รายงาน: วิเคราะห์ ‘ผัง (การเมือง?)’ บทละครที่ไม่ต้องถามหาความจริง

จากกรณีที่ทหารบุกเข้าควบคุมตัวพลเรือนทั้งในกรุงเทพฯ และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา และมีการแถลงข่าวพร้อมแจ้งข้อหาว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมีการนำผังมาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลและการกระทำต่างๆ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐใช้ ‘ผัง’ เพื่อทำให้ประชาชน ‘เห็น’ เรื่องราวและตัวละครในการกระทำผิด ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลามากนัก แต่ผังเหล่านี้ไม่ใช่แค่ชุดของถ้อยคำ รูปภาพ และลูกศร มันยังมีบางสิ่งซุกซ่อนเพื่อก่อรูปความคิดความเชื่อทางการเมืองของคนที่ ‘เห็น’ ผัง
หากไล่ดูเหตุการณ์ทางการเมืองและคดีความสำคัญๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ภาครัฐผลิตผังสำคัญๆ ออกมาอย่างน้อย 7 ผัง

ผังล้มเจ้า 26 เมษายน 2553
ในช่วงการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. วันที่ 26 เม.ย. 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ได้จัดแถลงข่าว โดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในขณะนั้น) โฆษกกองทัพบก ซึ่งในเวลานั้นเป็นโฆษก ศอฉ. ได้แจกแผนผังแก่ผู้สื่อข่าว โดยต่อมาถูกเรียกว่า ‘ผังล้มเจ้า’ ในผังมีการเขียนรายชื่อนักการเมือง แกนนำคนเสื้อแดง บุคคลในวงการต่างๆ และโยงใยว่ามีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใด และเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร

ต่อมามีบุคคลที่ถูกพาดพิง เช่น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ฟ้องหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกในเวลานั้น จากนั้น วันที่ 22 มี.ค. 2554 ศาลได้นัดพร้อมเพื่อประนอมข้อพิพาท โดย พ.อ.สรรเสริญ ให้การต่อศาลว่าเอกสารที่นำไปแจกมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง โดยต่อมาหลังฟังคำชี้แจงสุธาชัยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว
 

ผังขอนแก่นโมเดล 23 พฤษภาคม 2557
หลังจากการรัฐประหารได้ 1 วัน เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 22 คน ถัดจากนั้นอีก 4 วันก็มีการเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คน และขยายผลจับกุมเพิ่มอีก 2 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดมีอายุอยู่ในช่วง 55-70 ปี และเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เจ้าหน้าที่รัฐเรียกผู้ต้องหากลุ่มนี้ว่า ขอนแก่นโมเดล โดยเชื่อว่าพวกเขาตระเตรียมการโดยสะสมกำลังพล อาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินเพื่อดำเนินการตามแผนการสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและเพื่อก่อการร้าย โดยอัยการยื่นฟ้อง 9 ข้อหากับผู้ต้องหาทุกคน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ผังนี้ยังเชื่อมโยงไปยังผังต่อไปคือ

ผังป่วน ‘ปั่นเพื่อพ่อ’ 26 พฤศจิกายน 2558
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ตำรวจนำตัวผู้ต้องหา 2 รายคือ จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ และณัฐพล ณ วรรณ์เล มาแถลงข่าวการจับกุม และแสดงแผนผัง ‘กลุ่มผู้ต้องหาร่วมกันหมิ่นสถาบัน’ พร้อมระบุว่าทั้ง 2 คน รวมทั้งพวกที่ออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวอยู่อีก 7 คน ร่วมกันส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียในลักษณะหมิ่นสถาบันฯ และมีการวางแผนจะก่อเหตุร้าย สร้างความวุ่นวายในช่วงเทศกาลสำคัญคืองานขี่จักรยานปั่นเพื่อพ่อ โดยผู้ต้องหา 4 คนจากจำนวน 9 คน มีชื่ออยู่แล้วในผัง ‘ขอนแก่นโมเดล’ ปี 2557 ทั้งนี้ พบว่าธนกฤต ทองเงินเพิ่ม 1 ใน 9 ผู้ต้องหา ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม 2557 จากกรณีขอนแก่นโมเดล เมื่อถูกประกันตัวก็ถูกอายัดตัวและกักขังต่อในคดีที่อดีตภรรยาแจ้งความข้อหาปลอมแปลงเอกสาร โดยในขณะที่มีการแถลงข่าว ธนกฤตยังคงอยู่ในเรือนจำจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัวพันกับคดีร้ายแรงนี้
 

ผังเครือข่ายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ 25 พ.ย. 2557
พนักงานสอบสวนชุดเฉพาะกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขออนุมัติศาลอาญาเมื่อ 22 พ.ย. 2557 ขอหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. และเครือข่าย โดย พล.ต.พงศ์พัฒน์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย, ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนโดยแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง, ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดฐานรับของโจร จนศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกรวม 36 ปี 3 เดือน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดออกจากยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา ต่อมาในวันที่ 25 พ.ย. 2557 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. ได้แถลงข่าวกรณีการจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และพวก โดยได้เปิดวีดิทัศน์แสดงภาพระหว่างค้นบ้าน พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ แสดงภาพทรัพย์สินที่ตรวจยึดและเปิดเผยแผนผังโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกว่า ‘เครือข่ายกระทำความผิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์’

 

ผังเครือข่ายบรรพต 2 กุมภาพันธ์ 2558
วันที่ 2 ก.พ. 2558 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. ในเวลานั้น แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 6 คนทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยการเผยแพร่คลิปและข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนเฟซบุ๊ก โดย พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า ทั้งหกเป็นสมาชิกของ ‘เครือข่ายบรรพต’ ซึ่งหมายถึงหัสดิน อุไรไพรวรรณ ผู้ใช้นามแฝง ‘บรรพต’ จัดรายการออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายหัสดินได้ในวันที่ 9 ก.พ. 2558 หลังการจับกุมมีการแถลงข่าวและเผยแพร่แผนผังแสดงความสัมพันธ์ของเครือข่าย

ผังกรณีระเบิดศาลอาญา 17 มีนาคม 2558
จากเหตุการณ์ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 7 มี.ค. 2558 ที่มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ปาระเบิดเข้าไปภายในศาลอาญารัชดา จนนำไปสู่การจับผู้ต้องหาเกือบ 20 คน โดยหนึ่งในนั้นมีณัฐฏธิดา มีวังปลา พยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งคดีตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
 

ผังกรณีหมอหยอง 28 กันยายน 2558
เกิดเหตุการณ์จับกุมหมอหยองหรือสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หมอดูชื่อดัง ในคดี 112 แอบอ้างเบื้องสูงเพื่อหาผลประโยชน์ โดยการกินส่วนต่างจากการทำเข็มกลัดในงาน Bike for Mom และ Bike for Dad  ทางเจ้าหน้าที่รัฐทำผังออกมาชุดหนึ่งเพื่อแสดงความเกี่ยวโยงระหว่างหมอหยองและบุคคลต่างๆ ซึ่งคดีดังกล่าวจบลงเมื่อสุริยันเสียชีวิตภายในเรือนจำพิเศษภายใน มทบ.11 จากเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด
 

ผังเครือข่ายกลุ่มผู้ต้องหากระทำผิดต่อความมั่นคงตาม ม.116 27 เมษายน 2559
และผังล่าสุดคือผังเครือข่ายกลุ่มผู้ต้องหากระทำผิดต่อความมั่นคง ตาม ม.116 ที่เพิ่งถูกจับกุมไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย.
ผังคือละครที่สร้างความคิดทางการเมือง โดยไม่ตั้งคำถาม

เมื่อมองผังเหล่านี้ผ่านแว่นของการละคร พบแง่มุมที่น่าสนใจว่า การสร้างผังแต่ละครั้งออกมาให้ประชาชนดู อาจเป็นการใช้องค์ประกอบของละครเรื่องหนึ่งเพื่อสร้างความรู้สึกและก่อรูปความคิด โดยภาสกร อินทุมาร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เวลาวิเคราะห์บทละครจะมอง 3 องค์ประกอบคือ ธีมหรือแก่นของเรื่อง, พล็อต และคาแรกเตอร์หรือตัวละคร ซึ่งผังเหล่านี้ก็ใช้โครงสร้างทางการละครไม่ต่างกัน

โดยแก่นของละครคือสิ่งที่สื่อว่าละครเรื่องนี้ต้องการบอกอะไรแก่ผู้ดู พล็อตคือชุดของเหตุการณ์ย่อยๆ ต่างๆ ที่นำมาจัดวางด้วยวิธีการหลากหลายแบบเพื่อจะให้ธีมมีความชัดเจน ให้สิ่งที่ต้องการจะพูดปรากฏเด่นชัด เมื่อดูละครจนจบเรื่อง เพื่อคนดูจะเข้าใจแก่นของเรื่อง และในชุดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นพล็อตก็มีการกระทำต่างๆ และมีตัวละครซึ่งเป็นผู้กระทำ

“เราก็จะเห็นว่า ในผังจะมีชุดเหตุการณ์ มีตัวละครหรือบุคคล และมีเหตุการณ์ที่ตัวละครนั้นกระทำ และการกระทำของแต่ละตัวละครนั้นจะถูกจัดวาง ร้อยเรียงเป็นพล็อต เป็นโครงเรื่องว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการล้มนั่น ล้มนี่”

ภาสกรอธิบายเพิ่มเติมว่า โครงสร้างแบบนี้มีในวรรณกรรมเช่นกัน แต่สิ่งที่ละครต่างกับวรรณกรรมก็คือละครทำให้เห็นเป็นภาพปรากฏหรือ Visualization ของความคิด แนวคิดบางอย่าง ซึ่งในกรณีของผังคือการเอามาทำให้เห็น มีหน้ามีตา มีชื่อแบบนี้ๆ มีพล็อตแบบนี้

“ผังคือการ Visualization ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ว่าคนนั้นคนนี้จะล้มนั่นล้มนี่ เพราะการเห็นมันส่งผลมากกว่า เหมือนยืนยันว่ามีการกระทำนี้จริง นี่คือการใช้โครงสร้างแบบละครประกอบสร้างตัวบทขึ้นมา เพื่อจะบอกว่ามีคนกลุ่มนี้ ทำสิ่งนี้ เพื่อการนี้ และมีจริงๆ ผมเอาให้คุณเห็นเลย”

ประเด็นสำคัญคือละครทำให้เกิดความรู้สึกร่วม เช่น แม่ค้าที่เกลียดตัวอิจฉาในละครโทรทัศน์ ซึ่งแม่ค้าก็รู้อยู่ว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็มีความรู้สึกร่วมไปด้วย ดังนั้น การกระทำแบบนี้จึงไม่ได้อยากให้คนไตร่ตรองว่าจริงหรือไม่จริง แต่อยากให้คนรู้สึกว่าคนคนนี้ไม่ดี ซึ่งกรณีผังล้มเจ้าจะค่อนข้างชัดเจน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ผังล้มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจยังไม่ได้พาไปสู่ความรู้สึกขนาดนั้น แต่การใช้วิธีการนี้ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึก ให้เชื่อ โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริง เพราะเมื่อผู้คนรู้สึกหรืออินแล้ว ก็จะลืมตั้งคำถามว่ามันเป็นความจริงหรือไม่

“เป้าหมายก็คือความคิดทางการเมือง เพื่อให้คนรู้สึกและนำไปสู่ความเชื่อว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งกำลังกระทำการนี้อยู่ ดังนั้นจึงใช้องค์ประกอบทางตัวละครมาสร้างตัวบท ผังนี่คือละครเรื่องหนึ่งที่เชฟความคิดทางการเมือง แต่ไม่นำไปสู่การตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท