ภาคประชาสังคมเผย ถูกปฏิเสธเข้าร่วมให้ความเห็นโรดแมปฯ ทรัพย์สินทางปัญญา

3 พ.ค. 2559 กรณี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์และส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็น ขอเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปทรัพย์สินทางปัญญา 20 ปี (2559 – 2579) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมวิมวาทิตย์ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด (เช้าวันนี้) มูลนิธิฯ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วม โดยที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ แจ้งว่าเป็นการประชุมเฉพาะหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมระบุว่า ได้แสดงความจำนงขอเข้าร่วมก่อนตั้งแต่กลางเดือนเมษายน

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กังวลว่าร่างโรดแมปฯ ฉบับดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์การผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลให้ยามีราคาแพง ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น มากกว่าที่จะช่วยแก้ไขปัญหา

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยาของมูลนิธิฯ กล่าวว่า ร่างโรดแมปนี้เน้นการเอื้ออำนวยให้จดสิทธิบัตรได้ง่ายและมากขึ้น แต่ไม่ได้ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับการปกป้องประโยชน์สาธารณะ

“ตัวอย่างของความไม่สมดุล คือ คำขอรับสิทธิบัตรยาและสิทธิบัตรยาจำนวนมากที่เข้าข่ายเป็นคำขอฯ หรือสิทธิบัตรแบบด้อยคุณภาพและไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ร้อยละ 84 ของจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรยาและร้อยละ 74 ของสิทธิบัตรในช่วงปี 2543 ถึง 2553  อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การที่ไม่สามารถใช้มาตรการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนได้รับสิทธิบัตร (pre-grant opposition) ที่มีอยู่ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดในเชิงกฎหมายและฐานข้อมูลและการประกาศโฆษณาที่ไม่แน่นอนและคลาดเคลื่อน จึงส่งผลให้มีสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพจำนวนมากเกิดขึ้น” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการเข้าถึงยาเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกังวลและเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและแก้ไขมาตลอด แต่การกำหนดและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปฯ กลับไม่มีภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือกลุ่มผู้ป่วยเข้าร่วมให้ความคิดเห็น

เฉลิมศักดิ์ ยังแสดงความคิดเห็นว่า ร่างโรดแมปฯ ขาดหลักการสำคัญในเรื่องที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่รับจดสิทธิบัตร เพื่อที่อุตสาหกรรมภายในประเทศจะได้เรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรไปจะได้สิทธิผูกขาดตลาดนาน 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร

เขากล่าวว่า ตัวอย่างของการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์จริงๆ คือ การสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทย  ที่ผ่านมา บริษัทยาข้ามชาติเพียงแต่จดสิทธิบัตร ขึ้นทะเบียนยา และจำหน่ายยาเท่านั้น หรือไม่ก็เพียงมาบรรจุหีบห่อในประเทศเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีอะไรให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ

“สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญอีกอย่างในเรื่องระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นธรรม แต่สังคมส่วนใหญ่มักจะไม่พูดถึง” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ร่างโรดแมปฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ใช้ข้อตกลงสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ข้อตกลงทริปส์) ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาจำเป็น  ตัวอย่างมาตรการในข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมา คือ การฟ้องคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร การนำมาตรการยืดหยุ่น เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล ฯลฯ มาใช้

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อร่างโรดแมปฯ ดังนี้
1. ในการทำโรดแมปฯ ควรจะแยกแยะประเด็นเรื่องยาและเวชภัณฑ์ออกมาต่างหาก ทั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงและโต้แย้งกันมาก และยาและเวชภัณฑ์ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความเปราะบางแตกต่างจากสินค้าประเภทอื่น และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก

2. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรศึกษาข้อมูลจากฐานเพื่อให้ทราบว่าผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเรื่องยาและเวชภัณฑ์ คือ บริษัทต่างชาติหรือบริษัทของคนไทย ทั้งนี้ จะได้เห็นสัดส่วนที่แท้จริงว่าประเทศไทยพึ่งพาและนำเข้ายาและเวชภัณฑ์มากน้อยเพียงไร และภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสร้างความเข้มแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนายาต่อไปอย่างไร โดยไม่ให้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยและพัฒนายาเองในประเทศให้เป็นจริงได้

3. ขอสนับสนุนให้เร่งแก้ไขและปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้มีความเป็นปัจจุบัน ถูกต้องแม่นยำ และเข้าถึงง่ายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคสาธารณสุขและภาคอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในประเทศ ให้สามารถนำเข้าหรือผลิตยาจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทันเวลา

4. กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องปรับปรุงคุณภาพในการตรวจสอบและพิจารณาให้สิทธิบัตรยากับผู้ขอรับสิทธิบัตร โดยทำคู่มือการตรวจสอบคำขอฯ มาให้อย่างเคร่งครัดและควรทบทวนและปรับปรุงให้คู่มือมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิบัตรและการเข้าถึงยาจำเป็น และสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยา เพื่อลดและขจัดปัญหาการผูกขาดตลาดผ่านคำขอฯ และสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ

5. การวัดผลสำเร็จของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรมุ่งเน้นแต่จำนวนคำขอรับสิทธิบัตรหรือการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่ควรกำหนดให้จำนวนคำคัดค้านคำขอฯ และคำคัดค้านที่เป็นผลเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จด้วย  ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลว่า เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่มี พ.ร.บ. สิทธิบัตร มีการยื่นคำคัดค้านและคำคัดค้านที่เป็นผลจำนวนเท่าไร เพื่อเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นเพื่อบอกว่ากลไกสร้างความสมดุลนี้ทำงานเป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นการผลิตยาชื่อสามัญให้เข้ามาแข่งขันในตลาดได้มากน้อยเพียงไร  ทั้งนี้ การกระตุ้นให้เกิดการผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญ ถือว่าช่วยให้เกิดการวิจัยและพัฒนายาภายในประเทศและการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ยามีราคาถูกลง

6. การสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรพูดในมุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียว แต่ควรเน้นในอีกด้านหนึ่ง ที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องคุ้มครองสาธารณประโยชน์ด้วย เช่น การคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง การนำมาตรการยืดหยุ่นภายใต้ พ.ร.บ. สิทธิบัตร และข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือข้อตกลงทริปส์ มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงบทบาทของระบบทรัพย์สินทางปัญญาในการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศที่ด้อยกว่าสามารถเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้

7. กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรตื่นตระหนกต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่ใช้กลไกรายงานประจำปีมาตรการพิเศษ 301 ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้บังคับเอาฝ่ายเดียว มาต่อรองข่มขู่ให้ประเทศคู่ค้าที่ด้อยกว่ายอมรับเงื่อนไขที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก  แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังไม่พอใจและต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ อันเป็นข้อตกลงร่วมของนานาประเทศในเรื่องการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา  ดังนั้น ขอสนับสนุนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่ายอมรับข้อเสนอแนะของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่เกินเลยกว่าข้อตกลงทริปส์ ในรายงาน 301 และขอให้ฟ้องเรื่องการใช้มาตรการ 301 ที่ไม่เป็นธรรมต่อองค์การการค้าโลก

8. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรมีจุดยืนที่ชัดเจนและเข้มแข็ง ที่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ ที่เสนอในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่เกินเลยไปกว่าข้อตกลงทริปส์ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ฯลฯ หรือเสนอแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านั้น

9. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข นำมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงทริปส์มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา และควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาตรการยืดหยุ่นเหล่านั้นมาใช้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและต้องการนำมาตรการนั้นมาใช้

10. ในโรดแมปฯ ควรระบุให้มียุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันที่จะทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นจริง ที่จะทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศได้เรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด โดยเฉพาะในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ และเป็นความชอบธรรมที่ผู้ได้สิทธิบัตรไม่ควรยอมรับเพื่อแลกกับผลประโยชน์จากการผูกขาดตลาด 20 ปี ดังตัวอย่างกฎหมายในอินโดนีเซีย ที่ผู้นำเข้าและจดสิทธิบัตรยาจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โดยการมีโรงงานผลิตยาในอินโดนีเซียภายในระยะเวลาที่กำหนด

11. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นำกฎหมายที่มีอยู่หรือแก้ไขกฎหมายที่หน่วยงานนั้นกำกับดูแล เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสมดุลในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณประโยชน์ให้ดียิ่งขึ้น  ในที่นี้หมายถึง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ. การควบคุมราคาสินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะสร้างความสมดุลทำให้ประชาชนและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นในราคาที่เป็นธรรมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายทั้งสองฉบับไม่เคยถูกใช้เป็นคุณต่อสาธารณะ กลับเน้นแต่เรื่องคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนและนักธุรกิจ

ถึงแม้มูลนิธิฯ จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น แต่จะส่งเอกสารแสดงความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปฯ ฉบับนี้และข้อเสนอแนะให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท