การกดขี่ปราบปรามประชาชน ไม่ใช่เรื่องภายในของรัฐเท่านั้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เสียดายที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย ใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับการต่างประเทศ แต่กลับเสแสร้งทำเป็นไม่รู้ระเบียบโลกเอาเสียเลย

จริงอยู่ว่าแต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง รัฐบาลมีอำนาจบริหารกิจการภายในของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก แต่โลกสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นต้นมา ความโหดเหี้ยมทารุณของระบอบนาซีที่ถูกเปิดเผยให้โลกประจักษ์ ทำให้คนที่ยังมีความเป็นมนุษย์ในใจเริ่มตั้งคำถามว่า

• เราควรให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างไม่มีข้อจำกัด แม้ว่ารัฐนั้นกำลังก่ออาชญากรรมอันร้ายแรงต่อประชาชนของตนเองอย่างนั้นหรือ?

• ระหว่างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐกับการปกป้องสิทธิในชีวิตของมนุษย์จำนวนมาก อะไรสำคัญกว่ากัน?

แน่นอนว่าคำตอบไม่ใช่ขาวกับดำ เพราะการละทิ้งหลักการอำนาจอธิปไตยของรัฐ ก็จะนำไปสู่ภาวะปั่นป่วนไร้ความมั่นคงในการเมืองโลกได้ รัฐใหญ่อาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อแทรกแซงรัฐเล็กได้ แต่ขณะเดียวกัน การละทิ้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากจะไร้ซึ่งมนุษยธรรมแล้ว ยังไม่สามารถสร้างสันติภาพให้กับประเทศนั้นและประชาคมโลกได้ เพราะในหลายประเทศ สิ่งที่ตามมาคือ ภาวะจลาจล อดหยากยากจน ประชาชนทนการกดขี่ไม่ได้ และลุกฮือขึ้นโค่นล้มอำนาจรัฐ สังคมที่ผ่านภาวะเช่นนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะฟื้นฟูได้ และยังอาจสร้างความเดือดร้อนข้ามประเทศได้ เช่น ปัญหาผู้อพยพ

ฉะนั้น จึงจำเป็นสำหรับประชาคมโลกที่ต้องมีมาตรการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยของรัฐด้วยหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชน

คำถามเช่นว่านี้จึงนำมาสู่การให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในคำประกาศและกฎหมายจำนวนมากของสหประชาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม เป็นต้น

แม้ว่ารัฐสมาชิกจะให้สัตยาบันรับรองกฎหมายดังกล่าว แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่มีบทลงโทษ แต่หน่วยงานของสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ ก็สามารถทำให้รัฐนั้นอับอาย “shaming” และใช้การกดดันได้ เพราะถือว่ารัฐนั้นละเมิดคำมั่นสัญญาที่ตนได้เคยให้ไว้เสียเอง

การทำให้อับอายและการกดดันทำได้หลายประการ เช่น จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ (ทั้งสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป มีกลไกนี้เป็นของตนเอง) การวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา การเรียกร้องให้รัฐนั้นๆ ยุติการละเมิด, การระงับกิจกรรมบางอย่างที่เคยกระทำร่วมกัน, การขึ้นบัญชีดำ (Blacklist), การปิดล้อมทางการทูตและทางเศรษฐกิจ (Sanctions) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีบทลงโทษต่อผู้นำรัฐที่กระทำผิด แต่มีอาชญากรรมที่ร้ายแรงบางประเภทที่สหประชาชาติสามารถส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าแทรกแซงได้โดยใช้มติเอกฉันท์ของคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) ได้แก่การกระทำที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide), อาชญากรรมสงคราม (War crime), อาชญากรรมต่อมนุษยชน (Crimes against humanity) และอาชญากรรมจากรุกรานประเทศอื่น (War of aggression)

นอกจากนี้ ประเทศที่ให้สัตยาบันต่อกฎหมายสองฉบับคือ อนุสัญญาว่าด้วยการลงโทษและป้องกันอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (the Rome Statue of the International Criminal Court) แสดงการยินยอมให้พลเมืองของตนที่ละเมิดอาชญากรรมร้ายแรงข้างตนถูกนำขึ้นพิจารณาคดีด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้

ที่ผ่านมามีผู้นำมีเปื้อนเลือดหลายคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว เช่น ผู้นำเขมรแดง ผู้นำเซิร์บจากอดีตประเทศบอสเนียเฮอร์เซโกวินา ผู้นำฮูตูจากรวันดา เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า “อำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ของรัฐ” ไม่มีอยู่จริงในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งหมายความว่าประเทศเหล่านั้นเห็นประโยชน์จากการเป็นสมาชิก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแลกกับการยอมรับเงื่อนไขกฎกติกามารยาทขององค์กรด้วย ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจถูกทำให้อายหรือถูกกดดันด้วยวิธีต่าง ๆ จากนานาชาติ เพราะการกดขี่ปราบปรามประชาชนไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว” หรือเรื่องภายในของรัฐอีกต่อไป

รัฐบาลที่ทำให้ประเทศตนเองอับอายขายหน้าในเวทีโลก คือรัฐบาลที่ล้มเหลว เพราะรัฐมีหน้าที่ปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศตามคุณค่าและหลักการของโลกยุคใหม่

อำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบและทัดทานด้วยหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชน การใช้อำนาจรัฐแบบตามอำเภอใจเป็นผลร้ายต่อทั้งสังคมโดยตรง และนี่คือหลักการและคุณค่าอันสำคัญของโลกยุคใหม่ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประเทศไทยที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

รัฐที่เชื่อว่าตนมีอำนาจอันสมบูรณ์ สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้โดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็มีแต่จะสูญพันธุ์ในเร็ววัน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท