Skip to main content
sharethis

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 แห่งสุพรรณบุรี บรรหาร ศิลปอาชา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเช้ามืดวันนี้แล้วหลังอาการภูมิแพ้หอบหืดกำเริบ ญาติจะเคลื่อนศพไปที่วัดเทพศิรินทร์ ปิดตำนานปลาไหลสุพรรณ ผู้เริ่มเส้นทางการเมืองกับพรรคชาติไทยหลังประสบความสำเร็จทางธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - รวมทั้งขายคลอรีนให้การประปาส่วนภูมิภาค เคยเป็นรัฐมนตรีและร่วมรัฐบาลทุกประเภทตั้งแต่รัฐบาลเปรม - สุจินดา จนถึงเข้าร่วมรัฐบาลทักษิณ-สมัคร และเว้นวรรคหลังยุบพรรคปี 51

ตลอดชีวิตการเมืองมีการก่อสร้าง และโครงการพัฒนาหลายอย่างที่สุพรรณบุรี จนถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด หลังพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งปี 2538 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง กรกฎาคม 38 ถึง พฤศจิกายน 39 ก่อนยุบสภาเพราะถูกประชาธิปัตย์ขุดบรรพบุรุษมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในยุคหลังเคยร่วมรัฐบาลทักษิณ 1 ก่อนเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลทักษิณ 2 เคยร่วมรัฐบาลสมัคร-สมชาย ก่อนถูกยุบพรรคชาติไทย เมื่อตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาก็ย้ายมาเข้าร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่หลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคชาติไทยพัฒนาในช่วงที่บรรหารเว้นวรรคทางการเมือง ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และเมื่อพ้นโทษตัดสิทธิการเมือง ในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 บรรหารเองแสดงความตั้งใจที่จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน ขณะที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้แสดงความเห็นทางการเมืองเป็นครั้งสุดท้ายเสนอให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ภาพถ่ายในปี 2552 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

รายงานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ระบุว่า เมื่อเวลา 04.42 น. นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ด้วยอาการสงบในวัย 83 ปี 8 เดือน หลังเข้ารับการรักษาตัวเนื่องจากอาการภูมิแพ้ หอบหืด กำเริบ ที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งหลังการเข้ารักษาตัว แพทย์ได้นำตัวเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู หอผู้ป่วยวิกฤติ เนื่องจากต้องให้ยาหัวใจ ยาทุกอย่างจะช่วยให้หลอดลมคลายตัว เพื่อที่จะสามารถให้ออกซิเจนเข้าไปได้ และอาการอยู่ในสภาวะวิกฤติมาตั้งแต่วันแรก ทั้งนี้ นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามทางญาติจะมีการเคลื่อนศพไปวัดเทพศิรินทร์ในวันเดียวกัน ท่ามกลางความเสียใจของคนในครอบครัว และคนในแวดวงการเมือง

 

เกิดที่สุพรรณ ประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจจึงเริ่มการเมืองกับพรรคชาติไทย

สำหรับนายบรรหาร ศิลปอาชา ตามที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ระบุว่า เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 บางแหล่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม ปีเดียวกัน แต่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ นายบรรหารมีชื่อภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วด้วยว่า เบ๊เต็กเซียง (馬德祥)

สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา

นายบรรหารจบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย ต่อมาเมื่อนายบรรหารเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

 

เป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่สมัยเปรม-ชาติชาย-และ รสช./สุจินดา

สำหรับชีวิตทางการเมือง เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ต่อมาบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ชวนเข้าร่วมพรรคชาติไทยนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517 เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2518 ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกในการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 โดยในครั้งนั้นพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ได้ 28 ที่นั่ง โดยบรรหารชนะเลือกตั้งด้วยที่ จ.สุพรรณบุรี และชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ใน จ.สุพรรณบุรี มาโดยตลอด

จากข้อมูลของศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรหารเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531 - 9 มกราคม 2533)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (มกราคม 2533 - ธันวาคม 2533)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม 2533 - 23 กุมภาพันธ์ 2534)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร (7 เมษายน 2535 - 9 มิถุนายน 2535)

เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

ประวัติการเข้าประชุมสภา ปี 2544  ลา  6  ครั้ง ขาด 1 ครั้ง  ปี 2545  ลา  6  ครั้ง  ปี 2546  ลา 3  ครั้ง  ปี 2547  ลา 15 ครั้ง ปี 2548  ลา 10  ครั้ง

 

เป็นนายกรัฐมนตรีปี 38-39 แล้วถูกพรรคประชาธิปัตย์ขุดบรรพบุรุษอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทั้งนี้หลังพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี 2538 และได้ตั้งรัฐบาลผสม ในช่วงที่บรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี เคยถูกพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายกล่าวหา ประกอบด้วย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อภิปรายนายบรรหาร ลอกวิทยานิพนธ์ปริญญาโทนิติศาสตร์ โดยไปลอกงานวิจัยของสถาบันดำรงราชานุภาพ โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เทียบเชิงอรรถของวิทยานิพนธ์กับงานดังกล่าว ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อภิปรายว่านายบรรหาร คอรัปชั่นเงินกู้สร้างสนามบินในพม่า ร่วมทั้งอภิปรายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราเกซ สักเสนา กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ

นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อภิปรายกล่าวว่า นายบรรหารคือเจ้าของบริษัทสี่แสงการโยธา ตัวจริง คอรัปชั่นกรมโยธาธิการ และกรมทางหลวง ดึงงบประมาณทั้งแผ่นดิน ไปที่สุพรรณบุรีจังหวัดเดียว ซื้อเสาไฟส่องสว่างข้างถนนคุณภาพเดียวกับเสาไฟส่องสว่างสนามกีฬา ที่มีราคาสูงกว่าหลายสิบเท่า ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ปล่อยข่าวใหญ่ พรรคชาติไทยทุจริตซื้อเรือดำน้ำ คอคคูมส์ ของสวีเดน ในสมัยนายบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดเป็นเรื่องที่กล่าวหานายบรรหารในประเด็นเรื่องสัญชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายว่านายบรรหาร มีวันเกิดสองวัน แจ้งเท็จวันเกิด คือ 19 กรกฎาคม และ 19 สิงหาคม นายบรรหารเพิ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลว่า "ศิลปอาชา" เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2497 ก่อนหน้านั้นใช้นามสกุล "แซ่เบ๊" ขณะที่นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กล่าวหาว่าบรรหารไม่ได้เกิดในเมืองไทย แต่เกิดที่เมืองจีน โดยอ้างว่าบิดานายบรรหารถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพื่อกล่าวหาว่านายบรรหารไม่ได้มีสัญชาติไทย ทั้งนี้บรรหารได้นำใบ สด.1 ซึ่งออกวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 มาแสดงต่อสภาเพื่อชี้แจงด้วย

 

"วังน้ำเย็น" ซบ "ความหวังใหม่" หลังเลือกตั้งชาติไทยเป็นฝ่ายค้านร่วมกับประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ มี ส.ส.พรรคชาติไทย "กลุ่มวังน้ำเย็น" นำโดยนายเสนาะ เทียนทอง เดิมกลุ่มนี้เคยมีบทบาทสนับสนุนนายบรรหาร แต่ต่อมากลุ่มวังน้ำเย็นกดดันให้นายบรรหาร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยสนับสนุนให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยก่อนลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนายบรรหารว่าจะลงมติไว้วางใจให้ แต่นายบรรหารต้องลาออก อย่างไรก็ตามหลังผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหารกลับลำเป็นการยุบสภาแทน ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539

โดยหลังยุบสภา ส.ส. "กลุ่มวังน้ำเย็น" ได้ย้ายไปอยู่กับพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต แทน โดยผลการเลือกตั้ง 17 พ.ย. 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ ส.ส. มากที่สุด ได้จัดตั้งรัฐบาลผสม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยชวน หลีกภัย ร่วมเป็นฝ่ายค้านกับพรรคชาติไทย นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา

ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์นำโดยชวน หลีกภัย ตั้งรัฐบาล พรรคชาติไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อมีการเลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยนำโดยทักษิณ ชินวัตรชนะการเลือกตั้ง โดยพรรคชาติไทยได้เข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

 

เคยร่วมรัฐบาลทักษิณ 1 ฝ่ายค้านทักษิณ 1 ร่วมรัฐบาลสมัคร-สมชาย ก่อนถูกยุบพรรคชาติไทย

สำหรับการเข้าร่วมรัฐบาลในสมัยหลังนั้น ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พรรคชาติไทยซึ่งใช้สโลแกนหาเสียงว่า "สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล" บรรหารในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต แทนการลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับแรก แบบพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงหากผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ซึ่งจะทำให้ไม่ได้จำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งปี 2548 บรรหาร ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่จะขอร่วมรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ขณะที่ในช่วงวิกฤตทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550 พรรคชาติไทยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และเมื่อมีการยุบสภา พรรคชาติไทยร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

ก่อนการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ไม่นาน นายบรรหารได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่อคำถามที่ว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายบรรหารตอบว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง" ซึ่งนายบรรหารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่สาธารณะก็ตีความว่าหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่เมื่อหลังการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่านายบรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคได้ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมนายบรรหารเป็นการใหญ่

ต่อมาในคำตัดสินยุบพรรคการเมือง 2 ธันวาคม 2551 นอกจากพรรคพลังประชาชนแล้ว ยังมีการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยด้วย ทำให้นายบรรหารซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย รวมทั้งลูกๆ คือ นายวราวุธและนางสาวกัญจนา ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี

โดยหลังจากนั้นพรรคชาติไทยจดทะเบียนพรรคใหม่เป็นพรรคชาติไทยพัฒนา มีนายชุมพล ศิลปอาชา น้องชายนายบรรหารเป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งเมื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.พ. 2554 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทย

หลังบรรหารพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557  เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 1 อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และเกิดรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557 ในเวลาต่อมา

อนึ่งเมื่อ 13 เมษายน 2559 บรรหาร ศิลปอาชา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระบุว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะมีการลงประชามติ 7 สิงหาคม นี้

“ผมอยากให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามที่นายกฯ พูดมา เลือกตั้งไปเถอะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็ได้ ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียเลยปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้น เดี๋ยวก็ไปร่างขึ้นมาใหม่ถ้าแย่ยิ่งกว่าเดิมก็ยิ่งจะไปกันใหญ่เลยทีนี้ แล้วปี 2560 ก็ไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าต้องยืดไปอีกกว่านี้คงไม่ไหวแล้ว ก็ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ผู้ใหญ่ในคสช. บอกว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วนี่นา เราก็ถือคำมั่นสัญญาของท่านเอาไว้ เพราะเห็นว่าคำมั่นสัญญานั้นสำคัญ ผมมั่นใจว่าไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง คำมั่นของผู้ใหญ่นั้นสำคัญมาก สัจจะนี้สำคัญผมคิดว่าไม่เลื่อนเลือกตั้งเด็ดขาด” บรรหารแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นครั้งสุดท้าย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net