Skip to main content
sharethis

เสวนาที่ มช. โยชิฟูมิ ทามาดะ อาจารย์ ม.เกียวโต นำเสนอที่มาของตุลาการภิวัตน์แบบไทย ปกป้องเสียงข้างน้อย แต่เป็นเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมากกว่าเสียงข้างมาก เขียนเอง-ฉีกเอง ไม่รู้จบ ชี้ ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ของไทยที่ถูกอ้าง ดีกรียังน้อยเมื่อเทียบเพื่อนบ้าน ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่แข็งแรง

[บันทึกเสียง] ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์ อภิปรายโดย โยชิฟูมิ ทามาดะ

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี  
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

ช่วงแรก โยชิฟูมิ ทามาดะ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอหัวข้อ ‘ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์’ โดยกล่าวว่า 

ผมไม่ใช่นักนิติศาสตร์ เป็นนักรัฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายจึงไม่ค่อยมีความรู้ แต่เน้นด้านกำลังมากกว่า อย่างที่ชื่อของเสวนานี้ ศาลไทยได้ขยายอำนาจและบทบาทอย่างมากใน 10 ปีที่ผ่านมา คำถามสำหรับผมวันนี้จึงมี 2 อย่าง 1. ศาลขยายอำนาจได้เพราะเหตุใด ส่วนนี้จะพูดไม่มากเท่าไร 2.มีผลกระทบต่อการเมืองหรือประชาธิปไตยอย่างไร โดยเฉพาะมีผลต่อต้านเผด็จการเสียงข้างมาก หรือเสริมสร้างเผด็จการเสียงข้างน้อย อันไหนมากกว่ากัน

โดยจะนำเสนอผ่านคำศัพท์ทางนิติศาสตร์ได้แก่ Constitutionalism หรือ Judicial Activism ฯลฯ โดยกลุ่มแรก Constitutionalism ไม่เป็นปัญหา ประเทศไหนก็มี แต่กลุ่มที่สอง คือ Judicial Activism หรือ ตุลาการภิวัตน์ เป็นปัญหา และปัญหามีความชัดเจนมาก

หลักการที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ของคำว่า Constitutionalism นั้นแปลว่า ให้ความสำคัญกับการใช้รัฐธรรมนูญในการปกครอง และอาศัยรัฐธรรมนูญมาควบคุม มาจำกัดการใช้อำนาจ ที่มาของการนี้ ยุคแรก ในทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณที่ไหนก็เหมือนกัน กษัตริย์มีอำนาจและมีการใช้รัฐธรรมนูญมาควบคุมกษัตริย์ โดยขุนนางหรือผู้เสียภาษี นี่เป็นเรื่องสมัยก่อน แต่ 100-200 ปีที่ผ่านมา อำนาจอยู่ที่ประชาชนเพราะเป็นประชาธิปไตย หรือผู้แทนประชาชน หรือฝ่ายเสียงข้างมากได้ใช้อำนาจนั้น ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงจะใช้ควบคุมโดยเสียงข้างมากเพื่อปกป้องเสียงข้างน้อย ดังนั้นแนวความคิดประชาธิปไตยสำหรับพวกที่เน้นใช้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบควบคุมตามรัฐธรรมนูญ คือจำกัดบางอย่าง ควบคุมบางอย่าง ตามแนวความคิดนี้ เขาถือกันว่า เสียงข้างมากไม่สำคัญเท่าไร เสียงข้างน้อยก็สำคัญเหมือนกัน ต้องปกป้องให้

ศาลจะตรวจสอบว่ากฎหมายจะชอบตามรัฐธรรมนูญไหม เขาจะตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาระบบประชาธิปไตย เมื่อศาลมีอำนาจตรวจสอบร่างกฎหมายว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แปลว่า ศาลจะเป็นผู้ร่างกฎหมายกลุ่มหนึ่ง คือศาลเสนอกฎหมายไม่ได้ แต่มีอำนาจปฏิเสธร่างกฎหมายบางอย่าง

