เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สรุปการเสวนา ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ผ่านหัวข้ออนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ "จงหวังกันต่อไป"

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี  
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

 

00000

อรรถจักร สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากการนั่งฟังทั้งหมด อยากจะพูดถึงตุลาการ 'อ' ภิวัตน์ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต บทสรุปจากการสัมมนา

สิ่งแรกที่รู้สึกคือสังคมนี้มรดกเก่ายังมีพลังมาก ผมเคยได้ยิน อ.เบน พูดอะไรทำนองนี้มาครั้งหนึ่งโดยเปรียบเทียบกับ 3 ประเทศ มี ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซียว่า มีมรดกบางอย่างที่ครอบอยู่ ผมฟังอยู่ผมก็รู้สึกอย่างนั้น

ผมคิดว่าการอภิปรายวันนี้ของทุกๆ ท่านทำให้เราเข้าใจคำว่า "ตุลาการภิวัตน์" ชัดเจนขึ้น หลังจากที่เราก็คลุมเครือกันมานานพอสมควร

อันแรกที่ทำให้เราเห็นชัดขึ้นก็คือว่า Judicialization เกิดขึ้นมากมาย มีความหลายหลายบนโลกใบนี้ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิด Judicialization ขึ้นมาหลายพื้นที่ หลายประเทศในโลก แล้วก็มีความแตกต่างหลากหลายกัน แล้วก็ทำหน้าที่จัดการสังคมการเมืองไม่เหมือนกัน อาจารย์สมชายหรืออาจารย์ทามาดะเองก็ชี้ให้เห็นว่ามีหลายมุมมาก อาจารย์ทามาดะชี้ให้เห็นว่าบางแห่งก็คุ้มครองคนส่วนน้อยหรือบางส่วนก็ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้นถ้าหากเราจะเข้าใจตุลาการภิวัตน์ หรือ Judicialization เราคงจำเป็นต้องเข้าใจความเฉพาะของโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ แม้ว่าด้านหนึ่งจะมีกรอบกว้างๆ ว่าตุลาการเข้ามายุ่งกับการเมือง นี่คือกรอบกว้างสุด แต่ความแตกต่างของการเข้าไปยุ่ง เข้าไปเกี่ยวมันขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

กรณีไทย มีการเกิดตุลาการภิวัตน์ทับซ้อนกันมากมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด มันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองทางวัฒนธรรมที่ซ้อนทับและสัมพันธ์กันหลายมิติอย่างเห็นได้ชัด เช่น อาจารย์กฤษณ์พชรพูดถึงเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ตุลาการ จากเดิมที่เป็น nobody ตึกก็ไม่มี ส้วมก็ไม่มี ก็เปลี่ยนมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ตุลาการคนดี ผู้ดี ผู้รู้ ความจงรักภักดี คำถามคือทำไม ทำไมต้องสร้างแบบนี้ สิ่งนี้จะเข้าไปสัมพันธ์กับส่วนที่สอง

ส่วนที่สองคือว่าการเกิดอัตลักษณ์ตุลาการซึ่งเป็นการต่อสู้ชุดหนึ่งของภายในตุลาการเอง สัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าการเมืองวัฒนธรรมของสังคม คือ ในช่วงการเปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่อยมา อาจเรียกตรงนี้ว่าเป็นกระบวนการ making a moral society ทุกรัฐที่เกิดขึ้น รัฐใหม่จะต้องสร้าง moral society ขึ้นมาแน่ๆ กรณีญี่ปุ่นสร้างแบบหนึ่ง กรณีไทยเราสร้างแบบหนึ่ง อันเนื่องมาจากการก่อรูปของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยและความต่อเนื่องของรัฐไทยไม่มีการแตกหักทางความคิด จึงทำให้ชนชั้นนำไทยที่เริ่มเป็นผู้ก่อสร้างรัฐใหม่ ในช่วงรัชกาลที่ 5ได้สร้าง moral สร้างสังคมที่เป็นจริยธรรมแบบพุทธศาสนา

บนกระบวนการนี้จึงเป็นสิ่งที่นำมาสู่สิ่งที่ตุลาการเองก็ยึดโยงตัวเองเข้ากับพุทธศาสนา ยึดโยงเข้ากับ manner หรือมารยาทแบบผู้ดีที่ถูกสร้างขึ้นมา รวมทั้งเป็นผู้รู้ในกฎหมาย และในท้ายที่สุดที่ถูกเน้นสำคัญที่สุดที่เป็นปฏิสัมพันธ์กับการเมืองช่วงหลัง คือ ความจงรักภักดี ดังนั้นการเน้นแบบนี้มันจึงแยกไม่ได้จากกระบวนการที่เราเรียกว่า making a moral society

นึกเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เราจะพบความแตกต่างกับญี่ปุ่นคนละชุด ปฏิรูปเมจิ บรรดาปัญญาชนก็เข้ามาด่าศาสนา ด่าขงจื้อว่าเป็นพวกโง่ ด่าทุกศาสนา เพื่อสถาปนาจริยธรรมชุดหนึ่งขึ้นมา แล้วจริยธรรมนี้ก็เป็นตัวเข้ามากำกับรัฐ เข้าไปกำกับอื่นๆ

แต่กรณีไทย เนื่องจากเราไม่แตกหักกับอะไรเลย ชนชั้นนำเราครองสถานะเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่นิพพาน ก็สามารถสืบทอดตรงนี้มา

ดังนั้นความเป็นคนดี ผู้ดี ผู้รู้ ความจงรักภักดีจึงอยู่ในกรอบศาสนาพุทธเป็นหลัก อันนี้เป็นการต่อสู้อันแรกซึ่งสัมพันธ์กันระหว่างอัตลักษณ์ตุลาการและการเมืองวัฒนธรรม พร้อมกันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือตุลาการภิวัตน์มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดพร้อมๆ กับการยอมรับจากคนข้างล่าง ถ้านึกถึงสิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรพูดถึงตุลาการภิวัตน์สามภาค สิ่งสำคัญคือเราจะเข้าใจตุลาการภิวัตน์ นอกจากเราเข้าใจปฏิบัติการ ซึ่งดีมากๆ อาจารย์ปิยบุตรได้พูดได้ชัดเจนว่าเขาปฏิบัติการอะไร  สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจคนข้างล่างว่ายอมรับได้อย่างไร คนอย่างอาจารย์ปิยบุตรลุกขึ้นมาวิจารณ์ แต่คนที่ยอมรับมีเยอะกว่า เยอะกว่าจนกระทั่งทำให้เขาสามารถทำได้

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอาจารย์สายชลได้ตอบตรงนี้ว่า การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมและชนชั้นกลาง รัฐจัดการสังคมไทยในช่วงแรกๆ จัดการเฉพาะส่วนที่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยับตัวเรื่อยๆ ชนชั้นกลางที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในหมู่บ้านห่างไกล เขาก็ได้สร้างมรดกในการมีชีวิตอยู่เขาแบบหนึ่ง แต่เมื่อขยับตัวมาเป็นชนชั้นกลาง ก็จัดความสัมพันธ์ของเขากับรัฐ นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ทามาดะใช้ในทฤษฎีเรื่องอำนาจกับอิทธิพล รวมทั้งที่อาจารย์สายชลนำมาพูด ชนชั้นกลางก็ดึงหรือพยายามที่จะสร้างการคานอำนาจ หรือดุลกันระหว่างอำนาจกับอิทธิพลเสมอมา ถ้าดุลได้เมื่อไรตัวเองก็อยู่ได้สบายขึ้น คนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ เล่นการเมือง คืออยู่กับอำนาจ แต่ไม่เคยไว้ใจอำนาจ มรดกอันนี้ก็ถูกชนชั้นกลางหยิบขึ้นมาใช้ แล้วก็ยอมรับอยู่ในระบบตรงนี้ตลอดเวลา เมื่อชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้น เข้ามาสู่ในพื้นที่การเมืองของรัฐมากขึ้น ในด้านหนึ่งเขาก็ยอมรับกับ moral ที่รัฐสร้างขึ้น ที่อิงอยู่กับศาสนา อิงอยู่กับอื่นๆ

กรณีคุณประมาณ ชันซื่อ ซึ่งเป็นบุคลิกพิเศษก็ใช้ระบบอุปถัมภ์แบบชาวบ้าน โดยไปขอธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ให้ข้าราชการตุลาการกู้ซื้อบ้านในอัตราที่ถูกมากๆ นี่คือระบบอีกชุดหนึ่ง moral แบบนี้ก็เป็น moral แบบไทย 

ในด้านหนึ่งชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยายตัวมาเป็นระลอกๆ ก็ยอมรับ moral ที่รัฐสร้างคือ ศาสนาพุทธ คนดี ความสูงส่งของอำนาจรัฐ อีกด้านก็ใช้อำนาจกับอิทธิพลเข้ามา เหตุผลหลักที่อ.สายชลพูดคือ ความอ่อนแอของชนชั้นกลางที่ไม่สามารถจะจัดองค์กรได้ เราเพิ่งมีพื้นที่สาธารณะที่เราสื่อสารกันได้กว้างจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง นสพ.ไทยรัฐช่วง 2510 ยอดขายแค่สองแสนเล่มต่อประชากรทั้งประเทศ กระจอกมาก แต่เดี๋ยวนี้มันขยาย

ความอ่อนแอของชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยาย มันจึงทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถเกาะกลุ่มได้ จึงต้องเล่นแบบที่เคยเล่น คือใช้อิทธิพลคานอำนาจ บางทีก็เอาอำนาจมาคานอิทธิพล

ผมคิดว่าบนฐานมรดกเก่าจึงถูกใช้เข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เวลานักรัฐศาสตร์พูดถึงเรื่องวงจรอุบาทว์ ผมคิดว่าลึกลงไปของวงจรอุบาทว์คือยุทธวิธีของการคานอำนาจของชนชั้นกลางนี่เอง ชนชั้นกลาง-รัฐประหาร Happy Honeymoon อยู่พักหนึ่ง เริ่มรู้สึกอึดอัดก็ดึงเอาพวกอื่นมา เอานักการเมือง เอาการเลือกตั้งมา เขี่ยทหารออกไป อยู่นักการเมืองเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ก็ดึงทหารกลับมา

ถ้าลึกลงไปนี่คือยุทธวิธีการคานอำนาจของชนชั้นกลาง มรดกเก่าแบบนี้ทำงานในพื้นที่การเมืองระดับชาติอย่างเข้มข้นตลอดมา ทั้งหมดก็คือมุ่งปกป้องอำนาจของชนชั้นนำ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรพูด ซึ่งผมเห็นด้วยคือ ข้อดีในข้อเสียคือ เริ่มเกิดความขัดแย้งทางความคิดมากขึ้น มันไม่ง่ายที่จะรักษาสถานะตุลาการไว้แบบเดิม

อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการคือ การต่อสู้ยังไม่จบ อาจารย์ปิยบุตรพูดชัดเลยว่า ตุลาการภิวัตน์ก็ยังรอจังหวะเวลาที่จะแสดงบทบาท แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อใช้ดาบต่อไป ก็คือการรัฐประหาร

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปคือ เมื่อกี้เรากังวลกันว่าอนาคตจะคืออะไร ที่ผมพูดถึงชนชั้นนำทั้งหมดฟังดูเหมือนเขาทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน ผมคิดว่าข้อดีในข้อเสียอันหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งในช่วงการต่อสู้ 10 ปีผมคิดว่าสิ่งหนึ่งก็คือว่าไม่มี closed system ในโลกนี้ต่อให้ระบบวิทยาศาสตร์ดีขนาดไหนก็ยังไม่มีระบบปิดที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราคงจะมีความหวังได้ แม้ว่าอาจจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ก็ไม่เป็นไร หวังไว้ก่อน

ผมเสนอว่า จริงๆ การก่อรูปของชนชั้นนำที่ครองประเทศไทยมา และมีเครื่องมือที่ใช้เยอะแยะเลย เครื่องมือหนึ่งก็คือศาล เครื่องมือที่สองก็คือทหาร ขณะเดียวกันผมใช้คำเรียกการก่อรูปของชนชั้นนำแบบนี้ว่า Party of order นักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งใช้คำว่า network ผมคิดว่าพอพูดถึง network ดูเหมือนกับว่าทั้งหมดเกาะกันแน่นและเคลื่อนไปในทิศทางเดียว แต่เราจะพบว่าในท่ามกลางการสืบทอดชนชั้นนำไทย ผมคิดว่าการสืบทอดของชนชั้นกลางไทยที่สืบทอดกันมานาน สร้างระบบเกียรติยศขึ้นมาในห้าทศวรรษ ได้ผนวกคนเข้ามาร่วมเยอะแยะ เมื่อพูดถึงการผนวกรวมคนเข้ามาเยอะแยะ ลองนึกถึง กปปส. ผมคิดว่าไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน อาจจะมี Consensus บางอย่างที่ทุกคนร่วมกันในจังหวะสู้รบ แต่ในแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกัน ในความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงมานาน ทำให้เกิดการสร้างความเห็นร่วมกันชุดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งกว้างขวางมากพอสมควร กว้างขวางจนผลักดันให้คนจำนวนหนึ่งไปเป่านกหวีด ไปทำอะไรได้เยอะแยะเลย

แต่อย่างไรก็ตามผมปฏิเสธ network ด้วยเหตุผลว่าผมไม่คิดว่ามันเป็น network ผมคิดว่าแต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระภายใต้สิ่งที่เรียกว่า consensus ที่สร้างร่วมกัน

ผมคิดว่าการก่อรูปของชนชั้นนำอย่างน้อยห้าทศวรรษนี้ มันทำให้เกิด Party of order และใน Party of order นี้แต่ละหน่วยมีอิสระในการเคลื่อนไหวที่อยู่ภายใต้ consensus ใหญ่ๆ ชุดหนึ่ง ตรงนี้เองด้านหนึ่งก็คือว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่เราต้องคิดก็คือว่า ความเปลี่ยนแปลงใน Party of order มันมี ผมไม่คิดว่า Party of order จะสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันที่เป็นชุดเดียวกันได้ตลอด

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน Party of order ที่สามารถสนับสนุนโปเลียนให้ขึ้นมามีอำนาจมีชีวิตอยู่แค่ช่วง 10 ปีกว่าเอง หรือ Party of order ที่เกิดขึ้นในบราซิล ก็คือกลุ่มฝ่ายขวา เข้ามา สร้าง consensus ร่วมกันและเคลื่อนไหวกัน ท้ายสุดมันแตก

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงใน Party of order ผมเชื่อว่ามี หากเราศึกษากันดีๆ ระหว่างศาลกับทหารจะเป็นพันธมิตรกันอย่างนี้ยาวนานต่อไปไหม ผมไม่รู้แต่ผมไม่คิดว่าจะมันแน่นกัน อาจจะแน่นกันวันนี้ แต่วันข้างหน้าไม่แน่น ในทหารเองแน่นไหมผมว่าไม่ บูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญจะประสานกันได้ยาวนานขนาดไหน คอยดูเรื่อง ผบ.ทบ.คนต่อไป

ในความเปลี่ยนแปลง Party of order ผมคิดว่าเราคงต้องตามและมันอาจเป็น crack เป็นรอยเปลี่ยน รอยแตกที่จะทำให้เราเห็นอนาคตบางส่วนที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนักศึกษาอย่างเดียว เกิดขึ้นเพราะมีรอยแตกของ กฤษณ์ สีวะรา ฯลฯ  6 ตุลาก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเป็นเนื้อเดียวกันของทหาร สงัด ชลออยู่เข้าเฝ้าในหลวงแล้วก็พูดด้วยว่า มีคนจะปฏิวัติก่อน

Party of order มีรอย crack อยู่ทั่วๆ ไป แต่ในบางยามมันอาจจะสร้างร่วมกันได้

ส่วนที่สอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากๆ คือ "สาธารณะ" ผมคิดว่าสาธารณะในช่วงสิบปีมันมีความเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่ามันเริ่มทำให้คนเห็นอะไรมากขึ้น

อีกอันหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของ Party of order ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ของกลุ่มภายใน Party of order ท้ายสุดแล้วจะไปเปลี่ยน consensus ความเห็นร่วมบางประการที่จะทำให้เราเห็นอนาคตมากขึ้น ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเราคงต้องเข้าใจให้มากขึ้น อาจจะต้องศึกษากันในหลายมิติที่ประกอบกันให้เกิดตุลาการภิวัตน์ และท้ายสุดแล้วเราก็อาจทำให้ตุลาการภิวัตน์มีคุณค่าขึ้นมาบ้างก็ได้

ตัวอย่างที่อาจารย์สมชายยกตัวอย่าง ซึ่งผมคิดว่าน่าคิดต่อ คือกรณีของผู้พิพากษาที่ช่วยคดีคุณจินตนา ขณะเดียวกันก็ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการทำให้ศาลขยายเวลา และเขาก็อ้างว่าเขาเป็นผู้พิพากษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การอยู่ภายใต้อัตลักษณ์แบบนี้กลับทำให้คนบางคนสามารถคิดอะไรบางอย่างหรือรู้สึกอะไรบางอย่าง หรือมีความกล้าในการกระทำอะไรบางอย่างที่หักออกจากขนบได้ ดังนั้น การอ้างว่าเป็นผู้พิพากษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็อาจจะเปิดโอกาสให้สิ่งที่เราเรียกว่า Party of order มีอิสระโดยสัมพัทธ์อีกแบบหนึ่งขึ้นมาก็ได้

ผมฟังแล้วรู้สึกว่าตรงนี้มันน่าสนใจ หมายถึงว่า ชุดหนึ่งที่เราคิดว่ามันคุมมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ มันคุมไม่ได้สมบูรณ์ มันเปิดช่องให้มนุษย์บางคนใช้อัตลักษณ์อันนี้ไปทำอะไรบางอย่าง และทำให้เขาภาคภูมิใจ และกระทำในสิ่งที่มองจากสังคมชาวพุทธ มันงดงามมากในการช่วยผู้หญิงคนหนึ่ง

ดังนั้นเราคงต้องละเอียดมากขึ้น และเข้าใจในความซับซ้อนต่างๆ มากขึ้น รวมถึงเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสังคม เข้าใจความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของชนชั้นกลาง สรุปก็คือจงหวังกันต่อไป Waiting for Godot  มันจะมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ขอบคุณมากครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท