ชะตากรรมนักโทษสหรัฐฯ ผู้เปิดโปงความโหดร้ายของเรือนจำในรัฐฟลอริดา

เรื่องของ ฮาโรลด์ เฮมป์สเตด นักโทษในสหรัฐฯ ผู้ติดคุกยาวนานในข้อหาลักทรัพย์หลายครั้งอีกทั้งยังเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่เขาก็กลายเป็นวีรบุรุษผู้เปิดโปงการกระทำโหดร้ายในคุกที่เขาเคยอยู่จนมีผู้ต้องขังถึงแก่ความตาย ถึงแม้ว่ากระบวนการสืบสวนหลังจากนั้นจะยังไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นเหยื่อการกระทำโหดร้ายก็ตาม

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 เว็บไซต์นิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์รายงานถึงกรณีที่ฮาโรลด์ เฮมป์สเตด ผู้ต้องขังที่เคยอยู่ในทัณฑสถานเดดส่งจดหมายร้องทุกข์ต่อกรมราชทัณฑ์รัฐฟลอริดา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2556 ในจดหมายฉบับนั้นระบุถึงข้อกล่าวหาที่น่าสะพรึงต่อกรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังชื่อดาร์เรน เรนนี ผู้ที่เสียชีวิตในเรือนจำจากการหมดสติในห้องอาบน้ำเมื่อ 7 เดือนก่อนหน้าการส่งจม.ร้องทุกข์

ผู้เขียนบทความนามว่า อียาล เพรส เขียนถึงกรณีนี้โดยอ้างอิงถึงจดหมายของเฮมป์สเตด ที่ระบุว่าการตายของเรนนีเป็นการพยายามปกปิดการข่มเหงทารุณเรนนีก่อนหน้านี้ เนื่องจากก่อนที่เรนนีจะหมดสติไปในห้องน้ำเขาถูกขังไว้ในห้องอาบน้ำที่มีการเปิดน้ำร้อนใส่เขาจากสายยางข้างนอกโดยผู้คุมซึ่งน้ำมีความร้อนถึงราว 80-100 องศา มากพอจะต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ จม.ของเฮมป์สเตด เล่าว่าเขาได้ยินเรนนีตะโกนว่า "ผมทนไหวแล้ว" จากนั้นถึงได้ยินเสียงตุบที่เขาเชื่อว่าเป็นเสียงร่างเรนนีกระแทกลงกับพื้นและเสียงร้องโหยหวนของเขาก็เงียบสงบลง

เฮมป์สเตดเขียนในท้ายจดหมายเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งจากปากคำของแฮเรียต คริซคาวสกี อดีตนักจิตเวชวิทยาผู้ให้คำปรึกษาในทัณฑสถานเดดเปิดเผยว่าร่างกายของเรนนีมีรอยถูกลวกร้อยละ 90 และผิวหนังของเขาจะหลุดลอกออกถ้าถูกสัมผัส

แต่กรมราชทัณฑ์ก็ตอบกลับเฮมป์สเตดอย่างห้วนๆ ว่า "คำร้องทุกข์ของคุณถูกตีกลับโดยไม่มีปฏิบัติการใดๆ " แต่เฮมป์สเตดก็ยังคงส่งคำร้องไปยังกรมราชทัณฑ์อีกครั้งในหลายเดือนถัดมาและยังส่งคำร้องไปที่อื่นๆ อย่างหน่วยงานตรวจสอบด้านการแพทย์ละหน่วยงานตำรวจด้วย อย่างไรก็ตามนักจิตเวชวิทยาที่ฝ่ายงานสุขภาพจิตในเดดกลัวว่าการร้องเรียนในเรื่องนี้จะทำให้ฝ่ายผู้คุมโต้ตอบด้วยความไม่พอใจและทำให้ตัวเองอยู่ในความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เฮมป์สเตดถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เขามักจะถูกโต้ตอบว่าให้เลิก "ย้ำคิด" เกี่ยวกับเรื่องของเรนนีได้แล้ว จนกระทั่งในวันที่ 17 พ.ค. 2557 จากการช่วยเหลือของวินดี พี่/น้องสาวของเขาทำให้เรื่องนี้ขึ้นหน้าหนึ่งของสื่อไมอามีเฮราลด์

การเปิดโปงของฮาโรลด์ เฮมป์สเตด ทำให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ดำเนินการสืบสวนเพื่อพิจารณาว่าการเสียชีวิตของเรนนีเป็นส่วนหนึ่งของการข่มเหงผู้ต้องขังหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้คุมบางคนในฝ่ายงานสุขภาพจิตของเรือนจำ และราชทัณฑ์รัฐฟลอริดาก็มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบรวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือนจำและการเปลี่ยนระบบอื่นๆ เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคต

อย่างไรก็ตามบทความของเพรสระบุว่าเรื่องราวของเฮมป์สเตดอาจจะไม่ได้จบอย่างมีความสุขมากเท่าที่ควรในแง่การให้ความเป็นธรรมต่อเรนนี ถึงแม้ว่าจะมีการสืบสวนแต่ผู้คุมที่ถูกกล่าวหาว่าใช้น้ำร้อนกับเรนนียังไม่มีใครเลยที่ถูกตั้งข้อหา ยังไม่มีการระบุในข้อมูลประวัติว่ามีการกระทำผิดและยังไม่มีใครลาออก จนกระทั่งถึงต้นปีนี้ผลการชันสูตรเรนนีถูกส่งต่อไปให้อัยการของรัฐที่ตัดสินว่าการตายของเรนนีเป็น "อุบัติเหตุ" และไม่แนะนำให้ดำเนินคดีในเรื่องนี้

ในขณะที่เฮมป์สเตดก็เริ่มถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าจะขังเดี่ยวเขาหลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไมอามี เฮราลด์ จากนั้นก็นำตัวเฮมป์สเตดส่งต่อไปยังเรือนจำอื่นโดยมีการให้สถานะ "อยู่ภายใต้การคุ้มครอง" จากทัณฑ์สถานเดด แต่เขาก็จะถูกจัดจำในฐานะผู้เปิดโปงเรื่องการข่มเหงในคุกต่อไป

เฮมป์สเตดโดนโทษจำคุก 165 ปี จากที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ในบ้านคนอื่นหลายสิบกรณี เขาเกิดที่เซนตืปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา มีพ่อเป็นคนติดเหล้าและเสียชีวิตเมื่อเฮมป์สเตดอายุได้ 7 ปี แม่ของเขาต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อมีอาการทางจิตทำให้เฮมป์สเตดและพี่น้องของเขาต้องต่อสู้หาเลี้ยงตัวเองบนท้องถนน เฮมป์สเตดกล่าวโต้แย้งว่าเขาไม่ได้เป็นคนมีส่วนร่วมในการขโมยของในบ้านคนอื่นโดยตรง เป็นแค่คนซื้อขายของของโจรเท่านั้น

แต่ไม่ว่าเขาจะกระทำผิดจริงหรือไม่ก็ตามบทความของเพรสก็ระบุว่าการลงโทษจำคุกมากขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป แรนดัลล์ ซี เบิร์ก จูเนียร์ ผู้อำนวยการบริหารจากสถาบันความยุติธรรมฟลอริดาซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกล่าวว่าการตัดสินอาชญากรรมของเฮมป์สเตด ไม่ว่าจะมองในนิยามการตัดสินของใครก็ตามถือว่าเป็นการตัดสินก็เกิดจริงทั้งสิ้น

วินดีเป็นคนที่เฮมป์สเตดคุยด้วยเป็นคนแรกๆ หลังจากเรนนีเสียชีวิต วินดีเล่าถึงสภาพที่เฮมป์สเตดแสดงอาการหวาดกลัวจนตัวสั่นเธอบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นค่ำคืนนั้นจะติดตัวเขาไปตลอด

 

เรียบเรียงจาก

A Whistle-Blower Behind Bars Eyal Press, The New Yorker, 27-04-2016 http://www.newyorker.com/news/daily-comment/a-whistle-blower-behind-bars

Madness, Eyal Press, The New Yorker http://www.newyorker.com/magazine/2016/05/02/the-torturing-of-mentally-ill-prisoners

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท