ฟังเสียงจากคนต้นน้ำแตง: เวียงแหงกับการจัดการฐานทรัพยากรที่เปลี่ยนไป (ตอน 1)

เมื่อเวียงแหง อำเภอชายแดนไทย-พม่า ทางตอนเหนือของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดต้นน้ำแม่แตง สาขาหนึ่งของลุ่มน้ำปิง เผชิญวิกฤติฐานทรัพยากรถูกทำลาย รัฐ – ชุมชนการอยู่ร่วม กลายเป็นความขัดแย้ง ทำให้คนเวียงแหงหันมาพลิกฟื้นทรัพยากรในนาม “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน”

ในขณะที่นโยบายทวงคืนผืนป่า ภายใต้รัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงประกาศเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น

ในขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาแถลงข่าวบอกว่า กรมอุทยานฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า พร้อมตั้งชุดเฉพาะกิจ หน่วย "พญาเสือ" เดินหน้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดทั้งบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยชุดพญาเสือจะขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยาน และทำหน้าที่หลักปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ทั่วราชอาณาจักร

ล่าสุด พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ก็ออกมาเปิดเผยว่า ทส. เตรียมซื้ออาวุธปืนเกือบ 4 พันกระบอกให้กรมอุทยานฯ-กรมป่าไม้ หลังกลาโหมอนุญาต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบการลักลอบตัดไม้ โดยจัดซื้อให้เกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 3,385 กระบอก ใช้งบประมาณ 142 ล้านบาท ของกรมป่าไม้ 445 กระบอก ใช้งบประมาณกว่า 18 ล้านบาท โดยปืนที่จัดซื้อเป็นปืนลูกซอง 8 นัด ราคาเฉลี่ยกระบอกละ 4หมื่นบาท

ในขณะเดียวกัน เมื่อหันไปมองในพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้หลายคนได้มองเห็นแนวคิดรูปแบบการจัดการของชาวบ้านและหลายองค์กรเครือข่ายซึ่งแตกต่าง ที่ร่วมมือจับมือกันหาแก้ไขปัญหาเรื่องป่าไม้และที่ดินกันอยู่เงียบๆ หากทรงพลังและได้ผลสำเร็จสัมฤทธิ์ดีเยี่ยม พวกเขากำลังช่วยกันปกป้องพื้นที่ 7 หมื่นกว่าไร่ โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถยับยั้ง พื้นที่ป่าไม่มีการบุกรุก โดยไม่ต้องมีการปราบปราบจับกุมและเกิดความขัดแย้ง ที่สำคัญ ทุกคนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การใช้กฎหมายมาบังคับและการปราบปรามจับกุมชาวบ้าน เหมือนแมวไล่จับหนูนั้นไม่ใช่ทางออก แต่การหันหน้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยให้ชาวบ้านคนท้องถิ่น ในนามเครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้ลุกขึ้นมาปกป้องจัดการดิน น้ำ ป่า กันเอง โดยมีหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน คอยหนุนเสริม นั้นสามารถตอบโจทย์ปัญหาและช่วยหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นไว้ได้

เวียงแหง” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ในหุบเขาติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 134 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าระยะทางห่างไกลมากอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางสายหลัก ใช้ถนนโชตนา หมายเลข 107 จากเชียงใหม่ ถึง อ.เชียงดาว แล้วแยกไปตามถนนหมายเลข 1178 ไปบ้านเมืองงาย ก่อนถึงทางแยกแม่จา- อ.เวียงแหง ไปตามถนนหมายเลข 1322 ระยะทาง 58 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดยาง ที่มีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง มุ่งตรงไปยังอำเภอเวียงแหง และไปสิ้นสุดถนนสายนี้ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง ด่านเล็กๆ ประตูชายแดนเข้าสู่ประเทศพม่า

เวียงแหง ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 750 เมตร แต่มียอดเขาที่สูงที่สุดคือดอยปักกะลา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร

ใช่แล้ว เวียงแหง ถือว่าเป็นเมืองที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นั่นคือ เป็นอำเภอที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งมีทั้งคนพื้นเมือง ลาหู่ ลีซู ไทใหญ่ จีนคณะชาติ ดาระอั้ง(ปะหล่อง) ปะโอ และปกาเกอะญอ ฯลฯ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่กระจัดกระจายไปตามไหล่เขาและทุ่งราบหุบเขา คนเวียงแหงมีหลายชนเผ่า แต่ภาษาที่จะสื่อกันได้ทุกกลุ่ม และใช้ภาษาเป็นสื่อกลางก็คือไทใหญ่ พูดได้ทุกชนเผ่า

ปัจจุบัน มีการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียงแหง ไว้ว่า ประกอบด้วย คนพื้นเมืองล้านนา 39% อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออิสระ 6.02 % บุคคลบนพื้นที่ราบสูง 23.13 % ปกาเกอะญอ(กระเหรี่ยง) 6.82 % ลีซู(ลีซอ) 5.66 % ลาหู่(มูเซอ) 2.66 % ผู้พลัดถิ่นจากพม่าและแรงงานพม่า 6.31 % รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 25,000 คน ซึ่งประชากรในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ส่วนใหญ่นอกจากเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองล้านนาแล้ว จะเป็นประชากรที่เป็นผู้อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่เวียงแหงอย่างถาวร

เมื่อมองภาพรวมของอำเภอเวียงแหงแล้ว ทำให้เรามองเห็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ แต่ละชุมชนนั้นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบชนบท

จุดเด่นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง และถือว่ามีคุณค่าสำคัญสำหรับคนเวียงแหงเป็นอย่างมาก นั่นคือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำกันมาช้านาน

จากข้อมูลพื้นฐาน ระบุไว้ว่า อำเภอเวียงแหงมีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500ไร่

พื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้น ถือว่ามีคุณค่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำจากฝนและไหลลงสู่ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่ปอง และห้วยฮ่องจุ๊ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 564.88 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 80.62 ของพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอเวียงแหง อีกทั้งพื้นที่ของอำเภอเวียงแหงนั้น จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ จากสภาพป่าที่มีลักษณะของระบบนิเวศน์เฉพาะถิ่นตั้งแต่พื้นที่ป่าสองฝั่งลำน้ำแตง ลำห้วยสายต่างๆ และในพื้นที่หุบเขาและบนภูเขาสูงชัน นอกจากความสำคัญของพรรณพืชชนิดต่าง ๆ แล้ว จากการสำรวจ ยังพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง ยังมีทรัพยากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ รวมทั้งสัตว์น้ำรวมทั้งปลาชนิดต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง

 

แม่น้ำแตง คือสายเลือดของคนเวียงแหง

ลุ่มน้ำแม่แตง จัดเป็นลุ่มน้ำย่อยส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำแม่ปิง มีขนาดกลางมีพื้นที่ 1,978 ต.ร.ม.หรือ1,236,250 ไร่ ทางด้านทิศเหนือของลุ่มน้ำติดกับชายแดนไทย–พม่า ทางด้านทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปาย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำปิง และทางด้านทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำแม่แตง

หากเราเดินขึ้นไปถึงต้นกำเนิดของสายน้ำแม่แตง ก็จะพบว่า ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแดนลาว บริเวณรอยต่อระหว่างชายแดนไทยกับประเทศพม่า ไหลจากทิศเหนือลงสู่ด้านล่างทางทิศใต้ ไหลผ่านมาตามแนวเทือกเขา ซอกเขา ผ่านมายังเขตพื้นที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ของอำเภอเวียงแหง ก่อนไหลลงผ่านตำบลเมืองคอง ของอำเภอเชียงดาว แล้วไหลต่ำลงไปยังพื้นที่ตำบลกึ้ดช้าง ตำบลอินทขิล ของอำเภอแม่แตง ก่อนจะไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่ปิงที่บริเวณตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีการสำรวจกันว่า แม่น้ำแตง มีความยาวจากต้นธารถึงปลายน้ำ ประมาณ 180 กิโลเมตร

ซึ่งลำน้ำแม่แตงมีความยาวเพียง 180 กิโลเมตร ทว่ากลับมีคุณค่ามหาศาล เพราะเพียงแค่ปริมาณน้ำดิบ ซึ่งโครงการชลประทานแม่แตง ได้มีการเก็บกักน้ำไว้และปล่อยไหลเป็นน้ำประปาสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากมายแล้ว แต่เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว แม่น้ำแตง นั้นได้มอบประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับสรรพสิ่งตลอดของสองฟากฝั่ง โดยเฉพาะการมีส่วนสร้างระบบนิเวศน์ เช่น สังคมของพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นตามสองฝั่งลำน้ำแล้ว แม่น้ำแตงยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตอยู่ของชุมชนสองฝั่งมาเป็นเวลายาวนานโดยได้ให้ประโยชน์กับผู้คนใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม ตลอดถึงการเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

 

มากมายล้ำค่าลำห้วยสาขา หล่อเลี้ยงผู้คนเวียงแหงมาเนิ่นนาน

เมื่อหันมามองในเขตพื้นที่ของอำเภอเวียงแหง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยดูได้จากการก่อเกิดต้นน้ำ ลำน้ำ ลำห้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาย่อยของลำน้ำแม่แตงมากมาย เช่น ลุ่มน้ำแม่แตะ ลุ่มน้ำแม่แพม ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำฮ้องจุ๊ ลุ่มน้ำห้วยไคร้ ลุ่มน้ำห้วยนายาว จากข้อมูล พบว่า ในลุ่มน้ำดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายทั้งหมดมากถึง 20 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 16,659 ไร่ ที่ผ่านมาชาวบ้านและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1,828 ราย ได้ใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในเรื่องระบบเหมืองฝายมาปรับใช้ในการจัดระบบชลประทานได้สอดคล้องกับระบบภูมิเวศน์เป็นอย่างดี ซึ่งภูมิปัญญาความรู้ของชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนมาตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง

 

เมื่อเวียงแหง เผชิญวิกฤติฐานทรัพยากรถูกทำลาย รัฐ – ชุมชนการอยู่ร่วม กลายเป็นความขัดแย้ง

แต่แล้ว เพียงชั่วระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา เวียงแหงก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่เวียงแหงนั้นแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่จะพบว่า ดินเสื่อม น้ำแห้ง ป่าหาย ว่ากันว่า ปัญหาและสาเหตุนั้นมาจาก ประชากรเพิ่มขึ้น อีกทั้งชุดความคิดในวิถีชีวิต และฐานการผลิตการทำเกษตรกรรมของผู้คนในเวียงแหงเริ่มเปลี่ยนไปนั่นเอง

“เมื่อก่อนธรรมชาติเวียงแหงนั้นอุดมสมบูรณ์มากเลยนะ ป่าก็มาก น้ำก็เยอะ น้ำแตงนี่จะไหลนองทุกปี นั่นเป็นตัวชี้วัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์เรื่องป่าเรื่องฝน พอมาระยะหลัง ๆ มานี้ฝนน้อย น้ำแตงก็ไม่นองแล้ว เชื่อมั้ยว่าน้ำแตงไม่เคยนองมาสี่ห้าปีมานี่แล้ว น้ำแห้ง หลายจุดถึงขั้นต้องกั้นน้ำแตงเป็นแห่ง ๆ เพื่อจะให้มีน้ำให้ปลาได้อยู่อาศัย จะเห็นได้ว่าการใช้น้ำจากลำน้ำลำห้วยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนเราใช้น้ำเพาะปลูกหอม ปลูกกระเทียมกันเป็นพืชหลัก มาถึงตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายราย เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ทำให้ใช้น้ำมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งทำให้เราเห็นว่า มันทำให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ไม่บันยะบันยัง มีการแผ้วถางป่าเพื่อขายบ้างก็มี อีกทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อนหน้านั้น ยังเอื้อ หลับหูหลับตา ทำให้มีการบุกรุกป่า ไม่มีใครยับยั้งได้ เพราะว่าได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหานี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของเวียงแหง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

