ศาลทหารไม่ให้ประกัน 8 ผู้ต้องหา ม.116 ทำเพจล้อการเมือง

เปิดคำคัดค้านฝากขังของศูนย์ทนายโดยละเอียด ชี้หมิ่นประมาทประยุทธ์ ไม่ใช่คดีความมั่นคง ม.116 ศาลทหารเคยวางมาตรฐานไว้เองแล้ว 2 คดี  ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8  คนถูกส่งไปเรือนจำแล้ว ญาติขอประกันตัววางเงิน 1 แสนบาท ศาลทหารไม่ให้ประกัน

29 เม.ย. 2559 ช่วงสายที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหา 8 คนในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คนที่ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เม.ย.และต่อมาตำรวจแถลงข่าววานนี้ว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกับการรับจ้างทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ในเฟซบุ๊ก และแจ้งข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และปลุกปั่นยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ญาติผู้ต้องหาหลายรายรวมถึงทนายความเพิ่งได้พบกับผู้ต้องหาเป็นครั้งแรก มีการแต่งตั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมด และดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน (อ่านคำร้องฉบับเต็มในล้อมกรอบด้านล่าง) จากนั้นศาลได้เรียกไต่สวน

พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า กระบวนการตรวจประวัติ ลายนิ้วมือยังไม่เสร็จสิ้น และเหลือพยานต้องสอบอีกราว 15 ปาก รวมทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งแปดคัดค้านการฝากขังโดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งแปดคนไว้หมดแล้ว และพวกเขาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี เจ้าหน้าที่มีที่อยู่ปัจจุบันของทุกคนและก่อนการเข้าจับกุมของทหาร เจ้าหน้าที่รัฐก็ล่วงรู้ทุกการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว สามารถเชิญตัวพวกเขามาให้การเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดศาลอนุมัติคำร้องฝากขังโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้นและคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษสูง มีความละเอียดซับซ้อนไม่เหมือนคดีทั่วไป จึงอนุมัติฝากขัง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างไต่สวน กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ผู้ต้องหาหนึ่งเดียวที่ให้การรับสารภาพในการแถลงข่าวของตำรวจเมื่อวานนี้แจ้งศาลว่าจะขอกลับคำให้การ ศาลแจ้งว่าวันนี้เป็นเพียงการฝากขังไม่ใช่การพิจารณาคดี กัณสิทธิ์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้อธิบายเหตุผล อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังทนายความของกัณสิทธิ์ได้ความว่า ผู้ต้องหารายนี้ระบุว่าเหตุที่รับสารภาพไปในเวทีแถลงข่าวเนื่องจากทนายความจากสภาทนายความที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจัดหาให้นั้นไม่ได้ให้คำปรึกษาว่าควรทำอย่างไร และในเวทีแถลงข่าวเขาถูกพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ถามเป็นคนแรกต่อหน้าสื่อมวลชนทำให้ลนลานและสับสน

หลังจากศาลอนุมัติคำร้องขอฝากขังไม่นาน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็นำตัวทั้งหมดไปยังเรือนจำ โดยนำผู้ชายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนผู้หญิงคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ขณะที่ทนายความและญาติดำเนินการยื่นประกันตัวที่ศาลทหารและเตรียมฟังคำสั่งศาลในช่วงบ่ายแก่ว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่โดยกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย วิญญัติ ชาติมนตรี อาสาเป็นนายประกันผู้ต้องหาหลายคน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้หลักทรัพย์จากกองทุนพลเมืองโต้กลับ ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 100,000 บาท

ล่าสุด (ประมาณ 15.50 น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวทั้งแปดคน โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งแปด มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนระบุข้อกล่าวหาเพียงมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่ตำรวจแถลงวานนี้ว่าจะแจ้งเพิ่มเติมแก่นายหฤษฏ์ และณัฏฐิกาจากกรณีมีบทสนทนาในกล่องข้อความส่วนบุคคลที่พาดพิงสถาบัน ทนายความแจ้งว่า เบื้องต้นทราบว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจะร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้แต่ยังไม่เห็นเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 8 รายได้แก่ 1.หฤษฏ์ มหาทน หรือ ปอน 2.นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท หรือนามปากกาวรารัตน์ เหม็งประมูล 3.นายนพเก้า คงสุวรรณ หรือ นพ 4.นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 5.นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 6.นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 7.นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี และ 8.นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี

 

คำร้องคัดค้านการฝากขังของศูนย์ทนายความฯ มีรายละเอียดดังนี้

1.ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกนำตัวจากกองปราบปรามมาฝากขังต่อศาลทหารครั้งที่ 1 ในวันนี้ โดยได้แต่งตั้งทนายความที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้วางใจเพื่อทำหน้าที่ทนายความแล้ว

2. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ ณ ภูมิลำเนาในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ภายหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ที่ มณฑลทหารบกที่ 11  (มทบ.11)  โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติและทนายความ ในการจับผู้ต้องหาทั้ง 8ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางหรือก่ออันตรายใดแก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยที่ขณะร้องขอ ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว การออกหมายจับดังกล่าวก็ด้วยเพื่อต้องการจับตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เนื่องจากคดีนี้จากข้อกล่าวหามิใช่การกระทำผิดเฉพาะหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาได้มีความจำเป็นเพียงพอที่จะขออำนาจศาลควบคุมตัวดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด ผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงขอคัดค้านการฝากขัง ด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้

2.1 ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนนั้น ต้องเป็นการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน แต่เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลแล้ว ย่อมหมายถึงผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ให้การไปทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งมวลแล้ว ไม่ประสงค์จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์อันใดทางกฎหมายต่อพนักงานสอบสวนอีกแล้ว ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ส่วนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก็ดี การสอบสวนพยานอื่นก็ดี ก็หาอยู่ในวิสัยที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องอยู่ร่วมกระบวนการแต่อย่างใด การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น เป็นการกระทำทางการเมืองที่ต้องการให้เกิดผลอย่างอื่นนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเหตุตามกฎหมายที่จะร้องขอดังที่พนักงานสอบสวนอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด 

2.2 คดีนี้ในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการใดอันถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งต่อผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่ามีข้อความหรือข้อเท็จจริงใดที่จะกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่าได้กระทำความผิด มีแต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่บังอาจกระทำการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานหรือข้อความอันใดอันอาจสื่อความหมายว่าเป็นการกระทำความผิดในชั้นสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยไม่มีมูล การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องของพนักงานสอบสวนไว้พิจารณาได้

2.3 จากคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยลักษณะกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ศาลทหารเองก็เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานถึง 2 คดี ว่ามิใช่เรื่องที่ต้องด้วยบทบัญญัตมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หากแต่ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคล รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 129 /2558 ระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ กับนางรินดา หรือหลิน ปฤชาบุตร จำเลย และหนังสือส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวนคดีของนางจุฑาทิพย์ หรือเจนนี่ เวโรจนาภรณ์ ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2558 เอกสารที่ส่งมาด้วยแล้วฉบับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

ดังนั้น เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิใช่เรื่องที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 8 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต่อศาลทหารเพื่อฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ในวันนี้ 

2.4 คดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญและพนักงานสอบสวนหาได้มีความมุ่งหมายที่จะกระทำการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด การสร้างสภาวะความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมอาจดูเหมือนบ้านเมืองถูกปกครองได้อย่างราบคาบ แต่ในระยะยาวที่ประเทศไทยต้องดำรงอยู่ในสังคมโลกย่อมเป็นผลเสียและกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้แม้ประเทศไทยจะปกครองด้วยคณะรัฐประหาร แต่คณะรัฐประหารก็ได้ประกาศจะสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง เมื่อในทางรูปธรรมกลับมีการฟ้องร้องกล่าวหาประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเพียงการแสดงออกทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะอันอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การณ์ทั้งหมดก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางการเมืองไปเสีย ในภายภาคหน้าหากเราไร้หลักที่จะยึดเหนี่ยวความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน บ้านเมืองย่อมเข้าสู่วิกฤติและยากที่จะหาทางออกได้

ศาลทหารจึงเป็นเพียงองค์กรเดียวที่จะเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในภาวะเช่นนี้กลับมาได้ ขอศาลได้โปรดพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศด้วย

3. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม และวรรคแปด ในอันที่จะขอให้ศาลเปิดการไต่สวนและให้ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพนักงานสอบสวน และขอให้ศาลทหารกรุงเทพได้โปรดให้พนักงานสอบสวนเข้าสาบานตน และบันทึกถ้อยคำผู้กล่าวหาและถ้อยคำที่ทนายความผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพยานในรูปแบบคำเบิกความหรือรายงานกระบวนพิจารณา เพื่อให้กระบวนพิจารณาในวันนี้ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดีในวันนี้ต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาตตามคำขอในข้อนี้ของผู้ต้องหาทั้ง 8 ด้วย

เมื่อได้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและพิจารณาประกอบข้อกฎหมายดังที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้เรียนต่อศาลแล้ว ขอศาลได้โปรดยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เพื่อคืนเสรีภาพตามกฎหมายแก่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ในคดีนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท