Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพ ประชาไท

12 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายานว่า ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนใหม่ กรณีทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยตัว ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90  เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จากหมายจับของศาลทหารในความผิดตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และ ความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

โดยเหตุผลที่ทนายความยื่นต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนตามบทบัญญัติมาตรา 90 ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีมูลพอที่จะให้ศาลไต่สวน การยกคำร้องทันที จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงมาตรา 90 เป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องทันทีโดยไม่ไต่สวน จึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

ศูนย์ทนายฯ ได้สรุปเนื้อหาอุทธรณ์คำสั่งไว้ดังนี้ : 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2558 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเพื่อนธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยหรือสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ซึ่งขณะนั้นมีปิยะรัฐ จงเทพ กับเพื่อนอีกหนึ่งคนไปเยี่ยมธเนตรที่โรงพยาบาล และเห็นขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรไป โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ – นามสกุล ต้นสังกัด และไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรไปที่ใด เพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะควบคุมตัวธเนตรแต่อย่างใด
 
ต่อมาปิยะรัฐได้โทรศัพท์แจ้งผู้ร้องว่าธเนตรถูกควบคุมตัวไป ไม่ทราบว่าไปที่ใด วันดังกล่าวเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ร้องจึงได้พยายามติดตามหาธเนตรที่ สน.ประเวศ เจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจแจ้งว่าไม่มีการควบคุมตัวธเนตรมาที่ สน.ประเวศ
 
ต่อมาทราบจากเพื่อนว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แขวงถนนนครไชยศรี โดยเจ้าหน้าที่ทหารให้เพื่อนฝากยาให้ธเนตรได้ แต่ไม่อนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับธเนตร
 
ขณะที่ยื่นคำร้อง สิรวิชญ์ไม่ทราบชะตากรรมของธเนตร และไม่มีผู้ใดติดต่อธเนตรได้อีกเลย การควบคุมตัวธเนตรดังกล่าวจึงเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีความห่วงกังวลในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของธเนตรอย่างมาก เนื่องจากธเนตรถูกควบคุมตัวขณะมีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ร้องในฐานะเพื่อนและบุคคลที่ธเนตรวางใจ ไม่มีหนทางอื่นใดจะติดตามตัวธเนตร และบรรเทาความเสียหายต่อเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตของธเนตรได้ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวธเนตรต่อศาล ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งปล่อยตัวธเนตร
 
ต่อมา 15 ธ.ค. 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องว่า “พฤติการณ์ที่ผู้ร้องบรรยายทำนองว่าปิยะรัฐ จงเทพ โทรศัพท์แจ้งผู้ร้องว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยหรือสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 เวลา 12.30 น. และต่อมาผู้ร้องทราบจากเพื่อนว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่กองพันทหารราบ มทบ.11 โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากปิยะรัฐอีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าธเนตรจะถูกคุมขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
 
นอกจากนี้ ผู้ร้องระบุว่าธเนตรทราบข่าวว่าตนถูกออกหมายจับแล้วจากมือถือที่เพื่อนยื่นให้ จึงไม่คิดจะหลบหนี และแสดงเจตนาจะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่ถูกควบคุมตัวในห้องศัลยกรรมชายทันที ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องที่ว่า ธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำร้องของผู้ร้อง จึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้เพื่อดำเนินการไต่สวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ให้ยกคำร้อง
 
ผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้
 
1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 บัญญัติว่า เมื่อศาลได้รับคำร้องกรณีมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทัน แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องของผู้ร้องโดยด่วน และมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนแต่อย่างใด การยกคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเห็นว่าคำร้องมีมูลเพียงพอที่ศาลจะสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน เพื่อให้ศาลได้ซักถาม และแสดงหลักฐานต่อศาลจนเป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
2. ตามคำสั่งศาลที่ว่า “ผู้ร้องเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากปิยะรัฐอีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ธเนตรจะถูกคุมขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่” นั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ร้อระบุในคำร้องแล้วว่า ขณะถูกควบคุมตัว ธเนตรเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.สิรินธร ประกอบกับในช่วงเย็น เพื่อนของผู้ร้องได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่กองพันทหารราบ มทบ.11 แขวงถนนนครไขชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ให้นำยาไปฝากให้ธเนตร เพื่อนของผู้ร้องจึงไปขอรับยาที่ รพ. แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พบธเนตร แม้ผู้ร้องจะได้รับการบอกเล่าจากปิยะรัฐ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ขณะที่ธเนตรถูกควบคุมตัวที่ รพ. แต่กรณีนี้สามารถรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าธเนตรถูกควบคุมตัวไปจาก รพ.สิรินธร มิเช่นนั้นธเนตรย่อมต้องรักษาตัวอยู่ที่ รพ. อย่างแน่นอน แต่ขณะที่ยื่นคำร้องนี้ธเนตรกลับหายไปไม่มีใครสามารถติดต่อได้
 
ผู้ร้องสันนิษฐานว่า ธเนตรจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพันทหารราบ มทบ.11 เนื่องจากเพื่อนผู้ร้องได้นำยาไปฝากให้ธเนตรมาแล้ว จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การควบคุมธเนตรไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ และนำตัวไปฝากขังและขังไว้ที่เรือนจำตามปกติ ผู้ร้องจึงเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงที่ศาลเห็นว่าผู้ร้องเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่น่าเชื่อถือนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ตาม หากศาลประสงค์จะไต่สวนปิยะรัฐ ผู้ร้องก็พร้อมจะนำปิยะรัฐเข้าไต่สวน พร้อมนำเสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อให้ศาลสิ้นข้อสงสัย ก่อนจะมีคำสั่งว่าคำร้องมีมูลหรือไม่ การที่ศาลไม่ได้ไต่สวนคำร้องและข้อเท็จจริงส่วนนี้ใช้เป็นเหตุในการยกคำร้องทันที จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างยิ่ง
 
ที่ศาลมีคำสั่งว่าคำร้องยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้เพื่อดำเนินการไต่สวน เนื่องจากคำร้องระบุว่า ธเนตรทราบข่าวว่าตนถูกออกหมายจับแล้ว จึงไม่คิดจะหลบหนี และแสดงเจตนาที่จะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตนเอง แต่ถูกควบคุมตัวในห้องศัลยกรรมชายทันที ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องที่ว่าธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
 
ผู้ร้องเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกันเอง แม้ธเนตรทราบว่าตนมีหมายจับและไม่คิดจะหลบหนี แต่ขณะนั้นอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่ รพ. และยังไม่มีทนายความ จึงยังไม่พร้อมจะมอบตัว แต่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยงานและสังกัด เข้าควบคุมตัวธเนตรที่ รพ. เสียก่อน โดยไม่แสดงหมายจับหรือแจ้งว่าจะนำตัวธเนตรไปที่ใด และไม่ปรากฏว่าเป็นการควบคุมตัวตามหมายจับแต่อย่างใด
 
ผู้ร้องมีความห่วงใยกังวล เนื่องจากหากมีกรควบคุมตัวตามหมายจับจริง ธเนตรย่อมติดต่อญาติหรือทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือทันที แต่กรณีนี้ไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อธเนตรได้ และไม่มีใครทราบชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เหตุใดจึงต้องควบคุมตัวธเนตรไว้ที่ค่ายทหารก่อน ทั้งที่ธเนตรมีหมายจับอยู่แล้ว ผู้ร้องจึงต้องมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว
 
3. บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานหรือบุคคลธรรมดาก็อยู่ในความคุ้มครองของมาตรานี้ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ได้อธิบายว่า บทบัญญัตินี้มีที่มาจากหลัก Habeas Corpus ของอังกฤษ“การถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” นั้น ต้องพิจารณาจากตัวผู้ถูกควบคุมตัว โดยนัยนี้จึงหมายถึงการสูญเสียเสรีภาพในร่างกายหรือเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ทางที่ผู้ถูกควบคุมหรือขังไม่จำเป็นต้องยอมรับสภาพเช่นนั้น โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นและสมควร เป็นการผิดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
 
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
 
ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แห่งองค์การสหประชาชาติ ข้อ 9 กำหนดว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุ และโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
 
ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยไม่ได้ดำเนินการไต่สวนและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ร้องได้นำเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ หรือศาลไม่แสวงหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าคดีมีมูลหรือไม่ จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสในการใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะร้องขอให้ศาลปล่อยตัวเธนตรจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
อีกทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบคุมตัวธเนตร ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎหมายใด ควบคุมตัวที่ใด เหตุในการควบคุมตัวคืออะไร ผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายปกติหรือไม่ อย่างไร ข้อเท็จจริงส่วนนี้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะทราบดีที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าถึงได้
 
ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลต้องเรียกเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวมาไต่สวนด้วยตนเอง การไต่สวนของศาลจึงถือเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงโดยศาล และเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
 
ด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กระบวนการพิจารณาคดี ในกรณียื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด และเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net