ในยุคที่สอง อำนาจของศาลในการตรวจสอบกฎหมายนั้น ในช่วงแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองเยอรมันช่วงพรรคนาซีครองอำนาจมีปัญหาหนัก เพราะฉะนั้น จึงมีการคิดว่าต้องการระบบป้องกันเสียงข้างมากทำลายประชาธิปไตย ต้องใช้ศาล ต้องใช้กฎหมาย ต้องใช้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถือเป็นยุคที่สามของประชาธิปไตยทั่วโลก สมัยเราก็จะตรงกับรัฐบาล พล.อ.เปรม รวมทั้งเกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากนั้นก็ที่แอฟริกา และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หลายประเทศก็กลายเป็นประชาธิปไตย สมัยนี้ต้องการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันเสียงข้างมากไปกดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อย จึงต้องป้องกัน หรืออีกอย่างหนึ่งคือป้องกันผู้นำจะทำลายประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ในทีนี้เขาไม่ได้หมายถึงเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจ แต่หมายถึงเสียงข้างน้อยที่อ่อนแอจริงๆ เช่น ชนกลุ่มน้อยด้านภาษา ศาสนา ชนชาติ เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่มีอำนาจ เราต้องปกป้องให้ เพราะฉะนั้นเขาใช้รัฐธรรมนูญ และใช้ศาลรัฐธรรมนูญปกป้อง ไม่ใช่น้อยที่จำนวนเท่านั้น แต่อ่อนแอที่อำนาจด้วย

เมื่อมีประชาธิปไตยแล้วต้องมีการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการเลือกตั้ง แต่ในหลายประเทศที่ใกล้ๆ นี้ เช่นกัมพูชา เป็นตัวอย่างที่ดีที่ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งแรกมักจะไม่ยอมแพ้ต่อไป ใช้วิธีทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจ ไม่ใช่เลิกการเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมแพ้ มาเลเซียและสิงคโปร์ก็เป็นแบบนี้ และไม่ใช่ในอาเซียนหรือเอเชียเท่านั้น ประเทศโลกที่3 มีหลายประเทศก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญต้องปกป้องไม่ให้ผู้นำที่เลวร้ายทำลายระบบประชาธิปไตย

เพื่อการนี้ เขาจะเพิ่มหรือขยายอำนาจของศาล เช่น ตั้งศาลใหม่ กับตั้งองค์กรอิสระต่างๆ อย่างเช่นประเทศไทยทำแบบนั้น อีกอย่างหนึ่งคือร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ ให้ศาลรับฟ้องได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น กำหนดสิทธิต่างๆ ในกฎหมาย และประชาชนจะอาศัยกฎหมายนั้นฟ้องศาลได้ สมัยก่อนฟ้องไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมาย แต่ถ้าเขากำหนดกฎหมายขึ้นมาใหม่ ก็จะฟ้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็น Judicial Activism หรือ ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งศาลจะตัดสินได้แม้ไม่มีกฎหมายอ้างอิง เมืองไทยก็ใช้บางกรณี เอ๊ะ ไม่มีกฎหมาย ตัดสินได้อย่างไร แต่ก็ไม่ใช่เมืองไทยเท่านั้น ก็มีหลายประเทศที่ไม่มีกฎหมาย แต่ศาลก็ตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดได้

บางครั้งเขามองข้ามกฎหมายหรือคำพิพากษาที่มีอยู่เดิม เหมือนเขาสร้างกฎหมายใหม่ กติกาใหม่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเกิดปัญหาสองมาตรฐาน อย่างในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีก่อน มีคนอยากจะให้ถอดถอนอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ศาลบอกไม่ได้ แต่ในปีเดียวกันปลดยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ได้ ศาลเดียวกันแต่ใช้เหตุผลและหลักการไม่เหมือนกัน

เรื่องตุลาการภิวัตน์ กลายเป็นเรื่องที่ศาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องที่เป็นปัญหาการเมือง คือสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีต้องตัดสิน แต่ว่าปัญหาเดียวกัน พอมาเป็นสมัยปัจจุบันกลับไม่ใช่ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ แต่ให้ศาลตัดสิน คือ คนที่ตัดสินนั้นไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้แทนประชาชนแล้ว แต่เป็นศาลมากขึ้น และไม่ใช่ที่เมืองไทยเท่านั้น แต่เกิดหลายประเทศ เดิมเรื่องการคลัง การต่างประเทศ การกระจายรายได้ การป้องกันประเทศ ศาลไม่ยุ่ง แต่ว่า 30 - 40 ปีที่ผ่านมา ศาลหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ที่เมืองเท่านั้น ศาลเริ่มตัดสิน เริ่มแทรกแซงเรื่องเหล่านี้ แต่ว่าจริงไม่จริงไม่ทราบ นักนิติศาสตร์ระบุว่าอย่างน้อยมีเรื่องการกระจายรายได้ที่ศาลที่ไหนไม่เคยแทรกแซง แต่ที่นี่ได้แทรกแซงแล้ว 

อีกเรื่องหนึ่ง ประเพณีการปกครอง เรื่องนี้จะพูดทีหลัง สำหรับคนไทยเรื่องมาตรา 7 ทราบอย่างดี เป็นเรื่องประเพณีการปกครอง คิดว่าหลายท่านได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ฉบับสุดท้ายนี้เขากำหนดไว้ที่ มาตรา 5 ให้หลายองค์กรไม่ใช่ศาลเท่านั้น ตัวแทนฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมกันตัดสินว่าอะไรเป็นประเพณีการปกครอง แต่ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยเมื่อมกราคมกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ระบุไว้ในมาตรา 207 แต่ถูกโจมตีก็แก้ไขมาเป็นมาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด นักวิชาการท่านหนึ่งเขียนว่า "ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปัญหา" แรกๆ อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดไม่มีแล้ว แต่ในขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญยังมีระบุอยู่


 

เรื่องต่อมาคือ ปัญหาสมัยปัจจุบันนี้ ผมพูดอะไรที่ไม่มีประโยชน์มากๆ ก็เสียเวลา ดังนั้นจะไม่อธิบายละเอียด นั่นคือ รัฐบาลทหารไม่มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องกล้าตัดสินอะไรได้ ไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น เรื่องเพิ่มภาษี อย่างในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เขาเพิ่มภาษี แต่สมัยปัจจุบันนี้มีอะไรที่ถือว่าเป็นผลงานเด่นๆ เท่าที่ผมเห็น ไม่มี คือ ทหารเขาทำได้เพราะไม่มีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่ทำ ไม่เหมือนพรรคการเมืองที่ต้องเสนอนโยบาย ไม่อย่างนั้นนักการเมืองไม่กล้าทำ

เช่น คิดว่าคนเชียงใหม่ คนภาคเหนือไม่เห็นด้วยกับผม เรื่องการกระจายอำนาจ ความคิดผมกับคนภาคเหนือไม่เหมือนกัน เรื่องการกระจายอำนาจให้ดีๆ ผมเสนอให้องค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ขึ้น ให้จำนวนน้อยลง แต่ละองค์กรใหญ่ขึ้น ให้สู้กับมหาดไทย อบต. มันสู้ไม่ได้ ยังอยู่ภายใต้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแย่มาก ต้องทำท้องถิ่นให้ใหญ่ขึ้น ที่ผมอ้างตัวเลขเก่าแก่เกือบ 10 ปีก่อน เช่น อปท. ที่เมืองไทยมีนักการเมือง 190,000 คน พนักงานของจริงมีแค่ 160,000 คน มันเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเทียบกับระดับชาติ พวก ส.ส.มีกี่คน ข้าราชการมีกี่คน หรือกรุงเทพมหานคร พวก ส.ก. และ ส.ข. มีกี่คน แล้วเทียบกับพนักงาน กทม. มีกี่คน ซึ่งต้องเสียงบประมาณมากๆ ต้องจ่ายเงินมาก ส.ส. คิดจะปรับปรุงหรือแก้ไขไม่ได้ เพราะจะเสียคะแนน ส่วนทหารก็ทำไม่ได้ เพราะจะหาเสียง ทหารเขาหยุดการเลือกตั้งเท่านั้น เขาเอาใจมหาดไทยตลอด ไม่ได้ทำ น่าเสียดายมากๆ

