Skip to main content
sharethis

เป็นคำถามในใจใครหลายคนว่าอะไรทำให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากลงคะแนนให้กับนักการเมืองผู้มีภาพลักษณ์ "มือปราบปืนเถื่อน" ไปพร้อมๆ กับภาพแย่ๆ ในหลายเรื่อง มีบริบทบางอย่างในฟิลิปปินส์ที่อาจจะทำให้มองการเมืองต่างไปจากที่อื่น อาจจะเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความรู้สึกไม่ได้รับการเหลียวแล หรือวัฒนธรรมการเมืองที่เน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบายกันแน่ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ 'ดูเตอร์เต' ขึ้น

โรดริโก ดูเตอร์เต แฟ้มภาพในปี 2552 สมัยที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

มีสื่อต่างประเทศหลายสำนักวิเคราะห์กรณีที่ โรดริโก ดูเตอร์เต ได้รับความนิยมอย่างมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งล่าสุด โดยที่ดูเตอร์เตเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาผู้ได้รับฉายาว่าเป็น "โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งฟิลิปปินส์" จากการที่เขาใช้โวหารแบบก้าวร้าวในการหาเสียงรวมถึงมีท่าทีชวนให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในเรื่องที่กล่าวในเชิงตลกขบขันเกี่ยวกับกรณีการข่มขืนและสังหารมิชชันนารีชาวออสเตรเลียเมื่อหลายสิบปีก่อน

อย่างไรก็ตามดูเตอร์เตคือผ้ที่พยายามชูนโยบายการใช้กำลังอย่างเต็มที่ในการปราบปรามสิ่งที่เขามองว่าเป็นอาชญากรรม ซึ่งในบางเรื่องก็ฟังดูเหี้ยมโหดรุนแรงเกินไป แต่เหตุใดดูเตอร์เตถึงดูจะเป็นคนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ของฟิลิปปินส์ มีสภาวะแวดล้อมแบบไหนถึงมีการสนับสนุนคนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มสังหารผู้คนด้วยวิธีการนอกกฎหมายมาก่อนในดาเวา

ประขาชนบางคนในดาเวาดูเหมือนจะชื่นชมดูเตอร์เตโดยอ้างว่าวิธีการของดูเตอร์เตทำให้ตำรวจทำงานของตัวเอง ดูเตอร์เตซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนายกเทศมนตรีทำให้พวกอาชญากรหวาดกลัวได้ และตำรวจก็กลัวเขาด้วยจึงต้องยอมทำงานตามที่ดูเตอร์เตสั่ง

มุมมองเช่นนี้อาจจะอธิบายได้ว่าการเมืองในฟิลิปปินส์อาจจะเริ่มกลายเป็นเรื่องของความนิยมชมชอบบุคลิกตัวบุคคลมากกว่าเรื่องนโยบาย โดยที่รอนนี โฮล์มส์ ประธานบริษัทวิจัยด้านความคิดเห็นของประชาชนพัลส์เอเชียและนักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตในบทความของเขาว่าการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้คือการที่ไม่มีการแบ่งฝ่ายพรรคการเมืองอย่างชัดเจนทำให้ผู้ลงสมัครสามารถข้ามไปมาพรรคไหนก็ได้ ลักษณะการจับกลุ่มแบบชั่วคราวและไม่คงทนเช่นนี้ทำให้ผู้แทนลงสมัครที่อาศัยประสิทธิภาพจากกลุ่มแนวร่วมในท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนผู้ลงคะแนนเสียงต้องผิดหวัง

 

การเมืองที่อิงกับบุคลิกภาพมากกว่านโยบาย

รอนนี โฮล์มส์ อธิบายต่อไปว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้เป็นการรณรงค์ในลักษณะแบบที่ผู้สมัครส่วนใหญ่เน้นใช้บุคลิกลักษณะส่วนตัวมากกว่าเน้นเรื่องนโยบาย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงดูเตอร์เตเท่านั้นที่พยายามขายบุคลิกตัวเองเช่นนี้ ผู้สมัครรายอื่นๆ ก็พยายามขายบุคลิกของตัวเองด้วย แต่ผู้ที่สนับสนุนดูเตอร์เตดุจะชอบลักษณะการแสดงออกเหมือน "ซื่อตรง" ของเขา แต่การแสดงออกเหมือนคน "ซื่อตรง" ที่ว่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่มีหลายคนโจมตีเช่นกัน โฮล์มส์ ก็ระบุว่าอดีตผู้สนับสนุนที่เริ่มไม่พอใจในตัวดูเตอร์เตก็ไม่น่าจะส่งผลประโยชน์ต่อผู้แทนคนอื่นๆ พวกเขาจะทำอย่างมากที่สุดก็แค่ไม่ลงคะแนน

ปีเตอร์ ลาวินา ผู้จัดการรณรงค์หาเสียงของดูเตอร์เตกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารไทม์เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองในฟิลิปปินส์ว่าเรื่องนี้เป็น "การเลือกตั้งในแบบฟิลิปปินส์" ที่ทำให้นักการเมืองต้องพยายามสื่อสารกับผู้ชม บางคนก็ร้องเพลง เต้นรำให้ดู บางคนใช้วิธีเล่าเรื่องตลก ทำหน้าตาตลก หรือ แต่งตัวเพี้ยนๆ

 

เชื้อไฟจากความโกรธของชนชั้นกลางฟิลิปปินส์

บทความอีกชิ้นหนึ่งโดย จูลิโอ ซี ทีฮันกี ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมาร์ค อาร์ ทอมป์สัน หัวหน้าภาควิชาเอเชียศึกษาแลละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยซิตี้ยูนิเวอร์ซิตีฮ่องกง ระบุว่าปรากฏการณ์ความนิยมของดูเตอร์เตนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์การปฏิวัติของคนจน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีแรงผลักดันมาจากชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์ โดยชนชั้นกางผู้โกรธแค้นเหล่านี้แสดงการต่อต้านชนชั้นนำเดิมในฟิลิปปินส์เนื่องจากพวกเขารู้สึกถูกละเลยจากกลุ่มชนชั้นนำที่มีความเป็นคณาธิปไตย อีกทั้งแนวทางแบบอำนาจนิยมใหม่ (neo-authoritarian) ของดูเตอร์เตในตอนแรกๆ ก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนเท่านั้น ดูเตอร์เตเพิ่งได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากคนจนเมื่อไม่นานมานี้เอง

บทความของทีฮันกีและทอมป์สันระบุว่ากลุ่มชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์แสดงความไม่พอใจในเรื่องความสงบเรียบร้อยในสังคมและสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นปัญหายาเสพติด รวมถึงปัญหาการที่ชนชั้นกลางไม่สามารถข้าถึงบริการสาธารณะ ปัญหาการจราจร และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเบนิกโน อากีโนที่ 3 ที่ถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมธรรมาภิบาลและส่งผลให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตขึ้นมาก แต่ชนชั้นกลางก็รู้สึกว่าพวกเขาเข้าถึงผลประโยชน์ของรัฐไม่ได้แบบคนจนและไม่สามารถได้ผลประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนในหมู่คนรวย

อย่างไรก็ตามความโกรธเช่นนี้ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นอันตรายต่อสถาบันประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ที่ยังคงเปราะบางจากการที่ดุเตอร์เตประกาศ "ชำระล้างประเทศ" ด้วยการยกเลิกรัฐสภาหรือทำให้ศาลเชื่อฟังถ้าหากมีการพยายามเข้ามาขัดขวางการปราบปรามอาชญากรรมและการทุจริต โดยบทความของทีฮันกีและทอมป์สันระบุว่าข้ออ้างคืน "ความสงบเรียบร้อย" เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส มาก่อนและในช่วงแรกๆ ที่มาร์กอสยึดอำนาจก็ได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางเช่นกัน

บทความเดียวกันระบุต่อไปว่าในโลกตอนนี้มีหลายแห่งที่กำลังกลายเป็น "อำนาจนิยมใหม่" จากการที่กลุ่มผู้มีอำนาจพยายามรักษาอำนาจของตนไว้เพื่อบ่อนทำลายประชาธิปไตยโดยรวมถึงกรณีของประเทศไทยด้วย ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่เพิ่งได้รับประชาธิปไตยหลายแห่งไม่สามารถรักษาสถาบันประชาธิปไตยของตัวเองไว้ได้

 

การเดิมพันความเสี่ยงสูง

สิ่งที่ดูเตอร์เตพยายามใช้โฆษณาตัวเองคือการที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีในดาเวาและอ้างว่าตัวเองเป็นผู้ไล่ล่าสังหารกลุ่มอาชญากรต่างๆ ในเมืองได้โดยไม่สนใจว่าจะถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่และสัญญาว่าจะนำโมเดลแบบดาเวามาใช้กับที่อื่นๆ ของประเทศ เรื่องนี้แรนดี เดวิด นักสังคมวิทยามองว่าดูเตอร์เตมีบารมีในด้านมืดที่อาศัยแรงผลักดันในสังคมคือความรู้สึกร่วมของความโกรธและความสิ้นหวัง

รายงานของ แนช เจนกิน นักข่าวเอเชียในนิตยสารไทม์ระบุว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวฟิลิปปินส์ดูจะต้องการคนที่ปราบปรามอาชญากรรมอย่างหนักมือน่าจะเป็นเพราะในฟิลิปปินส์เองเป็นประเทศที่มีปัญหาอาชญากรรมมาก สามารถเข้าถึงอาวุธปืนผิดกฎหมายได้ง่าย แลมีปัญหายาบ้าแพร่ระบาดหนัก ในปี 2556 ธนาคารโลกจัดอันดับให้ฟิลิปปินส์มีอัตราการฆาตกรรมสูงสุดในเอเชียและอันดับที่ 11 ของโลก อีกทั้งในการสัมภาษณ์ชาวฟิลิปปินสืก็มีคนเชื่อว่าดูเตอร์เตไม่ได้สังหารคนบริสุทธิ์แต่เขาสังหารอาชญากร อีกทั้งยังไม่เชื่อที่อากีโนเคยเตือนว่าดูเตอร์เตอาจจะกลายเป็นเผด็จการแบบฮิตเลอร์ได้ในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าคนลงคะแนนบางคนคงรู้สกึกเหนื่อยหน่ายจนยอม "เสี่ยง" เอากับการเลือกดูเตอร์เต

เออร์เนสต์ โบวเวอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (CSIS) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อไทม์ว่า "ชาวฟิลิปปินส์เป็นนักพนัน พวกเขาต้องการเอาลูกตุ้มยักษ์เข้าทุบทำลายสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่สถาปนาขึ้น (establishment) และถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา"

ทางด้านเทเรซา เอส เอนคานาเซียน ทาเดม ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กล่าวว่าชาวฟิลิปปินส์เริ่มไม่พอใจเรื่องอาชญากรรม การทุจริต และความไม่เท่าเทียม และดูเตอร์เตก็ฉวยโอกาสนี้ด้วยการโผล่มาในช่วงที่ "คำสัญญาไม่ได้รับการตอบสนอง" แสดงตัวเหมือนกับว่าเป็นคนที่จะมาทำให้นโยบายเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้

 

ชาติพันธมิตรตะวันตกกับดูเตอร์เต

การขึ้นเป็นผู้นำของดูเตอร์เตยังชวนให้ต่างชาติกังวลเรื่องนโยบายการต่างประเทศของเขาที่แสดงตัวแบบมุทะลุเช่นอ้างว่าจะขี่เจทสกีบุกไปทวงคืนพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่มีข้อพิพาทกับจีน อีกทั้งยังเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์จากการจัดการนโยบายการต่างประเทศที่มีความซับซ้อนเลย บทความนักข่าวลินเซย์ เมอร์ดอช ระบุว่าเรื่องนี้ทำให้สหรัฐฯ แและออสเตรเลียซึงเป็นประเทศพันธมิตรของฟิลิปปินส์ต้องตื่นตัวเพราะพวกเขาอาจจะสูญเสียผลลัพธ์จากความสัมพันธ์ทางการทูตที่เคยสร้างไว้ในยุคของอากีโนได้

ในขณะที่การทูตของออสเตรเลียดูจะใกล้ชิดกับรัฐบาลอากีโนมากกว่าแต่ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับดูเตอร์เตก็เป็นไปไม่ค่อยดีนักหลังจากที่ดูเตอร์เตเคยบอกให้เอกอัครราชทูตออสเตรเลียที่มาใหม่ให้ "หุบปาก" หลังจากที่เธอวิจารณ์เรื่องที่ดูเตอร์เตพูดติดตลกเกี่ยวกับกรณีข่มขืนมิชชันนารีออสเตรเลียผ่านทางทวิตเตอร์และขู่จะตัดความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังชวนให้สหรัฐฯ กังว่าฟิลิปปินสืจะสามารถพึ่งพาได้หรือไม่ในฐานะประเทศพันธมิตรด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

การล่มสลายของสถาบันทางการเมืองฟิลิปปินส์ที่ 'สตรองแมน' ไม่อาจเยียวยา

อย่างไรก็ตามในตอนนี้ก็คงได้แต่ดูกันต่อไปว่าการเดิมพันของประชาชนจำนวนหนึ่งในฟิลิปปินส์จะทำให้เกิดหายนะจากการเดิมพันความเสี่ยงสูงเกินไปหรือไม่ และในขณะเดียวกันก็ยังไม่อาจด่วนตัดสินได้ว่าทั่วโลกหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหันมาหาผู้นำแบบพวกชอบใช้อำนาจหรือที่เรียกว่า 'สตรองแมน' (strongman) ในภาษาทางรัฐศาสตร์ไปเสียหมด

โดยที่บทบรรณาธิการอีสต์เอเชียฟอรัมยกตัวอย่างว่ามีกรณีที่เป็นตัวอย่างที่ดีบางเหมือนกันเช่นในอินโดนีเซียอดีตนายทหารระดับสูงแพ้การเลือกตั้งแบบหวุดหวิด หรือในพม่าที่เริ่มมีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ต้องคอยจับตามองพวกเขาจะสามารถยึดกุมสถาบันทางการเมืองที่เป้นประชาธิปไตยไว้ได้หรือไม่

บทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมสรุปบทเรียนจากฟิลิปปินส์ว่าการที่จะยึดกุมพลังทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยไว้ได้นั้นต้องทำให้เกิดการพัฒนาออกจาก "ประชาธิปไตยแบบคณาธิปไตย" ที่เอื้อต่อผู้นำทางการเมืองไม่กี่คน แต่ควรจะทำให้เกิดสังคมที่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามการเมืงแบบสตรองแมนของดูเตอร์เตก็ถือเป็นการใช้ยาผิดในการรักษาอาการนี้และกลับจะยิ่งทำให้สถาบันประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ทรุดลงกว่าเดิมในช่วงเวลาที่ภุมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังต้องการผู้นำประชาธิปไตยมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Personality, not policy, will decide the Philippine presidency, Ronnie Holmes, East Asia Forum, 07-05-2016 http://www.eastasiaforum.org/2016/05/07/personality-not-policy-will-decide-the-philippine-presidency/

Forget Donald Trump, Australia needs to worry about the Philippines' Rodrigo Duterte, Sydney Morning Herald, 10-05-2016 http://www.smh.com.au/world/forget-donald-trump-australia-needs-to-worry-about-the-philippines-rodrigo-duterte-20160510-goqkyl.html

Duterte and the politics of anger in the Philippines, Julio C. Teehankee and Mark R. Thompson, East Asia Forum, 08-05-2016 http://www.eastasiaforum.org/2016/05/08/duterte-and-the-politics-of-anger-in-the-philippines/

Rodrigo Duterte Brings Familiar Tone to Philippine Election, New York Times, 09-05-2016 http://www.nytimes.com/2016/05/10/world/asia/in-the-philippines-a-familiar-tone-in-voice-of-rodrigo-duterte.html

People Keep Calling Rodrigo Duterte the Philippine Donald Trump. They’re Wrong, Time, 10-05-2016 http://time.com/4324098/rodrigo-duterte-philippines-president-donald-trump-human-rights-immigration/

Why Did the Philippines Just Elect a Guy Who Jokes About Rape as Its President?, Time, 10-05-2016 http://time.com/4324073/rodrigo-duterte-philippines-president-why-elected/

Pitfalls of personality politics in Philippines election, East Asia Forum, 09-05-2016 http://www.eastasiaforum.org/2016/05/09/pitfalls-of-personality-politics-in-philippines-election/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net