Skip to main content
sharethis

เก็บมาเล่าจากวงเสวนาครบรอบ 1 ปี ร้าน The Writer’s Secret “บ้านก็มี ทำไมต้องนอนนา” เมื่อคำว่า “เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน” ไม่เคยออกจากปลายปากกาสมาคมนักเขียนฯ 

บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ค. 2559 ร้าน The Writer’s Secret จัดงานสังสรรค์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของร้าน โดยในช่วงท้ายได้จัดให้มีเสวนา “บ้านก็มี ทำไมต้องนอนนา?” เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปจากการออกไปนอนนา จนนำไปสู่การตั้งคณะ “นอนนาคาเฟ่” เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของวงการศิลปะไทย นำโดย มาโนช พรหมสิงห์, บินหลา สันกาลาคีรี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ธีร์ อันมัย และเสนาะ เจริญพร

ภาพ: นิพิฐพนธ์ คำยศ

ทำไมต้องนอนนา

มาโนช พรหมสิงห์ คนสวนและนักเขียนรุ่นพี่ของชาวคณะนอนนา เล่าถึงเหตุผลของการก่อตั้ง นอนนาคาเฟ่ ขึ้นมาว่า พวกตนต้องการจะตั้งคณะขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเกิดความอึดอัดจากการไม่ทำอะไรเลยของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ต่อเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อชีวิต และสวัสดิภาพของเพื่อนพ้องนักเขียนด้วยกันเอง

“ผมไม่พอใจสมาคมนักเขียน และตอนที่พวกบินหลามาถามผมว่าอยากร่วมด้วยไหม ผมก็มาคิด เออ เราก็มีดีอยู่หรอก ไม่ได้ชั่วไปซะหมด เรายืนเด่นในที่ที่ไฟฉายแสงมาพอสมควร งั้นเรามาทำอะไรกันสักหน่อย ท่ามกลางความหดหู่ของสถานการณ์บ้านเมือง และความคับข้องที่มีต่อสมาคมนักเขียนฯ จุดประสงค์ที่เราตั้งนอนนาคาเฟ่ขึ้นมาก็เพื่อจะตั้งคณะขึ้นมาใหม่ เพื่อจะทำให้วงการนักเขียนของเรามันดีขึ้นได้บ้าง”

หลักการนอนนา ที่ชาว 'นอนนาคาเฟ่' ยึดถือร่วมกัน คือ

หนึ่ง - เชื่อมั่นในเสรีภาพของการอ่าน การเขียน การแสดงความคิดเห็น

สอง - อยู่เคียงข้างผู้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมในสังคม

สาม – ในภาวะที่สังคมคนทำงานศิลปะทางวรรณกรรมปัจจุบันไม่อาจพึ่งพิงองค์กรใดๆ ที่มีอยู่ได้อีก ‘นอนนาคาเฟ่’ จึงขอเสนอตัวเป็นพื้นที่ทางศิลปะและความคิดของศิลปิน นักอ่าน นักเขียน กวี นักแปล บรรณาธิการ นักวิชาการ นักวิจารณ์ สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนทุกประเภท ที่มีเจตจำนงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การทำงาน ถกเถียง ไถ่ถาม เสนอแนะ และการเจ๊าะแจ๊ะเอ๊าะเญาะแอ๊ะแญะอย่างสร้างสรรค์

วรพจน์ พันธุ์พงศ์  นักเขียนและหนึ่งในสมาชิกนอนคาคาเฟ่ เล่าเสริมว่า ตนเป็นคนมีการศึกษา แม้ว่าจะไม่ชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าทางตะวันออกเฉียงเหนือมีพี่ชายคนหนึ่ง (มาโนช พรหมสิงห์) ที่มีความสามารถและรักความเป็นธรรม จึงตกลงกับพรรคพวกจะเดินทางไปหา

“เราเลือกแล้ว เราไม่ได้เมา ผมเป็นคนเชื่อในประชาธิปไตย เชื่อว่าคนเท่ากัน เชื่อว่าคนเรามีเสรีภาพเบื้องต้นคือ เราเท่ากันเมื่อมันอัดอั้นทุกข์ทรมานกับวงการของเรา จึงอยากให้มีกลุ่มอื่นเยอะๆ ให้มันมีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ เพราะพอมันแบ่งเป็นขัน เราจะได้มีขันหลายสีใช้หน่อย”

ด้าน บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนและผู้นำวงสนทนาวันนี้ จึงช่วยสรุปจุดเริ่มต้นของการออกจากบ้านไปนอนนาว่า ตอนแรกพวกตนไปขอความร่วมมือจากมาโนช มีความรู้สึกเหมือนเป็นผู้ชายไปขอผู้หญิง เพราะกลัวเขาจะไม่เอาด้วย แต่สุดท้ายก็พูดถึงสิ่งที่คิดจะทำอย่างตรงไปตรงมา เอาแถลงการณ์ที่เขียนขึ้นให้มาโนชพิจารณา

“กลัวว่าเขาจะเห็นด้วยหรือเปล่า ปรากฏว่า เขาเติม”

หลังจากมาโนชตกลงเข้าร่วมก่อตั้งนอนนาคาเฟ่ ด้วยการช่วยต่อเติมแถลงการณ์เดิมอย่างไม่ลังเล ทำให้บินหลามั่นใจว่าอย่างน้อยก็มีคนสนใจร่วมอุดมการณ์เพิ่มมาอีกหนึ่งคน และเมื่อเจอคนที่มีอุดมการณ์จะทำอะไรเหมือนกัน ก็ย่อมมีกำลังใจเดินต่อไปด้วยกันได้ แม้การเล่นกับโครงสร้างของระบบเพื่อทำให้วงการนักเขียนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะเป็นเรื่องน่าเหนื่อยจนท้อใจก็ตาม

“ผมอึดอัดจากความเยอะทั้งหลายมานาน ผมพบว่าผมอยู่กรุงเทพไม่ได้ และที่อึดอัดที่สุดก็คือ บ้านเมืองเป็นแบบนี้ คนในวงการถูกคุกคามแบบนี้ แต่สมาคมนักเขียนกลับไม่ทำอะไรเลย คุณควรจะทำอะไรบ้างหรือเปล่า คือต่อให้คุณทำแล้วแพ้ ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้พวกคุณทำอะไรบ้าง”

 

ถ้าคุณไปนอนนา ไม่ใช่ปลาช่อน คุณปลอดภัย

ธีร์ อันมัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่อวงสนทนาด้วยการย้อนไปถึงแรกเริ่มของคำว่านอนนา ธีร์เล่าว่า มวลชนนำคำนี้มาพูดจนคุ้นหูหรือเป็นที่รู้จักมากขึ้นน่าจะเป็นสาเหตุมาจาก ภู กระดาษ นักเขียนหนุ่มจากที่ราบสูงผู้นำ “นอนนา”  มาใช้ในงานเขียนของเขา

โดยคำว่า “นอนนา” นั้น สามารถจำกัดความได้หลากหลาย หนึ่งคือ คนที่มีบ้านช่องหลับนอนตามปกติ แต่ก็เลือกจะไปปลูกบ้านอีกหลังอยู่กลางนา เพื่อเฝ้านา เฝ้าควาย เมื่อถึงคราวที่ผู้ใหญ่บ้านประกาศข่าวสารผ่านเครื่องขยายเสียงของชุมชน ทุกคนในหมู่บ้านก็จะรับรู้ได้หมด ยกเว้นคนที่เนรเทศตัวเองไปขยันอยู่ในนา ที่จะไม่ได้ยินและไม่รับรู้อะไรเลย สองคือ คนที่ต่างจากคนอื่นเกินไป และไม่สามารถอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นได้ เช่นกรณีของเงาะป่าและรจนา อย่างที่ธีร์กล่าวถึงว่า รูปชั่วตัวดำ สังคมไม่ชอบ ก็พิจารณาตัวเองออกมา และสามคือ คนที่โดนสังคมรังเกียจ จนถูกไล่ให้ไปนอนในนา

“พวกนอนนาจึงเป็นพวกคนที่ขยันเกินไป คนโดนรังเกียจ หรือไม่ก็คนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ คือถ้าคุณไปนอนนา ไม่ใช่ปลาช่อน ยังไงคุณก็ปลอดภัย ที่พูดอย่างนี้เพราะในนามันมีปลาช่อนตัวโต เนื้ออร่อย มีโอกาสโดนจับไปกินสูงมาก แต่ถ้าเป็นคนไปนอนนา ยังไงก็ไม่มีใครไปยุ่งกับคุณ มันเหมือนเป็นปราการปกป้องมนุษย์จากทุกอย่าง และเป็นที่ส่องสุมให้คุณทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ถ้าเขามาถาม ฮู้บ่ ผู้ใหญ่บ้านประกาศข่าว ก็ตอบว่า บ่ฮู้ ข้อยนอนนา ผมไม่รู้ ผมนอนนา (หัวเราะ)”

 

