Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

         
วันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งสำหรับชาวฟิลิปปินส์จำนวนหลายสิบล้านคน นั่นคือ วันลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งแทนนายเบนิกโน อาคีโนที่ 3 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเพียง 1 วาระ และวาระละ 6 ปี การเลือกตั้งในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษในรอบทศวรรษ เพราะผู้สมัครซึ่งคาดว่ามีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งสูง คือนายโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้มีแนวคิดและบุคลิกประดุจดังโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มิปาน นั่นคือ เป็นคนโผงผาง มุ่งแก้ปัญหาด้วยความเด็ดขาด และยังเมินเฉยต่อสิทธิมนุษยชน โดยให้สัญญาว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะจัดการกับอาชญากรรมโดยใช้ความรุนแรง เช่น มีกองกำลังไว้จับตาย เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จในตอนที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองดาเวาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีวัย 71 ปี ยังขู่ว่าจะยุบสภาและเอาศาลให้อยู่ภายใต้อาณัติ หากว่าไม่ยอมให้ความร่วมมือกับแผนแบบสุดขั้วในการรักษาสันติภาพและความสงบ  อีกทั้งเขายังปากร้าย คือนอกจากด่าสันตะปาปาแล้ว ยังแสดงการเหยียดเพศ ผ่านมุขตลกอันส่งผลให้มีการประท้วงเขาอย่างรุนแรงเมื่อไม่กี่วันมานี้      

ปรากฏการณ์นี้ ได้ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าฟิลิปปินส์มีโอกาศจะย้อนกลับไปยังยุคของ เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ดังที่เว็บไซต์ นิวแมนดาลาขนานนามว่า ภายใต้ลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมใหม่ (Neo Authoritarianism)[1] เหตุการณ์ที่ตอกย้ำมุมมองเช่นนี้คือ การที่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ หรือบองบอง บุตรชายของมาร์คอส ก็ลงสมัครแข่งขันเป็นรองประธานาธิบดีในปีนี้เหมือนกัน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ แม้ว่าเขาจะจับคู่กับผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกคน แต่ถ้าได้คะแนนเสียงมากที่สุด เขาก็จะสามารถเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับประธานาธิบดีของอีกพรรคอย่างนายดูเตอร์เตได้ นายบองบองเองจัดได้ว่าเป็นผู้สมัครที่มีโอกาศชนะการเลือกตั้งสูง เพราะเขาได้รับความนิยมจากคนฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนืออันเป็นบ้านเกิดของบิดาเขาอยู่มาก ปัจจัยที่ทำให้เขาอยู่ในระนาบเดียวกับดูเตอร์เต ก็คือ เขายกย่องการปกครองแบบเผด็จการของพ่อเขา คือ อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอสซีเนียร์ ในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 อันนำไปสู่การคาดการณ์ว่า หากได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต นายบองบอง อาจนำประเทศเข้าสู่เผด็จการ เช่นเดียวกับนายดูเตอร์เต       

สำหรับผู้เขียนนั้น มีความสนใจการเมืองฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กเด็กน้อย ตั้งแต่ก่อนที่วาทกรรมอาเซียนจะแพร่หลายทศวรรษ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนแรกในความทรงจำอันเลือนลางของผู้เขียนคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการในยุคเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เนวิน แห่งพม่า เปรม แห่งไทย ซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย ลี กวนยิว แห่งสิงคโปร์   อีกทั้งยังไม่รวมเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียวแบบเวียดนาม ลาว หรือเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียวกึ่งผูกขาดอย่างมาเลเซีย อาจด้วยข่าวต่างประเทศที่คนไทยในยุคนั้นติดตามมักมาจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ครอบงำโดยสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีกับฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งว่ากันว่าได้ต้นแบบของบุคลิกอันเด็ดขาดมาจากมาร์คอส ผู้เขียนจึงไม่ค่อยได้ทราบความเป็นไปด้านไม่ดีของฟิลิปปินส์ในยุคของมาร์คอสนัก รวมถึงบรรยากาศทางการเมืองของไทยภายใต้คราบประชาธิปไตยครึ่งใบและวาทกรรมสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่แพร่หลายเท่ากับความกลัวพวกคอมมิวนิสต์ ก็น่าจะทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองเผด็จการเพื่อนบ้านอย่างมาร์คอสในเชิงชื่นชมแบบการเมืองบุรุษเหล็ก (Strong man politics)  มาร์คอสนั้นถือได้ว่าเป็นเผด็จการแบบคืบคลาน นั่นคือเขาก้าวขึ้นมามีอำนาจจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าระดับผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก จนได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1965 และภัยจากคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นกลายเป็นข้ออ้างอันดีสำหรับหัวหน้าฝ่ายบริหารอย่างเขาได้รวบอำนาจอย่างล้นพ้นผ่านกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ดังที่มาร์คอสประกาศกฎอัยการศึกเพื่อใช้ปกครองประเทศเกือบ 1 ทศวรรษ คือ ช่วงระหว่างปี 1972-1981        

จุดเปลี่ยนต่ออำนาจของมาร์คอสได้อุบัติขึ้นในปี 1983 เมื่อนายเบนิกโน อาคีโน จูเนียร์ ปรปักษ์ทางการเมืองของมาร์คอส ซึ่งลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ ได้เดินทางกลับมาเพื่อรับโทษและได้ถูกสังหารขณะถูกคุมตัวจากเครื่องบินไปยังรถยนตร์ที่จอดรออยู่ สิ่งนี้จึงเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในอีก 3 ปีต่อมา บนความไม่พอใจของคนฟิลิปปินส์จำนวนมาก ซึ่งเบื่อหน่ายต่อระบอบเผด็จการของนายมาร์คอส ที่อ้างแต่เรื่องความมั่นคงราวกับนกแก้วนกขุนทอง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และมีความเชื่อว่าจอมเผด็จการอยู่เบื้องหลังการสังหารนายอาคีโน  แม้จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอก็ตาม  การประท้วงครั้งใหญ่นี้มีชื่อว่า “ปฏิวัติพลังประชาชน” หรือ People Power Revolution  อันมีผู้นำคนสำคัญ คือ ภรรยาหม้ายของนายอาคีโนหรือ นางคอราซอน อาคีโน นั่นเอง  การประท้วงที่มีคนเข้าร่วมกว่า 2 ล้านคน ได้ทำให้ชาวโลกรวมทั้งผู้เขียนรู้สึกตกตะลึงเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยคาดคิดว่าชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเชื่อกันมานานว่าได้สยบยอมต่อระบอบเผด็จการจะสามารถโค่นล้มนายมาร์คอสไปได้ในที่สุด  นายมาร์คอสได้รับความอนุเคราะห์จากประธานาธิบดีเรแกน ให้ลี้ภัยไปยังเกาะฮาวายก่อนที่จอมเผด็จการจะเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา ผู้เขียนยังจำได้ว่าไม่นานหลังจากนั้นก็มีละครโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ แล้วเอามาฉายที่เมืองไทยด้วย ฉากที่จำได้แม่นคือ นายมาร์คอส โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ แต่ถูกนายเรแกนวางหูใส่  (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่)    

คำพูดหนึ่งของนายมาร์คอสซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนในช่วงที่การประท้วงเริ่มขึ้นก็คือเขาพูดเป็นทำนองว่า บทบาทของผู้หญิงควรจำกัดอยู่แต่ในห้องนอนและห้องครัว อันเป็นการโจมตีนางอาคีโนนั่นเอง และถือได้ว่าเป็นลัทธิเหยียดเพศอย่างสุดโต่ง เหมือนกับนายดูเตอร์เตที่กล่าวมุขตลกเมื่อไม่กี่อาทิตย์มานี้ถึงมิชชันนารีชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกรุมข่มขืนหมู่และฆ่า ช่วงที่นักโทษก่อการจลาจลเข้ายึดคุกที่กรุงมะนิลาเมื่อปี 1989 โดยเขากล่าวว่า ตัวเองควรจะเป็นคนแรกของกลุ่มที่ได้ทำเช่นนี้กับแหม่มสาว[2]  นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องน่าสนใจว่านายดูเตอร์เตได้กล่าวยกย่องมาร์คอสซีเนียร์ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่และวีรบุรุษ อีกทั้งยังเป็นประธานาธิบดีที่ดีที่สุดของฟิลิปปินส์ เขายังสัญญาว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะยอมให้มีการฝังศพของจอมเผด็จการที่สุสานของวีรบุรุษ [3] อันสะท้อนว่าในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากประณามมาร์คอสว่าเป็นโจรปล้นแผ่นดิน จากหลักฐานคือเงินจำนวนกว่า 5 พัน ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ที่มาร์คอสกอบโกยไปจากประเทศในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ไม่นับทรัพย์สินอย่างอื่นที่ตระกูลของเขาได้มาโดยมิชอบไม่ว่าเพชรพลอยที่นางอีเมลดา มาร์คอส อดีตสตรีหมายเลข 1 ครอบครองไว้ (รวมไปถึงภาพรองเท้ากว่า 3,000 คู่ ที่เธอสะสมไว้น่าจะรบกวนจิตใจชาวฟิลิปปินส์อยู่ไม่น้อย)  แต่ยังมีชาวฟิลิปปินส์อีกจำนวนอีกไม่น้อยที่ยังชื่นชอบมาร์คอสอยู่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สัมผัสถึงความเลวร้ายช่วงการปกครองของเขา       

สำหรับนางอาคีโนนั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องว่าถึงแม้เธอจะเคยแต่รับบทบาทเป็นผู้ช่วยและแม่บ้านให้กับสามีแต่เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งหลังยุคมาร์คอส ก็ได้พยายามปฏิรูปประเทศอย่างจริงใจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม นอกจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญปี 1987 ซึ่งให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเช่นเดียวกับการจำกัดบทบาทและอำนาจของกองทัพซึ่งเคยมีอย่างเหลือล้นในยุคของมาร์คอสผู้ใช้กองทัพในการเสริมอำนาจของตน อย่างไรก็ตามอำนาจของนางอาคีโนก็ต้องอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่เป็นอย่างยิ่งจากการท้าทายของกองทัพซึ่งเคยมีบทบาทสนับสนุนในช่วงการปฏิวัติพลังประชาชน ในช่วงระหว่างปี  1986 ถึง ปี 1990 มีความพยายามของทหารในกลุ่มต่าง ๆ ของกองทัพที่จะทำรัฐประหารถึง 6 ครั้ง และประธานาธิบดีคนต่อมาคือพลเอกฟีเดล รามอส (ปี 1992-1998) ก็ดูเหมือนจะสานต่อภารกิจของนางอาคีโนได้อย่างดี    

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของการเมืองฟิลิปปินส์ก็หยุดชะงักเมื่อนายโจเซฟ เอสตราดาผู้มีหน้าตาละม้ายกับคุณท้วม ทรนง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 1998 ถึงปี 2001  อาชีพดาราภาพยนตร์ของเขาซึ่งมักรับบทบาทของวีรบุรุษขวัญใจคนจนหลายสิบเรื่องมีส่วนสำคัญให้ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชอบเขา และสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จากนายกเทศมนตรีเมืองซาน ฮวน ไปสู่วุฒิสมาชิก และรองประธานาธิบดีในยุคของรามอส  ทว่าในฐานะประธานาธิบดี เอสตราดากลับมีบทบาทที่แตกต่างจากในภาพยนตร์อย่างมหาศาล เขาได้เป็นตัวแทนแห่งภาวะสุดยอดของความฉ้อฉลของการเมืองฟิลิปปินส์นับตั้งแต่มาร์คอส เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเล่นพรรคเล่นพวก ความไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง รวมไปถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมหลายอย่าง ดังสมญาที่ชาวฟิลิปปินส์มีให้คือ “millions, mansions and mistresses”  อันหมายความว่า “โกยเงินหลายล้าน มีคฤหาสน์หลายหลัง มีเมียน้อยหลายคน”[4]  นายเอสตราดา ถูกรัฐสภาไต่สวนการกระทำความผิด แต่กระบวนการกลับมาล่มในส่วนของวุฒิสภาซึ่งเขามีเส้นสายอยู่ อันส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ออกมาเดินขบวนประท้วงจนได้รับสมญาว่า เป็นปฏิวัติพลังประชาชนครั้งที่ 2    นายเอสเตราดาต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากเป็นประธานาธิบดีเพียงไม่ถึงครึ่งวาระ (6 ปี) และยังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานะฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยต้องจำคุก 30 ปี แต่รองประธานาธิบดีผู้ก้าวขึ้นมาแทนคือนางกลอเรีย  มาคาปากัล-อาร์โรโยได้ให้การอภัยโทษแก่เขา “อีแหรบ” จึงรอดพ้นคุกไปเหมือนกับที่ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ช่วยเหลือนายริชาร์ด นิกสัน ในคดีวอเตอร์เกตในปี 1974       

นางอาร์โรโย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงระหว่างปี 2001 ถึง 2010 (3 ปี แทนเอสตราดาบวก 6 ปี จากการได้รับเลือกตั้ง)  นั้นมีลักษณะเด่นอยู่ 2 ประการ คือ เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์และยังเป็นบุตรีของอดีตประธานาธิบดีดิออสดาโด  มาคาปากัล แต่เธอก็นับได้ว่าเป็นฝันร้ายของประชาธิปไตยฟิลิปปินส์อย่างแท้จริง  (อันสวนทางของมุมมองของนักสตรีนิยมบางคนที่เห็นว่าผู้หญิงนั้นมีธรรมชาติฉ้อฉลน้อยกว่าผู้ชาย) โพลสำรวจความคิดเห็นโดยบริษัทพัลส์ เอเชียในปี 2007 พบว่าร้อยละ 42 ของชาวฟิลิปปินส์เห็นว่านางอาร์โรโยเป็นประธานาธิบดีที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เสียยิ่งกว่านายมาร์คอสและนายเอสตราดาเสียอีก[5]  อนึ่งการสำรวจครั้งนี้ได้ทำขึ้นในเดือนตุลาคมอันเป็นช่วงที่รัฐบาลของนางอาร์โรโยกำลังโดนเล่นงานจากข้อกล่าวหาว่าได้รับเงินสินบนจากการติดต่อกับบริษัทแห่งหนึ่งในจีนในการจัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในหน่วยงานของรัฐบาล   ไม่ว่าโพลจะน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการเมืองฟิลิปปินส์ยุคหลังมาร์คอสไม่ค่อยมีพัฒนาการไปถึงไหน และการที่นางอาร์โรโยรอดพ้นการถูกไต่สวนการกระทำความผิดไปได้ก็เพราะบรรดาผู้สนับสนุนของเธอมีเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งกองทัพก็ให้การสนับสนุนเธอ อันสะท้อนว่ากองทัพก็ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองฟิลิปปินส์อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย (กระนั้นก็มีทหารกลุ่มเล็ก ๆ พยายามทำการรัฐประหารโค่นล้มเธอ ดังที่เรียกว่า Oakwood mutiny แต่ล้มเหลว แสดงว่ากองทัพฟิลิปปินส์นั้นขาดความเป็นเอกภาพไม่เหมือนกับไทย) เมื่อนางอาร์โรโยพ้นจากตำแหน่งไป เธอจึงถูกจับกุมและต้องขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีไปหลายคดี ในที่สุดประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ต้องถูกคุมขังไว้ในโรงพยาบาลแทนที่จะเป็นคุกโดยสาเหตุของปัญหาสุขภาพจนถึงปัจจุบัน       

นายเบนิโน อาคีโนที่ 3  บุตรชาย ของนางอาคีโนได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 15 โดยเขากำลังจะหมดวาระในปีนี้ ภาพพจน์ของหนุ่มโสดคนนี้ในช่วงเริ่มต้นดูเหมือนจะดีและใสสะอาดกว่าประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้านี้ แต่เขาได้พาการเมืองฟิลิปปินส์ไปสู่ภาวะแบบ “งั้นๆ”  (mediocre) คำสัญญาของเขาในการปฏิรูปการเมืองฟิลิปปินส์ดูเหมือนจะไม่ค่อยสำเร็จนัก ด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้หยั่งลึกลงไปในสังคมและการเมืองฟิลิปปินส์ ในปี 2015 ฟิลิปปินส์ได้รับการจัดอันดับให้มีความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐอันดับที่ 95 จากทั้งหมด 186 ประเทศ[6]  ร่วงลงจากปีที่แล้วถึง 10 อันดับ แม้ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในยุคของเขาจะเจริญรุ่งเรืองจนพ้นจากภาพพจน์เก่าๆ คือ “คนป่วยแห่งเอเชีย” ไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างน่าประทับใจคือร้อยละ 5.8 ในปี 2015[7]   แต่ความไม่เท่าเทียมกันในฐานะทางเศรษฐกิจหรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นมีสูงมาก เช่นเดียวกับสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2015 ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 46[8] แม้ว่าในกรุงมะนิลา สถิติเช่นนี้จะลดลงก็ตาม         

บุคลิกอันนุ่มนวลและเดินทางสายกลางของนายอาคีโน แต่ชวนให้ผิดหวังย่อมทำให้นักการเมืองสายสุดโต่งอย่างนายดูเตอร์เต มีความโดดเด่นขึ้นมาเหนือผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่น ซึ่งดูภาพพจน์ดีแต่เข้าข่าย “งั้นๆ”   ไม่ว่านางเกรซ โป นายมาร์ โรซัส หรือนายเจโจมาร์ บิเนย์ รองประธานาธิบดี (อันกลายเป็นดาบ 2 คม นั่นคือ เขาก็ถูกมองว่าไม่ได้ต่างจากนายอาคีโนเท่าไรนัก)  เหมือนกับเหตุผลที่ทำให้นายทรัมป์สามารถเอาชนะผู้สมัครคนอื่นของพรรครีพับลิกันได้ อันเป็นภาพจำลองของการเมืองโลกยุคปัจจุบันที่นักการเมืองหัวสุดโต่งและนิยมเผด็จการกำลังผงาดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจผสมกับความวุ่นวายทางสังคมและภัยจากการก่อการร้ายที่ไม่อาจแก้ไขได้โดยวิธีการแบบเสรีนิยม นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้สัมภาษณ์อาจารย์ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยของผู้เขียนเอง  จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการและเร่งรีบสักเล็กน้อย  เธอบอกว่าในฐานะที่เธอมาจากทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เธอตั้งใจจะเลือกดูเตอร์เตเพราะเขาดูเป็นคนจริงใจและน่าจะแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องอาชญากรรมและเรื่องความมั่นคงได้อย่างดี (ผู้เขียนไม่กล้าถามเรื่องมุขตลกเกี่ยวกับการข่มขืนของนายดูเตอร์เตเพราะกลัวเรื่องจะยาว)  เช่นเดียวกับที่อาจารย์สาวท่านนั้นตั้งใจจะเลือกนายมาร์คอสจูเนียร์  โดยบอกว่าแม้ผู้พ่อจะดูไม่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะเป็นเหมือนพ่อ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ถามถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงของมาร์คอสซีเนียร์ แต่เธอได้ให้การแก้ต่างว่าเป็นการทำงานที่ผิดพลาดและตัวระบบราชการของฟิลิปปินส์เองที่ฉ้อฉล สำหรับการสังหารประชาชนนั้นเธอเห็นว่าเพราะฟิลิปปินส์กำลังประสบภัยจากคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับการก่อการร้าย แนวคิดเช่นนี้คงไม่สามารถสะท้อนความคิดของชาวฟิลิปปินส์โดยรวมได้ เพราะปัจจุบันประเทศอดีตอาณานิคมของสเปนและสหรัฐฯ แห่งนี้ก็เหมือนกับทุกประเทศทั่วโลกที่ประชาชนมีอัตลักษณ์และมุมมองทางสังคมกับการเมืองที่หลากหลาย แต่ถ้านายดูเตอร์เตได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งที่ในอนาคตนี้ก็คงเป็นสิ่งสะท้อนความต้องของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากได้ว่าโหยหาความมั่นคงและความเป็นระเบียบยิ่งกว่าประชาธิปไตยที่มีแต่ความวุ่นวาย          

นอกจากนี้ มุมมองของอาจารย์ชาวฟิลิปปินส์ท่านนี้ยังสามารถสะท้อนบริบทของวัฒนธรรมทางการเมืองฟิลิปปินส์ได้อย่างดีว่าเป็นลักษณะทวิลักษณ์คือโครงสร้างเป็นประชาธิปไตย แต่ทัศนคติและมุมมองของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก นอกจากจะอนุรักษ์นิยมที่อิงกับศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก (นายดูเตอร์เตเคยด่าสันตะปาปาแต่ไม่ได้เสียคะแนนความนิยมเท่าไรนัก อันสะท้อนว่าคนฟิลิปปินส์อาจจะไม่ได้ศรัทธาต่อนครรัฐวาติกันอย่างมหาศาลอย่างที่เชื่อกัน) และยังอิงกับผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่นอย่างมาก เพราะภูมิประเทศของการมีเกาะกว่า 7,000 เกาะย่อมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแบบเจ้าพ่อหรือการมีครอบครัวซึ่งผูกขาดอำนาจในท้องถิ่น และทายาทสามารถสืบต่อตำแหน่งนั้นดูราวกับราชวงศ์ของกษัตริย์ก็ไม่ปาน ดังคำที่เรียกว่า Political dynasty อันส่งผลถึงความภักดีของชาวฟิลิปปินส์ต่อตัวบุคคลมากกว่าจะสนใจต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยรวมไปถึงความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง ดังนั้นตัวละครทางการเมืองที่ผู้เขียนได้ยกมาในช่วงต้นๆ ของบทความนี้แม้ว่าจะหลุดจากตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ แต่ก็ได้อวตารมาในตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ จากคะแนนเสียงในบ้านเกิดของตัวเอง จึงเป็นไปได้ว่าปฏิวัติพลังประชาชนถึง 2 ครั้งนั้นประสบความสำเร็จในระดับที่ไม่ลึกมากนัก  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

      
-นางอีเมลดาภรรยาของเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส มารดาของนายบองบอง และเจ้าของรองเท้าหลายพันคู่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเลย์เต

-นางอาร์โรโยปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดปัมปันกาต่อจากลูกชายของเธอ    

- โจเซฟ เอสตราดากลับมาเล่นการเมืองเป็นนายกเทศมนตรีของนครมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาลงสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ว่าจะแพ้นายอาคีโน แต่ก็ได้ถึงอันดับ 2

         
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนบทความนี้มองแตกต่างจากผู้เขียนบทความในเว็บไซต์นิว แมนดาลาที่เห็นว่านายดูเตอร์เตนำไปสู่วิกฤตครั้งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ตั้งแต่การปฏิวัติพลังประชาชนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนทำให้ผู้อ่านคิดว่าการเมืองฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ใสบริสุทธิ์ เพราะผู้เขียนเห็นว่าหากนายดูเตอร์เต (หรือแม้แต่นายมาร์คอสจูเนียร์) ได้เป็นประธานาธิบดีก็จะเป็นเพียงการผุดขึ้นมา หรือ การเปลี่ยนโฉมหน้าสักเล็กน้อยของความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่ถูกบ่มเพาะภายใต้วัฒนธรรมหรือค่านิยมทางการเมือง ท่ามกลางปัญหาและความเน่าเฟะของการเมืองฟิลิปปินส์ที่ดำรงอย่างยาวนานนับตั้งแต่มาร์คอส และที่สำคัญ การจะก้าวถึงการเป็นเผด็จการอำนาจนิยมใหม่หรือเทียบชั้นกับนายมาร์คอสซีเนียร์ได้ นายดูเตอร์เตจะต้องมีอำนาจเหนือรัฐสภาและตุลาการโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเขาจะต้องพบกับการประท้วงของประชาชนหัวเสรีนิยม (ซึ่งถึงแม้ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่แต่ก็น่าจะมีจำนวนมากอยู่) และกลุ่มทางการเมืองต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำอะไรเหมือนกับตอนเป็นนักการเมืองท้องถิ่น หรือเหมือนยุคนายมาร์คอสที่ใช้ข้ออ้างคือคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้เราต้องมาดูว่าคำสัญญาที่ดูโลดโผนของเขาว่าเป็นเพียงการหาเสียงที่สัญญาอะไรก็ได้เพื่อให้ได้คะแนนความนิยมให้มากที่สุดหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นนายดูเตอร์เตก็อาจเป็นแค่นักการเมืองระดับ “งั้นๆ”   ที่อย่างมากสุดก็ฉ้อฉลเหมือนนายเอสตราดาหรือนางอาร์โรโยเท่านั้นเอง                 

 

 

เชิงอรรถ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net