Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเน็ต เผยพบเว็บไซต์สำนักงานเขตแห่งหนึ่งของกทม. เผยแพร่รายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นไฟล์ PDF ที่มีทั้งเลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ - ฝ่ายที่รับผิดชอบทราบเรื่องแล้ว และกำลังปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูล

17 พ.ค.2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต Thai Netizen Network รายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @bodin รายงานเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวมีทั้ง "เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขที่บัญชี ขาดแค่ password netbanking"

โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ตตรวจสอบเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้ (17 พ.ค.59) พบว่าเว็บไซต์และไฟล์ PDF ดังกล่าวยังเข้าได้ถึงได้ และข้อมูลที่เผยแพร่นั้นประกอบด้วย เลขลำดับ, เลขทะเบียน, เลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิ, ชื่อ-สกุลของผู้มีสิทธิ, วัน/เดือน/ปีเกิด, อายุ, เลขประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ, ชื่อ-สกุลของผู้รับมอบ (เจ้าของบัญชี), ชื่อธนาคาร, เลขบัญชี, สาขาธนาคาร, และหมายเหตุ

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กแสดงความกังวลต่อการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลไปทำธุรกรรมออนไลน์หรือปลอมตัวเป็นเจ้าของข้อมูล นอกจากนี้เว็บไซต์ของกทม.ยังมีปรับแต่งระบบการป้องกันไม่ดีนักและยังใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเก่าที่อาจมีรูรั่ว

เครือข่ายพลเมืองเน็ต รายงานด้วยว่า เมื่อสอบถามไปที่ ปิยธิดา นิยม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ของสำนักงานเขตดังกล่าว ปิยธิดา แจ้งว่าทางฝ่ายได้ทราบเรื่องแล้ว เนื่องจากวันนี้มีหลายหน่วยงานติดต่อเข้ามา และในวันนี้จะมีการพิจารณาปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลออกไ

โดยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ชี้แจ้งว่าปัจจุบันผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสามารถตรวจสอบชื่อและรายละเอียดของตัวเองได้ 3 ช่องทางคือ 1. ที่สำนักงาน ทั้งที่กระดานติดประกาศของสำนักงาน ที่ห้องทำบัตรประชาชน และที่ห้องของฝ่ายพัฒนาชุมชน 2. ผ่านโทรศัพท์ และ 3. ผ่านเว็บไซต์

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้มีสิทธิหลายคน เปลี่ยนบัญชีธนาคาร ทำให้ไม่สามารถโอนเงินได้ และเมื่อจะโทรศัพท์สอบถามเพื่อปรับปรุงเลขบัญชี บางส่วนก็ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์

หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ยืนยันว่า การเผยแพร่รายละเอียดในรายชื่อดังกล่าวทางเว็บไซต์ก็เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ผู้สูงอายุและบุตรหลานสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น และที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ร้องเรียน มีปีนี้เป็นปีแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางฝ่ายได้รับข้อเป็นห่วงมาก็ขอขอบคุณผู้ที่ปรารถนาดี และจะปรับปรุงการทำงาน พิจารณาหาวิธีการตรวจสอบสิทธิ ที่ทั้งปลอดภัยและสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกสำหรับผู้สูงอายุต่อไป

ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเลขบัญชีดังกล่าวนั้น พบไม่เพียงเฉพาะกับเว็บไซต์กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของจังหวัดหรือเขตเทศบาลอื่นๆ ก็มีเช่นกัน โดยแต่ละที่จะมีรายละเอียดข้อมูลที่เผยแพร่แตกต่างกันไ

เช่น รายชื่อผู้สูงอายุในเขตเทศบาลของจังหวัดหนึ่งในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร นอกจากข้อมูลเลขบัญชีแล้ว ยังมีที่อยู่บ้านและหมายเลขโทรศัพท์อีกด้วย (เครือข่ายพลเมืองเน็ตพยายามโทรศัพท์ติดต่อกับสำนักงานเทศบาลแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้) ส่วนรายชื่อของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดเพชรบุรี มีเฉพาะชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และอายุของผู้มีสิทธิรับเบี้ย ไม่มีข้อมูลบัญชีธนาคารหรือข้อมูลอื่น

@FordAntiTrust ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกราย ตั้งข้อสังเกตว่า "ผมคิดว่าราชการเขาคงมองว่าเอกสารพวกนี้เอาขึ้นอินเทอร์เน็ต คงเหมือนเอาไปแปะที่หน้าหน่วยงานราชการ"

พนิดา มีทรัพย์ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พัสดุและช่วยงานส่วนสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโอนเงินเบี้ยยังชีพกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า ผู้มีสิทธิจะต้องแจ้งเลขบัญชีธนาคารมาที่อบต.และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเลขบัญชี ก็จะต้องมาทำเรื่องด้วยตัวเองที่อบต.

ในกรณีที่ไม่สามารถโอนเงินได้ เนื่องจากเลขบัญชีผิดหรือปิดไปแล้ว ธนาคารจะแจ้งให้กับอบต.ทราบและทางอบต.ก็จะติดต่อไปที่ผู้มีสิทธิหรือบุตรหลาน ตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้กับอบต. ทั้งนี้อบต.จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวเอาไว้ที่สำนักงานอบต.แต่ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดลงเว็บไซต์ของอบต. โดยอบต.จะเผยแพร่เฉพาะข้อมูลตามแบบฟอร์มที่จังหวัดกำหนดมาเท่านั้น ซึ่งมีเฉพาะชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และอายุของผู้มีสิทธิรับเบี้ย

ทั้งนี้ พนิดา ชี้แจงว่า วันเดือนปีเกิดนั้นเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องเผยแพร่เพราะเกี่ยวข้องกับการได้รับสิทธิรวมถึงจำนวนเงินที่จะแตกต่างไปตามอายุ ส่วนเลขประจำตัวประชาชนนั้นก็เป็นข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบเป็นปกติอยู่แล้ว เหมือนกับการตรวจสอบชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net