Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อตกลงปารีส - ความหวังในการกู้วิกฤตโลกร้อน?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หรือ ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นปัญหาซึ่งทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญมาเกือบ 40 ปีแล้ว และเริ่มสร้างกลไกเพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้สหประชาชาติ นั่นคือ “กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (UNFCCC) ใน พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตามภาวะโลกร้อนดำเนินมาถึงจุดวิกฤตในช่วงศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความพยายามแก้ปัญหาภายใต้กลไกดังกล่าวล้มเหลวมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล คือถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มนุษย์อันเป็นต้นตอหลักของภาวะโลกร้อน มีแต่พุ่งสูงขึ้นด้วยอัตราเร่ง ตามการพัฒนาเศรษฐกิจและวิถีบริโภคที่ไม่ยั่งยืน พร้อมวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการประชุมภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีสเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ ร่วมมือกันเจรจาจนได้ “ข้อตกลงปารีส” หรือ Paris Agreement ภายใต้กรอบ UNFCCC ซึ่งถือเป็นกลไกระหว่างประเทศอันใหม่ที่ทุกคนฝากความหวังว่าจะช่วยกู้วิกฤตโลกร้อนได้

ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสได้กำหนดเป้าหมายสำคัญอย่างเป็นทางการในด้านอุณหภูมิโลกว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ (อีก 84 ปีหรือประมาณหนึ่งชั่วอายุคน) มนุษย์จะไม่ปล่อยให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสนับจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม และจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส - ตัวเลขอุณหภูมิเหล่านี้ มีความหมายอย่างไร?

กล่าวโดยย่อ ข้อมูลวิทยาศาสตร์จำนวนมากซึ่งได้รับการยืนยันโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อันเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์ภายใต้สหประชาชาติ ชี้ชัดว่า หากโลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันหมายถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสังคมมนุษย์ ในระดับหายนะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ โดยประเมินแล้วว่าเป็นความเสี่ยงในระดับที่เกินกว่าสังคมมนุษย์ซึ่งเรารู้จักกันทุกวันนี้จะปรับตัวรับไหว (แม้จะใช้เงินมากเท่าใดก็ตาม) - ดังนั้น 2 องศาจึงเป็นเสมือนระดับปลอดภัยของสังคมมนุษย์ - อย่างไรก็ตาม ณ จุดที่เราอยู่ทุกวันนี้ โลกได้ร้อนขึ้นกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมมาประมาณ 1 องศาแล้ว และเรากำลังเป็นประจักษ์พยานต่อการแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว เช่นภาวะ ร้อน แล้ง พายุ ที่เกิดถี่และรุนแรงมากขึ้นทุกปี - ทุกเศษเสี้ยวองศาของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้น หมายถึงผลกระทบที่รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศา ประเทศที่เป็นหมู่เกาะหลายแห่งจะจมอยู่ใต้น้ำทะเลไปแล้ว - นี่คือที่มาทางวิทยาศาสตร์ของการตั้งเป้าหมายในหยุดโลกร้อนในข้อตกลงปารีส


ณ จุดที่เรายืนอยู่ - ช่องว่างระหว่างเป้าหมายและความเป็นจริง

ข้อตกลงปารีสเชิญชวนให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายโดยสมัครใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่าง ค.ศ.2020 - 2030 ที่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง โดยขอให้คำนึงถึงความเป็นธรรมและเท่าเทียมภายใต้บริบทการพัฒนาที่ยังยืน อย่างไรก็ตาม หากถามว่าข้อตกลงปารีสจะสามารถกู้วิกฤตโลกร้อนได้หรือไม่ คำตอบคือ ยังไม่ได้ เพราะเมื่อรวมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทุกประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาไปแล้ว (ล่าสุด ตุลาคม 2558) โลกยังคงจะร้อนขึ้น 2.7-3.5 องศา [1] ภายในสิ้นศตวรรษ - ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นเป้าหมายโดยสมัครใจ จึงไม่มีกลไกในการลงโทษ หากประเทศใดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้

ในเมื่อเป้าหมายยังไม่ดีพอ ข้อตกลงปารีสจะประสบความสำเร็จในการกู้วิกฤตโลกร้อนก็ต่อเมื่อรัฐบาลทุกประเทศเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตัวเองตั้งไว้โดยเร็วที่สุด (ซึ่งข้อตกลงฯ เปิดช่องให้มีการส่งเป้าหมายใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ และมีกระบวนการทบทวนโดยรวมร่วมกันทุก 5 ปี) แต่จะต้องทำดีขึ้นอีกมากไหม?

ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ในรายงาน IPCC ฉบับล่าสุด (พ.ศ. 2556) ได้ทำการคำนวนสิ่งที่เรียกว่า งบดุลคาร์บอน (Carbon Budget) หรือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั้งโลกสามารถปล่อยได้แล้วยังทำให้โลกไม่ร้อนเกิน 2 องศา (ภายใต้ความเป็นไปได้ 66%) และพบว่า ณ พ.ศ. 2554 โลกมีโควต้างบดุลคาร์บอนไดออกไซด์เหลือเพียง 1,000 ล้านตันที่สามารถทะยอยปล่อยภายใน พ.ศ. 2643 หรืออีก 84 ปีข้างหน้า [2]

แต่ที่น่าเป็นกังวลที่สุดก็คือรายงานเดียวกันนี้ของ IPCC ยังกล่าวถึงปริมาณคาร์บอนที่ซ่อนอยู่ในเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกว่า หากมนุษย์นำเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ค้นพบแล้ว (reserves) ทั้งหมดทั่วโลกขึ้นมาเผาเพื่อผลิตพลังงาน จะเกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศประมาณ 3,670 - 7,100 ล้านตัน [3] นั่นหมายถึง เรามีเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ทั้งโลกมากกว่าที่เราควรจะนำขึ้นมาใช้กว่า 3 ถึง 7 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับที่หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เคยเตือนเมื่อสี่ปีที่แล้วว่าเราควรใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เกิน 1 ใน 3 ของที่ค้นพบแล้วภายใน พ.ศ. 2593 [4] นี่คือตัวเลขที่อธิบายว่า การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดอย่างรวดเร็วพอ คือหัวใจของการกู้วิกฤตโลกร้อน เพราะการเผาถ่านหินทุกกิโลกรัมหรือเติมน้ำมันทุกลิตร คือการใช้งบดุลคาร์บอนหมดไปเรื่อยๆ และหมายถึงหายนะโลกร้อนกว่า 2 องศาซึ่งจะมาถึงเร็วขึ้นทีละก้าว
 

พลังประชาชน - ความหวังสำคัญของการกู้โลกร้อน

ดังที่อธิบายนั้น กล่าวได้ว่าข้อตกลงปารีสฝากความหวังไว้กับ “การสำนึกดี-ทำดี-ไม่เห็นแก่ตัว” ของรัฐบาลทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองโลกชี้ชัดว่า รัฐจะคิดดีทำดีและกล้าเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ต่อเมื่อมีพลังของประชาชนในการผลักดัน ตัวอย่างสำคัญคือประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก (ในปริมาณใกล้เคียงกัน) และต่างไม่ยอมถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กระบวนการเจรจาโลกร้อน ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้ขัดแย้งกันมาตลอดและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงโลกร้อนได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มลพิษอากาศที่ร้ายแรงมากตามเมืองใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าและใช้ในอุตสาหกรรม กลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนจีนออกมารวมตัวประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังเป็นข่าวไปทั่วโลก จนสุดท้ายรัฐบาลจีนต้องประกาศโยบายลดและทะยอยเลิกใช้พลังงานถ่านหิน และเป็นครั้งแรกที่จีนเริ่มวางแผนหยุดอัตราเพิ่มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต (ยังปล่อยอยู่ แต่ไม่ปล่อยเพิ่ม) ซึ่งการเลิกใช้ถ่านหินและเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซล ส่งผลดีอย่างมากต่อลดต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ในส่วนของสหรัฐอเมริกา มีการรวมตัวของกลุ่มท้องถิ่น ชนพื้นเมือง และคนเมืองทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านโครงการฟอสซิลจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่อส่งทรายน้ำมัน (Keystone XL) และการขุดเจาะก๊าซด้วยวิธี fracking (hydraulic fracturing) จนเมื่อปลายปี 2558 เกิดการเดินขบวนเรื่องโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เมืองนิวยอร์ก มีคนเข้าร่วมกว่า 3 แสนคน นั่นคือการส่งสัญญาญจากประชาชนไปยังนักการเมืองที่มีพลังมาก ทำให้ในช่วงปีสุดท้ายของการเป็นประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล้าออกมาแสดงจุดยืนเรื่องโลกร้อนที่ขัดต่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมพลังงานชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่นการประกาศหยุดโครงการ Keystone XL, ประกาศกฎหมายควบคุมการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน, และประกาศนโยบายการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พัฒนาการท่าทีทางการเมืองและนโยบายเรื่องโลกร้อนของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ที่กล้าเอาจริงกับการควบคุมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นดังที่กล่าวมานี้ เป็นผลมาจากการรวมตัวกันแสดงพลังและส่งเสียงของประชาชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นต่างๆ ที่ต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนและมลพิษเข้มข้น และเชื่อมโยงกับการรณรงค์เรื่องโลกร้อนของคนเมือง/คนทั่วไป/นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มต่างๆที่หลากหลายในสังคม ทั้งระดับประเทศและระดับโลก การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐในประเทศตัวเองเช่นนี้ กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นทั่วโลก และกลายเป็นความหวังสำคัญในการกู้วิกฤตโลกร้อนของศตวรรษนี้
 


กิจกรรม #RedLine ช่วงบ่ายวันสุดท้ายของการประชุม #COP21  ที่ปารีส ฝรั่งเศส 
(12 ธ.ค.58) (ภาพจาก ThaiClimateJustice)

ในส่วนของประเทศไทยนั้น...

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม COP21 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2558 ที่กรุงปารีส [5] ซึ่งตัดตอนมาบางส่วน ดังนี้

“วันนี้ผมมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทย ในการร่วมผลักดันให้การเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบต่อประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก อีกทั้งจะเกิดภัยแล้ง จะทำให้เกิดการขาดน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และรายได้ของเกษตรกร กระทบต่อแหล่งผลิตอาหารของโลก ตลอดจนทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความยากจน ความขัดแย้ง จนอาจเป็นสาเหตุการทำสงครามแย่งน้ำต่อไป ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

"ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมรายได้ และลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กันด้วย ผมอยากให้ทุกกลุ่มประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และมีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

"ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ดูแลรักษาไม่ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะ ในความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักของความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศด้วย”

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการร่วมลงนามและให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีส โดยวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาในพิธีเปิดให้ลงนามอย่างเป็นทางการที่กรุงนิวยอร์ค พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 77 และจีน (G77 + China) มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า [6]

“เราต้องไม่ลืมความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนปี ค.ศ.2020 (พ.ศ. 2563) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญในความสำเร็จของการลดการปล่อยก๊าซฯ ภายใต้ข้อตกลงปารีส (พ.ศ. 2563-2573) เราต้องตระหนักถึงช่องว่างระหว่างผลของคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละไปเทศได้ให้ไว้แล้ว ซึ่งยังห่างไกลอย่างมีนัยสำคัญกับเป้าหมายที่ควรจะเป็นหากต้องการให้โลกไม่ร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส”

ในส่วนของเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายต่อสหประชาชาติโดยแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่หนึ่ง ก่อนปี พ.ศ. 2563 (NAMAs) จะลดการปล่อยก๊าซฯ 7-20% นับจากระดับที่ปล่อยปกติ (Business as Usual/BAU) และช่วงที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2573 (INDCs) จะลดการปล่อยก๊าซฯ 20-25% นับจากระดับที่ปล่อยปกติ [7] ซึ่งมีแนวโน้มว่าไทยจะดำเนินการได้ตามเป้าหมายในระยะแรก โดยที่ขณะนี้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 4% และคาดว่าจะลดได้มากกว่าเป้าหมายระยะแรก (7%) ก่อนพ.ศ. 2563 [8]

อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ที่ผู้นำรัฐไทยประกาศต่อประชาคมโลก ดูจะยังขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ แม้การยึดอำนาจโดยรัฐประหารของรัฐบาล คสช. จะอ้างความชอบธรรมว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศ ซึ่งประเด็นหนึ่งของการปฏิรูปนั้นรวมถึงเรื่องพลังงานด้วย แต่หลังจากการยึดอำนาจมา 2 ปีรัฐบาล คสช. ยังคงมีแนวนโยบายด้านพลังงานที่ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การผลักดันอย่างแข็งกร้าวที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2015 อย่างน้อย 5,850 เมกะวัตต์ หรือเกือบ 2 เท่าของกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน [9] หมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 34 ล้านตัน [10] โดยไม่ฟังเสียงทัดทาน และพยายามปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยทั้งด้วยคำสั่ง คสช. และการกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อของหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจว่าถ่านหินเป็นพลังงานราคาถูกโดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดลล้อมและสุขภาพของประชาชน และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสวนทางกับความพยายามของโลกที่จะลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ และสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับการประกาศต่อหน้าประชาคมโลกของผู้นำไทย ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซฯให้มากที่สุด
 

สิ่งที่รัฐไทยควรทำ

ด้วยเหตุผลเรื่องงบดุลคาร์บอนดังที่กล่าวไปแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างเร่งด่วน ในการเปลี่ยนผ่านจากการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่พึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซอลสกปรก ไปสู่ระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาพลังงานสะอาดที่ไม่ทำร้ายโลกและชีวิตคนให้มากที่สุด ถึงเวลาที่รัฐไทยต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ว่าธรรมชาติกำลังถึงขีดจำกัดซึ่งส่งผลออกมาเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ และขีดจำกัดนี้กำลังส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่อย่างปกติของมนุษย์ และหากเราไม่ช่วยกันหยุดวิกฤตนี้ ผลกระทบต่อคนที่มากขึ้นก็จะทำให้สังคมโกลาหล ไม่เฉพาะสังคมไทยแต่เป็นทั้งโลก ซึ่งอันที่จริงก็สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงต่อประชาคมโลกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ดูแลรักษาไม่ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะ ในความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา”

รัฐไทยต้องเลิกยึดติดวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่ม ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนลืมว่าเราฝันจะเป็นผู้นำในภูมิภาคและพยายามเดินทางนี้มาหลายสิบปีแล้วแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ด้วยการผลิตเพื่อส่งออกซึ่งหวังพึ่งแรงงานราคาถูก คือกดค่าแรงของคนไทยเองเพื่อเอาเม็ดเงินเข้าประเทศ ทั้งที่เม็ดเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่เข้ากระเป๋าเจ้าของกิจการที่รวยแล้ว ไม่ได้ตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งแวดล้อมถูกทำลายและทรัพยากรธรรมชาติกำลังร่อยหรอ ประชาชนจำนวนมากต้องเสียสละคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อแลกกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ นี่ไม่ใช่สังคมไทยที่เราอยากทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน

ในห้วงวิกฤตเศรษฐกิจที่การลงทุนของรัฐด้วยเงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว การลงทุนที่ผิดพลาดไปกับอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน หมายถึงการเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หรือที่เรียกว่า infrastructure lock-in หมายถึงการลงทุนที่ผิดพลาดจะทำให้ประเทศติดกับอยู่กับโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลส่วนใหญ่ซึ่งมีอายุไปอีก 20-30 ปี (ซึ่งจะต้องใช้เงินภาษีในการดำเนินการและการดูแลรักษาระหว่างนั้นด้วย)
 

ขอบคุณทุกชุมชนที่ยืนหยัดคัดค้านพลังงานถ่านหิน

ในบรรดาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในแผน PDP2015 นั้น รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา 2,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกสองโรง โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ซึ่งยังไม่ระบุที่ตั้ง แต่โรงหนึ่งในนั้นที่ระบุว่าเป็นภาคใต้มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นที่อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ตามที่เป็นข่าวในช่วงนี้ ทั้งนี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ตามแผน PDP2015 รวมทั้งสิ้น 5,850 เมกะวัตต์ โดยที่ยังไม่รวมแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก อาธิเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินของอุตสาหกรรมกระดาษ ที่ตำบลเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าถ่านหินของเหมืองแร่โปแตช ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

ด้วยพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะเช่นนโยบายพลังงาน ที่หดแคบและบีบคั้นอย่างยิ่งภายใต้การปกครองของ คสช. ซึ่งไม่ต้องการฟังความเห็นของคนคิดต่าง ในห้วงเวลานี้ สังคมไทยจึงต้องขอบคุณทุกชุมชนที่กล้ายืนหยัดคัดค้านนโยบายพลังงานถ่านหินสกปรก ช่วยเปิดช่องทางการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ ชะลอการลงทุนเงินภาษีในทางที่ผิด เพิ่มระยะเวลาในการผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานไทย และแสดงให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกู้โลกร้อนโดยพลังประชาชนทั่วโลก ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและอนาคตที่ดีกว่าของลูกหลานพวกเรา


เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ยื่นจดหมายถึงนายกฯ และ รมว.พลังงาน
เรียกร้องยกเลิกแผน PDP2015 เพื่อให้จัดทำแผนใหม่ (7 ก.ย.58) (ภาพจาก ThaiClimateJustice)

 

[1] Climate Interactive 2016. Scoreboard Science and Data. https://www.climateinteractive.org/programs/scoreboard/scoreboard-science-and-data/
[2] IPCC 2014, Climate Change 2014: Synthesis Report. Table 2.2, Page 64 http://www.ipcc.ch/pdf.assessmentreport/ar5/syr/AR5_SYR_FINAL_ALL_Topics.pdf
[3] IPCC 2014, Climate Change 2014: Synthesis Report. Table 2.2, Page 64
[4] IEA 2012, World Energy Outlook 2012. https://www.iea.org/publications/freepublications/publication/WEO2012_free.pdf
[5] นักข่าวพลเมือง 2015, อ่านถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นายกไทย ในเวที COP21 http://www.citizenthaipbs.net/node/7287
[6] G77, สุนทรพจน์ พิธีลงนามข้อตกลงปารีส 22 เมษายน 2559. http://www.g77.org/statement/getstatement.php?id=160422 คำแปลสรุปโดยผู้เขียนบทความนี้
[7] เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี พ.ศ. 2563-2573 (INDCs) ของประเทศไทย. http://www4.unfccc.int/submissions/INDC/Published%20Documents/Thailand/1/Thailand_INDC.pdf
[8] Plan to cut carbon emissions meets with rising scepticism. ปรัชญ์ รุจิวนารมย์. The Nation. 6 มกราคม 2559. http://www.nationmultimedia.com/national/Plan-to-cut-carbon-emissions-meets-with-rising-sce-30276223.html
[9] โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กำลังการผลิตติดตั้งปัจจุบัน 2,400 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้า BLCP กำลังการผลิตปัจจุบัน 1,400 เมกะวัตต์
[10] ค่าประมาณจากค่าเฉลี่ยของอเมริกา โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 MW ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 3.5 ล้านตันต่อปี จาก Union of Concerned Scientists. http://www.ucsusa.org/clean_energy/coalvswind/c02c.html#.VyGcn2NEeVc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net