อีกเรื่องหนึ่ง การปฏิวัติ 2 ปีก่อน เขาอ้างการปฏิรูป กปปส. ก็บอกต้องปฏิรูป และทหารก็รับภาระปฏิรูป แต่ผมยังไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร ท่านเข้าใจไหมอะไรคือการปฏิรูป การปฏิรูปยังไม่เสร็จต้องทำต่อ ปัจจุบันนี้ยังพูดอยู่ใช่ไหม เขาไม่ยอมหยุด ต้องปฏิรูปต่อ ปฏิรูปอะไรเพื่ออย่างไร แก้ไขอย่างไร ไม่รู้เรื่อง เข้าใจหรือไม่ว่าอะไรคือการปฏิรูป ปฏิรูปทุกวันนี้ยังไม่เสร็จ บอกว่าต้องทำต่อ ถามว่าปฏิรูปอะไร เพื่ออะไร อย่างไร ไม่รู้เลย ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เขียนว่ามันเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง เป็นการอ้างปฏิรูปเพื่อหากิน ไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมด แต่ว่ามีบางคนบางส่วนที่หากินกับการปฏิรูป และรัฐบาลปัจจุบันนี้ก็ใช่ เราไม่ทราบว่าปลายทางของการปฏิรูปจะอยู่ที่ไหน การทำให้ทักษิณหายไปเป็นปลายทางหรือเปล่า ก็คงเป็นไปไม่ได้ มันแปลก ไม่รู้เรื่อง แต่ก็อ้างว่าปฏิรูปตลอด (อ่านที่: พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, http://prachatai.org/journal/2014/01/51218, 17 ม.ค. 2557)

รัฐบาลพูดเรื่องปฏิรูป แต่ไม่เห็นการปฏิรูป แต่ดูจะสนใจเรื่องอำนาจมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญในรัฐบาลมักบอกว่า ปัญหาต่างๆ มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจศาลกับองค์กรอิสระเพื่อเสริมตุลาการภิวัตน์ แต่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่ชอบการปกครองโดยเสียงข้างมาก เมื่อสิบปีก่อนเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องการเลือกตั้ง หรือต่อต้านเสียงข้างมากเพราะการเมืองยังไม่มีความหมาย การเลือกตั้งมีผลน้อย เพราะฉะนั้นไม่ต้องสนใจ แต่เมื่อการเลือกตั้งมีผลจริง จึงเริ่มต่อต้าน

มีการวิจารณ์เสียงข้างมาก แต่ขอตั้งคำถามว่า ความผิดต่างๆ อยู่ที่เสียงข้างมากหรือเปล่า เช่น มีการสร้างระบบการปกครองที่ตัวเองจะได้เปรียบหรือไม่ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ นี่เป็นฝีมือของเสียงข้างมากหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะคนที่สร้างหรือร่างรัฐธรรมนูญมีแต่เสียงข้างน้อยเท่านั้น คือเสียงข้างน้อยสร้างเอง ทำลายเอง แล้วก็สร้างใหม่เองอีก โดยมีเป้าหมายอย่างเดียวเพื่อรักษาอำนาจ มันไม่ดีเท่าไหร่

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ เป็นร่างที่จะต่อต้านเสียงข้างมาก เช่นอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า กำหนดระบบการเลือกตั้งที่แปลกมาก ไม่มีที่ไหนในโลก พิเศษจริงๆ แต่งตั้งรัฐสภาให้มีอำนาจพิเศษ ถ้าเทียบกับรัฐบาลทหารใกล้ๆ กันนี้เช่น พม่า มีการแต่งตั้งทหารเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาถึง 1 ใน 4 อินโดนีเซียในสมัยซูฮาร์โต มีการตั้งพรรคเองและมีการแต่งตั้งทหารเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ในปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลซูฮาร์โต เกือบ 70% เป็นของพวกเขา และร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีการแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เทียบกันของไทย แต่งตั้งทหารมากกว่าพม่าอีก เป็นรัฐบาลทหารจริงๆ ต่อไป ที่พูดอย่างนี้เพราะประเทศตะวันตกด่าพม่าว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารมาตลอด แต่ต่อไปนี้ ถ้าดูเฉพาะจำนวนสมาชิกรัฐสภา ประเทศไทยสูงกว่าจึงอาจจะถูกด่าว่าเป็นรัฐบาลทหาร

เขาจะสถาปนาเผด็จการเสียงข้างน้อย แต่เขาอ้างว่าต้องต่อต้านเผด็จการเสียงข้างมาก ดังนั้นต้องคิดว่าในประเทศไทยมีเผด็จการเสียงข้างมากจริงหรือเปล่า อาจจะมีบ้าง แต่ถ้าเทียบกับที่อื่น น้อยกว่ามาก เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ระบบการเลือกตั้งแย่มาก ประเทศไทยดีกว่าหลายเท่า ไม่ใช่ว่าไทยไม่มีเผด็จการเสียงข้างมากเลย แต่มีน้อย  แต่เขาอ้างว่าเผด็จการเสียงข้างมากมีปัญหา จึงเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะตรวจสอบหรือควบคุมไม่ได้ สุดท้าย คือเผด็จการเสียงข้างน้อยน่ากลัวกว่า

ร่างปัจจุบันจะเพิ่มอำนาจฝ่ายตุลาการมากขึ้นมาก ถามว่ามันถูกหรือไม่ อย่างที่เมื่อสักครู่พูดถึงสมัยก่อน หรือในประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงแล้ว เขาต้องปกป้องระบบจากเสียงข้างมาก เช่นในยุโรป แต่ประชาธิปไตยของไทยยังไม่มั่นคง ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น การปกป้องระบบจากเสียงข้างมาก ไม่สำคัญเท่าไร ประเทศที่กำลังเดินทางสู่ประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกจัดการเลือกตั้งต่อไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยศาลต้องมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้โมฆะ ไม่ใช่ไม่ให้จัด ต้องให้จัด นี่เป็นหน้าที่ของศาลในประเทศที่กำลังจะกลายเป็นประชาธิปไตย

ปัจจุบันนี้มีการอาศัยอำนาจตุลาการเล่นเกมการเมือง เช่น ถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการฉีกรัฐธรรมนูญ อันไหนร้ายกว่ากัน ในที่อื่นการฉีกรัฐธรรมนูญร้ายกว่าแน่นอน แต่ที่นี่ไม่ใช่ ศาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้ง บอกว่าการแก้ไขมันร้ายกว่า และพยายามจะถอดถอน แปลกมาก ไม่ธรรมดา (ผู้ฟังหัวเราะ)

เขากำลังจะสร้างเผด็จการเสียงข้างน้อย สถาบันที่จะรับใช้หรือมีบทบาทเพื่อสถาปนาและรักษาระบบนี้ก็มีแต่ทหารและศาล ทหารของไทย ถ้าเทียบกับที่อื่น มีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีกลับไม่มีอำนาจโยกย้ายทหาร ตั้งแต่สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ เหมือนเป็นสถาบันที่เป็นอิสระ ไม่เหมือนกับที่อื่น ศาล ก็เป็นอิสระ อย่างที่ทราบกัน สุดท้าย มีการใช้ศาลเพื่อรักษาอำนาจ

สุดท้ายจะเข้าสู่ระบบเผด็จการเสียงข้างน้อย พูดแบบนักรัฐศาสตร์คือ เป็นเผด็จการแบบมีการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งแต่การเลือกตั้งไม่มีความหมาย รัฐบาลปัจจุบันคิดอย่างนั้น เพราะมั่นใจว่าไม่ค่อยมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือบริหารราชการแผ่นดิน จึงยินดีให้จัด ซึ่งถึงจะมีการเลือกตั้ง แต่ไร้สาระ

หากดูแผนผังความเป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยสีเขียวคือเป็นประชาธิปไตย สีเหลือง คือประชาธิปไตยครึ่งใบ  สีน้ำเงินคือไม่ใช่ประชาธิปไตย ไทยแรกๆ เป็นสีเหลือง ในสมัยบรรหาร ชวลิต 5 ปีถัดมา สมัยชวน เป็นสีเขียว สมัยทักษิณ เป็นสีเขียว 5 ปีก่อน เป็นสีเหลือง เพราะเกิดรัฐประหาร และตอนนี้เป็นสีน้ำเงินเพราะรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่ใช่ประชาธิปไตย เท่ากับพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน

อีกผังหนึ่ง นักรัฐศาสตร์จัดความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ไทยเป็นสีน้ำเงินอ่อน คือประชาธิปไตยพอสมควร แต่พอปี 57 ความเป็นประชาธิปไตยจะลงอีกแน่นอน

บริษัทญี่ปุ่น กับ ประชาธิปไตยไทย

คนไทยหลายท่านคงทราบว่าบริษัทญี่ปุ่นมีบทบาทในอุตสาหกรรมไทยสูงมาก หากโรงงานญี่ปุ่นถอนออกไป เศรษฐกิจไทยพังแน่นอน ผมอยากจะให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย เพื่อชักชวนญี่ปุ่นมาลงทุนต่อ ตอนนี้ยังชะลออยู่ คิดว่าเพราะเหตุผลเรื่องการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี เทียบกันระหว่าง 4 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แรกๆ ไทยก็แย่ แต่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลเปรมที่รวยขึ้นมากๆ  เพราะทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย จำนวนการลงทุนสะสมของญี่ปุ่น ไทยเป็นอันดับ 6 ในโลก เทียบกับประเทศในอาเซียน มีการลงทุนในไทยมากกว่าสิงคโปร์

คนญี่ปุ่นอาศัยในไทยมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ไม่เหมือนในสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร ที่คนญี่ปุ่นไปเรียนหนังสือ หมายความว่าบริษัทโรงงานญี่ปุ่นมีมากในไทย

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีน้ำท่วมใหญ่ โรงงานญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก จำนวนเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้กับบริษัทต่างๆ ในไทย มากกว่าที่โรงงานที่เกิดแผ่นดินไหวในอีสานของญี่ปุ่นช่วงปีเดียวกันได้ แปลว่า โรงงานในไทยมีมากกว่าโรงงานในอีสานของญี่ปุ่น ถ้าการเมืองไทยไม่ดี อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นไม่ลงทุนเพิ่ม ไปพม่า เวียดนาม บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นการเมืองต้องดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เหมือนกับสหรัฐและอียูที่การเมืองไม่ดีก็ไม่ว่าอะไร แต่บริษัทญี่ปุ่นจะสนใจเพราะเขาต้องดูว่าตั้งโรงงานแล้วจะส่งออกไปสหรัฐกับอียูได้ไหม ตอนอยู่พม่าส่งออกลำบากมาก ญี่ปุ่นจึงไม่ตั้งโรงงานที่พม่า วันนี้ถ้าผลิตสินค้นในไทยแล้วส่งออกยาก บริษัทหรือโรงงานก็จะหนีไปเพราะตั้งโรงงานที่นี่แล้วไม่มีประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net