Skip to main content
sharethis

13 พ.ค.2559 องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิผู้หญิงรวม 16 องค์กรยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกรณีการค้นตัวผู้ต้องขังหญิงมีการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาโดยด่วน จำกัดดุลยพินิจผู้อำนวยการเรือนจำ บังคับใช้กฎเกณฑ์การตรวจค้นที่มีอยู่อย่างเคร่งคัดและเป็นไปตามกฎสากล รวมถึงใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องสแกนร่างกายเป็นต้น

เหตุดังกล่าวเกิดจาก กรณีนางสาวกรกนก คำตา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยคดีนั่งรถไฟส่องแสงหากลโกงราชภักดิ์ ได้ออกมาบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ ถึงเรื่องราวแรกเข้าในเรือนจำหญิงซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เธอรอประกันผลประกันตัวในวันที่ยื่นฟ้องศาลว่า มีการตรวจภายในและตรวจร่างกายผู้ต้องหาหญิงแรกเข้าเรือนจำทุกคนโดยละเมิดสิทธิในร่างกายและเข้าข่ายอนาจาร กรณีนี้ทำให้ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางออกมาชี้แจงผ่านสื่อว่า การตรวจค้นภายในร่างกายเป็นการตรวจค้นผู้ต้องขังหญิงทุกคน เพื่อดูการถูกละเมิดทางเพศและเป็นการตรวจดูว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง วัตถุประสงค์ที่ปะปนกันระหว่างตรวจค้นการนำเข้าสิ่งของต้องห้ามกับการตรวจการละเมิดทางเพศและอนามัยทางเพศซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานรับผิดชอบของไทยได้เคยแสดงความมุ่งมั่นทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติในอันที่จะดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง พ.ศ. 2553  (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ หรือ UN Bangkok Rules) และใน พ.ศ. 2555 กรมราชทัณฑ์เองก็ได้ออก “หลักปฏิบัติในการตรวจค้นและคู่มือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม” ซึ่งกำหนดหลักการสำคัญในการตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังว่า “การตรวจค้นบุคคลต้องปฏิบัติโดยละมุนละม่อมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง”

00000

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกรณีการค้นตัวผู้ต้องขังหญิง

จาก เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิผู้หญิงและความเป็นธรรมทางสังคม 16 องค์กร

13 พฤษภาคม 2559

เรื่อง  1. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการค้นตัวผู้หญิงซึ่งถูกส่งไปฝากขังที่เรือนจำในระหว่างรอการประกันตัว ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง และ

2. ขอให้กำกับควบคุมทุกเรือนจำในการรับตัวผู้หญิงที่ถูกส่งเข้าเรือนจำให้ปฏิบัติตามหลักการของกรมราชทัณฑ์ในการตรวจค้นและคู่มือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ)

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สืบเนื่องจากการที่นางสาวกรกนก คำตา ถูกดำเนินคดีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 และถูกนำตัวไปทัณฑสถานหญิงกลางเวลา 14:00 น. เพื่อรอคำสั่งศาลเรื่องการขอประกันตัว และได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำเมื่อเวลา 20:00 น. ในวันเดียวกัน หลังจากออกมาจากเรือนจำแล้วนางสาวกรกนก คำตา ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองขณะที่ถูกนำตัวเข้าไปในแดนแรกรับของทัณฑสถานหญิงกลางออกสู่พื้นที่สาธารณะ ว่ามีการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้อับอาย โดยเฉพาะไม่เคารพและคำนึงถึงความเป็นเพศหญิงของผู้ที่ถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดยมีการละเมิดสิทธิในร่างกาย มีการกระทำที่เข้าข่ายอนาจาร ดังตัวอย่างการนำเสนอในรายการโทรทัศน์ของไทยรัฐทีวี “ถามตรงๆกับจอมขวัญ: เปิดใจนศ.ธรรมศาสตร์ แฉสิ่งที่ถูกกระทำในเรือนจำ” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 (https://www.youtube.com/watch?v=Pg99OwZ5lfk)

ต่อเรื่องดังกล่าวนี้ กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีคำชี้แจง คำอธิบาย และการดำเนินการใดๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้สังคมยิ่งมีความกังวลมากขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนางสาวกรกนก คำตา และผู้หญิงที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำ (ทั้งในฐานะการฝากขัง หรืออยู่ระหว่างรอการตัดสินของศาล หรือถูกตัดสินเด็ดขาดแล้ว) จะคงมีอยู่ต่อไป โดยมิได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ทั้งๆ ที่หน่วยงานรับผิดชอบของไทยได้เคยแสดงความมุ่งมั่นทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติในอันที่จะดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง พ.ศ. 2553  (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ หรือ UN Bangkok Rules) และใน พ.ศ. 2555 กรมราชทัณฑ์เองก็ได้ออก “หลักปฏิบัติในการตรวจค้นและคู่มือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม” ซึ่งกำหนดหลักการสำคัญในการตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังว่า “การตรวจค้นบุคคลต้องปฏิบัติโดยละมุนละม่อมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง”  (กรมราชทัณฑ์ 2555, เอกสารอัดสำเนาในรูปไฟล์ PDF ค้นเมื่อ 3 พ.ค. 2559 จาก http://os.correct.go.th/correct/a36156_55.pdf)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ณ ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นสิ่งสะท้อนว่า ยังมีการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิงรวมทั้งการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการตรวจค้นตามที่กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดไว้ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

(1) แนวปฏิบัติการตรวจค้นร่างกาย กรมราชทัณฑ์แบ่งการตรวจค้นร่างกายเพื่อหาสิ่งต้องห้ามออกเป็น 3 แบบ

1.1    การตรวจค้นในตัวผู้ต้องขังแบบปกติ (Body Pat/Frick Search) เป็นการตรวจโดยผู้ถูกตรวจสวมใส่เสื้อผ้า ผู้หญิงสวมผ้าถุง

1.2    การตรวจสิ่งของในตัวผู้ต้องขังแบบพิเศษ (Strip Search) เป็นการตรวจค้นแบบถอดเสื้อผ้า ซึ่งกรมราชทัณฑ์กำหนดว่า จะกระทำเมื่อมีเหตุสงสัยหรือเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการซุกซ่อนสิ่งของห้ามตามร่างกาย และต้องตรวจค้นภายในห้องหรือบริเวณที่ลับตาเพื่อไม่ให้เกิดความอับอายซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

1.3    การตรวจค้นภายในร่างกาย (Body Cavity Search) กรมราชทัณฑ์ระบุว่า เป็นการตรวจเพื่อหาสิ่งของต้องห้ามหรือวัตถุแปลกปลอมในช่องต่างๆหรือทวารของผู้ต้องขังโดยเครื่องมือพิเศษ ผู้ที่จะตรวจค้นจะต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมเฉพาะทาง และการตรวจค้นแบบนี้จะต้องให้ผู้ต้องขังยินยอมและลงชื่อรับทราบ ข้อมูลของข้อเท็จจริงทั้งหมดที่สนับสนุนว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีสิ่งของต้องห้ามซุกซ่อนในร่างกายจะต้องทำเป็นรูปแบบของเอกสาร นอกจากนี้ก่อนที่จะมีการพิจารณาดำเนินการตรวจค้นแบบนี้ จะต้องมีข้อมูลประวัติทางการแพทย์ประกอบการพิจารณาด้วยทุกครั้ง หากผู้ต้องขังไม่ยินยอมให้ตรวจค้นให้นำตัวผู้ต้องขังไปแยกการควบคุมเพื่อสังเกตพฤติกรรม

(2) การปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากกรณีการตรวจค้นของนางสาวกรกนก คำตา สรุปได้ว่าถูกตรวจค้น 2 แบบ ดังนี้

2.1   การตรวจค้นแบบถอดเสื้อผ้า ทัณฑสถานหญิงกลางใช้พื้นที่ข้างตึกซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะในเรือนจำตรวจร่างกายผู้หญิงในคนทั่วไปในเรือนจำสามารถเห็นการปฏิบัติดังกล่าวได้ โดยเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้หญิงถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นและโยนผ้าถุงให้ 1 ผืน เพื่อสวมใส่แทน ขณะตรวจค้นมีการสั่งให้ผู้หญิงยืนอยู่ในผ้าถุงที่มีผู้คุมเป็นผู้จับผ้าถุงไว้ และสั่งให้ผู้หญิงลุกนั่ง และหมุนตัวตามคำสั่ง

การตรวจค้นในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการตรวจค้นแบบถอดเสื้อผ้า เพราะผู้หญิงต้องถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นออก จึงควรต้องทำในพื้นที่เฉพาะ ไม่ใช่มีที่ว่างตรงไหนก็ทำ ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางให้คำอธิบาย (ผ่านโทรศัพท์ในรายการ “ถามตรงๆกับจอมขวัญ: เปิดใจนศ.ธรรมศาสตร? แฉสิ่งที่ถูกกระทำในเรือนจำ” ที่อ้างถึงข้างต้น) ว่า ไม่มีสถานที่เพราะกำลังซ่อมแซมห้อง ซึ่งหมายความว่ามีผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากต้องผ่านขั้นตอนการตรวจค้นแบบถอดเสื้อผ้าในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่กรมราชทัณฑ์เองมีแนวปฏิบัติชัดเจนว่า ในกรณีที่ไม่มีห้องเฉพาะ ให้หาฉากมากั้น การให้ผู้หญิงถอดเสื้อผ้า ลุกนั่งลุกยืน (แม้จะอยู่ในผ้าถุงซึ่งมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้จับไว้) ในพื้นที่สาธารณะย่อมถือเป็นเรื่องอนาจาร เป็นการทำให้อับอาย และ ใช้อำนาจบังคับเกินที่ได้รับมอบหมายตามอำนาจหน้าที่

2.2   การตรวจค้นภายในร่างกาย ผู้หญิงถูกสั่งให้เข้าสู่กระบวนการตรวจค้นภายในร่างกายโดยมิได้ถามความยินยอม เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งเสมือนว่าทุกคนต้องถูกตรวจค้นภายในร่างกาย (ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าการตรวจภายใน) การตรวจแบบนี้ทางกรมราชทัณฑ์มีหลักปฏิบัติว่า จะต้องทำเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ต้องขังอาจมีสิ่งต้องห้ามซุกซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยข้อมูลนี้จะต้องทำในรูปแบบเอกสาร

แต่ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางอธิบายผ่านการโฟนอินว่า การตรวจค้นภายในร่างกายเป็นการตรวจค้นผู้ต้องขังหญิงทุกคน เพื่อดูการถูกละเมิดทางเพศและเป็นการตรวจดูว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่

คำถามสำคัญในประเด็นนี้คือ การตรวจภายในร่างกายโดยอ้างว่า เพื่อสุขภาพ และเพื่อตรวจดูการละเมิดทางเพศ เข้าข่ายการละเมิดสิทธิหรือไม่ การอ้างเหตุผลทางการแพทย์เพื่อตรวจภายใน ผู้ตรวจควรต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางการแพทย์ เพราะจะเกี่ยวข้องกับสุขอนามัย การติดเชื้อ และมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งจะต้องเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ส่วนการอ้างเหตุผลเรื่องการตรวจดูการละเมิดทางเพศดูไม่มีเหตุผลมากที่สุด เพราะคดีมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และถึงแม้จะเป็นคดีเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมต้องตรวจในวันแรกรับเข้าเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำ การตรวจทั้งหมดจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง โดยเจ้าตัวมิได้ยินยอม

ดังนั้นควรมีการสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ในการตรวจค้นภายในร่างกายของผู้หญิงเมื่อแรกรับเข้ามาคืออะไร เป็นเรื่องของสุขภาพหรือการตรวจหาสิ่งต้องห้าม และไม่ควรปล่อยให้เป็นเอกสิทธิ์ของเรือนจำที่บังคับให้ผู้หญิงทุกคนที่ถูกส่งตัวเข้ามาในเรือนจำต้องถูกตรวจค้นภายในร่างกาย ในกรณีนี้ผู้หญิงไม่ทราบเลยว่าสามารถปฏิเสธการถูกตรวจค้นภายในร่างกายได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ทัณฑสถานหญิงกลางมิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกเรือนจำ มีเรือนจำหลายแห่งที่ดำเนินการตรวจค้นผู้ต้องขังหญิงแบบถอดเสื้อผ้าในที่เฉพาะ ไม่มีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องมองเห็นได้ และตรวจภายในร่างกายจะกระทำเฉพาะกับผู้ซึ่งเรือนจำได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการซุกซ่อนสิ่งต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง ประกอบกับคำอธิบายของผู้อำนวยการทัณฑสถานแห่งนี้ แสดงว่า ยังมีเรือนจำที่ยังคงมีการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิงอยู่ และควรต้องมีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

กรมราชทัณฑ์มีแนวนโยบายในการให้เรือนจำต่างๆ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการไม่ล่วงละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้หญิง รวมทั้งมีแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่างๆให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจกับผู้บริหารเรือนจำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมดูแลให้เรือนจำดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในส่วนของการตรวจค้นตัวผู้หญิงที่ถูกส่งเข้าเรือนจำ  ควรมีมาตรการควบคุมให้เรือนจำทุกแห่งปฏิบัติดังนี้

(1) การตรวจค้นหาสิ่งของต้องห้ามแบบพิเศษ (ถอดเสื้อผ้า) จะต้องกระทำในพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้อื่นมองเห็น นอกจากเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ตรวจค้นเท่านั้น หากไม่มีห้องเฉพาะ จะต้องหาฉากมากั้น ทั้งนี้ให้หมายรวมถึงการให้ผู้หญิงต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อการตรวจค้นก็ต้องทำในพื้นที่เฉพาะ ไม่มีคนอื่นมองเห็นได้ด้วย ผ้าถุง ไม่สามารถนำมาใช้แทนการจัดหาพื้นที่ที่ไม่มีผู้อื่นมองเห็นได้

(2) ควรมีมาตรการควบคุม “การตรวจค้นภายในร่างกาย” ที่เข้มงวด เพื่อให้เรือนจำทุกแห่งปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะตามข้อที่กำหนดว่า การตรวจค้นภายในร่างกายจะต้องกระทำเมื่อมีข้อมูลที่เป็นเอกสารบ่งบอกว่าผู้นั้นมีการซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามในร่างกาย นอกจากนี้ในการตรวจค้นควรต้องอธิบายถึงวัตถุประสงค์ให้ผู้จะถูกตรวจค้นทราบ และให้ผู้ถูกตรวจค้นเซ็นชื่อยินยอม  (ตามเอกสารแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์) หากผู้ตรวจค้นไม่ยินยอม จะต้องไม่ใช้การบังคับ แต่ให้อธิบายถึงความจำเป็นโดยเฉพาะทางเรือนจำมีข้อมูลการซุกซ่อนสิ่งของในร่างกาย และหากปฏิเสธการตรวจค้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษ จนกว่าจะมั่นใจว่า ผู้นั้นไม่มีสิ่งของซุกซ่อนภายในร่างกาย

(3) “การตรวจค้นภายในร่างกาย” จะต้องกระทำโดยผู้ที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางและจะต้องใช้มาตรฐานในการตรวจค้นและการปฏิบัติต่อผู้ถูกตรวจค้นในแบบเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติต่อผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ

 (4) “การตรวจค้นภายในร่างกาย” จะต้องกระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการตรวจค้นสิ่งต้องห้ามเท่านั้น ไม่ควรนำไปปะปนกับการตรวจโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ เพราะการตรวจด้วยวัตถุประสงค์นี้ควรทำแยกออกไปต่างหากโดยมุ่งไปที่สุขภาพของผู้ต้องขัง และควรกระทำโดยมีมาตรฐานทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด

(5) “การตรวจค้นภายในร่างกาย” ไม่ควรนำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการตรวจการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งหากผู้ต้องขังแจ้งว่ามีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ควรได้รับการส่งตัวไปยังสถานบริการทางการแพทย์ที่สามารถออกใบรับรองแพทย์อย่างถูกต้องและสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้

(6) ควรมีมาตรการในการควบคุมให้เรือนจำปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ในเรื่องการตรวจค้นร่างกายอย่างเป็นรูปธรรม การใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารเรือนจำควรทำได้ภายในขอบเขตที่จำกัด การใช้ดุลยพินิจที่ไม่กระทำตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์เองควรต้องมีคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การไม่เคารพในสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิง และการทำให้อับอายต่อหน้าผู้คน ควรมีบทลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเรือนจำที่ปล่อยให้มีการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง

                   ดังนั้น ความพยายามของทางราชการที่จะนำเครื่องมือที่เหมาะสม (เช่น เครื่องสแกนร่างกาย) มาใช้เป็นสิ่งที่ดี แต่ในช่วงที่ยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ก็ควรต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอข้างต้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2555 เอง  องค์กรที่มีรายนามข้างท้ายนี้จึงขอเสนอให้รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วนด้วย

ขอแสดงความนับถือ

 

1.       ชุดโครงการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง

2.       สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม

3.       สมาคมเพศวิถีศึกษา

4.       มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

5.       มูลนิธิเพื่อนหญิง

6.       มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

7.       มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

8.       มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร

9.       มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

10.    มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท

11.    ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)

12.    แผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

13.    ภาคีความร่วมมือด้านเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาวะทางเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

14.    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

15.    ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรนมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

16.    ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net