โพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองชี้นำคนตอบได้อย่างไร ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากตั้งสมมติฐานให้คนทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องๆหนึ่งเท่ากับศูนย์เหมือนกันหมด เมื่อถูกถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ทุกคนย่อมเลือกคำตอบจาก “คำตอบ” อีกทีหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมการทำโพลที่ดี คำถามและคำตอบต้องไม่ชี้นำ มีความเป็นกลาง มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะคนตอบจะมีธงหรือไม่มีธงในใจ การตั้งคำถามที่ชี้นำ และตัวเลือกที่ชี้นำ จึงส่งผลต่อความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของผลสำรวจได้

ระหว่างวันที่ 14 – 15 มี.ค.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี” โดยกำหนดตัวเลือกออกมามีดังนี้

1. เห็นด้วย เพราะ บ้านเมืองจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งได้ตรวจสอบและควบคุมดูแลการทำงานของรัฐบาลได้

2. ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือให้มีการเลือกตั้งด้วยส่วนหนึ่ง อีกทั้งระยะเวลา 5 ปีนานเกินไป อาจเป็นการสืบทอดอำนาจ และอาจเป็นการนำเอาพรรคพวกตนเองเข้ามา

(และ 3. อื่นๆ, 4. ไม่แน่ใจ)

ที่น่าคิดคือ ทำไมการเห็นด้วยกับ ส.ว.สรรหา จึงเท่ากับ “บ้านเมืองจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” แต่เพียงทางเลือกเดียว การไม่เอา ส.ว สรรหาเท่ากับบ้านเมืองจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงอย่างนั้นหรือ ? ตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้หรือ ? ตัวเลือกเห็นด้วยต่างเต็มไปด้วยข้อความในแง่ดี

ในทางกลับกัน ตัวเลือกที่ไม่เห็นด้วยมีเนื้อหาเป็นเชิงรายละเอียดมากกว่า ตัวเลือกจึงไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่โพลกลับตัดสินใจเลือกเหตุผลบางอย่างที่อธิบายอีกตัวเลือกหนึ่งได้เช่นเดียวกัน ไปอยู่กับตัวเลือกเดียวที่อาจชี้นำให้คนมีแนวโน้มจะเลือกตัวเลือกนั้นๆได้ และผลที่ได้ก็เป็นไปตามคาดว่า 52% เห็นด้วย 40% ไม่เห็นด้วย

ถ้ายังนึงภาพไม่ออกว่าการตั้งคำตอบเหล่านี้มีปัญหาอย่างไร ลองนึกภาพการมีตัวเลือกให้ตอบที่สลับกันว่า:

1. เห็นด้วย เพราะ ส.ว.ควรมาจากการสรรหาโดย คสช. ควรสืบทอดอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีก 5 ปี

2. ไม่เห็นด้วย เพราะ บ้านเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะได้เป็นตัวแทนประชาชนมาทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมดูแลการทำงานของรัฐบาลได้

โอกาสที่โพลเวอร์ชั่นนี้จะชี้นำให้คนตอบไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.สรรหามีค่าเท่ากับเวอร์ชั่นของนิด้าโพลที่ชี้นำให้คนตอบเห็นด้วยนั่นแหละ

ที่น่าตลกไปกว่านั้นการตั้งคำถามลักษณะนี้ เป็นปัญหาที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ในผลสำรวจต่อมาที่อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ คสช. เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.สรรหา ก็เพราะตัวเลือก “เห็นด้วย” ถูกโยงกับข้อความเชิงบวกได้แก่ “มีความรู้ด้านกฎหมาย” “มาดูแลเรื่องคอร์รัปชัน” นั่นเอง ทั้งๆที่ทหารจะละเมิดหลักกฎหมายก็ทำได้ จะคอร์รัปชันก็ทำได้ไม่ต่างกัน

…….

ด้วยเหตุนี้ ผลสำรวจความเห็นของประชาชนจึงต้องยึดหลักตั้งคำถาม-คำตอบโพลที่มีความเป็นกลาง ตัวเลือกมีความเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ทำให้บางตัวเลือกเป็นแง่บวกมากกว่าอีกตัวเลือกหนึ่ง

เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่ส่วนตัวถ้าให้คิดแบบเร็วๆคงได้ทำนองว่า:

คำถาม: คุณคิดว่า ส.ว. ควรมีที่มาอย่างไร

1. มาจากการสรรหาโดย คสช.

2. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

(และ 3. อื่นๆ, 4. ไม่แน่ใจ)

สั้นๆง่ายๆมีความเป็นขั้วตรงข้ามชัดเจน ข้อความไม่มีบวกไม่มีลบ

ปัจจุบัน มีการทำโพลแย่ๆเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Push polls (การทำโพลเพื่อจงใจปล่อยข่าวชี้นำบางอย่างขณะทำการสำรวจ) Hired gun polls (โพลแบบมือปืนรับจ้าง หรือโดนจ้างมาทำเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ชี้นำบางอย่าง)

ไม่ว่าจะมาจากสำนักไหน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านข่าวโพลทุกครั้งก่อนเชื่อ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท