Skip to main content
sharethis

9 พ.ค.2559 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเวทีอภิปราย “กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” โดยนักวิชาการด้านสิทธิชี้สิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชนพื้นฐานถูกลิดรอนยากจะเรียกร้องสิทธิอื่น ไม่ควรมองแยกขาด ด้านทนายความและตัวแทนชาวบ้านอธิบายความทุกข์ยาก ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนแต่ถูกฟ้องคดีมากมาย สร้างภาระและบั่นทอนขวัญกำลังใจ กระบวนการยุติธรรมไทยยังมองคนไม่เท่ากัน เห็นเป็นความขัดแย้งระหว่างเอกชน ขาดการพิจารณาบริบท  

การเมืองอำนาจนิยมกับผลกระทบต่อสิทธิชุมชน

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนหรือการจัดการทรัพยากร ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว หลายเรื่องชัดเจนและรุนแรงขึ้น ดังนั้นการเมืองและเรื่องปัญหาทรัพยากร ปากท้องชาวบ้าน ไปจนถึงสิทธิชุมชน เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการเมืองคือตัวที่กำหนดสิทธิ เสียงของประชาชนออกมาต่อสู้ปกป้องสิทธิการเมืองที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเข้าสภา แต่การเมืองคือการกำหนดอนาคตของประเทศที่เราอยู่อาศัยและสิ่งที่เราเผชิญ

“เรื่องกลไกทางกฎหมาย ที่เรียกว่า SLAPP  หรือการแกล้งฟ้องถูกกดำเนินคดีนั้น ข้อท้าทายไม่ได้อยู่ที่กฎหมายและระบบกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นอำนาจพิเศษที่เหนือกฎหมาย ในภาพรวมมีการใช้อำนาจที่เหนือกฎหมาย เราจะทำอย่างไร เราจะใช้กฎหมายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างไร เรื่องสิทธิชุมชนแม้มีกฎหมายตั้งแต่ปี 40 ปี 50 แต่ปัจจุบันสิทธิในการกำหนดอนาคต สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิอื่นๆ ยังถูกลิดรอน ดังนั้นคงไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกร้องเพียงสิทธิชุมชน เพราะสิทธิอื่นๆ ถูกลิดรอนไปแล้ว” เบญจรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ SLAPP ย่อมาจาก Strategic Litigation Against Public Participation แปลว่า การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

“ประเด็นฝากท้ายกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อท้าทายที่สำคัญ เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มองว่าคนเป็นคนเท่าเทียมกัน ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน หรือสิทธิอื่นๆ ทำอย่างไรให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ และไม่ว่าคุณจะเกลียดนักการเมืองอย่างไร แต่คุณก็ยังมีสิทธิถกเถียง คนทำงานเคลื่อนไหวต้องคิดว่า เราจะมีท่าทีอย่างไรกับนักการเมืองอำนาจนิยม จะมีท่าทีอย่างไรกับนโยบายที่เราไม่มีส่วนร่วม เรายินดีหรือไม่กับ 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญคือใครเป็นพลเมืองที่มีอำนาจในรัฐนี้ที่จะพูดว่าตัวเองต้องการอะไร  เราต้องการรัฐที่ควบคุมเบ็ดเสร็จ เป็นเผด็จการหรือรัฐที่จะมีพื้นที่ให้เราพูดและถกเถียงได้” เบญจรัตน์ กล่าว

ปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงความยุติธรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน

แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส กล่าวว่า กรณีเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นปัญหาร่วมกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่ชาวบ้านเดือดร้อนทั่วประเทศไทย เช่น เขตที่มีการพัฒนาของธุรกิจพลังงานปิโตรเลียม เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ทั้งหมดมีลักษณะร่วมคือ บริษัทเหล่านั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในพื้นที่อย่างสิ้นเชิงเพราะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่เคยถูกตรวจสอบการจัดการผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าของเสีย สารพิษ ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ

แสงชัย กล่าวต่อว่า กระบวนการต่อสู้ภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการต่างๆ ถูกรัฐหรือทุนอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเงื่อนไขบังคับ เช่น  การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แม้จะมีการระบุว่ามีการรับฟังเสียงประชาชน แต่ในทางปฏิบัติทำกันแบบไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง มีแค่ชื่อบัญชีปะติดกับใบรายงานที่ชาวบ้านไม่รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะผู้ดำเนินโครงการมีความเชื่อว่าชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และตัดสินใจด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า ถ้าชักชวนให้ผู้นำชุมชนสนับสนุนบริษัท โครงการในพื้นที่นั้นก็ประสบความสำเร็จ

“ถ้าประชาชานในพื้นที่คัดค้านก็จะกลายเป็นเรื่องคดีความที่สร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ ชาวบ้านโดนฟ้อง เกิดค่าใช้จ่าย สิ่งเหล่านี้สร้างความทุกข์ยาก หลายพื้นที่ที่มีปัญหาก็ไม่อยากสู้ในระบบยุติธรรม เพราะมันยากและค่าใช้จ่ายสูง ไม่มีใครอยากเดินทางไปขึ้นศาล มีคดีความ ยิ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยิ่งกว่าเงินและภาระคือปัญหา ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ไม่จำเป็นอย่าเข้าไปข้องแวะเพราะบางคนมีทัศนคติต่อชาวบ้านไม่ดีตั้งแต่ต้น จำกัดมุมมองมุ่งอยู่ที่คดีโดยตรง โดยตัดบริบทแวดล้อมและมองแค่ข้อเท็จจริงที่เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย ไม่ได้พิจารณาแวดล้อมอื่นเพราะมองว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับคดี โครงการรัฐที่ไปทำลายชาวบ้านก็มองเป็นแค่ความคัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล สิ่งนี้สร้างความหนักใจให้ชาวบ้านในกระบวนการยุติธรรม” แสงชัยกล่าว

“การเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้คดีของชุมชนต่างๆ ที่ปกป้องทรัพยากร จะพบว่าคำพิพากษา คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หลายเรื่อง บางเรื่องถอยกลับไปอ้างอิงหลักการในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหลักการรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนขึ้นมาเล่นๆ แต่ต้องยึดเป็นแก่นในการตีความกฎหมายทั้งปวง แต่มันก็เกิดขึ้นน้อยมากเทียบเป็นร้อยละไม่ถึง 1% ในวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ” แสงชัยกล่าว

ความรุนแรงของนักสิทธิมนุษยชนนอกกระบวนการยุติธรรม

จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงมุมมองทางวิชาการต่อกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนว่า ความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างชุมชนกับรัฐและทุนขึ้นอยู่กับบริบทของเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องการฟ้องร้อง แต่ยังมีเรื่องข่มขู่ การเด็ดหัวแกนนำ ความรุนแรงขัดแย้งที่ยืดเยื้อส่งผลต่อความรุนแรงต่อมิติสุขภาพที่เกิดขึ้นและไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ปัญหา บริบทสังคมในแต่ละยุคจึงเป็นเรื่องสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

จันทรา กล่าวต่อว่า ถ้าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและสิทธิการแสดงออก ความรุนแรงย่อมผ่อนคลายลง แต่ถ้าสังคมยึดความมั่นคงและการใช้อำนาจ ความรุนแรงความขัดแย้งเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนความรุนแรงของการใช้กระบวนการยุติธรรมมาปิดปากชาวบ้าน ความรุนแรงนี้ส่งผล 2 ประเด็น 1.ทำให้ประเด็นสาธารณะกลายเป็นประเด็นการพิจารณาความคัดแย้งของเอกชน ลดทอนประเด็นสาธารณะเหลือเพียงความขัดแย้งระหว่างเอกชนกับเอกชน 2.กระบวนการดำเนินคดีนั้นทำร้ายชาวบ้าน ขั้นตอนในการพิจารณาคดีความซึ่งมีต้นทุนที่ชาวบ้านต้องเสียทรัพย์สิน เสียสภาพจิตใจ และส่งผลกระทบต่อสภานภาพครอบครัว กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายชาวบ้าน กระบวนการทางศาลทำให้คนที่ต้องการเรียกร้องหรือได้รับผลกระทบกลัวที่จะเข้าร่วม ทำลายขบวนการปกป้องสิทธิชุมชนในท้องถิ่น

กรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กับกระบวนการยุติธรรม

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ผู้แทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวถึง ประสบการณ์ของชุมชนในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเจ้าของตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำก่อตั้งเมื่อปี 2549 มีจุดเริ่มต้นจากชาวบ้าน 3-4 คนที่ลุกขึ้นมาพูดคุยเรื่องผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ถูกข่มขู่คุกคามจากบริษัทเหมืองทองมาโดยตลอด ในระยะเวลาเกือบ 10 ปี ชาวบ้านถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาหลายสิบคดี ในระหว่างการต่อสู้เรื่องคดีพอมีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ก็มีการฟ้องชาวบ้านหนักขึ้น เช่น คดีหมิ่นประมาทที่ชาวบ้านโดนฟ้องที่ภูเก็ตและที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางไกลเสียเงิน เสียกำลังใจ และสร้างความหวาดกลัวในระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน

สุรพันธ์ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมว่า การสู้คดีในชั้นศาลยังรู้สึกถึงทัศนคติที่คนมองคนไม่เท่ากัน ผู้พิพากษาดูอยู่ในบัลลังก์เหมือนขุนนาง เวลาชาวบ้านถูกดำเนินคดีขึ้นศาลกับทหารยศนายพล มีเรื่องกับอำนาจรัฐและทหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำคดียังไม่กล้าแตะต้องอำนาจเหล่านั้น การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมิ่นศาลแต่ต้องการสะท้อนประสบการณ์เคยขึ้นศาล เสมียนศาลปฏิบัติต่อชาวบ้านพูดกับชาวบ้านด้วยน้ำเสียงอีกแบบ ในขณะที่พูดกับนายพลทหารที่มียศปฏิบัติอีกแบบ ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อชุมชน

“พี่น้องเราสู้นะครับ ภาพจะออกมาอย่างไรไม่รู้ ผมว่าตุลาการไม่ควรเห็นคนไม่เท่ากัน ผมไม่เชื่อคำพิพากษา แพ้ชนะคดีไม่ใช่จุดหมายพวกเรา แต่สิ่งสำคัญคือเรากำลังสู้สู้เพื่อบ้านของเรา” สุรพันธ์ กล่าว

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงข้อสังเกตที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า เดิมตั้งแต่ บ.ทุ่งคำ มาประกอบกิจการในพื้นที่ก็ได้มีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่มาโดยตลอด ชาวบ้านตกเป็นจำเลยหลายคดีและ 10 กว่าคดีที่ค้างบนศาล เมื่อเกิดความรุนแรงในช่วงปี2557 กลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 200-300 คนบุกเข้าหมู่บ้านและจับชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองเป็นตัวประกัน มีการควบคุมตัวชาวบ้านเพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกเข้าไปขนแร่ออกมาได้ หลังจากเหตุการณ์นั้นมีกลไกหลายภาคส่วนเข้ามาเจรจาขอให้ชาวบ้านยินยอมให้บริษัทขนแร่ออกมาจากพื้นที่แลกกับการถอนฟ้องคดีความที่บริษัทฟ้องชาวบ้าน มันก็มีเหตุจำเป็นที่ชาวบ้านต้องยินยอม ที่สุดคดี 10 กว่าคดีถอนฟ้องและบริษัทกลับไปขนแร่ออกมาได้

ธีรพันธุ์ กล่าวต่อว่า มีความรุนแรงต่อจากนั้นเมื่อ ปี 2558 ที่บริษัททุ่งคำหยุดดำเนินการ เนื่องจากตั้งในพื้นที่เขตป่าสงวน ซึ่งต้องขออนุญาตกรมป่าไม้และใบอนุญาตหมดอายุตั้งแต่ปี 2555 ระหว่างยื่นขออนุญาตใหม่ มีเงื่อนไขต้องได้รับความยินยอมจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แต่ชาวบ้านในชุมชนค้านไม่ให้ต่อใบอนุญาต สภาองต์การบริหารส่วนตำบลจึงชะลอเรื่องไว้เพื่อฟังเสียงประชาชน และทำให้เกิดเหตุขัดแย้งมีคดีความทางแพ่งทางอาญาขึ้นมาอีกหลายคดีเมื่อบริษัทไม่หยุดที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องร้องเอาผิดต่อชาวบ้าน

“ข้อสังเกตคือ กลุ่มคนที่ถูกบริษัททุ่งคำฟ้อง คนเหล่านี้เป็นตัวตั้งตัวตีหรือแกนนำที่ให้ชาวบ้านมารวมตัวกัน เลือกฟ้องเฉพาะแกนนำ เราพอมองเห็นว่าวัตถุประสงค์ที่ผู้ประกอบการฟ้องร้องนั้นไม่ได้เพื่อการชนะคดี แต่ต้องการให้ชาวบ้านเดินทางไกลเพื่อขึ้นศาล เหตุเกิดที่ อ.วังสะพุง จ.เลย แต่ต้องเดินทางไปขึ้นศาลที่อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องหาเงินเดินทางไปและหาเงินมาประกันตัว สร้างความพะวักพะวงและบั่นทอนขวัญของชาวบ้าน อยากให้ขบวนการกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนสั่นคลอน และยุติการเคลื่อนไหวในที่สุด” ธีรพันธุ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net