“ถ้ามองในภาพรวมของอำเภอเวียงแหง ในช่วงระยะหลังมานี้ แน่นอนครับ ถือว่ามีปัญหาเยอะมาก ในเรื่องของการบุกรุกป่ามีเยอะเลยครับ สาเหตุที่แท้จริงก็ไม่รู้นะ แต่ว่าถ้าความคิดของผม คิดว่าปัญหามันมาจาก การไม่รู้จักความเพียงพอ และสอง ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจกันมากเกินไป โดยเฉพาะข้าวโพด ทำให้ป่าหายไปด้วย” ผัด ปุมะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แพม บอกย้ำให้ฟัง

“ณ วันนี้ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว น้ำหายไป น้ำหายไปไหน หายไปในสวนกระเทียม หายไปในภาคการเกษตรเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะปลูกพืชหรืออะไร ก็ต้องคิดเรื่องของทรัพยากรน้ำด้วย คิดถึงทรัพยากรป่าไม้ด้วย ถ้าน้ำไม่มี เนื่องจากป่าหาย ต้องย้อนไปว่าเราจะทำอย่างไรให้ป่าคืนมา เราต้องทำเรื่องป่า ให้มันมีน้ำ แล้วเราจะอยู่รอด ถ้าถามว่าวันนี้หากน้ำแห้งเราจะอยู่รอดได้หรือไม่ ไม่เลยครับ ไม่มีทางที่จะอยู่รอด” อนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง บอกย้ำ

“ก่อนหน้านี้ จะมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่ามาทำเป็นพื้นที่ทำกิน ต่างคนต่างทำเอาของใครของมัน และแต่ก่อนนั้น ก็ไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้าไปกำกับดูแลเข้มงวดอย่างจริงจัง ทำให้บางคน ที่ไม่กล้าก็ไม่มีที่ทำกินเลย ส่วนคนที่กล้าได้กล้าเสียก็บุกรุกเอาขยายพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเขตจำกัด” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ผู้ใหญ่บ้านปางป๋อ บอกเล่าให้ฟัง

เช่นเดียวกับ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งเพิ่งเข้าไปไปปฏิบัติการรับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าในเขตอำเภอเวียงแหงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็บอกกับเราว่า “คือพอผมเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เวียงแหง ก็เห็นชัดเลยว่า ในช่วงหลังมีการบุกรุกป่าไปเยอะแล้ว ป่าลดลง ถูกแผ้วถางมากขึ้น ถูกบุกรุกทำลาย มีการเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น คือเข้าไปครอบครองพื้นที่ป่ามากขึ้นแล้ว”

หากเราย้อนกลับไปในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่า ปัญหากรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และการใช้ที่ดินในพื้นที่อำเภอเวียงแหงก็เริ่มขัดแย้งรุนแรงกันมากขึ้นตามลำดับ มีคดีความการจับกุมชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่ากันถี่ขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ดังที่เป็นข่าวพาดหัวตามสื่อต่างๆ กันเป็นระยะๆ

เวียงแหงป่วน โวย จนท.รัฐ ขู่ไล่อพยพคนทั้งหมู่บ้านออกจากพื้นที่

อพยพชาวบ้านลีซูนาอ่อน บทสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ ?

สกน.-ขปส.นำเครือข่ายภาคประชาชนเดินเท้าจากเชียงใหม่เข้า กทม

เปิดผลเจรจา ยันเดินหน้าแผนแม่บทป่าไม้ ผลกระทบชาวบ้านเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม

ชาวบ้านห้วยหก วอนขอแค่ทำกิน...ฯลฯ

 

อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่าบางเหตุการณ์ปัญหาในพื้นที่เวียงแหงให้ฟังว่า “ยกตัวอย่าง กรณีพิพาทในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ก็ยังมีการจับกุมชาวบ้านที่ฝ่าฝืนอยู่ คนที่ฝ่าฝืนก็ไม่ใช่ฝ่าฝืนแค่กฎหมาย ฝ่าฝืนมติกรรมการหมู่บ้านด้วย เลยนำไปสู่การจับติดคุกติดตะราง ฟ้องร้องกันไป หรือแม้กระทั่ง ปัญหาการขุดทรายริมน้ำแตง ทราย หิน ใครมีกำลังมากก็ขุดได้ โดยเฉพาะการซื้อที่ริมน้ำแตง ที่นาเสียภาษีก็จริง แต่คุณเสียภาษีเฉพาะที่นา แต่ถ้ามาขุดเอาหินทราย มันก็ผิดในเรื่องระเบียบของท้องถิ่นอยู่ ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดการอะไรใด ๆ กรมเจ้าท่าก็อยู่ไกล ปัญหานี้เลยทำให้น้ำแตงเปลี่ยนไป ไหลเร็ว ทำให้ทรายทางเหนือไหลล่องมา จนทำให้แม่น้ำตื้นเขิน”

“บางคนอาจคิดว่าไม่รุนแรง แต่จะเห็นว่ามันมีความขัดแย้งภายในตลอดเวลา ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจากคดีความ จับกุม วิ่งหนี และส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นกับพี่น้องที่อยู่ติดกับชายขอบพื้นที่ป่า และเป็นพี่น้องชนเผ่าด้วย คนเมืองก็มีบ้าง โดยเฉพาะการที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทำให้ชาวบ้านเกิดการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา” นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกเล่าสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เวียงแหงให้ฟัง

“ใช่แล้ว สมัยก่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จะใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนอย่างแมวจับหนู ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ ผลสุดท้ายคือกินข้าวด้วยกันไม่ได้ มองหน้ากันไม่ติด” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ผู้ใหญ่บ้านปางป๋อ ก็บอกย้ำถึงปัญหานี้

สอดคล้องกับความเห็นของ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งได้บอกเล่าให้ฟังว่า “จริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทุกคนก็ทำงานภายใต้กรอบของกฎหมายของอุทยานฯ เพียงแต่ว่า สมัยก่อนจะบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด เพื่อจะลดการบุกรุกทำลายป่าลง อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวถามว่า เป็นจุดดีไหม ก็เป็นจุดดีในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ ผมไม่แน่ใจนะว่า เขาวิจัยกันหรือยังว่าสิ่งที่เราทำมา มันอาจจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราดูจากสถิติคดี ดูผลทางคดีที่เราเคยจับกุม มันไม่ได้หมายความว่าสิบปีย้อนหลัง ป่ามันไม่ได้เพิ่มขึ้นนะ แต่มันกลับลดลง อันนี้เป็นสถิติ แต่ที่เพิ่มขึ้น กลับเป็นความขัดแย้ง มีการต่อต้านอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ผืนป่าก็ยังถูกบุกรุก ถูกทำลาย ป่าลดลงเหมือนเดิม”

 

เพราะปัญหา ทำให้คนเวียงแหง หันมาจับมือกัน ร่วมพลิกฟื้น “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน”

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนกและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ว่าหากปล่อยเอาไว้ก็ยิ่งจะหมักหมม และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และที่สำคัญ ทุกคนกำลังรู้ว่า ความสุขที่เคยมีกลายเป็นความขัดแย้ง และผืนดินผืนป่าถูกทำลาย แม่น้ำเหือดแห้งไปทุกขณะ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนไม่เหมือนแต่ก่อน จึงทำให้หลายคนได้เกาะกลุ่มรวมตัวรื้อฟื้น “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง กันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

“จริงๆ ที่มาเครือข่ายนี้ เริ่มเกิดมาจากกรณีปัญหาเหมืองลิกไนต์ ช่วงนั้นประมาณ ปี 2546-2547 เพราะเรารู้ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน จนนำไปสู่การออกเรียกร้องต่อสู้ เคลื่อนไหวของชาวบ้าน และการรวมกลุ่มกันในนาม เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน กันขึ้นมาเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาตอนนั้น ทาง กฟผ. ก็ยังพยายามที่จะเข้ามาเปิดเหมืองอยู่ โดยเครือข่ายเรามีการขับเคลื่อนทั้งในด้านต่างๆ อันเป็นต้นทุน ทั้งในเรื่องฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของชุมชน ตอนนั้น เราทำงานภายใต้สถานการณ์หนึ่งที่มันอาจมากระทบกับวิถีชีวิตของเรา แต่สิ่งที่ได้ ก็ได้และเสียพอๆ กัน ความแตกแยกในกลุ่มในพื้นที่เวียงแหงก็มีเยอะ เพราะว่าประเด็นเรื่องคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ในการพัฒนาเหมืองแร่ มันก็มีอยู่พอสมควร คนที่ต่อต้านเรื่องการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา มันก็มีเยอะ เราก็เสียคนกลุ่มนี้ไป โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ก็จะมองกลุ่มเครือข่ายของเราว่าเป็นกลุ่มที่ค้านการพัฒนา พอมาระยะหลัง เวียงแหงของเรา มีประเด็นปัญหาเรื่องป่าเรื่องที่ดินเข้ามา ทางเครือข่าย เราก็เลยปรับกระบวนการทำงาน ปรับวิธีคิดกันใหม่” อิสรภาพ คารมณ์กุล กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง

 

จากต่อต้านประท้วง ขัดแย้ง หันหน้ามาจับมือกัน เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน

ซึ่งถ้าใครติดตามปัญหานี้ ก็จะรับรู้ได้ว่า ในช่วงเวลานั้น เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน มีการออกมาเคลื่อนไหว คัดค้าน และประท้วงกันอย่างดุดัน แข็งกร้าว ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ตลอดเวลา จนอีกฝ่ายหนึ่งยอมถอยไปชั่วขณะ

“มาถึงตรงนี้ เราจะมาต่อสู้หักล้างระรานกันอย่างเดียวนั้น ก็คงไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา เราจึงมาปรับในเรื่องของทิศทางและวิธีการทำงานให้เบาลง โดยเฉพาะในระยะหลังการรัฐประหาร เราไม่สามารถอ้างเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เราเลยปรับใช้เอาแนวนโยบายของรัฐมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้อง เพราะว่าวัตถุประสงค์ของเรา มันก็ตรงกัน คือต้องการบล็อกพื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ ไม่อยากให้มีเรื่องกระทบกระทั่งเรื่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านในการเข้าไปทำกินในเขตป่า เราทำงานให้มันสอดคล้องกับนโยบายรัฐ แต่ว่าอาจไม่ตามนโยบายทั้งหมด เพราะว่าบางเรื่องเราก็จำเป็นต้องเอาประโยชน์ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร อาศัยคุยกันเป็นหลักกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหาร โดยใช้เงื่อนไขทั้งในตัวกฎหมายป่าไม้กับกฎกติกา ความต้องการของชาวบ้าน ใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ โดยเราได้พ่อหลวงประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ มาเป็นประธานเครือข่ายฯ คนใหม่ ก็ได้เป็นกำลังในการช่วยการผลักดัน เชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ ให้งานเคลื่อนไปข้างหน้าได้” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน บอกเล่าให้ฟัง

เมื่อเอ่ยถึง ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง คนใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อกระบวนการขับเคลื่อนของเครือข่าย เพราะเขาไม่ชอบแนวทางการต่อสู้ที่รุนแรง แต่เน้นเรื่องหลักสันติวิธี และเน้นการเชื่อมสัมพันธ์กับทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองท้องถิ่น และชาวบ้าน หากยังคงยึดเอาวิสัยทัศน์ ของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อ12 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา มาปรับใช้เป็นแนวทางอยู่ นั่นคือ‘เวียงแหง แหล่งต้นน้ำประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบสานภูมิปัญญา ดิน น้ำ ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนเศรษฐกิจแบบพอเพียง บนฐานวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างยั่งยืน’

“เมื่อก่อนนั้น ผมมีความคิดขัดกับเครือข่ายฯ เลยด้วยซ้ำ ซึ่งหลาย ๆ คนก็รู้ สาเหตุเพราะว่าการทำงานของเครือข่ายในช่วงแรกๆ นั้น จะมีแต่การประท้วง มีการนำพี่น้องชาวบ้านไปต่อต้าน ไปทำอะไรหลาย ๆ เรื่องที่ผมไม่ชอบซึ่งมันขัดกับความคิดของผม ...แต่สุดท้ายเรามาคำนึงถึงส่วนรวมว่า เราอาสามาอยู่ตรงนี้ มาเป็นตัวประสาน ให้หน่วยงานภาครัฐกับประชาชน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่แง่งอนกัน ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ผมยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อหลวงเอ็นจีโอ แต่ว่าเรายินดียอมรับ ถ้าหากว่านโยบายการทำงานของเครือข่ายฯ ที่เราทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้อง เพราะผมถือว่าเครือข่ายฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่จะสามารถจะเชื่อมหน่วยงานภาครัฐกับพ่อแม่พี่น้องได้อย่างกลมกลืน และทำงานไปพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมา เราบอบช้ำกันเยอะ ถ้าเรา คนในชุมชนตั้งเป้าตั้งป้อมต่อสู้เข้าหากันอีก มันก็จะไปกันใหญ่ แต่ตราบใดที่เรามาจับเข่าคุยกันได้ทุกเรื่อง เมื่อนั้น ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับพี่น้อง และหน่วยงานรัฐก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”’ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง คนปัจจุบัน บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าจริงจัง

 

ปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการ เครือข่ายฯ เริ่มต้นสร้างกลไกทำงานระดับท้องถิ่น

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) หนึ่งในคณะทำงาน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้บอกเล่าความเป็นมาของเครือข่ายฯ ให้ฟังว่า ในปี 2546-2547 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการขับเคลื่อนเรื่องการคัดค้านเหมืองลิกไนต์ เป็นการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างรุนแรง ชาวบ้านมีแรงปะทะกับภาครัฐตลอดเวลา สิ่งสำคัญในพื้นที่เองก็ยังมีตัวผู้นำที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แต่ต่อมา ตัวผู้นำเองก็ปรับบทบาทของตัวเองไปอยู่ในกลไกอื่น ๆ หลายคนไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ส.ท.นายกฯ รองนายกฯ ฉะนั้น เราก็เลยคิดว่าการเอาโครงการนี้เข้าไปช่วยฟื้นฟูกระบวนการเครือข่ายให้มันฟื้นกลับคืนมา โดยเป็นกระบวนการทำงานแบบใหม่ ที่น่าสนใจก็คือ เราได้จุดประเด็น “เรื่องปากท้อง ความมั่นคงในที่ดินทำกิน”มาเป็นแนวทางสร้างแนวร่วม สร้างแรงขับเคลื่อน ด้วยพลังของชุมชน

“กระบวนการทำงานแบบใหม่ของเครือข่ายฯ ก็คือลดเรื่องการสร้างแรงปะทะกับภาครัฐ ภาครัฐจะไม่มองว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มรุนแรง เป็น NGOs เหมือนเมื่อก่อน แล้วเรานั่งทำความเข้าใจในเรื่องบริบทพื้นที่กันใหม่ว่า พื้นที่เวียงแหงเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า และมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่หลายส่วนที่เข้าไปจัดการ ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ที่ประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติผาแดงฝั่งตะวันออก อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังฝั่งตะวันตก ตรงกลางก็เป็นป่าสงวน เส้นทางที่เราขึ้นไปก็เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ฉะนั้น พื้นที่ที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นเหลือแค่ส่วนหนึ่ง แต่มีจุดสำคัญ ที่ทำให้เครือข่ายเราเดินมาถูกทาง ก็คือ จริง ๆ ที่ผ่านมา ตอนที่เราขยับกับเครือข่าย เราจัดการเรื่องป่าอย่างเดียว แต่ว่ามันไม่เข้าถึงปากท้องของชาวบ้าน พอเรามาทำประเด็นที่ดิน เรื่องการจัดการพวกนี้ ชาวบ้านมองว่ามันใกล้ปากท้องของตัวเอง มันจับต้องได้ และเป็นเรื่องของความมั่นคงในที่ดินทำกินของตัวเองด้วย” ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ บอกเล่าให้เห็นภาพรวม

หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปตามรอบๆ ชุมชนหมู่บ้าน ทั้งในเขตพื้นที่ตำบลเมืองแหง ตำบลแสนไห และตำบลเปียงหลวง ตามทุ่งราบ ทุ่งนา และตามทุ่งไร่ บนความลาดชันของภูเขา ก็จะมองเห็นเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจกันหลากหลายมากขึ้น นอกจากการปลูกข้าวแล้ว จะมีการปลูกผักกาด กะหล่ำปลี กระเทียม ข้าวโพดและส้มเขียวหวาน กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ แน่นอนว่ามีหลายพื้นที่ มีการบุกรุก แผ้วถาง พื้นที่ป่าบางแห่งแหว่งหายไป บางพื้นที่กลายเป็นภูเขาหัวโล้น กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ป่าต้นน้ำอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแตงที่ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนลุ่มน้ำ ปัจจุบัน กลายเป็นลำน้ำเหือดแห้ง ตื้นเขิน ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า “จะเห็นว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดนรุกล้ำเยอะมาก ถ้ากลุ่มของเรา คนเวียงแหง ไม่ลุกขึ้นมาจัดการอะไรสักอย่าง มันจะลุกลามไปเยอะ ถ้าเราไม่อนุรักษ์หวงแหนไว้ บางจุดเป็นต้นน้ำ ตรงหัวขุนน้ำแม่แตง เริ่มโดนรุกล้ำเยอะแล้ว จนเดี๋ยวนี้เกิดภาวะแล้ง นั่นทำให้เราต้องฟื้นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนนี้ขึ้นมา โดยเป้าหมายของเรา ก็คือให้ได้ทั้งสองอย่าง หนึ่งคือพี่น้องประชาชนมั่นใจในผืนดินที่เขาทำกิน สองคือสร้างความเข้าใจร่วมกัน ให้พี่น้องช่วยกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนถึงลูกถึงหลานเราต่อไป”

แน่นอน เมื่อชาวบ้านมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ต้องปิดล้อม ไล่จับ และเป็นคดีความส่งฟ้องต่อศาลกันหลายแปลงหลายราย จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านกันมากขึ้น

“ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ อุทยาน ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร จะทำงานแบบแมวจับหนู ยังไงผมก็ว่าไม่ยั่งยืน คนที่จับก็รอจับ คนที่จะขโมยก็รอขโมย ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ แต่ถ้าเรามาใช้ความคิดร่วมกัน แล้วมาทำงานด้วยกันจะดีกว่า” ประธานเครือข่ายฯบอกย้ำแนวทาง

ในขณะที่ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ก็ออกมายืนยันว่า “คือต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ว่าหน่วยงานของผม ต้องรับผิดชอบพื้นที่เวียงแหงทั้ง 3 ตำบล ซึ่งมีเนื้อที่ 7 หมื่นกว่าไร่ แต่เรามีเจ้าหน้าที่รวมทั้งผมเพียง 6 คน ภารกิจหลักๆเป็นการออกลาดตระเวน ป้องกัน ปราบปราม คือภารกิจของพวกผม จริงๆ คือปกป้องคุ้มครองป่านั่นแหละ ซึ่งเป็นปัญหาหนักมาก ผมก็คุยกับทางท้องถิ่น กับชาวบ้านในเวียงแหงว่า ผมมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยาน เพราะฉะนั้นในส่วนคนที่เข้ามาบุกรุก ผมไม่สามารถจัดการดูแลได้ มันต้องแบ่งกันดูแล เรื่องบุคคล ผมคุมคนไม่ได้ เพราะมีคนหลากหลาย มีประชากรแฝงบ้าง เขาก็รุกเข้ามา ผมมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ใครบุกรุกป่า แต่ถ้าเรามาช่วยกันได้ ท้องถิ่น หรือปกครองมาช่วยกันควบคุมคน ผมก็จะดูแลพื้นที่ป่า ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็อยู่ด้วยกันได้”

ซึ่งนำไปสู่ การปรับกระบวนการทำงานกันใหม่ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและชาวบ้าน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยอาศัยเครือข่ายฯ เป็นตัวเชื่อมประสานและลงมือทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างกลไกการทำงานในระดับชุมชน ก่อนขยายไปสู่กลไกระดับตำบล และกลไกเครือข่ายระดับอำเภอ

 

ข้อมูลประกอบ

1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559

2. อุทยานฯ-ป่าไม้เตรียมซื้อปืนเกือบ 4 พันกระบอกหลังกลาโหมไฟเขียว,โพสทูเดย์,4 เมษายน 2559

3. เปิดตัวทีม "พญาเสือ" ลุยปราบนายทุนรุกป่า ตั้ง"ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" หัวหน้าชุด, Nation TV,3 พฤษภาคม 255

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท