เอฟทีเอวอทช์ จี้ ก.พาณิชย์แจง หวั่นปั้นข้อมูลเชียร์ TPP

เอฟทีเอวอทช์ จี้ ก.พาณิชย์แจง หวั่นปั้นข้อมูลเชียร์ TPP ชี้ฟังความจากสหรัฐฯข้างเดียว จี้เปิดงานวิจัยของสถาบัน CP เพื่อความโปร่งใส

26 เม.ย. 2559 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำข้อดีข้อเสียการเข้าร่วม TPP ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเป็นประธานในวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.นี้

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อมูลที่เป็นกลางเข้าสู่ที่ประชุม กนศ.หรือไม่

"กระทรวงพาณิชย์ยกขบวนไปฟังคำอธิบายในเนื้อหาจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) ทั้งที่หากดูจากคำแถลงของยูเอสทีอาร์หลังการเจรจาสิ้นสุดก็จะพบว่า พูดความจริงครึ่งเดียว เน้นแต่ส่วนดี บางส่วนบิดเบือนความเป็นจริง เช่น การเข้าถึงยาที่อ้างว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อเท็จจริงการเจรจาต่อรองจัดซื้อยาหรือนำยาเข้าสู่ระบบหลักประกันทำไม่ได้ การปล่อยให้เอกชนฟ้องร้องล้มนโยบายรัฐยังสามารถทำได้ มีข้อจำกัดเพียงการควบคุมยาสูบ แต่จากกรณีที่ออสเตรเลียถูกฟ้อง อุตฯยาสูบก็บิดฟ้องประเด็นเครื่องหมายการค้าซึ่งยังคงทำได้ เนื้อหา TPP มีความซับซ้อนมาก การฟังคำอธิบายจากยูเอสทีอาร์โดยไม่ฟังข้อสังเกตจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมทั่วโลก สุดท้าย กนศ.จะได้ข้อสรุปที่ไม่มีคุณภาพจากกระทรวงพาณิชย์"

ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอทช์ยังตั้งข้อสังเกตที่จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ยอมเผยแพร่งานวิจัยที่จ้างสถาบันปัญญาภิวัฒน์และ ITD ไปจัดทำ โดยอ้างว่า ยังไม่มีการตรวจรับ ทีมวิจัยยังต้องแก้ไขงานวิจัย แต่กระทรวงพาณิชย์กลับอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยนี้โดยตลอดว่า ไทยจะได้ประโยชน์ TPP

"กระทรวงพาณิชย์ต้องเผยแพร่งานวิจัยนี้ต่อสาธารณะเพื่อให้นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สอบทาน เพื่อความถูกต้องของงานวิจัยและลดข้อกังขาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ หน่วยงานที่รับวิจัยแต่ก็เป็นสถาบันในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สนับสนุน TPP"

ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอทช์ ยังชี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจยังไม่มีข้อเสนอถึงการรองรับผลกระทบของ TPP ต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ และกระทบกับยุทธศาสตร์ 20 ปีเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม, การแก้ไขปัญหาความยากจน และผลกระทบกับเกษตรกรและผู้บริโภคจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และสินค้าจีเอ็มโอซึ่งจะกระทบกับยุทธศาสตร์การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงของไทยแน่ๆ

กรรณิการ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่เมื่อเช้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์บอกว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่าถ้าไทยอยากเข้าร่วม TPP ให้แก้ระเบียบกฎหมายให้พร้อมนั้น ขอไทยอย่าเสียค่าโง่ตาม เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าชาติไหนในประเทศสมาชิก TPP จะแก้กฎหมาย เพราะมีความไม่แน่นอนสูงมาก

"มาเลเซียไม่แก้กฎหมาย จนกว่าจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ, ญี่ปุ่นเลื่อนให้สัตยาบันจากเดิมกำหนดใน มิ.ย. อย่างไม่มีกำหนด เพราะเหตุแผ่นดินไหว ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา จะยังไม่พิจารณาจนกว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่และไม่มีผู้สมัครคนใดกล้าสนับสนุน TPP อย่างเป็นทางการเลย เพราะอย่าเสียค่าโง่ทำตามที่ USTR บอก"

ทางด้าน รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาผลกระทบของ Global Supply Chain จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีต่ออุตสาหกรรมไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ชี้ว่า จากการศึกษาข้อมูลผลประโยชน์ที่ไทยคาดว่าจะได้จาก TPP อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ซับซ้อน และแม้ประเทศไทยจะไม่เข้าร่วม TPP อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่กระทบ และเชื่อญี่ปุ่นอยากได้กลไกระงับข้อพิพาทเฉพาะ

“กฎแหล่งกำเนิดสินค้าบางประเภทก็รุนแรงขนาดที่ผู้ประกอบการไม่ทำตาม ไม่ใช่สิทธิพิเศษทางภาษีที่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มที่จะไปเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อให้ได้สิทธิห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจไม่คุ้ม มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่เข้า TPP แล้ว supply chain จะต้องเปลี่ยนเสมอไป มันอาจจะเปลี่ยน แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะเป็นผลจาก TPP เพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ”

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวด้วยว่า ข้อสันนิษฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดที่ญี่ปุ่นผลักดันให้ไทยเข้าร่วม TPP ไม่ใช่ supply chain แต่ต้องการกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) เพราะภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นย่อมมีความวิตกกังวล

ทั้งนี้ กลุ่มเอฟทีเอวอชท์เคยอธิบายไว้ว่า หัวใจของ ISDS คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ โดยผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่น   ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ของธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการตัดสินของ ICSID ถือเป็นที่สิ้นสุด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท