12 ปี เหตุการณ์ ‘กรือเซะ’ ย้อนรอยบาดแผลและบทเรียน

ถอดบทเรียนเหตุการณ์ปะทะหลายจุดในสามจังหวัดชายแดนใต้ในวันที่ 28 เมษายน เมื่อ 12 ปีก่อน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ก่อเหตุรวมกันกว่า 108 ราย อย่างไรก็ตาม ในชั้นไต่สวนการตาย มีหลักฐานพยานที่ชี้ว่าการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่เป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ศาลเลือกให้น้ำหนักจากปากคำเจ้าหน้าที่มากกว่า และภายหลังกระบวนการไต่สวนการตายนอกจากเรื่องการเยียวยาแล้ว เรื่องอื่นกลับไม่เดินหน้า

28 เมษายน 2559 ครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ความรุนแรงภายในพื้นที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คน ไม่รวมสถานณ์การอื่นๆ โดยรอบอีกกว่า 11จุด ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา ผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายรวมกว่า 108 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุ

เค้าลางความผิดปกติเริ่มปรากฏเมื่อคืนวันที่ 26 เมษายน 2547 ชาวบ้านรายงานว่าพบกลุ่มคนระดับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบเข้ารวมตัวกันในพื้นที่ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ประมาณการณ์ได้กว่า 30 คน

28 เมษายน 2547 สื่อมวลชนบันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้นไว้ว่า เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 5.30 น. มีกลุ่มคนร้ายจำนวนกว่า 40 คน บุกเข้าไปปฏิบัติการยึดป้อมตำรวจกรือเซะบริเวณ ถ.สายปัตตานี-นราธิวาส ม.3 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย ตำรวจประจำป้อมหลบหนีออกมานอกป้อมพร้อมกับวิทยุขอความช่วยเหลือหน่วยข้างเคียง ขณะนั้นกลุ่มคนร้ายเริ่มทำการเผารถจักรยานยนต์ของตำรวจ 5 คัน จุดไฟเผาหลังคาป้อมตำรวจ ไม่นานเมื่อชุดลาดตระเวนมาถึงจึงเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องจนเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ว่าไม่สามารถรับมือได้ จึงวิทยุขอกำลังเสริมเข้ามาอีกชุดหนึ่ง การปะทะกันทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุล่าถอย ในขณะเดียวกันกำลังทหารจากหน่วนรบพิเศษเข้ามาเสริม โดยนำอาวุธหนักและรถหุ้มเกราะเข้ามาในพื้นที่ จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวนกว่า 30 คนล่าถอยเข้าไปยังมัสยิดกรือเซะ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดปะทะเพียงแค่ 200 เมตร ผู้ก่อเหตุบางส่วนหลบหนีเข้าไปในบ้านของชาวบ้านบริเวณนั้น

หลังจากกลุ่มผู้ก่อเหตุเข้าหลบซ่อนในมัสยิดกรือเซะก็มีการตอบโต้กันเป็นระยะๆ เจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษเริ่มยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปภายในมัสยิดแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากยังมีการยิงสวนออกมา จนกระทั่ง 11.00 น. หน่วยรบพิเศษได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธหนัก เจ้าหน้าที่ใช้รถหุ้มเกราะ วี 150 และอาวุธเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อที่จะลอบเข้ามัสยิดทางด้านทิศเหนือ แต่ก็ยังมีการตอบโต้จากกลุ่มผู้ก่อเหตุภายในมัสยิดเช่นเคย สถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปจนกระทั่งมีการประกาศทางลำโพงของมัสยิดเป็นภาษามลายูได้ความว่า ขอให้ทุกคนแบ่งอาวุธเท่าๆ กัน และพร้อมใจกันสู้ตาย คำประกาศดังกล่าวยิ่งทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะวิกฤติ เจ้าหน้าที่จึงกันชาวบ้านและสื่อมวลชนให้ออกนอกพื้นที่ ก่อนใช้ปืนอาร์พีจีระดมยิงเข้าไปภายในมัสยิด

การปิดล้อมเป็นไปถึง 9 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ในเวลา 14.00 น. เมื่อเริ่มเข้าเคลียร์พื้นที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตบริเวณนอกกำแพงมัสยิด 4 ราย ขณะเดียวกันประชาชนกว่า 1,000 คนโดยรอบเริ่มส่งเสียงโห่ร้องเนื่องจากอยากเข้าไปตรวจสอบภายในมัสยิดว่ามีญาติตนเองหรือไม่ ไม่มีรายงานว่าการโห่ร้องเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสนับสนุนผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด

ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ” ขึ้นโดยคณะกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า

“แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า จำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์ เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะซึ่งตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนและจำนวนประชาชนก็ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่มีการกล่าวอ้าง การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิดควบคู่ไปกับการเจรจาและเกลี้ยกล่อมโดยสันติวิธี อาจทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนได้ในที่สุด อันจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์ของการดำเนินการครั้งนี้ รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประเมินสถานการณ์และป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์...”

ต่อมา 28 พฤศจิกายน 2549 ผ่านไปสองปีหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือด ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งศาลในคดีชันสูตรพลิกศพ 32 รายในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีและญาติผู้เสียชีวิตนำโดย สการียา ยูโส๊ะ และพวกรวม 32 คน เป็นผู้ร่วมซักค้าน คำสั่งศาลสรุปว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่กระทำให้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการเสียชีวิตภายใต้คำสั่งการของ พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยภายใน (กอ.รมน.) และ พ.อ.มนัส คงแป้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พ.ต.นายทหารยุทธการกรมรบพิเศษที่ 3 (ยศในขณะนั้น)

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพเป็นไปตามมาตรา 150 ในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า หากมีผู้เสียชีวิตภายใต้การกระทำการของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในลักษณะวิสามัญฆาตกรรม อัยการจะต้องยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตคือใคร เสียชีวิตที่ไหน อย่างไร รวมทั้งพฤติกรรมการตายเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เป็นเพียงกระบวนการเบื้องต้น ไม่ใช่การพิพากษาคดีว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

10 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานอัยการสูงสุดโดยนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด ได้ส่งหนังสือถึงนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานเพื่อความยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ชี้แจ้งกรณีที่คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้มีหนังสือขอให้ดำเนินการกรณีการเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะตามกฏหมายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามคำสั่งศาลจังหวัดปัตตานี สำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจ้งว่า พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง จ่าสิบตำรวจอดินันท์ หรืออดินันต์ เกษตรกาลาห์ หรือเกษตรกาลาม์หรือเกษตรกาลา ผู้ต้องหาที่ 1 จ่าสิบเอกเดชา ผลาหาญ ผู้ต้องหาที่ 2 จ่าสิบเอกชูศักดิ์ ตรุณพิมพ์ ผู้ต้องหาที่ 3 สิบเอกชิดชัย อ่อนโต๊ะ ผู้ต้องหาที่ 4 พลทหารสุรชัย ศิลานันท์ ผู้ต้องหาที่ 5 และพันเอกมนัส คงแป้น ผู้ต้องหาที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 68 ตามที่นายสการียา ยูโซ๊ะ และพวก 32 คน ญาติของผู้เสียชีวิตกรณีมัสยิดกรือเซะส่งฟ้องข้อหาฆ่าคนตาย

นอกจากกรณีมัสยิดกรือเซะแล้ว วันที่ 28 เมษายน 2547 ยังมีอีกเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ เหตุการณ์ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เวลาประมาณ 5 น. มีกลุ่มวัยรุ่นชายจำนวนประมาณ 20 คน แต่งกายคล้ายชุดดาวะห์ขี่รถจักรยานยนต์มายังหน่วยบริการประชาชนพร้อมอาวุธ ปืน มีด และระเบิด จากนั้นชาย 2 คน ในกลุ่มดังกล่าวถือมีดวิ่งตรงมายังบังเกอร์ด้านหน้าหน่วยบริการประชาชนขณะนั้นมี ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อยนั่งอยู่ เมื่อเห็นว่าผู้ก่อเหตุหมายจะทำร้าย จ.ส.อ.ชาญณรงค์ จึงใช้ปืนยิงไปที่ทั้งสองคนจนเสียชีวิต จากนั้นมีการยิงสกัดพวกพรรคที่เตรียมจะเข้ามาจู่โจม จนกลุ่มผู้ก่อเหตุต้องวิ่งหนีเข้าไปหลบร้านอาหารสวยน๊ะและบริเวณบ้านพักครูซึ่งอยู่ใกล้กัน

สื่อมวลชนรายงานว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปยังบริเวณบ้านพักครู เจ้าหน้าที่ได้วิทยุเรียกขอกำลังสนับสนุนทั้งฝ่ายปกครองและอาสาสมัครมาปิดล้อมบริเวณดังกล่าว และพยายามเกลี้ยกล่อมให้กลุ่มวัยรุ่นออกมามอบตัวทั้งภาษามลายูและภาษาไทย กลุ่มวัยรุ่นไม่ออกมามอบตัว ทั้งยังตะโกนเป็นภาษามลายูว่าสู้ตายและยิงตอบโต้ออกมาเป็นระยะ จึงเกิดการยิงปะทะกันประมาณ 4-5 นาที หลังจากนั้นพบว่าวัยรุ่นทั้งหมดเสียชีวิตภายในร้านอาหาร รวม 19 คน

วันที่ 15 กันยายน 2551 หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 4 ปี ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งการไต่สวนการตายกรณีการสังหารกลุ่มวัยรุ่นนักฟุตบอล 19 ศพที่อำเภอสะบ้าย้อยว่าเป็นการร่วมยิงต่อสู้และตายด้วยคมกระสุนของเจ้าหน้าที่ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ตันติฉันทการุณ นายแพทย์วิษณุ ฝอยทอง แพทย์ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้งสิบเก้าเบิกความประกอบรายงานการชันสูตรพลิกศพว่า ผู้ตายทั้งสิบเก้าตายด้วยสาเหตุถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิง โดยอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่

พยานหลักฐานผู้ร้องเบิกความเชื่อมโยงสอดคล้องตรงกันเป็นลำดับขั้นตอน ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ปรากฏว่าพยานผู้ร้องมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายทั้งสิบเก้า เชื่อว่า เบิกความไปตามความจริง ส่วนพยานหลักฐานผู้ซักถามที่ 1 ถึงที่ 19 ไม่สามารถนำสืบหักล้างให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น

000

การไต่สวนการตายอันเป็นเหตุมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลถึงความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยกตัวอย่างถึงกรณีมัสยิดกรือเซะว่า มีผู้เสียชีวิต 32 ราย และเหตุการณ์ที่ป้อมตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย ซึ่งมีเยาวชนนักฟุตบอลเสียชีวิต 19 ราย มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ชุดที่ปฏิบัติงานอยู่ในขณะนั้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่กระบวนการต่อเนื่องจากการไต่สวนการตายกลับไม่เดินหน้า

"ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ ในเหตุการณ์ที่สะบ้าย้อยมีหลักฐานว่าบาดแผลเกิดจากการยิงระยะเผาขนในลักษณะที่เยาวชนบางส่วนยอมแล้วและอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัว แต่หลังคดีไต่สวนการตาย พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาว่าเห็นควรสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือไม่ กลับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรม เมื่อเป็นแบบนี้ทางญาติผู้เสียชีวิตก็ไม่มีกำลังจะไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือฟ้องคดีอาญาเองได้ จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน" พรเพ็ญ กล่าว

ในวาระครบรอบ 12 ปี พรเพ็ญกล่าวว่า การรำลึกถึงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะค่อนข้างเป็นไปอย่างเงียบเหงา ถึงแม้ว่ากลุ่มภาคประชาสังคมจะพยายามจัดงานในด้านการรำลึก แต่ระยะหลังเมื่อครบรอบเหตุการณ์กรือเซะหลายคนจะพุ่งเป้าไปที่เหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี จนทำให้การกิจกรรมแบบสันติวิธีเกือบจะหายไป ทางราชการมักบอกให้ระวังการโต้ตอบกลับในวันที่ 28 ซึ่งบางปีก็มี บางปีก็ไม่มี ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้เสียหายมีพื้นที่น้อยลงในการจะจัดกิจกรรมในวันนั้นเพราะกลัวว่าจะถูกเหมารวมเข้ากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

เมื่อถามความเห็นในประเด็นของคดีความ พรเพ็ญกล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายนนั้น มีทั้งการเอาผิดกับผู้กระทำผิดที่รอดชีวิต และการไต่สวนการตายว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธโดยชอบหรือไม่ มีการกระทำการอันเกินกว่าเหตุหรือไม่ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวสิ้นสุดแล้วหมดทุกคดี ไม่มีใครได้รับการลงโทษ

"แม้ว่าข้อเท็จจริงที่เราได้ อย่างกรณีนักฟุตบอล 19 คนที่สะบ้าย้อยก็มีความชัดเจนว่าเป็นการใช้ความรุนแรงภายหลังที่มีการจับกุมกลุ่มบุคคลนั้นแล้ว อยู่ในการควบคุมแล้วก็มีการยิงจนเสียชีวิตในร้านอาหารสวยน๊ะ หรือในกรณีในมัสยิดกรือเซะที่มีประชาชนทั่วไปที่อยู่ที่นั่นโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มบุคคลที่บุกเข้าไป แต่ก็มีการกราดยิงด้วยอาวุธสงครามโดยไม่สามารถหลบหนีได้เลยหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยไม่เลือกหน้า เหตุการณ์นั้นไม่มีการประกาศว่าให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกมาก่อน”

“ที่จริงแล้วเกือบทุกคดีมีการไต่สวนดำเนินการ เพียงแต่ว่ากลุ่มของญาติเองในห้วงเวลานั้นไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อสู้ ไม่เหมือนที่ทุกวันนี้ที่มีศูนย์ทนายความมุสลิม มีคนให้ความช่วยเหลือทางคดี และชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นว่ามีขั้นตอนใดบ้างหลังจากมีการตายเกิดขึ้น เมื่อความเข้าใจและความช่วยเหลือในห้วงเวลานั้นมีจำกัด ทำให้การไต่สวนการตายนั้นเป็นไปโดยฝ่ายเดียว นั่นคือเจ้าหน้าที่รับทำสำนวนให้อัยการส่งศาล แต่ไม่มีใครมาค้านมาตั้งคำถาม มันก็จบไป”

“อายุความคดีกรือเซะคือ 20 ปี หากผู้เสียหายมีหลักฐานเพียงพอว่าใครทำให้ตาย และเป็นการกระทำที่มีหลักฐานและพยานมากพอก็สามารถที่จะดำเนินคดีได้ เพียงแต่มันยากมากๆ สำหรับญาติที่จะไปหาทีมให้ความช่วยเหลือที่จะสืบได้ขนาดนั้น”

นอกจากนี้ พรเพ็ญยังกล่าวเสริมอีกว่า มีหลายคดีที่จบในลักษณะนี้ ผู้ที่กระทำความรุนแรงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อชี้ขาดว่าเขาใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือเปล่า เพราะหากเขาใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุก็ต้องมีบทลงโทษว่าฆ่าคนตายโดยเจตนาหรืออย่างไร แต่เหตุปะทะลักษณะเช่นนี้ไม่เคยมีกระบวนการยุติธรรมที่ไปไกลกว่านั้น ทุกวันนี้เหตุการณ์ปะทะกันในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เท่ากับเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและตากใบเท่านั้นเอง

สิ่งที่พอเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 28 เมษายน 2547 คือ ญาติผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาเป็นจำนวน 302 ล้านบาทเศษ โดยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ 34 ราย ได้รับเงินเยียวยา รายละ 4 ล้านบาท ผู้เสียชีวิตนอกมัสยิด 54 ราย รายละ 5 แสนบาท เจ้าหน้าที่ 2 ราย รายละ 4 ล้านบาท เหตุการณ์ที่อำเภอสะบ้าย้อย 19 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล:

http://www.isranews.org/isranews-all-data/item/1983-28-qq.html

http://prachatai.com/journal/2006/11/10698

http://prachatai.com/journal/2009/03/20188

http://wbns.oas.psu.ac.th/shownews.php?news_id=6595

http://wbns.oas.psu.ac.th/shownews.php?news_id=6921

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท