Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้สักพักละครับ วันนี้ได้มีโอกาสนั่งรวบรวมความคิด และได้ทำการศึกษาข้อมูลส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับสถานะของ “เกย์” ในกองทัพ ความคิดที่จะเขียนในหัวข้อที่มีความละเอียดอ่อนนี้ ได้แรงบันดาลใจมากสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพไทยหลายครั้งหลายหน ล่าสุด ได้มีการเผยแพร่การฝึกซ้อมของทหารไทยที่ดูแปลกพิลึก หลายคนมองว่าป่าเถื่อน โหดร้าย (แบบที่มีการทารุณกรรมและการลงโทษจนเสียชีวิตก็มี) และแฝงไปด้วยนัยยะของ “เพศ” อยู่มาก ดังเช่นภาพที่ปรากฏของทหารไทยแก้ผ้าล่อนจ้อน นอนทับซ้อนกัน ลูบคลึง จับ ดม อวัยวะ “ต้องห้าม” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า private parts ความคิดเบื้องต้นจากฝ่ายกองทัพอาจต้องการสื่อว่า นี่การฝึกแบบชายชาติทหาร ที่ต้องเอาความอดทน ความหน้าด้านเข้าไว้ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ในส่วนมุมมองของสาธารณชนนั้น มันเป็นเรื่องอุจาด และไม่มีกองทัพในโลกพัฒนาแล้วที่ไหนที่จะมีการฝึกแบบพิศดารแบบนี้ แต่สำหรับผม การฝึกแบบนั้น มันซ้อนเร้นความจริงที่อัปลักษณ์ (ugly truths) บางอย่างของสังคมไทย เรามาเปิดดูความอัปลักษณ์นั้นกัน

ก่อนอื่น ที่ผมท้าวความเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องเกย์ในกองทัพนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับการฝึกซ้อมพิเรนทร์แบบนั้น ผมขอกล่าวสั้นๆ ณ ที่นี่ก่อนว่า การฝึกซ้อมที่ใช้เพศเป็นจุด focus นั้น ต้องการที่ชี้ความเป็นใหญ่ของเพศชาย (male chauvinism) และในบริบทของสังคมไทยนั้น เป็นที่น่าเศร้า ที่แม้ว่ากลุ่มเกย์จะสามารถใช้ชีวิตทั่วไปอย่างเสรีเยี่ยง “ปกติชน” แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการวิเคราะห์เพศสภาพในกรอบศีลธรรมแล้ว กลุ่มเกย์ไทยแทบจะไม่มีที่ยืน เช่นเดียวกันกับการเป็นเกย์ในกองทัพ แต่เรื่องนี้มันซับซ้อนกว่านั้น เพราะมีนายพลหลายคนในไทยที่ต้องจมอยู่ในข่าวลือเกี่ยวกับ sexual orientation ของพวกเขา ตั้งแต่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไปถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่บุคคลเหล่านี้สามารถปีนบันไดแห่งความสำเร็จในกองทัพได้ ซึ่งมันมีปัจจัยหลายอย่างที่อธิบายถึงความสำเร็จเหล่านั้น ที่ผมไม่ขอพูดในบทความนี้

กลับมาเรื่องเกย์ในกองทัพครับ ขอยกตัวอย่างกรณีที่เห็นในสหรัฐอเมริกาที่มีการถกเถียงและอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จนในยุคปัจจุบัน มีความพยายามของภาครัฐในการสร้างความเท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างกลุ่ม heterosexuals และกลุ่ม homosexuals ในกองทัพ เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ขอให้ผู้ที่ต้องการเข้าสมัครเข้าเป็นทหารได้ระบุสถานะทางเพศ เพื่อที่กองทัพจะสามารถให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทหารเกย์ได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อมูลนี้จะไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหรือแม้แต่ต่อผู้บังคับบัญชาอย่างใด โดยกองทัพสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลมีความต้องการสนับสนุนความหลากหลายของผู้เข้ารับราชการ แต่ผู้ที่สมัครก็ยังมีสิทธิที่จะไม่ระบุสถานะทางเพศของตัวเอง เลือกได้ครับ จะเอาอย่างไรก็ว่ามา

ระบบใหม่นี้ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงในกองทัพสหรัฐฯ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าปี ค.ศ. 2000 นั้น เกย์ยังเป็นกลุ่มต้องห้ามในการสมัครเป็นทหารด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีรายงานอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับ ความมีอคติ การใช้ความรุนแรงและความก้าวร้าวต่อกลุ่มเกย์ในกองทัพในยุคสมัยนั้น จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในชั้นศาล ที่ในที่สุด กองทัพต้องชำระค่าเสียหายต่อผู้ที่เกย์ถูกทำทารุณกรรมในกองทัพหลายคน แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นกำลังหายไปจากกองทัพอเมริกัน แม้จะไม่หายไปหมดเสียทีเดียว แต่ก็นับว่า นโยบายของกองทัพสหรัฐฯ ได้พัฒนาไปมาก

ในกรณีของไทย นอกเหนือไปจากดีเบตเรื่องเราควรมีการเกณฑ์ทหารอีกไหม ซึ่งหลายคนคงทราบจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยของผมแล้ว ผมไม่ขอพูดถึงอีก แต่ในทุกฤดูการเกณฑ์ทหาร เราจะพบเห็นเกย์ไทยปรากฏตัวเพื่อรอคิวจับใบดำใบแดง บางคนแต่งตัวมาเป็นผู้หญิงสวยและน่ารักด้วยซ้ำไป แม้หลายคนจะมองว่าเป็นความกล้าหาญในส่วนหนึ่งของน้องกลุ่มนี้ แต่ทัศนคติของกองทัพยังไม่เปลี่ยน ยังมองว่า กลุ่มคนพวกนี้ไม่มีความเหมาะสมในการเกณฑ์ทหารเพราะไม่ได้เป็น “ชายแท้” (และแม้ในความเป็นจริง น้องๆ เหล่านี้ ไม่ว่าเกย์หรือไม่ ก็อาจไม่อยากเป็นทหารด้วยซ้ำ)

ในกรณีการจับใบดำใบแดงนั้น ผมได้เห็นคลิปมากมายที่ปรากฏในโซเชี่ยลมีเดีย ทหารผู้ใหญ่ที่คุมกระบวนการจับใบดำใบแดง ส่วนหนึ่งมีปฏิกิริยาล้อเลียนน้องๆ ที่เป็นเกย์ ที่อาจมีจริตจะก้าน กระตุ้งกระติ้ง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หลายคนอาจมองว่าน่ารัก น่าเอ็นดู แต่มันสะท้อนถึงความจริงที่อัปลักษณ์ที่มีอยู่ในสังคมไทยที่ผมเอ่ยข้างต้น

ความอัปลักษณ์นั้นคือ ความเป็นใหญ่ของเพศผู้ เป็นสังคมที่ยังมองเพศหญิงว่าอ่อนแอ ส่วนกลุ่มเกย์นั้น ยิ่งถูกมองแบบ cynical มากกว่านั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีส่วนทำให้ทัศนคติเหยียดเพศในกองทัพมันฝังรากลึกมากขึ้น (institutionalization of sexism) ไม่ว่าคุณประยุทธ์จะกล่าวถึงบทบาทภรรยาที่ต้องอยู่บ้าน เผ้าบ้าน เลี้ยงลูก หรือแม้แต่แนะนำวิธีแต่งการของผู้หญิงไทย ว่าต้องแต่งตัวให้เหมือนลูกกวาดที่ถูกห่อหุ้มและชวนให้น่าแกะชิม ความคิดจากผู้นำระดับสูงแบบนี้ ส่งผลต่อข้าราชการทหารในระดับล่าง จึงไม่เป็นที่แปลกในที่การฝึกซ้อมของทหารไทยจึงมี element ของเซ็กส์อย่างมากและรุนแรง เพื่อที่จะให้ตรงกับคำนิยามแบบ traditional ของกองทัพ ที่ทหารไทยทุกคนต้องมีความดิบ ดุ เถื่อน เป็นแมน เป็นผู้ชาย 100% ทำเรื่องยาก ทำงานหนัก ปกป้องชาติ ไม่มีใครทำได้นอกจากชายชาติทหารเท่านั้น

วาทกรรมเช่นนั้นเป็นการสร้าง หรือแม้แต่ขยายพื้นที่ของเพศชายในสังคมไทย หรือเจาะจงลงไปกว่านั้น ทหารแมนๆ ของไทย ในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างไม่หยุดยั้ง บนรากฐานของความคิดเดียวกัน ที่ว่า  ไม่มีใครแก้ไขปัญหาทางการเมืองไทยได้ นอกจากชายชาติทหารที่พร้อมทำงานหนักเพื่อผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น

แต่นั้นก็เป็นความคิดที่แคบ สังคมสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า เกย์ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด พลเรือนหรือทหาร มีความสามารถเท่าเทียมกัน จริงๆ แล้ว ผมไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะมันเป็น universal truth แต่ผมก็ไม่ได้หมายว่า สังคมสหรัฐฯ มีความสมบูรณ์แบบ แต่ต้องยอมรับว่า ในระดับรัฐ การปกป้องสิทธิเกย์ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ในกรณีของไทยนั้น ผมเชื่อว่า ในการดำรงชีวิตประจำวัน เกย์ไทยอาจไม่รู้สึกถึงอคติอะไรมาก เมื่อเราเดินผ่านสีลมซอย 2 หรือซอย 4 เรากลับเห็นว่า เกย์ไทยมีความสุขดี สมกับคำแปลของ gay ที่แปลว่า happy

แต่ในระดับการยอมรับทางสังคมอย่างเป็นทางการ สวัสดิการทางภาครัฐ มุมมองที่มีต่อเกย์จากกองทัพ ทัศนคติในการฝึกของทหารไทย เกือบเรียกได้ว่า การเหยียดเกย์กลายมาเป็นเรื่องปกติ นอกไปจากนี้ สำหรับคนที่มองภาพการฝึกซ้อมของทหารไทยที่เห็นว่าอุจาด พิเรนทร์ พวกคุณก็กำลังมองผ่านเลนของการแอนตี้เกย์โดยที่คุณไม่รู้ตัว เพราะในความเป็นจริง การชื่นชม สัมผัส อวัยวะส่วนตัวระหว่างคนเพศเดียวกันนั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม น่า celebrate ไม่น้อยไปกว่าการสัมผัสต่อกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงครับ เพียงแต่ควรทำในที่รโหฐานเท่านั้น




เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน  รศ. ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นอาจารย์ประจำอยู่ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net