Skip to main content
sharethis
ตามที่นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ได้แถลงว่าผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ไม่ได้เป็นไปตามหลักการวิจัย มีตัวอย่างน้อยเกินไป ไม่สามารถเป็นภาพรวมปัญหาการตกค้างของสารเคมี และระบุว่าสินค้า Q ยังมีความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสุ่มตรวจสินค้า Q เป็นจำนวนมาก มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานไม่ถึง 1% นั้น
 
ไทยแพน ซึ่งได้ติดตามปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยต่อเนื่องขอชี้แจงต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
 
1.การเฝ้าระวังของไทยแพน เป็นการดำเนินการ “เฝ้าระวัง” ในฐานะผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาสังคม มิใช่เป็น “งานวิจัย” เพื่อเสนอภาพรวมปัญหาการปนเปื้อนของประเทศ ซงในระยะเวลาที่ผ่านมาโดยทั่วไปจำนวนตัวอย่างในการ “เฝ้าระวัง” ของหน่วยงานของรัฐเอง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง ก็มีจำนวนตัวอย่างการ "เฝ้าระวัง" ที่ไม่แตกต่างมากนักกับไทยแพน เพราะการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้ทราบชนิดและปริมาณการปนเปื้อนในระดับหน่วยส่วนต่อล้านส่วน(ppm)นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จำนวนตัวอย่างในการตรวจของไทยแพนแต่ละครั้งจึงเป็นจำนวนตัวอย่างในระดับปกติ
ในการนำเสนอข้อมูลของไทยแพนทั้งในการนำเสนอโดยวาจา สไลด์นำเสนอ และเอกสารหลักที่ใช้สำหรับเผยแพร่จึงระบุจำนวนตัวอย่างการตรวจสอบอย่างชัดเจน สัดส่วนการพบสารตกค้างเกินมาตรฐาน จึงเป็นสัดส่วนจากจากจำนวนการเก็บตัวอย่าง 138 แยกตามแหล่งจำหน่าย หรือแยกตามชนิดผักผลไม้ หรือแยกตามประเภทตราสินค้า แล้วแต่กรณี ไทยแพนไม่เคยอ้างสัดส่วนการตกค้างดังกล่าวว่าเป็นสัดส่วนภาพรวมของประเทศ ซึ่งบางทีอาจมีสารตกค้างต่ำกว่ามาตรฐานมากกว่าหรือน้อยกว่าสัดส่วนการนำเสนอของไทยแพนก็เป็นไปได้
 
ไทยแพนตระหนักดีว่าหน่วยงานของรัฐมีข้อจำกัดในการตรวจสอบการปนเปื้อนที่มีจำนวนตัวอย่างมากเพียงพอ โปร่งใส และมีส่วนร่วม จึงได้เสนอให้มีการประสานงานในการแลกเปลี่ยนวิธีและกระบวนการเก็บตัวอย่างไปจนถึงการสร้างระบบการเก็บตัวอย่างร่วมกัน โดยไทยแพนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทุกฝ่าย โดยในการประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ซึ่งมีทั้ง กรมวิชาการเกษตร มกอช. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมีสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และตัวแทนจากห้าง/ตลาดสดเข้าร่วมนั้น ภาคเอกชน และกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นด้วยในทางหลักการที่จะร่วมกันพัฒนาระบบดังกล่าวแล้ว
 
2.ส่วนกรณีคำชี้แจงของกรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่าสินค้า Q มีมาตรฐานและพบการปนเปื้อนการเกินมาตรฐานไม่ถึง 1% นั้น ขัดแย้งกับข้อมูลการตรวจสอบของไทยแพน และหน่วยงานอิสระอื่นๆ ดังนี้
2.1 การสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป โดยผักและผลไม้จากประเทศไทยที่การส่งออกนั้นต้องได้มาตรฐาน Q-GAP นั้น ข้อมูลล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2015 ของ EFSA(The 2013 European Union report on pesticide residues in food ตีพิมพ์ใน EFSA Journal 2015;13(3):4038)พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งออกไปจากประเทศไทยเกินมาตรฐานถึง 101 ตัวอย่าง จากตัวอย่างผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจทั้งหมด 825 ตัวอย่างหรือคิดเป็น 12.2 % ทำให้สถานะของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียู มีการปนเปื้อนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 6 จากประเทศที่ส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียูทั้งหมด 38 ประเทศ ตัวเลขดังกล่าวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่า ในปี 2559 ได้ตรวจวิเคราะห์สินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1 % ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
 
สาธารณชนพึงอนุมานได้เองว่าปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ซึ่งจำหน่ายในประเทศที่มีความเข้มงวดน้อยกว่าจะมีการปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด
 
2.2 นอกเหนือจากสถิติของไทยแพน และสหภาพยุโรปแล้ว งานศึกษาเชิงคุณภาพโดยนักวิชาการอิสระที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ Agriculture and Human Values ฉบับเดือนธันวาคม 2012 เรื่อง Can public GAP standards reduce agricultural pesticide use? The case of fruit and vegetable farming in northern Thailand โดยคณะนักวิชาการที่นำโดยPepijnSchreinemachersและคณะพบว่า “คุณภาพของการออกใบรับรอง Q นั้นค่อนข้างแย่ มาตรฐาน Q ที่เป็นอยู่นั้นไม่ใช่ทางเลือกที่แท้จริงสำหรับหลักประกันเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร”
 
ในขณะที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า “การดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรฐานนั้นจะตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดจนการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกร และการบันทึกข้อมูลต่างๆก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้า” แต่คณะวิจัยพบว่า“แม้ข้อกำหนดของ GAP จะต้องมีการเข้ามาตรวจสอบของผู้รับรอง 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งล่วงหน้าให้เกษตรกรทราบ แต่การศึกษาพบว่ามีการเข้ามาตรวจสอบฟาร์มเพียงครั้งเดียว ทั้งยังนัดหมายกับเกษตรล่วงหน้า และใช้เวลาตรวจสอบเพียงเกษตรกรรายละ 5 นาทีเท่านั้น”
 
การอ้างข้อมูลเกี่ยวกับความมีมาตรฐานและความปลอดภัยของกรมวิชาการเกษตรเอง และมกอช.จึงขัดแย้งกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆที่เป็นกลาง ข้ออ้างว่าสินค้า Q ว่าได้มาตรฐานนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะผลการตรวจสอบทับซ้อนกับบทบาทของหน่วยงาน ?วิธีการตรวจสอบได้ใช้ห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือเพียงใด ? ความสามารถของห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้เท่าเทียมกับการตรวจสอบของไทยแพนซึ่งใช้ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบสารได้มากถึง 450 ชนิดหรือไม่ ? การสุ่มเก็บตัวอย่างและกระบวนการตรวจสอบมีความน่าเชื่อถือ เป็นกลาง และโปร่งใสหรือไม่ ?
 
อนึ่งการทำงานของไทยแพนยืนอยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เปิดเผย โปร่งใส และมีกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และพร้อมที่จะให้มีสาธารณชนพิสูจน์ โดยหากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประสงค์จะยื่นฟ้องร้องไทยแพนในฐานหมิ่นประมาท ไทยแพนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดี และเชื่อว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนไทยและสื่อมวลชนจะได้เข้าใจความจริงและปัญหาเบื้องหลังเรื่องความไม่ปลอดภัยของอาหาร และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากความบกพร่อง การขาดความสามารถ หรือความไร้ประสิทธิภาพของผู้บริหารของหน่วยงานใด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net