ประยุทธ์ไม่กังวลแจงสถานการณ์สิทธิฯ ต่อโลก ย้อนพวกค้าน 10 ปีที่แล้วไปอยู่ไหน

พล.อ.ประยุทธ์ ยันไม่กังวลชี้แจงประเด็นสิทธิมนุษยชน ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถามพวกค้านใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด รัฐบาลก่อนอยู่ที่ไหน 10 ปีแล้ว ไปอยู่ที่ไหนมา รมว.ต่างประเทศ ยันไทยพร้อมแจง 

10 พ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ไม่กังวลเรื่องการชี้แจงในประเด็นสิทธิมนุษยชน ในการประชุมคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือคณะทำงานยูพีอาร์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยได้มอบหมายและสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมและคณะผู้แทน ไปชี้แจง ทั้งในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 กฎอัยการศึก และการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ขณะเดียวกันไม่กังวลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการที่คัดค้านการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด

“พวกนี้คราวที่แล้วอยู่ที่ไหนกัน ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนอยู่ที่ไหน ไปถามเขาก่อน อย่ามาถามผม มันไม่เกิดวันนี้ เกิดมา 10 ปีแล้ว อยู่ที่ไหนกันพวกนี้ เพิ่งเกิดหรืออย่างไร ค้านอยู่นั่น ค้านอยู่ซีกเดียวนั่นแหละ หลายอย่างเจริญก้าวหน้า วันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความเชื่อมั่นลำดับที่ 21 ของโลก สองปีที่ผ่านมาไม่มีลำดับเลย นี่สิ่งดี ๆ ทำไมไม่เขียน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รมว.ต่างประเทศ ยันไทยพร้อมแจง 

ขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีปลัดกระทรวงยุติธรรมและคณะเดินทางไปรายงานยูพีอาร์ รอบที่ 2 ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา ในวันพรุ่งนี้(11 พ.ค.) ว่า เป็นการไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นเวทีการรับฟังในฐานะมิตรประเทศ เพื่อบอกกล่าวต่อกันว่าแต่ละประเทศได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ในส่วนของไทยเห็นด้วยและสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน
 
“การนำเสนอรายงานดังกล่าวเมื่อการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ประชุมได้เสนอ 172 เรื่องให้ประเทศไทยรับไปพิจารณา ซึ่งไทยรับไป 134 เรื่อง ส่วนการเรียกร้องของแต่ละประเทศถือเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิของที่ประชุมที่จะเรียกร้อง ซึ่งประเทศต่างๆ มีสิทธิตัดสินใจได้เองว่าจะรับหรือไม่รับข้อเรียกร้องเรื่องใด ซึ่งบางประเทศถูกตั้งคำถามเรื่องการไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต หรือในสหรัฐฯเองก็ไม่เข้าร่วมการให้สัตยาบันเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยแต่ละประเทศมีเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องภายในประเทศเอง ซึ่งประเทศอื่นไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยว และแนวทางดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้แทนประเทศไทยจะนำไปชี้แจงต่อคณะมนตรีดังกล่าวต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าวงประเทศ กล่าว
 
ดอน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ไม่ได้เน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่รับทราบเท่านั้น ส่วนกระแสข่าวที่ว่าประเทศต่าง ๆ มีข้อซักถามประเทศไทย คณะผู้แทนไทยพร้อมตอบคำถามอยู่แล้ว เพราะไทยไปด้วยความสมัครใจ และเวทีนี้ไม่ใช่เวทีที่ใครจะมาต่อว่าหรือกดดันเรา เวทีดังกล่าวไม่ใช่เป็นการสร้างภาวะกดดันต่อกัน
 
“เรื่องสิทธิด้านอื่น ๆ ประเทศไทยได้รับคำชมเชยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสิทธิเด็ก ผู้ทุพพลภาพ และสตรี ขณะที่เรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไทยมีภาวะบ้านเมืองที่จำเป็นต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ป้องกันความปั่นป่วน ซึ่งต่างประเทศเข้าใจ เพราะทุกประเทศมีภาวะเช่นเดียวกันนี้ กระแสข่าวที่ออกไปเกี่ยวกับการนำเสนอรายงานดังกล่าวมาจากคนที่ไม่มีความเข้าใจข้อเท็จจริงของเวทีนี้ จึงคิดว่าจะเป็นการนำประเทศไทยให้ถูกต่อว่า” ดอน กล่าว
 
เมื่อถามย้ำว่า การตั้งคำถามของนานาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนจะไม่บานปลายไปถึงขั้นถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าใช่หรือไม่ ดอน กล่าวว่า จะไม่มีเรื่องใดที่ถูกนำไปโยงให้เป็นมาตรการต่อประเทศใด ๆ ยืนยันว่าทุกประเทศมีสภาวะของตัวเองว่าพร้อมทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญคือทุกประเทศต้องมีมาตรฐานในการทำให้บ้านเมืองของตัวเองมีความสงบ ไม่เกิดปัญหา
 
“ส่วนกระแสข่าวที่ว่าบางประเทศจะตั้งคำถามในประเด็นใดบ้าง ที่จริงแล้วคณะทำงานได้เชิญผู้แทนของแต่ละประเทศมาพูดคุยเพื่อสอบถามถึงเรื่องที่ประเทศนั้น ๆ ให้ความสนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคำถามจริง ๆ ในการเสนอรายงานนี้ต่อคณะมนตรีฯ” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท