Skip to main content
sharethis
'จาตุรนต์' ระบุ กกต. ออกกฎสุดกำกวมเปิดช่องให้มีการตีความในทางจำกัดเสรีภาพได้ง่าย ด้าน 'องอาจ' ชี้หลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน ส่วน 'อมร' โฆษก กรธ. ชมกฎเหล็ก กกต.ชัดเจน เชื่อไร้ปัญหา ปมเปิดช่องให้แจ้งความเอาผิดพวกบิดเบือน ชี้ ก.ม.เปิดช่องให้ฟ้องคืนคนแจ้งความเท็จได้
 
30 เม.ย. 2559 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ส่วนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง ทำได้- ทำไม่ได้ ถ้าให้คะแนนให้ได้แค่เกรดดี สำหรับการสอบระดับประถม คือผ่านแบบอ่อนมาก ที่ยังให้ผ่านเพราะอย่างน้อยยังทำให้เห็นว่าการแสดงความเห็นและเผยแพร่ความ คิดเห็นนั้นทำได้ ไม่ใช่อย่างที่มีการพูดกันปาวๆราวกับว่าใครก็พูดอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจพูดเหมือนกับแสดงความ เห็นไม่ได้เลย แต่หลักเกณฑ์นี้มีปัญหาที่เน้นเรื่องทำไม่ได้มากกว่าทำได้ เรื่องที่ควรจัดไว้ในประเภททำได้หลายข้อก็กลับเอาไปไว้ในประเภททำไม่ได้ เปิดช่องให้มีการตีความผิดๆ ในทางจำกัดเสรีภาพได้ง่าย กกต.บอกว่าการแสดงความเห็นต้องไม่กำกวม แต่หลักเกณฑ์หลายข้อของ กกต.กลับกำกวมเสียเอง
 
 
 
 
'องอาจ' ชี้หลักเกณฑ์ กกต. เกี่ยวกับประชามติยังไม่ชัดเจน
 
สำนักข่าวไทย รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ออกหลักเกณฑ์ที่ประชาชนจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำได้ 6 ข้อ และข้อห้าม 8 ข้อ ว่า เป็นการออกหลักเกณฑ์ที่ยังไม่สามารถทำให้กฎหมายประชามติมีความชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยได้ บางข้อความในกฎหมายยังมีความคลุมเครือ ที่อาจถูกนำไปใช้ตีความ เพื่อให้คุณ ให้โทษ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตลอดเวลา ไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่าที่ควร
 
นายองอาจ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในข้อที่ทำได้ทั้ง 6 ข้อ ก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการขยายความเนื้อหาสาระของกฎหมาย ให้เป็นถ้อยคำเชิงอธิบายความเพิ่มขึ้น เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำได้อยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีหลักเกณฑ์บอกว่าทำได้
 
นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนข้อห้าม 8 ข้อ ที่ทำไม่ได้ ก็เป็นข้อห้ามตามมาตรา 61 วรรคสอง ที่ห้ามการเผยแพร่ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ซึ่งถึงแม้ไม่ออกหลักเกณฑ์เป็นข้อห้ามก็ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว
 
“มีบทบัญญัติในกฎหมายประชามติที่ห้ามเผยแพร่ข้อความ “ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง” อาจมีความผิดถูกจำคุก 10 ปี ได้นั้น ยังถือว่าเป็นเนื้อหาที่อาจถูกตีความ เพื่อเล่นงานคนที่เห็นต่างได้ เช่น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ดี ปราบโกงได้ แต่มีผู้เห็นต่างว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังปราบโกงไม่ได้มากนัก การกล่าวเช่นนี้ของผู้เห็นต่าง จะถือว่าเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่” นายองอาจ กล่าว
 
นายองอาจ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ของ กกต.ที่ยังไม่ชัดเจน ย่อมทำให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอยู่ตลอดเวลา รวมถึง สื่อมวลชนก็อาจต้องทำหน้าที่บนความไม่แน่นอน ถึงแม้จะปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพด้วยความรับผิดชอบแล้วก็ตาม ดังนั้น ฝากให้ กกต.ช่วยพิจารณาว่า จะมีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนขึ้นอย่างไร เพื่อให้ผู้เห็นต่างอย่างสุจริตใจได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
'อมร' ชม กกต.ออกกฎเหล็กประชามติ 8 ข้อ
 
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่านายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ออกหลักเกณฑ์ในแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อว่า แม้ไม่มีกฏเหล็กดังกล่าวก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อะไรควร อะไรไม่ควรทำ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก  เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีข้อห้ามหลายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ กกต.ได้กำหนดเป็นข้อๆว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก ดังนั้นง่ายๆ ก็ขอให้ถามใจตัวเองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสุจริตตามหลักวิชาการก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะถือเป็นการวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ แต่ถ้ามีจิตมุ่งร้าย อาฆาตพยาบาท และหวังผลที่จะก่อให้เกิดปัญหา การใช้วาจาหยาบคาย ด่าทอ ก็อาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งได้ จึงขอให้พึงระวัง
 
เมื่อถามว่า กกต.เปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการกระทำผิดสามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ โดยที่ไม่ต้องร้องผ่าน กกต.นั้นจะทำให้มีปัญหาในเรื่องการตีความหรือไม่  นายอมร กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะการรับแจ้งความเป็นอำนาจของตำรวจอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีเงื่อนไขใดไม่ให้ตำรวจรับแจ้งความ หากเป็นเรื่องความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งโดยปกติหากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าตามกฏหมายอาญาทั่วไปก็สามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่านี่อาจจะเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการตีความเพื่อเอาผิดคนที่เห็นต่างนั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะโดยหลักแล้ว หากการแจ้งความเป็นเท็จ ผู้ที่ไปแจ้งความก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะกฏหมายได้เปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการฟ้องร้องคืนได้อยู่แล้ว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net