ทำนานอกเถียง

เมื่อเจอคนร่วมอุดมการณ์พอให้ใจชื้น ชาวคณะนอนนาจึงเริ่มเคลื่อนไหวผ่านเพจเฟซบุ๊กนอนนาคาเฟ่ จุดประสงค์ก็เพื่อให้คนออกมาทำนา ซึ่งหมายถึงการร่วมกันเปลี่ยนแปลงวงการนักเขียนไทย โดยบินหลาเป็นคนเดียวในกลุ่มที่พยายามโน้มน้าวให้เพื่อนนักเขียนสมัครเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพราะเขาเห็นว่า การเข้าไปเป็นสมาชิกได้ ก็ย่อมหมายถึงการเริ่มต้นเข้าไปเป็นคนที่จะส่งเสียงที่จะมีความหมายต่อสมาคมนักเขียนฯ ในรูปแบบของการออกเสียงเลือกนายกสมาคม หรือการลงรับสมัครเป็นนายกสมาคมเองหากมีความพร้อมมากพอ

แต่การเปลี่ยนแปลงระบบไม่จำเป็นต้องเดินไปในทางเดียวเสมอไป วรพจน์เสริมว่า คณะนอนนาคาเฟ่ยังไม่ได้ตกลงกันเบ็ดเสร็จว่าจะทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง แต่เขามีข้อเสนอคือ หนึ่ง พวกเขาก็อยู่กันไปตามประสา นอนนาเฉยๆ หรือพวกเขาจะสร้างซุ้มแบบพระเจ้าตาก แล้วยกไปตีเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ธีร์เสริมว่า เมื่อคราวที่สมาชิกของสมาคมนักเขียนฯ ถูกคุกคามด้วยอำนาจเผด็จการอย่างไม่เป็นธรรม กลับไม่พบรูปธรรมของการกระทำใดๆ เลยจากสมาคมนักเขียนฯ ที่ควรจะคุ้มครองและต่อสู้เพื่อสมาชิกอย่าง หฤษฎ์ มหาทน รวมไปถึงกรณีอื่นๆ เช่น ไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือวัฒน์ วรรลยางกูร นอกจากนี้ ธีร์ยังตั้งคำถามในตอนท้ายว่า

“ต่อเหตุการณ์เหล่านี้ คุณทำอะไรบ้างในนามของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”

ภาพ: นิพิฐพนธ์ คำยศ

เป็นมนุษย์ต้องแข็งแรง

ช่วงท้ายของการเสวนา วรพจน์เล่าว่า แม้พวกเขาจะเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กนอนนาคาเฟ่มาตั้งแต่ช่วงวันปีใหม่ 2559 จนล่วงมาถึงวันนี้ (5 พ.ค. 2559) ก็ยังไม่ได้ทำสิ่งใดเป็นที่ประจักษ์เท่าใดนัก แต่เขาก็ยังคงเชื่อมั่นในเรื่องของพื้นที่ที่จะทำให้คนมาพบเจอกัน และพื้นที่สำหรับความคิดอันอิสระเสรี

“ผมมาร่วมกับกลุ่มนอนนา เพราะหายใจไม่ค่อยออก ไม่สะดวกสบาย อยากหายใจได้โล่งๆ ผมเลยไปนอนนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง เมื่อความคิดเห็นของผมทำอะไรไม่ได้มากในสังคม ผมเลยมองหาพื้นที่เล็กๆ เพื่อเพาะสร้างร่างกายที่แข็งแรง ในยามที่บ้านเมืองบัดซบ สิ่งที่ปัจเจกจะทำได้ก็คือห้ามอ่อนแอเด็ดขาด นาเป็นพื้นที่ทางความคิดสำหรับผม และเป็นพื้นที่ที่ดีมากในการสร้างความแข็งแรงต่อตนเอง ผมพูดอย่างหยาบคายว่า มนุษย์ต้องแข็งแรง เพราะถ้าคุณไม่แข็งแรง หัวเราะก็ไม่สนุก มีเซ็กซ์ก็ไม่สนุก จะทำอะไรมันก็ไม่สนุกไปหมด ท่ามกลางความบัดซบของบ้านเมือง เราต้องแข็งแรงเท่านั้น แล้วเราจะไปทำอะไรต่ออย่างที่อยากจะทำได้”

นอกจากนั้น มาโนชยังย้ำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกระตุ้นตัวเองให้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาวงการนักเขียนและประเด็นต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น ดังที่เขาบอกว่า

“นอนนาเป็นของทุกท่าน จงช่วยผลักดันให้มันเติบโตแข็งแรง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net