่เย็นวันที่ 7 เม.ย.ที่นายเก่งถูกจับกุม การประกันตัวในวันแรกแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะคดีนี้มีหมายศาล ตำรวจมักจะให้เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ คืนแรกจึงถูกจองจำอิสรภาพที่สถานตำรวจ รุ่งขึ้นจึงถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำ

วันที่ 8-9-10 เม.ย. นับเป็นเวลา 4 คืนแล้วที่นายเก่งถูกจองจำอิสรภาพ พ่อ เมีย ลูกชายและญาตินายเก่งได้พยายามวิ่งหาหลักทรัพย์อย่างเต็มที่เพื่อพยายามจะประกันนายเก่งออกมา แม้ในวันที่ 10 เม.ย. ญาติจะสามารถหาโฉนดที่ดินได้แล้ว แต่ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ศาลได้ทักท้วงว่าที่ดินตาบอดมีโอกาสสูงมากที่ผู้พิพากษาจะไม่อนุมัติ

ฉะนั้นเช้าวันที่ 11 เม.ย. ทางญาติจึงได้ใช้ความพยายามยามอย่างเต็มที่ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าที่ดินดังกล่าวไม่ได้ตาบอดเสียทีเดียว หากแต่ได้มีทางสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนั้นได้ลงขันกันเพื่อซื้อที่ดินทำเป็นทางเข้าออก โดยได้คนรู้จักที่บ้านอยู่ใกล้ที่ดินดังกล่าวไปถ่ายรูปทางสาธารณะนั้นแล้วส่งไลน์มา จากนั้นทางญาติก็ต้องขับรถวนเมืองสกลนครเพื่อหาร้านที่จะสามารถดึงภาพดังกล่าวลงคอมพิวเตอร์แล้วปริ๊นเป็นเอกสารแนบโฉนดที่ดินเพื่อให้ศาลพิจารณา แต่ที่สุดศาลก็ไม่อนุมัติ นำมาซึ่งความผิดหวัง เศร้าเสียใจ อึดอัด คับข้องใจของคนเป็นพ่อและลูกเมีย กระทั่งหยดน้ำตาต้องหลั่งรินที่ต้องเห็นนายเก่งต้องถูกจองจำนอนคุกต่อเป็นคืนที่ 5

เย็นวันเดียวกันพ่อ แม่และญาตินายเก่งต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ สืบเนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 12 เม.ย. วันสุดท้ายของวันเวลาราชการก่อนที่จะหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ นั่นหมายความว่าหากวันที่ 12 เม.ย.ยังไม่สามารถดำเนินการประกันตัวนายเก่งออกมาได้ นายเก่งจะต้องนอนคุกยาวอีก 5 คืน

และแล้วความพยายามของญาตินายเก่งก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อสามารถหาเช่าที่ดิน “ที่ไม่ใช่ที่ตาบอด” จากญาติได้ในราคา 5,000 บาท จากนั้นรุ่งขึ้นก็ถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไปให้สำนักงานที่ดินประเมินราคาแล้วตรงดิ่งไปที่ศาลเพื่อเดินเรื่องประกันตัว

ที่สุดศาลก็อนุมัติหลักทรัพย์ดังกล่าว ทำให้นายเก่ง มาตราชได้รับอิสรภาพในเย็นวันที่ 12 เม.ย. รวมเวลาที่ถูกจองจำเพราะความเป็นคนจนในกระบวนการยุติธรรมไทยรวม 5 คืน

เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ ... เรื่องคนจนกับกระบวนการยุติธรรมไทย

1. เราเรียนรู้ว่าคำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเลย เพราะหากนายเก่งเป็นคนรวย วงเงินประกัน 1 แสนบาทสามารถถือเงินสดไปวาง หรือเอาโฉนดที่ไม่ใช่ที่ตาบอดไปวางได้ในเวลาอันรวดเร็วไม่ต้องนอนคุกตั้ง 5 คืน

2. เราเรียนรู้ว่าแม้การประกันตัวจะสามารถเอาตำแหน่งไปประกันได้ แต่ด้วยความที่เป็นคนจน อยู่กับท้องไร่ท้องนา ผู้คนที่รู้จักกับเป็นชาวไร่ชาวนาหาใช่มนุษย์เงินเดือน การที่จะหาคนรู้จักที่มีสลิปเงินเดือนเพื่อไปประกันเป็นอะไรที่ยากมาก ในกรณีของญาตินายเก่งนึกถึงใครไม่ออกเลย

3. เราเรียนรู้ว่าการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่ไม่อนุมัติหลักทรัพย์ประกันตัวที่เป็นที่ดินตาบอด เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ใช้มโนทัศน์ที่กดทับคนจนมาก มูลค่าของที่ดินในมโนทัศน์ของศาลกับของชาวบ้านแตกต่างกัน ศาลมองมูลค่าที่ดินด้วยกลไกตลาด แต่สำหรับชาวบ้านที่ดินคือชีวิต

4. เมื่อคนจนมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล นอกจากคนเป็นลูกชายหรือผัวจะต้องถูกจองจำอิสรภาพแล้ว คนเป็นพ่อคนเป็นเมียมีหลายสิ่งหลายอย่างประดังประเดเข้ามาซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็นปกติสุขของชีวิตจากหายไป เสียสุขภาพจิต และรายจ่ายอีกมากมายเรียงรายเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่ารถและค่าน้ำมันไปโรงพักไปศาล เวลาทำมาหากินถูกกระทบ ต้องเสียเงินเช่าโฉนดที่ดินทั้งที่จ่ายเงินค่าเช่าแต่ก็ต้องมีเรื่องบุญคุณติดตามไปตลอดชีวิต โฉนดที่ดินที่เช่ามาก็ต้องวิ่งไปสำนักงานที่ดินเพื่อทำการประเมินราคา ต้องค่าลัดคิว 500 บาท และค่าประเมินอีกประมาณร้อยสองร้อย ค่ากินค่าอยู่ระหว่างรอเรื่องที่ศาล และแม้จะได้รับการประกันตัวออกมายังมีค่าทนายรออยู่อีก

5. เราเรียนรู้ว่าในหยุดราชการคนจนเมื่อถูกจองจำจะไม่อาจได้รับอิสรภาพ ต้องรอจนกว่าราชการจะเปิดทำการ ทำให้เราสงสัยว่าเหตุใดจึงประกันตัวหรือออกจากการจองจำสู่อิสรภาพในวันหยุดราชการไม่ได้

6. เราเรียนรู้ว่าแม้รัฐจะพยายามช่วยเหลือคนจนโดยการตั้งกองทุนยุติธรรม แต่ในทางปฏิบัติเมื่อคนจนถูกดำเนินคดี ก็ยังเป็นภาระของญาติพี่น้องอยู่ดีที่ต้องวิ่งรอกหาหลักทรัพย์มาประกันตัว ดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้น คือต้องไปหาเช่าโฉนดที่ดินมาเพื่อวางประกัน หลังจากนั้นค่อยไปทำเรื่องของยืมเงินจากกองทุนยุติธรรมเพื่อเอาไปวางแทนหรือสลับกับโฉนดที่ดินที่เช่ามา เพราะคนที่ให้เช่าเค้าก็ไม่ค่อยสบายใจนักที่เอาโฉนดเค้ามา บางกรณีได้ยินมาว่าเจ้าของโฉนดเทียวมาถามหรือกดดันญาติทุกวันว่าคดีเสร็จหรือยังอยากได้โฉนดคืน กระทั่งหลายรายทนแรงกดดันไม่ไหวต้องยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีจบๆ ไปจะได้เอาโฉนดไปคืนเจ้าของ

7. เราเรียนรู้ว่าแม้ศาลจะอนุมัติให้ประกันตัวกี่โมงก็ตาม แต่ผู้ต้องหาจะได้ออกจากที่คุมขังเวลาหกโมงเย็นอยู่ดี

สมัยเด็กๆ เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูดเอาไว้ว่า “มีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ให้กินขี้หมายังจะดีกว่า” ตอนนั้นไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่ากินขี้หมามันจะดีกว่ายังไง ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว 

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก อลงกรณ์ อัครแสง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net